คอลัมนิสต์

รายงาน “ทวงคืนทางเท้า”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย ธนัชพงศ์ คงสาย@tanatpong_nna

เปิดตัวที่กั้น “มอเตอร์ไซค์มักง่าย” ภารกิจ “ทวงคืนทางเท้า” คนกรุง

          “จากที่ผมได้รับการร้องเรียนเข้ามามากว่า หลังจากมีการจัดระเบียบทางเท้าไปแล้วมีรถจักรยานยนต์ขึ้นมาวิ่งบนทางเท้าในหลายพื้นที่ ผมจึงได้มอบหมายให้ผู้รับผิดชอบไปดูแลสั่งการให้เจ้าหน้าที่เทศกิจในพื้นที่กวดขันและดำเนินการตามกรอบของกฎหมายอย่างเคร่งครัด...” เสียงเตือนจากผู้ว่าฯ กทม. พล.ต.อ.อัศวิน ขวัญเมือง เมื่อ 25 มกราคม 2560 โพสต์ลงเฟซบุ๊กส่งคำสั่งตรงไปถึงสำนักเทศกิจทั่วกรุงเทพฯ ให้เดินหน้ากวดขันจับกุมกลุ่มมอเตอร์ไซค์ “มักง่าย” ลอบวิ่งบนทางเท้าอย่างเข้มงวด

           “บิ๊กวิน” ได้กำชับให้สำนักเทศกิจกวดขันไม่ให้มีการจอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้าและไม่ให้มีการจอดหรือขับขี่รถยนต์ รถจักรยานยนต์ หรือล้อเลื่อนบนทางเท้าอย่างเด็ดขาด โดยให้จัดชุดเจ้าหน้าที่เทศกิจออกปฏิบัติหน้าที่เคร่งครัด เน้นช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วนและถนนที่มีการจราจรหนาแน่น อาทิ ถนนสุขุมวิท ถนนพระรามที่ 4 ถนนเพชรบุรี ถนนพหลโยธิน ถนนรัชดาภิเษก ถนนจรัญสนิทวงศ์ หากพบผู้ฝ่าฝืนขอให้จับปรับได้ทันที ตามความผิดใน พ.ร.บ.รักษาความสะอาดและความเป็นระเบียบเรียบร้อยของบ้านเมืองพ.ศ.2535 มีโทษปรับไม่เกิน 5,000 บาท

                                           รายงาน “ทวงคืนทางเท้า”

          เป็น “ความหวัง” อันดับต้นๆ ของคนกรุงเทพฯ ต่อการแก้ปัญหาทางเท้าที่ “หมักหมม” มานานหลายสิบปี โดยเฉพาะเสียงก่นด่าเริ่มหนาหูในโลกโซเชียลมีเดีย ส่งแรงบีบไปถึง กทม.ให้แก้ปัญหา “มนุษย์มักง่าย” อย่างจริงจังไม่เว้นแต่ช่องทางเฟซบุ๊กของทุกสำนักงานเขตร้องเรียนปัญหามอเตอร์ไซค์บนทางเท้าในอันดับต้นๆ ทว่าในหลายพื้นที่ทางเท้าทุกวันนี้ “มนุษย์มอไซค์” ยังลอบใช้งานไม่เว้นแต่รถยนต์ 4 ล้อคันใหญ่ได้ใช้ทางเท้าสาธารณะเป็นที่จอดรถหน้าบ้านสบายใจทำกันเป็นนิสัยทำกันจนคิดว่าจาก “เรื่องผิด” เป็น “เรื่องถูก”

         ยังไม่นับปัญหามอเตอร์ไซค์ขับย้อนศร ฝ่าไฟแดง จอดทับทางม้าลาย พฤติกรรมมนุษย์แซงคิว ไปจนถึงทิ้งขยะไม่เลือกที่ จากนิสัยคนไทยบางคน ติดเอาง่ายสบายเข้าว่า เอาตัวเองเป็นที่ตั้ง อ้างสิทธิตัวเอง โดยที่ไปเบียดเบียดสิทธิของคนอื่น หลายคนโตขึ้นมาโดยคิดว่าตัวเองคือศูนย์กลางของสังคม การเห็นแก่ตัวเป็นเรื่องเอาชนะ ทุกความเห็นแก่ตัว กลายเป็นปัญหา “บั่นทอน” คุณภาพชีวิตคนกรุงทุกวัน ถึงแม้ภาครัฐจะระดมโฆษณารณรงค์เรื่องจิตสำนึกสุดท้ายแล้วก็มีเสียงสนับสนุนว่า ถ้าเรื่องสำนึกแก้ไม่ได้สำหรับคนไทยต้องใช้กฎหมายบังคับอย่างเด็ดขาดเท่านั้น โดยสถิติการจับกุมและดำเนินคดีผู้กระทำผิดในปี 2559 ทั้งหมด 13,868 ราย มีค่าปรับถึง 8,579,060 บาท

