คอลัมนิสต์

ส่องอาวุธจีนกองทัพไทย ก่อนก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่องอาวุธจีนกองทัพไทย ก่อนก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง

          นอกจากความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างรัฐบาลไทยกับจีนแล้ว ข้อเสนอราคาที่ถูกกว่า รวมทั้งการถ่ายทอดเทคโนโลยีและสิทธิบัตรเพื่อจัดตั้งสายการผลิตโรงงานผลิตอาวุธในไทย น่าเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้กองทัพบกตัดสินใจลงนามซื้อรถถัง VT-4 จากประเทศจีน ไปแล้ว 28 คัน ราคา 150 ล้านดอลลาร์ ในสมัย พล.อ.ธีรชัย นาควานิช องคมนตรี เป็นผู้บัญชาการทหารบก (ผบ.ทบ.) และกำลังจัดหาต่อในระยะ 2 ในปีงบประมาณ 2560 โดยผูกพันงบประมาณ 3 ปี

                              ส่องอาวุธจีนกองทัพไทย ก่อนก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง

          สอดคล้องกับแนวคิดการพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศให้เป็นรูปธรรมในปี 2560 ของ พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายความมั่นคงและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม ที่จะดึงจีนเข้ามาร่วมลงทุน หวังให้กองทัพพึ่งพาตัวเอง ลดการนำเข้าอาวุธยุทโธปกรณ์จากต่างประเทศ โดยจะเริ่มจากการสร้างบุคลากรของกองทัพให้สามารถดำเนินการได้ ในการผลิตยุทโธปกรณ์ง่าย และสุดท้ายจะพัฒนาขีดความสามารถและยกระดับเป็นสายการผลิตโรงงานประกอบรถถังในไทย

          โดยรถถัง VT-4 เพื่อทดแทนรถถังเบา M41 ที่ผลิตโดยประเทศสหรัฐอเมริกา เข้าประจำการตั้งแต่ปี 2505 ซึ่งคาดว่าจะกระจายไปอยู่ใน 3 กองพัน กองพันละ 13 คัน และประจำกองบัญชาการกองพันละ 3 คัน รวม 42 คัน ประกอบด้วย กองพันทหารม้าที่ 4 รักษาพระองค์ (ม.พัน.4 รอ.) กองพันทหารม้าที่ 9 รักษาพระองค์ (ม.พัน.9 รอ.) กองพันทหารม้าที่ 8 รักษาพระองค์ (ม.พัน.8 รอ.)

                          ส่องอาวุธจีนกองทัพไทย ก่อนก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง

          ย้อนกลับไปประมาณ 20 ปีก่อน กองทัพบกเคยซื้อรถถังหลัก Type 69-II จากจีน ประมาณ 100 คัน ราคากว่า 300 ล้านบาท เพื่อเพิ่มกำลังหน่วยรถถังของกองทัพบกในการต่อต้านกองทัพประชาชนเวียดนาม ซึ่งการจัดซื้อในครั้งนั้นได้มาในราคาถูกและแบบเร่งด่วน เนื่องจากหากรอรถถังรุ่นใหม่ที่จีนนำเสนอ ต้องใช้เวลาอีก 1 ปี ซึ่งไม่ทันต่อสถานการณ์ในขณะนั้น โดย Type 69-II และได้รับการปรับปรุงอยู่พักหนึ่ง ก่อนจะปล่อยทิ้ง เพราะประเมินแล้วไม่คุ้มค่า ไม่มีอะไหล่ และเทคโนโลยีล้าสมัย โดย Type 69-II บางส่วนถูกนำไป “ทิ้งทะเล” ทำปะการังเทียม                           

