คอลัมนิสต์

ไม่เอาถ่านหิน คือ “คำตอบ?” “โรงไฟฟ้ากระบี่”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามันฯยังรอคำตอบจากรัฐ และหวังว่าพลังงานทางเลือกจะเป็นคำตอบที่ดีกว่า"ถ่านหิน" ตั้งข้อสงสัยผลักดันไม่ฟังเสียงทักท้วงมีผลประโยชน์แอบแฝง

     กลายเป็นประเด็นร้อนขึ้นมาอีกครั้งสำหรับโครงการ “โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่” ซึ่งกลุ่มคัดค้านและชาวบ้านในพื้นที่ก่อสร้างโครงการได้เคลื่อนไหวต่อต้านมาตลอดหลายปี จนกระทั่งต้องมีการตั้งคณะกรรมการไตรภาคีเมื่อปลายปีที่ผ่านมาเพื่อหาแนวทางข้อสรุป

     ที่ว่าเป็นประเด็นร้อนเพราะมีการเผยแพร่คำสั่งของเจ้าหน้าที่ฝ่ายปกครอง อ.คลองท่อม จ.กระบี่ อ้างนโยบายของนายกรัฐมนตรีในเรื่องการสร้างโรงไฟฟ้าในภาคใต้ และสั่งให้กำนัน ผู้ใหญ่บ้านในพื้นที่เกณฑ์มวลชนหมู่บ้านละ 20 คนไปสนับสนุนก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่ โดยนัดรวมตัวหน้าศาลากลางจังหวัดในวันที่ 16 กุมภาพันธ์ 

     การเกณฑ์ชาวบ้านดังกล่าวถือเป็นการตัดหน้าและดิสเครดิต “เครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน” ที่นัดรวมตัวบุกมาที่ทำเนียบรัฐบาลเพื่อขอคำตอบจากรัฐบาลกรณีเรียกร้องให้ยุติโรงไฟฟ้ากระบี่ในวันที่ 17 กุมภาพันธ์นี้

     ความเป็นมาของโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ มาจากแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ มีแผนการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินจำนวน 4,400 เมกะวัตต์ และหนึ่งในพื้นที่เป้าหมายคือ จ.กระบี่ โดยมีความก้าวหน้าในระดับการทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (Environment and Health Impact Assessment :EHIA อีเอชไอเอ) และการสร้างการยอมรับให้แก่ประชาชนในพื้นที่เป้าหมาย

     กระนั้นก็ตาม ในอดีต จ.กระบี่ เคยเป็นพื้นที่ก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินลิกไนต์ขนาดกำลังผลิตรวม 60 เมกะวัตต์ และถูกปลดออกจากระบบเมื่อกันยายน 2538 หลังจากมีการใช้งานมา 31 ปี ในปีถัดมาโรงไฟฟ้าเดิมแห่งนี้ถูกเปลี่ยนเป็นโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติและน้ำมันเตาขนาด 340 เมกะวัตต์ แต่ขณะที่ปัญหาผลกระทบจากโรงไฟฟ้าเดิมกลับยังไม่ได้รับการแก้ไข มีประชาชนในพื้นที่ อ.เหนือคลองได้เรียกร้องให้คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ (กสม.) ลงพื้นที่ตรวจสอบผลกระทบเรื่องควันและน้ำฝนมีกลิ่นเหม็น แต่รัฐบาลกลับจะเดินหน้าสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่อีกแห่งรวมทั้งท่าเทียบเรือขนส่งด้วย

ไม่เอาถ่านหิน คือ “คำตอบ?”  “โรงไฟฟ้ากระบี่”

     เหตุผลหลักของการก่อสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ ตามรายงานของกระทรวงพลังงาน คือเพื่อรองรับกับสภาพในปัจจุบันของ จ.กระบี่ ที่มีนักท่องเที่ยวจำนวนมากทำให้ความต้องการด้านพลังงานเพิ่มมากขึ้นรวมทั้งเศรษฐกิจขยายตัวอย่างต่อเนื่อง มีการใช้ปริมาณไฟฟ้าอยู่ในลำดับที่ 7 จากทั้ง 14 จังหวัดของภาคใต้