                                         รายงาน “ทวงคืนทางเท้า”

          ไอเดียการแก้ปัญหาล่าสุด พล.ต.ท.อำนวย นิ่มมะโน รองผู้ว่าฯ กทม. ได้สั่งการให้กลุ่มเขตกรุงเทพฯเหนือ ประกอบด้วย เขตจตุจักร บางซื่อ ดอนเมือง บางเขน ลาดพร้าว สายไหม และหลักสี่ ให้ขอความร่วมมือให้มอเตอร์ไซค์รับจ้าง เป็นหูเป็นตาต่อต้านการขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า กับเจ้าหน้าที่เทศกิจที่กวดขันในแต่ละพื้นที่ หรือเรียกว่า “หนามยอกต้องเอาหนามบง” เพราะที่ผ่านมามอเตอร์ไซค์รับจ้างสามารถจอดบนทางเท้าในพื้นที่ที่กำหนดไว้ แต่ในความเป็นจริงเมื่อรับผู้โดยสารแล้วกลับมาใช้ทางเท้าขับขี่รับส่งโดยไม่ลงไปขับขี่บนถนน ถ้าทำแบบนี้ได้จะเกิดพลังจากการมีส่วนร่วมเพื่อต่อต้านการขับขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้า

          ขณะที่ตัวอย่างเห็นชัดเจนในความตั้งใจแก้ปัญหานี้ ต้องยกให้สำนักงานเขตดินแดง เป็นสำนักงานเขตแรกรุกคืบนำร่องโครงการ S-GUARD นวัตกรรมใหม่ “ที่กั้นมอเตอร์ไซค์ใส่ใจวีลแชร์” เป็นการติดตั้งเป็นแท่งเหล็กสูงประมาณ 1 เมตร จำนวน 10 เเท่ง บนทางเท้าหน้าอาคารอาร์เอส ทาวเวอร์ ถนนรัชดาภิเษก ติดตั้งเป็นแนวขนาดระยะห่างแท่งละ 30 เซนติเมตร เพื่อป้องกันไม่ให้มอเตอร์ไซค์สามารถวิ่งบนทางเท้าได้ แต่รถเข็นวีลแชร์สามารถผ่านเพื่อใช้ทางเท้าได้

                                       รายงาน “ทวงคืนทางเท้า”

          “สังสรรค์ขำเลิศ” หัวหน้าฝ่ายเทศกิจเขตดินแดงบอกว่า นโยบายนี้เริ่มต้นจากผู้อำนวยการเขตดินแดงไม่อยากให้มอเตอร์ไซค์ขับขึ้นทางเท้า เพราะจะอันตรายกับคนอื่น เมื่อติดตั้งไปแล้วก็ได้ผล ทำให้เขตบางกอกใหญ่ คลองเตย นำแนวคิดนี้ไปต่อยอด ซึ่งประชาชนส่วนใหญ่ก็เห็นด้วย เพราะยังใช้ทางเท้าได้ตามปกติ วีลแชร์ก็ใช้งานได้ แต่ในวันที่ติดตั้งก็มีชาวมอเตอร์ไซค์ทำทีเป็นประชาชนเดินเท้าเข้ามาบอกว่าเกะกะ อ้างว่าได้รับผลกระทบ มาป่วนช่วงเจ้าหน้าที่กำลังติดตั้งเสา แต่กรณีนี้ถือว่าได้ผล เพราะถ้าจะใช้กำลังเจ้าหน้าที่ยืนประจำทุกเสาไฟฟ้าก็ไม่เพียงพอ ถ้าใช้แนวคิดนี้จะช่วยเรื่องกำลังเจ้าหน้าที่และงบประมาณได้เยอะ

