คอลัมนิสต์

คานอำนาจสไตล์สหรัฐ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์... รู้ลึกกับจุฬาฯ

 

          ช่วงหลายวันมานี้ ข่าวประธานาธิบดีสหรัฐ โดนัลด์ ทรัมป์ ออกคำสั่งระงับผู้ที่มาจากประเทศมุสลิม 7 ประเทศ ได้แก่ อิรัก ซีเรีย ลิเบีย อิหร่าน โซมาเลีย ซูดาน และเยเมน ได้สร้างกระแสฮือฮาเป็นที่พูดถึงกันในหมู่อเมริกันชน รวมถึงผู้คนทั่วทุกมุมโลก ขณะเดียวกัน ก็มีฝั่งต่อต้านและมีการยื่นคำร้องต่อศาลชั้นต้น จนกลายเป็นการต่อสู้ในกระบวนการยุติธรรมของสหรัฐที่มีหลายฝ่ายเกี่ยวข้อง

          อ.ดร.พรสันต์ เลี้ยงบุญเลิศชัย อาจารย์ประจำภาควิชาการปกครอง คณะรัฐศาสตร์ จุฬาลงกรณ์มหาวิทยาลัย เกริ่นนำถึงที่มาที่ไปของคำสั่งของประธานาธิบดีทรัมป์ว่า เป็นคำสั่งของฝ่ายบริหาร (Executive Order หรือ E.O.) ซึ่งมีบัญญัติในรัฐธรรมนูญให้มีอำนาจอันชอบธรรมในการดูแลเรื่องคนเข้าเมือง

          สิ่งที่เกิดขึ้นในขณะนี้ คือฝ่ายต่อต้านทรัมป์ยื่นคำร้องไปที่ศาลชั้นต้นในระดับสหพันธรัฐ เนื่องจากคำสั่งนี้เป็นคำสั่งระดับสหพันธรัฐ ครอบคลุมทุกมลรัฐกว่า 50 แห่ง และผลปรากฏว่าศาลชั้นต้นมีคำตัดสินให้ยับยั้งคำสั่งบริหารของทรัมป์

          อ.ดร.พรสันต์เล่าต่อว่า เมื่อผลการตัดสินไม่พอใจ รัฐบาลจึงขออุทธรณ์และไปสู้ในชั้นศาลอุทธรณ์ระดับสหพันธรัฐต่อ และก็มีผลวินิจฉัยให้คงไว้ซึ่งการระงับของ E.O. ตามการตัดสินของศาลชั้นต้น
 
          “คือทรัมป์มีนโยบายนี้เพราะคิดว่ามุสลิมเข้ามาจะมีส่วนเชื่อมโยงกับการก่อการร้าย แต่ศาลยังเห็นว่ายังพิสูจน์ไม่ได้ว่ามากน้อยแค่ไหน ถ้าปล่อยให้คนมุสลิมเข้ามา ประเทศจะเสียหายอย่างไรยังพิสูจน์ไม่ได้ เหมือนว่าแค่คุณพูดลอยๆ ไม่มีหลักฐานเป็นรูปธรรม แล้วจะเกิดอะไรขึ้นถ้าปล่อยให้คนมุสลิมเข้าประเทศตามปกติ” อ.ดร.พรสันต์อธิบาย

          สิ่งที่จะเกิดขึ้นในขั้นต่อไปหากทรัมป์ต้องการให้คำสั่งห้ามมุสลิมบังคับใช้ได้ จะต้องไปต่อที่ศาลสูงสุด (Supreme Court) ซึ่งจะเป็นตัวตัดสินว่าคำสั่งของทรัมป์ควรอยู่ต่อ หรือสลายไป โดยพิจารณาว่าคำสั่งนี้ขัดรัฐธรรมนูญหรือไม่ อย่างไร

          อ.ดร.พรสันต์ ระบุว่า ทรัมป์นิยมอ้างว่าคำสั่งนี้เป็นคำสั่งของฝ่ายบริหาร มีภาระหน้าที่ในการดูแลคนเข้าเมืองซึ่งเกี่ยวข้องกับความมั่นคงประเทศ ในอดีตศาลสูงสุดก็เคยมีคำวินิจฉัยออกมาว่าศาลจะไม่เข้าไปยุ่งในเชิงนโยบายกับอำนาจของฝ่ายการเมือง แต่จะไปพิจารณาในด้านอื่นๆ มากกว่า
“ผมคิดว่าถ้าถึงศาลสูงสุด เขาจะพิจารณาในเชิงกระบวนการบังคับใช้ E.O. เพราะจะมีเจ้าหน้าที่ที่ต้องตรวจสอบ กักตัว สอบสวน ส่งกลับคนเข้าเมือง ศาลคงเข้าไปเล่นตรงนี้แทนว่ามันละเมิดสิทธิเขาไหม” อ.ดร.พรสันต์ชี้

          นอกจากนี้ ศาลสูงสุดจะต้องพิจารณาว่า E.O. ขัดต่อรัฐธรรมนูญหรือไม่ เพราะมีบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญสหรัฐชัดเจนว่าด้วยเสรีภาพในการนับถือศาสนา และว่าด้วยการคุ้มครองอย่างเสมอภาค การที่กีดกันมุสลิมห้ามเข้าประเทศจะเป็นการเลือกปฏิบัติหรือไม่ คงต้องเป็นข้อพิจารณาที่มีการพูดคุยในชั้นศาล