     ขณะที่กลุ่มเครือข่ายปกป้องอันดามัน ชี้ให้เห็นผลกระทบจากโครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ที่มีตั้งแต่การขนส่งถ่านหิน ท่าเรือถ่านหิน การเผาไหม้ถ่านหินและการกำจัดเถ้าถ่านหิน โดยเฉพาะอย่างยิ่งพื้นที่ ต.คลองขนาน ต.ปกาสัย ต.ตลิ่งชัน และต.เกาะศรีบอยา ในพื้นที่ของโครงการดังกล่าว รวมไปถึงผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศทางทะเลที่จะเปลี่ยนแปลงไป ตลอดจนวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนได้รับผลกระทบตามไปด้วย

     ข้อเสนอของเครือข่ายปกป้องอันอามันที่ยกเอาผลวิจัยศึกษาของสำนักงานคณะกรรมการวิจัยแห่งชาติและมหาวิทยาลัยทักษิณ ที่ระบุว่าเมื่อปี 2552 กระบี่มีการนำพลังงานหมุนเวียนมาใช้ผลิตกระแสไฟฟ้าได้มากถึงร้อยละ 90 ของพลังงานไฟฟ้าที่ใช้ภายในจังหวัดทั้งหมดโดยเฉพาะอย่างยิ่งพลังงานไฟฟ้าจากชีวมวล แสงอาทิตย์และลม จึงเสนอทางเลือกให้รัฐบาลพิจารณาใช้พลังงานทดแทนในการผลิตไฟฟ้าแทนถ่านหินที่ก่อมลภาวะและกระทบสุขภาพประชาชนรวมถึงกระทบต่อระบบนิเวศและสภาพแวดล้อม

     “การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมต้องมิใช่การนำมาใช้ประเมินผลกระทบในระดับโครงการอย่างที่กำลังดำเนินการอยู่ แต่กระบวนการนี้จะต้องมีการจัดทำในระดับการวางแผนนโยบายพลังงานของประเทศเพื่อวิเคราะห์ผลกระทบทั้งด้านเศรษฐกิจ สังคมและสิ่งแวดล้อม การประเมินผลกระทบสิ่งแวดล้อมระดับยุทธศาสตร์ในด้านความมั่นคงพลังงานต้องมองครอบคลุมถึงศักยภาพด้านพลังงานอื่นในพื้นที่ การก่อให้เกิดรายได้และการจ้างงานจากพลังงานหมุนเวียน การพัฒนาเศรษฐกิจ ความอุดมสมบูรณ์และความหลากหลายของระบบนิเวศ ความมั่นคงทางอาหารและความมั่นคงทางสังคมที่จะต้องให้ความสำคัญต่อชุมชนและวิถีชีวิตที่จะได้รับผลกระทบ ซึ่งโรงไฟฟ้าถ่านหินแห่งนี้จะทำให้ประชาชนอย่างน้อย 26,000 คนจาก 7,500 ครัวเรือนใน 4 ตำบลได้รับผลกระทบโดยตรงแน่นอน”

     ย้อนไปเมื่อเดือนพฤศจิกายน 2559 คณะกรรมการไตรภาคี ประกอบด้วยตัวแทนจากกระทรวงพลังงาน, กฟผ., นักวิชาการด้านสิ่งแวดล้อม และตัวแทนภาคประชาชน ที่พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีคำสั่งตั้งขึ้นเพื่อหาข้อยุติในการดำเนินการโรงไฟฟ้ากระบี่ ได้ข้อสรุปร่วมกันและนำเสนอเรื่องให้นายกรัฐมนตรีพิจารณา หากมีความเห็นให้ กฟผ.เดินหน้าโครงการภายในเดือนธันวาคม คาดว่าจะนำเสนอรายงานผลกระทบสิ่งแวดล้อม (อีไอเอ) ที่ได้แก้ไขปรับปรุงให้เป็นไปตามข้อสรุปของคณะกรรมการไตรภาคีส่งให้คณะกรรมการผู้ชำนาญการพิจารณารายงานการวิเคราะห์ผลกระทบสิ่งแวดล้อม (คชก.) ให้ความเห็นชอบภายในเดือนพฤษภาคม 2560 เมื่อคณะกรรมการสิ่งแวดล้อมแห่งชาติเห็นชอบโครงการในเดือนมกราคม 2561 และคณะรัฐมนตรีอนุมัติโครงการในเดือนมีนาคม 2561 ก็คาดว่าขั้นตอนการก่อสร้างจะใช้ระยะเวลาประมาณ 4 ปี และมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบเชิงพาณิชย์ในเดือนกรกฎาคม 2565 ซึ่งล่าช้าไปจากกำหนดเดิมที่ระบุไว้ในแผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าหรือ PDP2015 ที่กำหนดไว้เดือนมีนาคม 2562 ประมาณ 3 ปี