          “เสาลักษณะนี้ใช้งบประมาณปกติของสำนักงานเขต ที่เขตมีเสาเหล็กก็นำมาตัดให้สูงประมาณ 1 เมตร ฝังลงลึก 20 เซนติเมตร แล้วทาสีให้สวยงาม ซึ่งแนวคิดนี้เขตดินแดงจะนำไปติดตั้งในจุดอื่น ทางผู้บริหาร กทม.ได้กำชับว่า การติดตั้งอย่าให้เกะกะการใช้ทางเท้าของประชาชน แนวคิดนี้ประหยัดงบประมาณ เพราะไม่ต้องไปจ้างอัตรากำลังเพิ่มเติม เมื่อการรณรงค์ไม่ได้ผลทั้งหมด ยังมีมอเตอร์ไซค์วิ่งบนทางเท้า จึงต้องใช้วิธีนี้ ทุกคนก็สามารถอยู่ร่วมกันได้” หัวหน้าฝ่ายเทศกิจ เขตดินแดงระบุ

          “ใสศรี หิรัญประเสริฐวุฒิ” ผู้อำนวยการเขตดินแดง เปิดเผยว่า เปิดทดลองติดตั้งเสาเหล็กบนทางเท้ามาได้ 2 สัปดาห์แล้ว โดยได้เลือกจุดติดตั้งจากที่ได้รับเรื่องร้องเรียนว่าเป็นจุดที่มีมอเตอร์ไซค์ขึ้นมาขับขี่เป็นประจำยามวิกาลซึ่ง 2 จุดอยู่บริเวณทางเท้าหน้าบริษัทวิริยะประกันภัย จำกัด (มหาชน) ถนนรัชดาภิเษกฝั่งขาออกเมืองกับบริเวณหน้าโบสถ์แม่พระฟาติมา ถนนดินแดงฝั่งขาออกเมือง จึงลองหาวิธีสนองตอบนโยบายนี้ สุดท้ายมาลงตัวที่การติดตั้งเสาเหล็กบนทางเท้า โดยคำนวณระยะห่างของแต่ละเสาเพื่อกั้นเฉพาะมอเตอร์ไซค์ แต่ไม่กั้นคนใช้วีลแชร์ เพราะช่วงของมอเตอร์ไซค์ยาวกว่าวีลแชร์มาก จึงไม่สามารถหักเลี้ยววงเลี่ยงเสาเหล็กได้ขณะที่คนเดินเท้าสามารถเดินผ่านได้สบาย

                                         รายงาน “ทวงคืนทางเท้า”

           ปรากฏว่าเมื่อมีการเผยแพร่ภาพออกไป เสียงจากสังคมออนไลน์ต่างพากันสนับสนุนแนวคิดนี้ โดยเฉพาะในทวิตเตอร์ได้สะท้อนความเห็น อาทิ @choichtk :“แต่ว่าถ้ามีจิตสำนึกทำตามกฎก็จะไม่ต้องเสียงบมาทำแบบนี้”

@18_mein :“ควรมีไว้ทุกที่อะ เพราะมนุษย์มอไซด์(บางคน)เป็นไรที่ไม่มีสำนึกมากๆ”

@sora_bkk: “จริงๆ มันไม่สมควรมีที่กั้นด้วยซ้ำปรับหนักๆ คันละ5000ไปเลย”

@tar_sonata :“ถ้าคนเรามีจิตสำนึกที่กั้นแบบนี้จะไม่ต้องใช้เลยและมันจะดูสวยงามมาก”

@GeRE133 :“จริงๆ ถ้ามอไซค์ไม่ทำผิดกฎจราจรแบบทุกวันนี้ก็ไม่ต้องสร้างอะไรให้คนใช้วีลแชร์ลำบากหรอก”

@greentea_pt :“ต้องทำให้แข็งแรงด้วย ไม่งั้นเราจะเจอคนมาถอดบางเสาออกเพื่อให้มอเตอร์ไซค์ผ่านได้”

                                         รายงาน “ทวงคืนทางเท้า”