          อ.ดร. พรสันต์เล่าต่อว่า สิ่งที่สื่อและคนอเมริกันกลัวคือ จะเกิด “เดดล็อก” ทางกระบวนการศาล เนื่องจากศาลสูงสุดสหรัฐ ประกอบไปด้วยผู้พิพากษาสูงสุด (เรียกว่า Justice) จำนวน 9 คน แต่เมื่อปลายปีที่แล้วมี Justice 1 คนเสียชีวิต ทำให้ปัจจุบันเหลือ Justice เพียง 8 คน
“คือต้องใช้ระบบโหวต คนกลัวว่าถ้าศาลสูงสุดมีผลโหวตออกมาเป็น 4-4 แล้วจะเอาไงต่อ Justice คนที่เสียชีวิตไปเป็นฝั่งรีพับลิกัน ทำให้ตอนนี้ในศาลมีผู้พิพากษาในฝั่งรีพับลิกัน 4 คน เดโมแครต 4 คน และมักโหวตแยกกันอยู่แล้ว” อ.ดร.พรสันต์กล่าว ขณะที่กระบวนการแต่งตั้ง Justice คนใหม่จะต้องใช้เวลาผ่านวุฒิสภา ในเชิงการเมืองที่ต้องมีการชิงไหวชิงพริบ ทรัมป์อาจจะเร่งแต่งตั้งคนใหม่โดยเร็วก็เป็นได้

          อย่างไรก็ดี อ.ดร.พรสันต์ชี้ว่า ถ้าหากมีการสู้กันถึงศาลสูงสุด ผลการตัดสินอาจจะออกมาเป็น 5-3 ก็ได้ สำหรับผู้ที่ศึกษาด้านการเมืองและกฎหมายของสหรัฐ จะรู้ว่ามีผู้พิพากษาฝั่งรีพับลิกันคนหนึ่งที่เป็น “Swing Vote” ซึ่งไม่ได้โหวตตามผู้พิพากษาฝั่งรีพับลิกันคนอื่นๆ เสมอไป
“ผู้พิพากษา แอนโทนี เคนเนดี อยู่ฝั่งรีพับรีกันก็จริง แต่เขาค่อนข้างมีหัวเสรีและให้ความสำคัญกับเรื่องสิทธิเสรีภาพมาก ผมคิดว่าอาจจะไม่เกิดเดดล็อก ผลโหวตอาจจะออกมาเป็น 5-3 และถ้าเป็นเช่นนี้ E.O. ของทรัมป์ก็จะตกไปเลย” อ.ดร.พรสันต์วิเคราะห์

          เมื่อสอบว่าถ้าเกิดเหตุการณ์เช่นนี้ ฝั่งประธานาธิบดีจะทำอะไรได้ต่อไป อ.ดร.พรสันต์ชี้ว่า ทรัมป์สามารถล็อบบี้ให้สภาคองเกรสออกกฎหมายใหม่ให้มีอำนาจเหนือกว่าคำวินิจฉัยของศาล เพราะตามหลักกฎหมายของสภา มีอำนาจมากกว่าคำวินิจฉัยของศาล ซึ่งเป็นระบบ “Check and Balance” ของการเมืองสหรัฐ

          แต่หมายความว่ากรณีแบบนี้จะเกิดขึ้นได้ ทรัมป์จะต้องกล้าชนกับศาลสูงสุด ต้องล็อบบี้สภา และต้องรับมือกับสิ่งที่จะตามมา เพราะว่ากฎหมายที่สภาคองเกรสออก อาจมีคนส่งไปให้ศาลสูงสุดพิจารณาอีกได้ว่าผิดหลักรัฐธรรมนูญหรือไม่

          “มันเป็นการเช็กกันไปเช็กกันมาของระบบการเมืองสหรัฐ คือเขาไม่ได้มีอารมณ์เหมือนของไทยว่าต้องเชื่อฟังคำสั่งศาลนะ เขาเปิดช่องให้สภาออกกฎหมาย overrule คำตัดสินศาลได้ ตามหลักการจริงๆ ของไทยเราก็ทำได้ แต่ทางปฏิบัติเราไม่ทำ เพราะเดี๋ยวจะโดนฝ่ายค้านตอกกลับ แล้วศาลไทยก็มี Hierarchy ที่สูง ต้องฟัง” อ.ดร.พรสันต์อธิบาย

          หมายความว่าการขัดแย้งกันไปมาระหว่างฝั่งตุลาการและฝั่งบริหารจึงเป็นเรื่องปกติ แต่สิ่งที่ อ.ดร.พรสันต์กังวลคือ คำสั่ง E.O. นี้ จะเป็นตัวเร่งปะทุให้กลุ่มก่อการร้ายนำมาเป็นข้ออ้างในการโจมตีสหรัฐหรือไม่ คงเป็นเรื่องในอนาคตที่เราต้องติดตามกันต่อไป
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