          แหล่งข่าวจากกองทัพบกชี้แจงว่า อย่าเพิ่งด่วนสรุปว่า รถถัง VT-4 จะเป็นแบบเดียวกับรถถัง Type 69-II เนื่องจากรถถัง VT-4 ถูกผลิตขึ้นมาเพื่อการส่งออกโดยเฉพาะ มีเทคโนโลยีทันสมัย และการดำเนินการจัดซื้อจัดหาผ่านคณะกรรมการกำหนดมาตรฐานยุทโธปกรณ์ กองทัพบก (กมย.ทบ.) จะพิจารณาบริษัทที่เสนอเข้ามาว่าเหมาะสมและผ่านมาตรฐานหรือไม่ จากนั้นคณะกรรมการการจัดซื้อเดินทางไปดูรายละเอียดที่โรงงานการผลิต แล้วรวบรวมข้อมูลมาประชุมก่อนตัดสินใจ

          และปัจจุบันนี้กองทัพบก มียุทโธปกรณ์ของจีนที่ประจำการอยู่และยังแข็งแรง ทนทาน เนื่องจากมีการซ่อมบำรุงที่ดีและใช้งานมาจนถึงทุกวันนี้ คือ รถสายพานลำเลียงพลแบบ Type 85 (YW531H) 450 คัน เข้าประจำการเมื่อปี 2530 มีทั้งรุ่นลำเลียงพล รุ่นติดตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด 82 มม. รุ่นตั้งเครื่องยิงลูกระเบิด 120 มม. รุ่นบังคับการ และติดตั้งจรวด 130 มม. 30 ท่อยิง ประจำการในกองพลทหารม้าที่ 2 รักษาพระองค์ (พล.ม.2 รอ.) และมีบางส่วนประจำการในกรมทหารม้าที่ 6 (ม.6) กองพลทหารม้าที่ 1 (พล.ม.1)

                             ส่องอาวุธจีนกองทัพไทย ก่อนก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง

          แต่เคยมีเสียงบ่นของผู้ใช้งานรถสายพานลำเลียงพลแบบ Type 85 ว่าขับลำบากเมื่อเทียบกับรถสายพานลำเลียงแบบ M-113 ที่ผลิตจากสหรัฐ ให้ความสบายกับคนขับผิดกัน ขับ Type-85 ต้องใช้กำลังในการขับมาก ตลอดจนถึงเรื่องของปืนกลที่ติดมากับรถว่ากระสุนที่ใช้นั้นต้องเป็นกระสุนที่ผลิตมาจากจีนเท่านั้น

           ต้องยอมรับว่า ยุทโธปกรณ์กองทัพบกที่เป็นอาวุธหลัก และผลิตจากจีน มีน้อยมากเมื่อเทียบกับสหรัฐอเมริกา นอกนั้นจะเป็นอาวุธประจำกาย ปืนใหญ่ลากจูง M1954 จำนวน 15 เครื่อง จรวดหลายลำกล้อง Type 81, Type 82, WS-1B ชนิดละ 6 กระบอก ปืนใหญ่ต่อสู้อากาศยาน Type 59 จำนวน 24 กระบอก Type 74 จำนวน 122 กระบอก จรวด Type 56 RPG HN-5A สำหรับอากาศยานของกองทัพบกนั้น ยังไม่ปรากฏว่ามีการจัดซื้อจากจีน

          ในส่วนของกองทัพเรือ มีโครงการจัดซื้อเรือดำน้ำจีน ชั้นหยวนแบบเอส 26 จำนวน 3 ลำ งบผูกพัน 11 ปี มูลค่า 36,000 ล้านบาท โดยลำแรกราคา 13,500 ล้านบาท ซึ่งผ่านความเห็นชอบสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ไปแล้ว ท่ามกลางเสียงคัดค้านจากกำลังพลกองทัพเรือบางส่วน เนื่องจากไม่มั่นใจในประสิทธิภาพ เทคโนโลยี

