คอลัมนิสต์

สำรวจเสียงประชาชน ชี้วัดลมหายใจรถ “บีอาร์ที”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กทม.จะเอาอย่างไร เลิกหรือ เดินหน้าต่อกับรถเมล์บีอาร์ที การสำรวจความเห็นครั้งนี้คือคำตอบ : ธนัชพงศ์ คงสาย รายงาน

            ผ่านไปแล้ววันแรกสำหรับสำรวจความเห็นของประชาชน ต่ออนาคตโครงการรถโดยสารประจำทางด่วนพิเศษ(บีอาร์ที)ภายหลังกรุงเทพมหานคร(กทม.)ประกาศก่อนหน้านี้เตรียม“ไม่ต่อสัญญา”โครงการที่จะหมดในวันที่30เมษายนนี้ จุดพลุกลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นทันทีเมื่อประชาชนส่วนหนึ่งออกมาคัดค้านการตัดสินใจของกทม.ในครั้งนี้

            ท่ามกลางเสียง“ไม่เห็นด้วย” ต่อการหยุดระบบขนส่งสาธารณะ ในช่วงแรกกทม.ได้อธิบายเหตุผลการยกเลิกโครงการ โดยเฉพาะการไม่คุ้มทุนต่อภาระค่าใช้จ่าย200ล้านบาทต่อปี ขณะเดียวกันได้มีหนังสือท้วงติงจากสำนักงานตรวจเงินแผ่นดินต่อการใช้งบประมาณ และความเสียหายที่จะเกิดขึ้นหากโครงการนี้ยังเดินหน้าต่อไป ทำให้ทีมผู้บริหารกทม.ชุดนี้อยู่ในภาวะ“หลังพิงฝา” ต่อการตัดสินใจครั้งสำคัญ

             สำรวจเสียงประชาชน ชี้วัดลมหายใจรถ “บีอาร์ที”

            ทว่าจากนั้นเพียงไม่กี่วันเสียงดังที่ส่งมาจาก“บิ๊กป้อม” พล.อ.ประวัติ วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ได้สั่งให้กทม.ทบทวนและเดินหน้าโครงการนี้ต่อไป โดยอยู่บนพื้นฐานผลประโยชน์ของประชาชน กทม.จึงต้องรีบ“กลับลำ” ชะลอแผนยกเลิกโครงการทันที โดยหันมาสำรวจเสียงประชาชนที่ใช้บริการและผู้ที่อาศัยในเส้นทางเดินรถ ใช้แบบสอบถามพุ่งตรงไปที่9กลุ่มเป้าหมายหลักที่ได้รับผลกระทบ ประมาณ2,000-2,500คน แบ่งเป็น

            1.ประชาชนผู้โดยสารรถบีอาร์ที
            2.ผู้ขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลและรถรับจ้างสาธารณะบนเส้นทางเดินรถบีอาร์ที
            3.ผู้ประกอบการพาณิชย์และผู้พักอาศัยบนถนนเส้นทางเดินรถบีอาร์ที
            4.ผู้พักอาศัยในพื้นที่เขตที่มีเส้นทางรถบีอาร์ที ประกอบด้วย เขตสาทร เขตยานนาวา เขตบางคอแหลม และเขตธนบุรี
            5.ผู้พักอาศัยในพื้นที่เขตโดยรอบที่มีเส้นทางรถบีอาร์ที ประกอบด้วย เขตบางรัก เขตคลองเตย และเขตคลองสาน
            6.เจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรผู้ปฏิบัติงานในพื้นที่ที่มีเส้นทางเดินรถบีอาร์ที
            7.พนักงานขับรถ BRT
            8.เจ้าหน้าที่ประจำสถานที่รถ BRT
            9.พนักงานรักษาความสะอาดของสำนักงานเขตต่างๆ ในเส้นทางเดินรถบีอาร์ที

             สำรวจเสียงประชาชน ชี้วัดลมหายใจรถ “บีอาร์ที”

            ตามแผนสำรวจความเห็นชี้วัดอนาคต “บีอาร์ที” กทม.ได้มอบหมายให้เจ้าหน้าที่จากมหาวิทยาลัยเกษมบัณฑิตประมาณ 20 คน กระจายถามความเห็นประชาชนใน4จุดหลักตั้งแต่แยกสาทร ถนนจันทน์ พระราม3และราชพฤกษ์ตลอดช่วงเช้า กลางวัน เย็น เป็นเวลาประมาณ 7 วัน ก่อนนำมาสรุปความเห็นและผลการสำรวจในสิ้นเดือนกุมภาพันธ์นี้!