     นอกจากนี้ยังมีคำเตือนออกมาว่าจะส่งผลกระทบต่อความมั่นคงไฟฟ้าในภาคใต้ช่วงปี 2562-2563 ที่ความต้องการใช้ไฟฟ้าจะเพิ่มสูงขึ้นมากกว่ากำลังการผลิตที่มีอยู่ในพื้นที่ และหากโรงไฟฟ้าโรงหลักในพื้นที่ต้องหยุดซ่อมบำรุงจะทำให้ไฟฟ้าที่ส่งจากภาคกลางผ่านสายส่งไฟฟ้าแรงสูง 500 เควี ลงไปช่วยภาคใต้จะมีปริมาณไม่เพียงพอ!

     เครือข่ายปกป้องอันดามันเห็นว่าคำเตือนดังกล่าวมีนัยแอบแฝง เพื่อให้การก่อสร้างโรงไฟฟ้ากระบี่เดินหน้าต่อไป ในขณะที่ประเทศต่างๆ ทั่วโลกเริ่มทยอยปลดโรงไฟฟ้าถ่านหินออกจากระบบผลิตพลังงานไฟฟ้าหลักไปแล้ว แต่เมืองไทยยังเดินหน้าใช้พลังงานที่สร้างมลภาวะสิ่งแวดล้อมอยู่เลย

     อีกทั้งออกแถลงการณ์เรียกร้องคือ 1.ให้มีมาตรการอย่างชัดเจนในการส่งเสริมการทำพลังงานหมุนเวียนของ จ.กระบี่ ตามคำสัญญา เพราะมีผลการศึกษาของอนุกรรมการได้ปรากฏชัดเจนแล้วว่ามีศักยภาพในการทำได้ 1,700 เมกกะวัตต์ 2.ขอให้ กฟผ.ถอนรายงานผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อมและสุขภาพ (อีเอชไอเอ) ออกจากสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (สผ.) และให้รายงานฉบับนี้หมดสภาพไป 3.ขอให้ กฟผ.ยกเลิกการประมูลทั้งโรงไฟฟ้าและท่าเทียบเรือโดยทันที และ 4.ขอให้ทีมงานด้านมวลชนออกจากพื้นที่และหยุดการโฆษณาสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่

ไม่เอาถ่านหิน คือ “คำตอบ?”  “โรงไฟฟ้ากระบี่”

     ภาพที่ปรากฏต่อสังคมอาจเป็นเพียงการต่อสู้ของกลุ่มภาคประชาชนกับโครงการของรัฐ แต่ “ประสิทธิชัย หนูนวล” ผู้ประสานงานเครือข่ายปกป้องอันดามันจากถ่านหิน ซึ่งเป็นหนึ่งในเครือข่ายอันดามันที่นั่งอดอาหารประท้วงหน้าทำเนียบเมื่อเดือนตุลาคม 2559 ได้บอกถึงปมลึกๆ ไว้ว่า 

     “เกมในภาพใหญ่เกี่ยวโยงกับกลุ่มผลประโยชน์จำนวนมาก เพราะในกิจการสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน มีองค์ประกอบสำคัญอย่างน้อย 3 ประการ คือ การขนส่งถ่านหิน โรงไฟฟ้า และท่าเรือ ใน 3 องค์ประกอบสำคัญยังมีงานย่อยอีกมาก การแบ่งปันผลประโยชน์จึงเกิดกับหลายกลุ่ม หากผลักดันให้เกิดโรงไฟฟ้าถ่านหินได้ เกมนี้จึงเป็นความสามัคคีกันผลักดันของกลุ่มผลประโยชน์ทุกฝ่าย ลองพิจารณาดูว่าเจ้าภาพคือใครและใครอยู่เบื้องหลังและคนมีอำนาจได้อะไรหรือไม่จากเรื่องนี้”

