คอลัมนิสต์

แผนสกัด“ยีนดื้อยาพันธุ์ใหม่”! ฟาร์มหมูไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแพร่ MCR-1 "ยีนดื้อพันธุ์ใหม่"จากฟาร์มหมู ทำให้แพทย์ทั่วโลกหวาดผวา แต่จนท.รัฐไทย ยังไม่กระตือรือร้น เสียงเรียกร้องนโยบายแก้ปัญหาเร่งด่วนมีอะไรบ้าง


    ทีมข่าว “คม ชัด ลึก” เจาะลึกการแพร่ยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ “เอ็มซีอาร์-1” (MCR-1) ที่แพทย์ทั่วโลกกำลังเฝ้าระวังอย่างใกล้ชิด ที่น่าตื่นเต้นไปกว่านั้น คือ มีรายงานวิจัยยืนยันพบยีนกลายพันธุ์ตัวนี้ในคนไทยอย่างน้อย 3 คนแล้ว เมื่อสืบค้นความเป็นมาของยีนตัวนี้ ปรากฏว่าเกิดจากปัญหาการใช้ “ยาโคลิสติน” อย่างผิดวิธีในฟาร์มหมู         
     โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เซลส์ขายยาที่คิดค้นสูตรอาหารหมูสยอง ที่นำผงยาโคลิสติน (Colistin) มาแนะนำให้เกษตรกรไทยเอาไปให้หมูกินเป็นระยะๆ หวังผลป้องกันและรักษาโรคท้องร่วงหรือโรคอื่นๆ สูตรอาหารนี้พบว่ามีการใช้แพร่หลายทั่วไปทั้งในคอก “ลูกหมู” และ “หมูขุน” !           
    แม้ยาราคาแพงหลักหมื่นถึงแสนบาทต่อเดือน แต่คนเลี้ยงหมูยอมควักเงินซื้อเต็มที่ ไม่ว่าจะเป็น “ฟาร์มเล็ก ฟาร์มใหญ่ ฟาร์มปิด ฟาร์มเปิด” เนื่องจากออกฤทธิ์คล้าย “ยามหัศจรรย์” รักษาได้เกือบทุกโรค โดยเฉพาะโรคท้องร่วง สาเหตุการตายของหมูส่วนใหญ่

           แผนสกัด“ยีนดื้อยาพันธุ์ใหม่”! ฟาร์มหมูไทย


    ที่น่าเป็นห่วง คือ “ยาโคลิสติน” ทั้งยาฉีดและยาผงผสมอาหาร ส่วนใหญ่นิยมซื้อสลับกันระหว่างยาถูกกฎหมายและยาผิดกฎหมาย เพราะราคาต่างกันถึง 4-5 เท่า ยกตัวอย่างจากถุงขยะใส่ขวดยาใช้แล้วจากฟาร์มหมูแห่งหนึ่งใน จ.นครปฐม ที่เลี้ยงลูกหมูประมาณ 300 กว่าตัว

