คอลัมนิสต์

“สมถะ- เปี่ยมพระเมตตา”สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“สมถะ- เปี่ยมพระเมตตา”พุทธศาสนิกชน ชื่นชม “สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่20” : ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

          วันอาทิตย์ ที่ 12 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2560 ถือเป็นวันสำคัญของหน้าประวัติศาสตร์ชาติด้านวงการพระพุทธศาสนา โดยสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร โปรดสถาปนา “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ แห่งวัดราชบพิธสถิตมหาสีมารามราชวรวิหาร” ขึ้นเป็น สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก องค์ที่ 20 แห่งกรุงรัตนโกสินทร์ และมีพระนามเรียกขานว่า"สมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ (อมฺพรมหาเถร) สมเด็จพระสังฆราช สกลสังฆปริณายก"

          แม้งานประกอบพระราชพิธีสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ ณ พระอุโบสถวัดพระศรีรัตนศาสดาราม (วัดพระแก้ว) จะเกิดขึ้นในช่วงเย็น แต่นับตั้งแต่ช่วงค่ำของวันเสาร์ที่ 11 กุมภาพันธ์ ต่อเนื่องถึงเช้าตรู่ วันที่่ 12 กุมภาพันธ์ พุทธศาสนิกชน ลูกศิษย์ และผู้ที่เลื่อมใสต่อวัตรปฏิบัติของ“สมเด็จพระมหามุนีวงศ์”ต่างทยอยเดินทางมายังวัดราชบพิธฯ เพื่อประกอบพิธีทางศาสนาเนื่องในวันมาฆบูชา และร่วมแสดงมุทิตาจิต รวมถึงเฝ้าถวายสักการะ “สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่”

          หากจะไล่เรียงลำดับงานที่สำคัญของช่วงเช้าวันที่ 12 กุมภาพันธ์ เพื่อพอให้เห็นภาพ คือ ภาคเช้า สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ บำเพ็ญทักษิณานุประทาน อุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ ความสำคัญของงานภาคเช้า นั้น“ธงทอง จันทรางศุ อดีตปลัดสำนักนายกรัฐมนตรี ฐานะนักวิชาการที่ให้ความรู้เกี่ยวกับงานพระราชพิธีสำคัญ”ให้รายละเอียดว่า “งานบำเพ็ญกุศลทักษิณานุประทานอุทิศถวายอดีตเจ้าอาวาสวันราชบพิธถือเป็นขั้นตอนปฏิบัติตามที่มีมาแต่เดิม เมื่อสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ ได้รับการโปรดสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่ จึงจัดงานนี้ขึ้นหากเปรียบภาษาชาวบ้าน คือ เมื่อจะได้รับตำแหน่งสำคัญ หรือ เลื่อนชั้น เลื่อนลำดับ ผู้นั้นก็จัดงานอุทิศถวายให้กับครูบาอาจารย์ ผู้ล่วงลับไปแล้ว เพื่อเป็นการแสดงถึงความกตัญญู”

         ตามเวลาของกำหนดการ 09.00 น. สมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เดินจากกุฏิที่พัก เพื่อเข้าสู่พระอุโบสถ ซึ่งใช้เส้นทางเดินเดิม คือ จากกุฏิซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังพระอุโบสถ เดินตามทางเดินด้านขวา ผ่านพระบรมราชานุสาวรีย์รัชกาลที่ 5 ซึ่งท่านได้ยืนภาวนาอยู่บริเวณหน้าลานพระราชานุสาวรีย์ ช่วงเวลาสั้นๆ และเดินต่อไปยังพระอุโบสถ โดยระหว่างทางเดินนั้น พุทธศาสนิกชนทั้งสูงอายุ และ วัยหนุ่มสาว นั่งพับเพียบบ้าง คุกเข่าบ้างกับพื้นเมื่อ “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” เดินผ่านหน้า ก้มลงกราบแนบไปบนพื้นทางเดิน

        แม้งานบำเพ็ญกุศลฯ ถวายอดีตเจ้าอาวาสวัดราชบพิธฯ จะใช้เวลาเพียงสั้นๆ แต่ พุทธศาสนิกชน ที่มีโอกาสได้เห็น “สมเด็จพระมหามุนีวงศ์” อย่างใกล้ชิดต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่า“ปลาบปลื้มใจและ ถือเป็นบุญอันสูงสุดของชีวิต”