           นอกจากนี้ในส่วนของเรือฟริเกตบางรุ่นที่ต่อจากจีนก็ใช้ระบบอาวุธของจีนเกือบทั้งหมด เช่น เรือหลวงนเรศวร เรือหลวงตากสิน บางแบบก็ใช้ระบบแบบลูกผสม สามารถใช้อาวุธจากฝั่งตะวันตกได้ เช่น จรวดนำวิถีจากจีน แบบ C-801 ซึ่งปัจจุบันเปลี่ยนเป็น C-802A แล้ว ซึ่งติดตั้งบนเรือหลวงกระบุรี แต่ในเรื่องโครงสร้างลำตัวเรือ เช่น เรือตรวจการณ์ไกลฝั่ง (เรือ OPV) ที่ต่อจากจีนล่าสุดทั้ง 2 ลำ ก็มีเสียงบ่นมาเหมือนกันในเรื่องของคุณภาพเหล็กที่ใช้ต่อเรือ

                               ส่องอาวุธจีนกองทัพไทย ก่อนก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง

           ขณะที่กองทัพอากาศ เคยมีข่าวในยุคสมัยหนึ่งว่า ทอ.เคยที่จะสั่งซื้อเครื่องบิน F-7 ที่ดัดแปลงมาจาก MIG-21 มาเป็นเครื่องบินโจมตี แต่มีเสียงคัดค้านเกิดขึ้น เพราะยังมีข้อสงสัยในเรื่องของประสิทธิภาพและระบบการซ่อมบำรุง และจนถึงปัจจุบันนี้กองทัพอากาศยังไม่มีอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ผลิตจากจีน

         จะเห็นได้ว่า ความคลางแคลงใจถึงประสิทธิภาพของอาวุธที่ผลิตจากจีนยังคงมีอยู่ ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน เมื่อเปรียบเทียบของสหรัฐอเมริกาที่มีความน่าเชื่อถือมากกว่า แต่ก็มาพร้อมกับราคาแสนจะแพง แต่นโยบายการพึ่งพาตัวเองของจีน ทำให้ช่วงหลังจีนมีการพัฒนาและสร้างอาวุธที่ทันสมัยอย่างต่อเนื่อง และจีนกำลังจะถ่ายทอดเทคโนโลยีให้กองทัพไทย สามารถพึ่งพาตัวเองได้เช่นกัน จึงเป็นข้อได้เปรียบของยุทโธปกรณ์จากจีนในทุกวันนี้

 

“ออปชั่นเสริม” ทำ “อาวุธจีน” ได้เปรียบ

                                ส่องอาวุธจีนกองทัพไทย ก่อนก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง

          ผศ.ดุลยภาค ปรีชารัชช นักวิชาการสาขาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ศึกษา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ กล่าวแสดงความคิดเห็นกรณีกองทัพบกไทยซื้อรถถัง VT-4 จากจีน รวมถึงการให้จีนมาร่วมลงทุนโรงงานซ่อมสร้างผลิตอะไหล่ในไทยว่า อาวุธยุทโธปกรณ์มีความสัมพันธ์กับสมรรถนะของแต่ละรัฐ โดยอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ ในระดับโลกแบ่งออกเป็น 3 ระดับ หนึ่งกลุ่มประเทศชั้นนำมีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ ที่ทันสมัยแบบสมบูรณ์ครบวงจร และสามารถพัฒนาองค์ความรู้และต่อยอดได้ระดับสูงสุด เช่น สหรัฐอเมริกา รัสเซีย และจีน

           กลุ่มประเทศที่สองคือ สามารถพัฒนาอุตสาหกรรมผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้สมบูรณ์ครบวงจรแต่ยังขาดข้อจำกัด ในการต่อยอดองค์ความรู้ระดับสูง เช่น อินเดีย สิงคโปร์ อิสราเอล และกลุ่มประเทศที่สามผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ได้บางส่วนและมีข้อจำกัดหลายประการ ซึ่งประเทศไทยก็อยู่ในกลุ่มนี้ รวมถึงประเทศอื่นๆ ในอาเซียน