     ประสิทธิชัย ยังได้สนับสนุนข้อเสนอของ “อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ” หัวหน้าพรรคประชาธิปัตย์ ที่ระบุว่าหากเป็นรัฐบาลจะยกเลิกสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่เปลี่ยนไปเป็นการสร้างโรงไฟฟ้าพลังงานปาล์ม โดยประสิทธิชัยเห็นว่ายังเป็นการสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่มีความมั่นคงทางพลังงานสามารถผลิตไฟฟ้าได้ 24 ชั่วโมง

     ประสิทธิ์ชัยยังระบุว่าบุคคลใดก็ตามที่มีส่วนร่วมสนับสนุนโรงไฟฟ้าถ่านหินไม่ว่าทางอ้อมหรือทางตรงได้กลายเป็นเครื่องมือของกลุ่มการเมืองและพ่อค้าถ่านหินไปแล้ว

     ทิศทางโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ยังไม่แน่ชัดว่า “จะสร้างได้หรือไม่ได้สร้าง” และยังยืนบนทางสองแพร่งที่ต้องพิจารณาให้รอบคอบที่สุด แต่ถึงสุดท้ายก็ต้องเลือกเดินเส้นใดเส้นหนึ่งและต้องเป็นเส้นทางที่ก่อประโยชน์ต่อชุมชนท้องถิ่นและส่วนรวมประเทศ ต้องไม่มีปมซ่อนเร้นในเรื่องผลประโยชน์แอบแฝง!

ไม่เอาถ่านหิน คือ “คำตอบ?”  “โรงไฟฟ้ากระบี่”

ประวัติที่มาโครงการ

     โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ และท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว โครงการโรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ เป็นหนึ่งในโครงการโรงไฟฟ้าที่จะก่อสร้างขึ้นตาม “แผนพัฒนากำลังผลิตไฟฟ้าของประเทศ” หรือ PDP 2010 ฉบับปรับปรุงครั้งที่ 3 โดยระบุให้ภาคใต้มีโรงไฟฟ้าถ่านหินเพิ่มขึ้น 4 แห่ง รวมกำลังผลิต 4,000 เมกะวัตต์ เพื่อตอบสนองการพัฒนาเศรษฐกิจของภาคใต้ที่มุ่งเน้นการพัฒนาด้านการท่องเที่ยว อุตสาหกรรมแปรรูป สินค้าเกษตร ตลอดจนรองรับการขยายตัวด้านเศรษฐกิจและการเพิ่มขึ้นของประชากร 

     ทั้งนี้ ความต้องการไฟฟ้าของภาคใต้เพิ่มขึ้นเฉลี่ยปีละ 5-6% ขณะที่ในพื้นที่ยังไม่มีแหล่งผลิตไฟฟ้าหลักอย่างเพียงพอ จึงต้อง พึ่งพาพลังงานไฟฟ้าจากแหล่งอื่นผ่านสายส่งเชื่อมโยงจากภาคกลาง

     ดังนั้นการมีโรงไฟฟ้าในภาคใต้จึงช่วยเสริมความมั่นคงของระบบไฟฟ้า และเกิดการกระจายสัดส่วนการใช้เชื้อเพลิงของประเทศ 

ไม่เอาถ่านหิน คือ “คำตอบ?”  “โรงไฟฟ้ากระบี่”

     สถานที่ตั้งโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินกระบี่ตั้งอยู่ภายในบริเวณพื้นที่โรงไฟฟ้ากระบี่เดิม ที่ อ.เหนือคลอง จ.กระบี่ ส่วนลักษณะโครงการ โรงไฟฟ้าถ่านหินขนาดกำลังผลิตสุทธิไม่ต่ำกว่า 780 เมกะวัตต์ (ขนาดกำลังผลิตติดตั้ง 870 เมกะวัตต์) ใช้เชื้อเพลิง ถ่านหินคุณภาพดีมีค่ากำมะถันไม่เกิน 1% ประเภทถ่านหินซับบิทูมินัส หรือบิทูมินัส ประมาณ 7,260 ตันต่อวัน นำเข้าจากประเทศอินโดนีเซีย หรือออสเตรเลีย โดยมีกำหนดจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ (Commercial Operation Date: COD) เข้าสู่ระบบประมาณเดือนธันวาคม พ.ศ.2562