       โดยนางอัมพร กสิวัฒน์ วัย 61 ปี ซึ่งเดินทางจากบ้านย่านอ่อนนุช กรุงเทพฯ ตั้งแต่ช่วงค่ำวันที่ 11 กุมภาพันธ์ พร้อมเพื่อสนิท เล่าให้ฟังว่า“ป้ามาสวดมนต์ตั้งแต่เมื่อคืน ต่อเนื่องถึงเวลา 6 โมงเช้าของวันอาทิตย์ เพราะเป็นวันมาฆบูชา เมื่อสวดมนต์เสร็จก็ไม่ได้กลับบ้าน เพราะตั้งใจจะรอร่วมแสดงมุทิตาจิต แด่เจ้าพระคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เพราะทราบจากข่าวว่า ท่านทรงได้รับการสถาปนาให้เป็นสมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่”

       แม้พื้นเพ “อัมพร” จะไม่ใช่คนย่านเฟื่องนคร ซึ่งเป็นที่ตั้งของวัดราชบพิธฯ แต่เพื่อโอกาสสำคัญของชีวิตก็อยากมาร่วมบรรยากาศในงานสำคัญซึ่งถือเป็นประวัติศาสตร์หน้าหนึ่งของประเทศไทย ซึ่งหลังวินาทีของบรรยากาศสำคัญ เธอบอกว่า “เป็นปลื้ม”

        เช่นเดียวกับ“น.ส.วรญา จิตกรุณาวงศ์” วัย 50 ปี อาศัยอยู่ย่านบางบอน ที่ออกเดินทางจากบ้านตั้งแต่ 03.00 น. เพื่ออยากชมวัตรปฏิบัติของ “เจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์” ว่าเป็นจริงตามข่าวที่ถูกรายงานผ่านโทรทัศน์หรือไม่

        “ฉันฟังข่าวจากทีวี เห็นเขาบอกว่า สมเด็จพระสังฆราชพระองค์ใหม่นำประชาชนเวียนเทียนรอบโบสถวัดราชบพิธ จึงคิดว่าท่านไม่ถือตัวเลย จึงอยากมาดูให้เห็นกับตา เมื่อได้เห็นท่านแล้ว เป็นจริงตามนั้น ท่านมีเมตตาให้ประชาชนเข้าแถวใกล้ๆ ทางเดินที่ท่านจะมา” น.ส.วรญา พูดด้วยแววตาเป็นประกาย

   “สมถะ- เปี่ยมพระเมตตา”สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

                        คนซ้าย- น.ส.วรญา จิตกรุณาวงศ์  , คนขวา - นางอัมพร กสิวัฒน์ 

        อย่างไรก็ดีในบรรดา พุทธศาสนิกชนที่ รอร่วมงานครั้งสำคัญ ยังมี อดีตลูกศิษย์วัดราชบพิธฯ อย่าง“ลุงทรงวุฒิ หวังธรรมคุ้ม วัย 68 ปี อาศัยอยู่ย่านฝั่งธนบุรี”เล่าว่า ปี 2523 ได้บวชที่วัดราชบพิธ มีสมเด็จพระอริยวงศาตญาณ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 18 เป็นพระอุปัชฌาย์ และมีเจ้าประคุณสมเด็จพระมหามุนีวงศ์ เป็นพระอาจารย์สอน ตอนที่บวชราว 1 พรรษานั้นมีสิ่งที่พระที่บวชใหม่ต้องทำคือ การเขียนกระทู้ธรรม หรือเรียกว่าเรียงความ โดยพระอาจารย์จะให้พุทธสุภาษิตหนึ่งบท แล้วให้เขียน กระทู้ธรรมที่จำได้ คือ “คนดีที่อะไร” ซึ่งพระที่เขียนกระทู้ธรรมได้ดี อันดับ 1-3 ต้องอ่านให้ สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่18 ฟังด้วย

        “ตอนที่ผมบวช จะอยู่กุฎิใกล้ๆ กับ เจ้าประคุณ ผมได้เห็นพระปฏิบัติของท่าน ซึ่งเป็นพระที่เรียบง่าย ใส่ใจ มีธรรมปฏิบัติที่น่าเลื่อมใส ที่สำคัญคือ ท่านมีเมตตามาก เมื่อเห็นใครทำอะไรผิด ก็จะเรียกมาสอนว่าสิ่งนี้ทำไม่ถูกนะ ต้องเปลี่ยน แต่ท่านไม่ใช้การตำหนิ แต่จะใช้วิธีบอกกล่าวกัน ถือเป็นความเมตตาที่ท่านมีให้กับทุกคน” ลุงทรงวุฒิ เล่าความหลัง