          ผศ.ดุลยภาค กล่าวว่า ดังนั้น เมื่อดูใน 3 อันดับ จีนก็อยู่ในอันดับท็อประดับเดียวกับรัสเซียและสหรัฐอเมริกา ถือเป็นตัวเลือกที่กองทัพไทยสนใจ โดยก่อนหน้านี้มีการก่อตัวของสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศ โดยเป็นองค์กรมหาชน ซึ่งเป็นหน่วยงานของไทยที่ผลิตอาวุธยุทโธปกรณ์ด้วยและนำรถถังมาดัดแปลง รวมถึงการพัฒนาจรวดหรือยุทโธปกรณ์อื่น โดยต่อยอดมาจากจีนเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว เพราะฉะนั้นตัวเลือกจากจีนเป็นอะไรที่น่าสนใจ ทั้งในเรื่องของราคาและสมรรถนะของจีนและการถ่ายทอดเทคโนโลยี ซึ่งก็อยู่ในระดับต้นๆ อยู่แล้ว ใกล้เคียงกับสหรัฐอเมริกาหรือรัสเซีย

          ผศ.ดุลยภาค กล่าวว่า แม้ว่าจีนจะเป็นรอง สหรัฐอเมริกา รัสเซีย ในหลายมิติ รวมถึงขีดความสามารถของยุทโธปกรณ์บางตัว ถ้าไทยจัดซื้อรถถัง VT-4 ซึ่งก็มีกรณีที่คล้ายคลึงกันกับกองทัพปากีสถาน ซึ่งสนใจจะซื้อ VT-4 ของจีน แต่กระบวนการจัดซื้อของกองทัพปากีสถานค่อนข้างโปร่งใส และมีการถ่ายทอดให้สาธารณชนได้ดูสมรรถนะรถถัง VT-4 โดยเปรียบเทียบกับรถถังออฟล็อต ของยูเครน นำไปวิ่งในทะเลทราย และดูแลเพื่อไม่ให้เกิดความได้เปรียบหรือเสียเปรียบ แม้ผลสรุปที่ออกมาว่า รถถังออฟล็อตของยูเครนจะดูดีกว่าของจีน แต่รถถัง VT-4 ราคาสมเหตุสมผลกว่ารถถังออฟล็อต ของยูเครน และจีนก็เสนอแนวทางอื่นอีก เช่น ถ้าซื้อ VT-4 จีนจะเข้ามาพัฒนาระบบและถ่ายทอดเทคโนโลยีให้มากขึ้น และมีสิทธิพิเศษอื่นๆเสริมมาให้ จึงทำให้กองทัพปากีสถานตัดสินใจเอียงเอนมาที่จีน

           “ในกรณีของกองทัพบกไทยก็เช่นเดียวกัน หากกองทัพบกสนใจสิทธิต่างๆ ที่จีนให้มามากกว่ายูเครน ถือเป็นเรื่องปกติ แต่กระบวนการของปากีสถานจะมีการตรวจสอบแข่งขันเพื่อให้เห็นจุดเด่นจุดด้อย ดังนั้นสิ่งใดที่ไม่ใช่เรื่องที่จะต้องปกปิดสำหรับสาธารณชน กองทัพไทยก็ควรนำเสนอไปได้ ก็จะทำให้มีน้ำหนักมากขึ้นในการซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์หรือรถถังจากจีน”