          ทุกเดือนจะนำถุงขยะใส่ขวดยาชนิดต่างๆ ประมาณเกือบร้อยขวดไปทิ้งขยะ

          เมื่อทีมข่าวนำถุงใส่ขวดยาข้างต้นให้ผู้เชี่ยวชาญจาก “ศูนย์วิชาการเฝ้าระวังและพัฒนาระบบยา (กพย.)” ที่ตั้งอยู่ภายในคณะเภสัชศาสตร์ จุฬาฯ ตรวจสอบเบื้องต้น พบขวดยาใช้แล้วจำนวน 96 ขวด เป็นยาปฏิชีวนะ หรือยาต้านแบคทีเรีย ทั้งหมด 11 รายการ มีจำนวนมากถึง 65 ขวด รวมถึงยาห้ามซื้อขายทั่วไป ให้ใช้เฉพาะโครงการสัตวแพทย์ฝึกหัด และยาเถื่อนไม่มีทะเบียน          
      “ผศ.ภญ.นิยดา เกียรติยิ่งอังศุลี” ผู้จัดการศูนย์ ยอมรับว่า รู้สึกวิตกกังวลหลังตรวจสอบยาเหล่านี้เบื้องต้น เนื่องจาก 1.พบยาต้านแบคทีเรียถึง 9 ชนิด ไม่ซ้ำกันและเป็นกลุ่มยาแรง 2.มีการนำยาคนสำหรับผู้ป่วยโรงพยาบาลเท่านั้น มาใช้ในสัตว์ เช่น ยาเซฟไตรอะโซน และที่สำคัญ คือ 3.พบขวดยาผสมโคลิสติน 5 ขวด โดย 2 ใน 5 ขวดไม่มีทะเบียนยา หรือที่เรียกว่า “ยาโคลิสตินเถื่อน”

         ยาตัวนี้แพทย์ทั่วโลกวิตกกังวลว่า หากใช้ผิดวิธีจะทำให้เกิดเชื้อดื้อยาแพร่กระจายสู่มนุษย์ยิ่งกว่าโรคระบาด หลักฐานการพบยาโคลิสเตือนเถื่อนในฟาร์มหมูหลายแห่งในประเทศไทยแสดงให้รู้ว่าไม่ใช่แค่ยาโคลิสตินถูกกฎหมายเท่านั้น แต่ฟาร์มหมูไทยยังลักลอบใช้ยาเถื่อนอันตรายตัวนี้ด้วย ซึ่งไม่มีใครรู้ว่าสูตรเคมีหรือส่วนผสมแท้จริงมีอะไรบ้าง

แผนสกัด“ยีนดื้อยาพันธุ์ใหม่”! ฟาร์มหมูไทย

 

        สาเหตุที่วงการแพทย์ทั่วโลกเฝ้าระวังยาตัวนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจากช่วงปี 2558 จีนพบหมูและคนดื้อยาโคลิสตินจากฟาร์มหมูชนิดข้ามสายพันธุ์ได้ หรือ “ยีนเอ็มซีอาร์-1” (MCR-1 gene) ยีนตัวนี้ส่งสายพันธุกรรมหรือเชื้อดื้อยาข้ามจากสัตว์มาคน และจากคนไปสัตว์รวมถึงสัตว์เลี้ยง และยังถ่ายทอดไปยังเชื้อโรคตัวอื่นในร่างกายมนุษย์ได้อีกด้วย

        ยีนมหันตภัยถูกพบครั้งแรกไม่กี่ปีมานี้เอง จึงอยู่ในช่วงศึกษาทดลอง ยังไม่มีนักวิทยาศาสตร์ยืนยันได้ว่า ฤทธิ์เดชที่แท้จริงร้ายแรงแค่ไหน? แพร่จากทางไหนได้บ้าง? เพราะมันอาจแพร่กระจายได้จากการปนเปื้อนในเนื้อหมู อวัยวะหมู สิ่งแวดล้อมในฟาร์มหมู

       วงการแพทย์พยายามเผยแพร่ข้อมูลให้รู้ว่า การแพร่ระบาดอาจมาจากคนที่สัมผัสยีนตัวนี้ในเล้าหมู แล้วเอาเชื้อมาติดคนในครอบครัวหรือคนอื่นๆ อย่างไม่ตั้งใจ