          “จุฑามาศ หิรัญรังสี” อายุ 29 ปี พนักงานบริษัทแพรคติก้า จำกัด มองแนวคิดนี้ว่า เหล็กกั้นมอเตอร์ไซค์น่าจะแก้ปัญหาได้ เพราะเสาเหล็กไม่ได้กั้นแค่มอเตอร์ไซค์ได้อย่างเดียว ยังกั้นรถเข็นขายของของผู้ค้าได้อีก จะเป็นเรื่องดีให้คนเดินเท้าได้สะดวก เป็นระเบียบเรียบร้อย ทางเท้าไม่สกปรก แต่ส่วนหนึ่งนอกจากเทศกิจจะกวดขันบนทางเท้า อยากให้เจ้าหน้าที่ตำรวจ โดยเฉพาะประชาชนทั่วไป เมื่อพบเห็นผู้ขี่มอเตอร์ไซค์บนทางเท้าสามารถถ่ายภาพทะเบียนรถไว้เป็นหลักฐานเพื่อส่งให้ฝ่ายที่เกี่ยวข้องจับปรับได้ แต่ที่ผ่านมาที่คนส่วนใหญ่ยังไม่กล้าถ่ายรูปเพื่อแจ้งสำนักงานเขต เพราะกลัวจะมีปัญหากับชาวมอเตอร์ไซค์ กลัวว่าถ้าทำแล้วจะไม่ปลอดภัย

          “ถ้ามีตำรวจและเทศกิจกวดขันน่าจะทำได้ดีกว่านี้ คาดหวังว่าการแก้ปัญหาเรื่องนี้อย่างให้เป็นแบบญี่ปุ่น ที่ทางเท้าเป็นทางเท้าจริงๆ” จุฑามาศ ระบุ

                                        รายงาน “ทวงคืนทางเท้า”

          “ภูมิวสันต์ สุวรรณรัตน์” อายุ 29 ปี พนักงานบริษัทแห่งหนึ่ง เห็นว่าถ้าเป็นแท่งเหล็กคงจะแก้ปัญหาได้ แต่ถ้ามองในเรื่องทัศนียภาพคงไม่สวยเท่าไหร่ เพราะอยู่กลางเมือง ถ้าฝรั่งมาถามว่าเอาเหล็กมาตั้งทำไมคงน่าอาย ถ้าจะบอกว่าเอามากั้นมอเตอร์ไซค์ น่าจะมีการออกแบบเสาเหล็กให้กลมกลืนกับทัศนียภาพ อาจจะเป็นต้นไม้ จะดูดีกว่า แต่คิดว่าที่เป็นแท่งเหล็กอาจจะมองเรื่องความแข็งแรง ปัญหานี้ต้องย้อนกลับไปว่า ทำไมมอเตอร์ไซค์ต้องขึ้นทางเท้า เพราะความสะดวก ไม่อยากไปกลับรถไกล มันก็เป็นเรื่องโครงสร้างกายภาพผังเมืองปัญหาจราจร

          “แต่ทุกคนต้องอยู่ในกรอบกฎหมาย คนที่ขี่มอเตอร์ไซค์ก็ต้องเคารพกฎหมาย คนเดินทางเท้าต้องมีสิทธิได้เดิน ไม่จำเป็นต้องหลบรถ เรื่องแท่งเหล็กแก้ที่ปลายเหตุ แต่ยังเชื่อว่าปัญหานี้จะแก้ได้ยาก แต่ผมมองเรื่องกติกามากกว่าถ้าทุกคนเคารพกติกาจริงจังน่าจะแก้ปัญหาได้” ภูมิวสันต์ ระบุ

          สุดท้าย ถ้าเรื่องมอเตอร์ไซค์ทำไม่ได้จริงๆ ประชาชนคงต้องหวังพึ่งมาตรา 44 เพื่อแก้ปัญหานี้ให้เบ็ดเสร็จเด็ดขาดอย่างที่คนกรุงเทพฯ หวังไว้

                                  รายงาน “ทวงคืนทางเท้า”

นางอัจฉราวดี ชัยสุวิรัตน์ ผู้อำนวยการเขตคลองเตย มอบหมายให้ฝ่ายโยธา สร้างเอสการ์ดบนทางเท้าถนนสุขุมวิท บริเวณหน้าอาคาร (เฉพาะจุด) EX change tower เพื่อไม่ให้รถขึ้นจอดหรือขับขี่บนทางเท้า / ภาพ : ฝ่ายเทศกิจ สำนักงานเขตคลองเตย

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