                          ส่องอาวุธจีนกองทัพไทย ก่อนก้าวสู่การพึ่งพาตัวเอง

           ผศ.ดุลยภาค กล่าวว่า จุดเด่นของกองทัพไทยคือ การใช้เทคโนโลยีนำเข้าจากกลุ่มประเทศตะวันตกทั้งหมด เพียงแต่ไม่ทราบเคล็ดลับการไปพัฒนาต่อหรือเทคโนโลยีเชิงลึกว่าเป็นอย่างไร เมื่อเราเลือกจากประเทศตะวันตกก็จะจ่ายราคาแพง เพราะสมรรถนะสูง แต่กระบวนการซ่อมบำรุงก็ดี การนำเทคโนโลยีจากเครื่องจักรต่างๆ ไปต่อยอดเป็นอาวุธยุทโธปกรณ์ที่ทรงอานุภาพทำไม่ได้ ในขณะของจีนเสนอ สิทธิพิเศษต่างๆ มาให้ และขายราคาถูกกว่า พร้อมส่งเจ้าหน้าที่เข้ามาช่วยพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศเพื่อต่อยอดไปสู่อาวุธที่เราจะลดการพึ่งพาและนำเข้าได้ ซึ่งถือเป็นสิทธิพิเศษอย่างหนึ่งของจีนที่แทรกเข้ามา ถามว่าต่อไปจะเกิดปัญหาหรือไม่ เพราะกองทัพบกไทยรับยุทโธปกรณ์หลากหลาย มองว่า แม้กองทัพบกจะมีอาวุธยุทโธปกรณ์จากหลายๆ ชาติพันธุ์ ทั้งจีน ยูเครน สหรัฐ แต่หลักนิยมทางการทหารหรือการรบ ยังคงเป็นแบบตะวันตก ยังไม่เปลี่ยนแปลงมาก

             ส่วนอะไหล่ต่างๆ ของยุทโธปกรณ์จะแตกต่างกันหรือไม่นั้น มองว่ากองทัพก็จะตระหนักดีในเรื่องนี้ ถึงจะตั้งสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศมาและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศที่จะเห็นเป็นรูปธรรมเพื่ออุดช่องว่างตรงนี้ในการพัฒนางานวิจัยหรือเติมบุคลากรต่างๆ ให้มีซอฟต์แวร์ที่ดีขึ้น การที่เราสามารถนำจุดเด่นจุดด้อยอะไหล่ของแต่ละประเทศเข้ามาบูรณาการและแก้ปัญหาได้เอง ซึ่งก็ต้องใช้เวลายาวอยู่เหมือนกัน

             ผศ.ดุลยภาค กล่าวว่า ส่วนการที่จีนมาถ่ายทอดเทคโนโลยีอุตสาหกรรมป้องกันประเทศ รวมถึงการเข้ามาร่วมทุน จะเป็นปัจจัยให้กองทัพไทยจัดซื้ออาวุธยุทโธปกรณ์ของจีนมากขึ้นหรือไม่นั้น คิดว่าเป็นเรื่องที่ต้องจับตาไปอีกสักระยะ แต่มีแนวโน้มที่อาวุธยุทโธปกรณ์ของจีนจะเข้ามาในกองทัพไทยมากขึ้น เพราะสถาบันเทคโนโลยีป้องกันประเทศและพัฒนาอุตสาหกรรมป้องกันประเทศมีการสร้างระบบซอฟต์แวร์ก่อนหน้านี้ โดยอาศัยจีนเข้ามาพัฒนา ขีดความสามารถในการป้องกันประเทศ จึงมีแนวโน้มที่จะต้องมีการพึ่งพาความช่วยเหลือจากจีนมากขึ้น แต่คงจะไม่ใช่การผูกขาด เพราะคิดว่าระบบพื้นฐานของยุทโธปกรณ์ไทยมาจากหลากหลายแหล่ง และส่วนใหญ่ก็มาจากทางตะวันตก เพราะฉะนั้นจึงเป็นไปไม่ได้ที่จีนจะผูกขาดทั้งหมดในตลาดอาวุธยุทโธปกรณ์

          ผศ.ดุลยภาค กล่าวว่า พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผบ.ทบ. ก็พูดชัดเจนอยู่แล้วว่าจะมีชาติอื่นๆ เข้ามาร่วมพัฒนาด้วย เพียงแต่จีนมาก่อน เนื่องจากมีบทบาทมาก่อนหน้านั้น จึงทำให้จีนมีบทบาทที่โดดเด่นขึ้นมา ส่วนโอกาสที่ประเทศอื่นๆ อย่างเช่น สหรัฐ รัสเซีย จะเข้ามาร่วมลงทุนด้วยนั้น มีความเป็นไปได้ เพราะเป็นธรรมชาติของการถ่วงดุลอำนาจและหลักการกำไรขาดทุนของตลาดหลักการขายอาวุธที่รัฐมหาอำนาจมีต่อกองทัพโลกที่สาม.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