แผนสกัด“ยีนดื้อยาพันธุ์ใหม่”! ฟาร์มหมูไทย

      ข้อมูลยืนยันฟาร์มหมูไทยอยู่ในสถานการณ์น่าเป็นห่วง มาจากทีมวิจัยสัตวแพทย์ จุฬาฯ ที่นำตัวอย่างเชื้อจากหมูในฟาร์มที่เก็บไว้ตั้งแต่ปี 2004–2014 มาวิเคราะห์ โดยเฉพาะในพื้นที่ 3 จังหวัด นครปฐม ราชบุรี และชลบุรี มีจำนวน 17 ฟาร์ม เป็นฟาร์มขนาดกลางประมาณ 100-1,000 ตัว ปรากฏว่าพบเชื้อดื้อยาโคลิสติน 40-100% และที่สำคัญพบยีนดื้อยาเอ็นซีอาร์-1 20–66%  
       3 จังหวัดยืนยันว่าพบยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่เรียบร้อยแล้ว! เชื้อตัวอย่างจากฟาร์มหมูแม้มีเพียงแค่ 17 แห่ง แต่ 3 จังหวัดนี้คือแหล่งฟาร์มหมูสำคัญของประเทศไทย

       หากสุ่มเก็บจำนวนตัวอย่างเพิ่มขึ้น ตัวเลขที่พบอาจทำให้หน่วยงานดูแลปัญหาเชื้อดื้อยาสะดุ้งมากกว่านี้ได้!?!

        ปัจจุบันไม่มีใครตอบได้ว่า ยีนมหันตภัย เอ็มซีอาร์-1 แพร่กระจายออกจากฟาร์มหมูผ่าน “คน” หรือสิ่งแวดล้อม เช่น “แหล่งน้ำสาธารณะ” ไปในสถานที่ใดบ้างแล้ว อาจมีเหยื่อติดเชื้อยีนเอ็มซีอาร์-1 โดยไม่ได้เกี่ยวข้องกับการกินเนื้อหมูหรือฟาร์มหมูได้ ดังกรณีที่เกิดขึ้นในอเมริกา   คนไข้หญิงรายหนึ่งมียีนดื้อยา “เอ็มซีอาร์-1” ทำให้หมอใช้ยาโคลิสตินไม่ได้ผล และผู้หญิงรายนี้ไม่เคยเกี่ยวข้องกับฟาร์มหมู และไม่ได้เดินทางออกนอกประเทศในช่วงนั้นด้วย

        “กรมปศุสัตว์” รับรู้ปัญหานี้เป็นอย่างดี เมื่อต้นปี 2559 หลังจากแพทย์ทั่วโลกรายงานให้เฝ้าระวังยีนดื้อยาสายพันธุ์ใหม่ กรมปศุสัตว์ออกหนังสือแจ้งเตือนและขอความร่วมมือกลุ่มเป้าหมายทันที

         หนังสือราชการใช้กระดาษตราครุฑประทับสีแดงคำว่า “ด่วนมาก” ที่มุมซ้ายก่อนถูกส่งให้ “สมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย” 

          รายละเอียดข้อความมีดังนี้

       “ด่วนมาก ที่ กษ 0623/2654 วันที่ 29 มกราคม 2559

        เรื่อง มาตรการจัดการความเสี่ยงยา Colistin ในสัตว์

      เรียน นายกสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทย

     เรื่องเดิม 
    1.วารสารการแพทย์ Lancet Infectiou Disease ฉบับวันที่ 18 พฤศจิกายน 2558 ตีพิมพ์รายงานชิ้นสำคัญการตรวจพบอุบัติการณ์ถ่ายทอดยีนดื้อยา Colistin MCR-1 ทาง Plasmid ในเชื้อ E.coli ซึ่งสามารถแพร่กระจายไปยังแบคทีเรียได้หลายชนิด โดยพบในผู้ป่วยและผลิตภัณฑ์จากสัตว์ของสาธารณรัฐประชาชนจีน ทั้งนี้ ยา Colistin มีการใช้กันมากในการปศุสัตว์ และอยู่ระหว่างขออนุมัติใช้เป็นยามนุษย์ในสาธารณรัฐประชาชนจีน  
    2.ประเทศในสหภาพยุโรปหลายประเทศ เช่น ฝรั่งเศส เดนมาร์ก นำเชื้อที่เก็บรวบรวมไว้มาตรวจสอบและตรวจพบเชื้อที่มียีนดื้อยา MCR-1 ดังกล่าวในกระแสเลือดผู้ป่วยและจากสินค้าไก่นำเข้า