     โครงการท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว แบ่งเป็น 3 ส่วนหลัก 1.เส้นทางเดินเรือบรรทุกถ่านหิน เรือบรรทุกถ่านหินระบบปิดขนาด 10,000 ตัน บรรทุกถ่านหินลำละ 8,000 ตัน แล่นตรงจากต่างประเทศไม่เกิน 2 ลำต่อวัน โดยใช้เส้นทางเดินเรือเดียวกับเรือขนส่งน้ำมันเตาของโรงไฟฟ้ากระบี่ปัจจุบัน ซึ่งเป็นเส้นทางเดินเรือที่ห่างจากแหล่งท่องเที่ยว จุดดำน้ำ แหล่งหญ้าทะเล และแนวปะการัง จึงไม่ก่อให้เกิดผลกระทบต่อการท่องเที่ยวและนิเวศวิทยาทางทะเล สำหรับข้อกังวลเรื่องเรือขนส่งถ่านหินจะส่งผลกระทบต่ออาชีพประมงและสัตว์น้ำในทะเลนั้น ได้กำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบดังกล่าวโดยการออกแบบเรือขนส่งถ่านหินเป็นระบบปิดและจำกัดความเร็วของเรือไม่เกิน 20 กิโลเมตรต่อชั่วโมง เพื่อลดคลื่นและการกวนตะกอนในทะเล รวมทั้งป้องกันการเกิดอุบัติเหตุ

       ส่วนกรณีหากเรือขนส่งถ่านหินเกิดอุบัติเหตุจนถ่านหินตกลงทะเลจะไม่ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศ เนื่องจากถ่านหินมีลักษณะเป็นก้อนแข็งไม่ละลายน้ำ ดังนั้นเมื่อถ่านหินจมลงในน้ำจะไม่ก่อให้เกิดผลกระทบ พร้อมทั้งจะมีมาตรการนำถ่านหินและกู้เรือขึ้นจากทะเลตามหลักมาตรฐานสากล

     2.ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว ตั้งอยู่บริเวณคลังน้ำมันบ้านคลองรั้วของโรงไฟฟ้ากระบี่ปัจจุบัน ประกอบด้วยท่าเทียบเรือขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 280 เมตร และสะพานเชื่อมท่าเทียบเรือยาว 380 เมตร สามารถจอดเรือบรรทุกถ่านหินขนาด 10,000 ตัน ที่มีขนาดกว้าง 30 เมตร ยาว 120 เมตร ได้พร้อมกันสูงสุด 2 ลำ เนื่องจากพื้นที่ตั้งของท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้วอยู่ในเขตพื้นที่คุ้มครองสิ่งแวดล้อม พื้นที่ชุ่มน้ำ (RamsarSite) และเป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชาวประมง ดังนั้นจึงกำหนดมาตรการป้องกันผลกระทบจากการร่วงหล่นของถ่านหินที่มีต่อสิ่งแวดล้อมและอาชีพประมงโดยใช้อุปกรณ์ขนถ่ายถ่านหินแบบสกรู (Screw Unloader) ซึ่งเป็นระบบปิด

     3.แนวสายพานลำเลียงระบบปิด ระยะทางประมาณ 9 กิโลเมตร มีจุดเริ่มต้นตั้งแต่ท่าเทียบเรือบ้านคลองรั้ว จนถึงอาคารเก็บถ่านหินหลักบริเวณโรงไฟฟ้า เพื่อลดผลกระทบต่อพื้นที่ป่าชายเลนซึ่งอยู่ในเขตพื้นที่ชุ่มน้ำจึงมีการก่อสร้างอุโมงค์ลำเลียงถ่านหินลอดใต้พื้นที่ดังกล่าวเป็นระยะทาง 2 กิโลเมตร นอกจากนี้สายพานลำเลียงบนพื้นดินได้ก่อสร้างถนนคู่ขนานเพื่อให้ชุมชนได้ใช้ประโยชน์รวมทั้งก่อสร้างกำแพงกันเสียงบริเวณที่ผ่านชุมชนและปลูกต้นไม้ตลอดแนว ทั้งนี้มีการชี้แจงและสร้างความเข้าใจถึงการจ่ายค่าทดแทนและการเยียวยาแก่ราษฎรที่อยู่ในแนวสายพานลำเลียง

ภาพจาก Pixabay

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