            เมื่อลงรายละเอียดใน“คำถาม” เพื่อหา“คำตอบ”พบว่ามีทั้งหมด 8 ประเด็น

            1.ท่านใช้บริการรถบีอาร์ทีประมาณกี่ครั้งต่อสัปดาห์

            2.ส่วนใหญ่ท่านใช้บริการรถบีอาร์ทีในวันใด

            3.ส่วนใหญ่ท่านใช้บริการรถบีอาร์ทีในเวลาใด

            4.ท่านเลือกใช้บริการรถบีอาร์ที เพราะอะไร และท่านเห็นด้วยหรือไม่เห็นด้วย ถ้ามีการยกเลิกบริการรถบีอาร์ที

            5.ท่านไม่เห็นด้วยเพราะอะไร

            6.ถ้ามีการยกเลิกการบริการรถบีอาร์ที ท่านจะได้รับความเดือดร้อนในระดับใด

            7.ถ้ามีการยกเลิกการบริการรถบีอาร์ที ท่านคิดว่าการจราจรบนถนนที่มีเส้นทางการเดินรถบีอาร์ที จะเป็นอย่างไร 

            8.ท่านเห็นด้วยกับการยกเลิกการให้บริการรถบีอาร์ที เพราะอะไร

             สำรวจเสียงประชาชน ชี้วัดลมหายใจรถ “บีอาร์ที”

            ขณะเดียวกันในวันแรกกทม.ได้ทำแบบสำรวจผู้ที่ได้รับผลกระทบ ในกลุ่มขับขี่รถยนต์ส่วนบุคคลและรถรับจ้างสาธารณะ ในเส้นทางการเดินรถบีอาร์ที จากคำถามที่ว่า1.ท่านขับขี่รถยนต์บนเส้นทางการบริการรถบีอาร์ที จำนวนเท่าใด2.ถ้ามีการยกเลิกการบริการรถบีอาร์ที ท่านคิดว่าการจราจรบนถนนที่มีเส้นทางการเดินรถบีอาร์ทีจะเป็นอย่างไร และ3.ท่านเห็นด้วยหรือไม่ในหลักการที่ว่า กทม.มีหน้าที่อำนวยความสะดวกด้านการเดินทางแก่ประชาชน

            มาที่เสียงสะท้อนจากประชาชนใน“โลกออนไลน์”กทม.ได้วิเคราะห์ความเห็นต่อโครงการรถบีอาร์ทีระหว่างวันที่1-20ก.พ.ที่ผ่านมา พบว่ามีการเสนอข้อมูลลการแสดงความคิดเห็นผ่านสื่อออนไลน์ใน5ช่องทาง ทวิตเตอร์ เฟซบุ๊ค เว็บบอร์ด เว็บข่าว และยูทูป รวมทั้งสิ้น4,852ข้อความโดยช่องทาง“ทวิตเตอร์” เป็นช่องทางที่นำเสนอข้อมูลมากที่สุด จำนวน4,367ข้อความ คิดเป็นร้อยละ90

           เมื่อถอด “ข้อเสนอ-มุมมอง” ประชาชนเกี่ยวกับโครงการรถบีอาร์ที พบว่าฝั่ง“สนับสนุน” ให้ยกเลิกโครงการเห็นว่า โครงการรถบีอาร์ทียังไม่ตอบโจทย์การเดินทางของคนในพื้นที่ จากเหตุสถานีอยู่ในตำแหน่งที่ไม่สะดวก รถทำความเร็วไม่ได้ตามกำหนด เพราะมีรถคันอื่นเข้ามาในช่องรถบีอาร์ที ความถี่ของรถมีน้อย โดยเฉพาะในช่วงเวลาเร่งด่วน นอกจากนี้เป็นโครงการที่เกิดจากการหาเสียง การบริหารจัดการเดินรถยังไม่เป็นมืออาชีพ ทำให้เกิดสภาวะขาดทุนสะสม ต้องใช้เงินภาษีประชาชนไปอุดหนุนโครงการ

             สำรวจเสียงประชาชน ชี้วัดลมหายใจรถ “บีอาร์ที”

            ส่วนฝั่ง“คัดค้าน” ยกเลิกโครงการเห็นว่า โครงการนี้เป็นจุดเริ่มต้นที่ดีในการสนับสนุนให้ประชาชนใช้ระบบขนส่งมวลชน แม้ระบบยังไม่สมบูรณ์แบบ แต่ควรประเมินความคุ้มค่าของโครงการก่อนพิจารณาใดๆ เนื่องจากมีการลงทุนทั้งอาคารสถานี ระบบและตัวรถไปแล้วจำนวนมาก หากยกเลิกจะทำให้การลงทุนเกิดความสูญเปล่า โดยขอให้คำนึงประโยชน์ที่ประชาชนได้รับเป็นสำคัญ และขอให้ปรับปรุงการบริหาร เช่น เพิ่มอัตราค่าโดยสารให้เหมาะสม ขยายเส้นทางให้ครอบคลุมพื้นที่และไปชานเมือง

             ทั้งหมดจึงเป็นแผนสำรวจเสียงประชาชน ต่อความเป็นไปของโครงการบีอาร์ทีในอนาคต แต่ไม่ว่าที่สุดแล้วเสียงของประชาชนจะออกมารูปแบบใด หน่วยงานภาครัฐควรใช้ “โมเดล” รับฟังเสียงสะท้อนในทุกมิติ เพื่อยึดผลประโยชน์ของประชาชนเป็นที่ตั้งให้มากที่สุดนั่นเอง

 

สำรวจเสียงประชาชน ชี้วัดลมหายใจรถ “บีอาร์ที”

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