     ข้อเท็จจริง 1.Colistin เป็นยาปฏิชีวนะตัวสุดท้ายที่ถูกนำกลับมาใช้ในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทย สำหรับผู้ป่วยวิกฤติที่ไม่มียาชนิดใดได้ผลในการรักษาเชื้อดื้อยา ซึ่งในคนมีการใช้เฉพาะรูปแบบยาฉีดเข้าเส้นเลือดและกำหนดให้สั่งใช้ได้โดยแพทย์เฉพาะทาง เพื่อสงวนไว้ใช้ในยามจำเป็น 

      2.ประเทศสมาชิกในสหภาพยุโรปมีการกำหนดตัวชี้วัดในการจำกัดและลดการสั่งใช้ยาปฏิชีวนะเพื่อควบคุมเชื้อดื้อยา เช่น เนเธอร์แลนด์สามารถลดการใช้ยาปฏิชีวนะเมื่อคำนวณเป็นปริมาณสารออกฤทธิ์ต่อ biomass ของสัตว์ลงได้ถึง 65 เปอร์เซ็นต์ ในระหว่างปี ค.ศ.2004-2041 
    สำหรับประเทศไทยจากการสอบถามและรวบรวมข้อมูลในเบื้องต้น โดยภาพรวมพบว่าการนำยาปฏิชีวนะมาใช้ในปศุสัตว์มีมากกว่าประเทศในสหภาพยุโรปหลายเท่า การนำยามาใช้ในปริมาณมากโดยไม่มีการควบคุมที่เหมาะสมจะเพิ่มปัญหาเชื้อดื้อยาทั้งในสัตว์และมนุษย์ ประสิทธิภาพของยาที่ลดลง จะทำให้ไม่มียาที่มีประสิทธิภาพเหมาะสมในการนำมาใช้ บุคลากรในฟาร์มจะมีความเสี่ยงต่อการติดเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น

      กรมปศุสัตว์พิจารณาแล้ว ใคร่ขอความร่วมมือสมาชิกของสมาคมสัตวแพทย์ผู้ประกอบการบำบัดโรคสัตว์แห่งประเทศไทยควบคุมและลดปริมาณยาปฏิชีวนะมาใช้ในสัตว์ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง Colistin ใช้เป็นไปเพื่อการรักษาโรคตามใบสั่งของสัตวแพทย์เฉพาะในกรณีสุดท้ายที่ไม่มียาอื่นใช้ได้ผลแล้วเท่านั้น ไม่นำยาดังกล่าวมาใช้ในวัตถุประสงค์เพื่อการควบคุม ป้องกันโรค 
    ทั้งนี้ กรมปศุสัตว์อยู่ระหว่างการเฝ้าระวังยีนดื้อยาดังกล่าว ซึ่งหากมีการตรวจพบปัญหาเชื่อมโยงยังผู้ป่วย จากการใช้ยาในสัตว์ของประเทศไทย หรือจากประเทศผู้นำเข้า ส่วนราชการที่เกี่ยวข้องอาจต้องยกเลิกการใช้ยาดังกล่าวในสัตว์ ดังกรณีการยกเลิกยา Avoparcin หลังจากญี่ปุ่นพบเชื้อและการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากการใช้ยาในสัตว์สู่ผู้ป่วย

                                          จึงเรียนมาเพื่อทราบ

                                          นายอยุทธ์ หรินทรานนท์ อธิบดีกรมปศุสัตว์
    

           หนังสือราชการที่ลงชื่อโดยอดีตอธิบดีกรมปศุสัตว์ข้างต้น สามารถสรุปเนื้อความสำคัญออกมาได้ 5 ประเด็น ดังนี้
         1.ขอให้สัตวแพทย์ใช้ “โคลิสติน” กรณีที่ยาอื่นใช้ไม่ได้ผลเท่านั้น
         2.พบยีนดื้อโคลิสตินในกระแสเลือด คนจีน คนฝรั่งเศส และคนเดนมาร์ก
         3.ไทยใช้ยาปฏิชีวนะในปศุสัตว์มากกว่ายุโรปหลายเท่า
         4.การใช้ยาไม่เหมาะสม ทำให้บุคลากรในฟาร์มเสี่ยงติดเชื้อดื้อยาเพิ่มขึ้น