        แม้ อดีตลูกศิษย์วัดราชบพิธ จะพ้นจากบรรพชิตเพศกว่า 30 ปีแล้ว แต่คำสอนหนึ่งที่ได้จากพระอาจารย์ที่ยังยึดเป็นแนวทางใช้ชีวิตจนถึงทุกวันคือ รักษาศีล5 และให้ทาน โดยการให้ทานนั้น“ลุงทรงวุฒิ”ขยายรายละเอียดตามคำที่ถูกสอนว่า“การให้ทานไม่ใช่การหวังผล หากเราทำทานเพื่อหวังความรวย การให้ทานนั้นจะกลายเป็นความโลภ ดังนั้นต้องเข้าใจแก่นของการให้ทาน คือ เพื่อทำให้ผู้อื่นพ้นความทุกข์ หรือมีทุกข์น้อยลง และเรามีความสุข ถึงจะเรียกว่าเป็นการให้ทานที่แท้จริง”

      “สมถะ- เปี่ยมพระเมตตา”สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

                                                  ทรงวุฒิ หวังธรรมคุ้ม  อดีตลูกศิษย์วัดราชบพิธฯ       

       ความประทับใจด้านความมีเมตตา อีกด้านถูกเล่าจาก“แม่ค้าขายหวย - ป้าสมภาร เขตสิม วัย 51 ปี” ชาววังสะพุง จ.เลย ที่อาศัยร่มเงาของรั้ววัดราชบพิธ เป็นพื้นที่ทำอาชีพ กว่า 8 ปี ที่ ไม่เคยถูกเจ้าประคุณไล่ แต่กลับบอกให้เข้าไปในวัดเพื่อหาน้ำเย็นดื่มเพื่อคลายความร้อน

        “เมื่อช่วงหลายเดือนก่อน เป็นวันเสาร์สิ้นเดือน ท่านลงมาจากพระอุโบสถเดินมาเจอป้าที่ขายหวยอยู่ข้างรั้ววัด ท่านเข้ามาหา เรียกป้าว่า ลูกให้ไปหาน้ำ หาท่ากิน ก่อนจะเทศนาธรรมให้ฟัง ป้าจำความได้ว่า มีญาติ โยมเคยไปขอหวยกับท่าน แต่ท่านไม่ให้เลข แต่บอกว่าแล้วแต่โชค เพราะหากใครมีโชคไม่ว่าซื้อเลขอะไรก็ได้รางวัลทั้งนั้น จากนั้นท่านก็อวยพรให้ญาติ โยมมีแต่ความโชคดีในชีวิต นี่ถือเป็นความประทับใจของป้าอย่างมาก กับความโอบอ้อมอารีที่ท่านมีกับคนทุกคนไม่ว่าจะยากดี มีจนแค่ไหน” แม่ค้าขายหวยเล่าด้วยความปลาบปลื้มใจ

“สมถะ- เปี่ยมพระเมตตา”สมเด็จพระสังฆราชองค์ที่ 20

                                                  “แม่ค้าขายหวย - ป้าสมภาร เขตสิม        

      อย่างไรก็ดียังมีความประทับใจของ พุทธศาสนิกชนอีกหลายคนที่ชื่นชม “สมเด็จพระสังฆราช องค์ที่ 20” ด้านความพอเพียง และสมถะ เพียงแค่ได้เห็นช่อดอกไม้ประดับที่วางอยู่บันไดหน้าพระอุโบสถ ที่นำดอกไม้สดแทรมเข้ากับดอกไม้ปลอม ซึ่งจัดได้อย่างเรียบง่ายและสวยงามประทับใจผู้พบเห็น

       สำหรับประชาชน และพุทธศาสนิกชน ที่ต้องการเฝ้าถวายสักการะ เจ้าพระคุณสมเด็จพระอริยวงศาคตญาณ สมเด็จพระสังฆราช สกลมหาสังฆปริณายก ทางเจ้าหน้าที่ของวัดราชบพิธฯ แจ้งว่า มีกำหนดการให้ประชาชน เฝ้าถวายสักการะพระองค์ท่าน ในวันที่ 13 - 15 กุมภาพันธ์ ที่ภายในพระอุโบสถวัดราชบพิธฯ วันละ 2 รอบ คือ รอบเช้า เวลา 09.00 - 10.30 น. และ รอบบ่าย เวลา 14.00 - 16.00 น. โดยขอความร่วมมือให้แต่งกายสุภาพตามการเข้าวัดปกติของประชาชน เมื่อมาถึงวัดแล้ว ขอให้แจ้งกับเจ้าหน้าที่ของวัด หรือเจ้าหน้าที่ของกระทรวงมหาดไทยที่จะช่วยอำนวยความสะดวกเรื่องการเข้าถวายสักการะให้ครบทุกคน ทุกหมู่คณะ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