        5.หากกรมปศุสัตว์ตรวจพบปัญหาเชื่อมโยงยังผู้ป่วย จากการใช้ยาโคลิสตินในสัตว์ อาจต้องยกเลิกยาโคลิสตินในสัตว์ เหมือนกรณียกเลิกยา Avoparcin หลังญี่ปุ่นพบเชื้อและการถ่ายทอดยีนดื้อยาจากสัตว์สู่ผู้ป่วย

       ผู้เชี่ยวชาญจากกองควบคุมอาหารและยาสัตว์ กรมปศุสัตว์ กล่าวถึงเอกสารราชการข้างต้นว่า หนังสือขอความร่วมมือจัดการความเสี่ยงยาโคลิสตินในวันที่ 29 มกราคม 2559 สืบเนื่องจากเป็นห่วงเรื่องการใช้ยาปฏิชีวนะในฟาร์มสัตว์จำนวนมาก โดยเฉพาะ “โคลิสติน” กลุ่มตัวยาสุดท้ายที่จะใช้เมื่อคนไข้มีอาการป่วยแล้วไม่สามารถใช้ยากลุ่มอื่นได้ผล โดยเฉพาะในอาการท้องเสียรุนแรงหรือติดเชื้อระบบทางเดินอาหาร

      “ยาโคลิสตินปกติใช้รักษาโรคระบบทางเดินอาหาร โดยเฉพาะจากเชื้อแบคทีเรีย อี.โคไล ไม่ควรให้ยาติดต่อกันเกิน 3-5 วัน 
    การใช้ผิดวิธีทำให้เกิดเชื้อดื้อยาและเชื้อตัวนี้หากตกค้างในสิ่งแวดล้อมในเล้าหมูจะเป็นอันตรายต่อคนเลี้ยงหมูที่กลายเป็นพาหะนำไปเผยแพร่ให้คนอื่นได้" ผู้เชี่ยวชาญข้างต้นอธิบาย
     

       อย่างไรก็ตาม ดูเหมือนว่าคำเตือนของกรมปศุสัตว์ยังไม่ได้ผลมากนัก เนื่องจากปลายปี 2559 ทีม ข่าว “คม ชัด ลึก” สืบพบการใช้ยาโคลิสตินฉีดและยาผง ทั้งที่มีทะเบียนและยาเถื่อน ในฟาร์มหมูทั้งขนาดกลางและขนาดเล็ก โดยเฉพาะฟาร์มหมูภายใต้ “คอนแทรคฟาร์มมิ่ง” ของบริษัทขายหมูชื่อดังระดับประเทศ และยาโคลิสตินก็ได้รับมาจากตัวแทนบริษัทเหล่านี้ด้วย ส่วนฟาร์มใหญ่ที่เลี้ยงหมูระดับหมื่นตัวขึ้นไป ยังไม่สามารถเข้าถึงข้อมูลการใช้ยาโคลิสตินได้


         “นสพ.ปราโมทย์ ตาฬวัฒน์” นายกสมาคมสัตวแพทย์ควบคุมฟาร์มสุกรไทย ให้สัมภาษณ์ว่า หลังจากได้รับจดหมายเตือน ได้ส่งอีเมลให้สมาชิกสมาคมที่มีอยู่ 800 กว่าคน เรียบร้อยแล้ว

       “สัตวแพทย์ส่วนใหญ่เข้าใจอันตรายของยาโคลิสติน แต่มีบางคนที่ยังพูดไม่รู้เรื่อง ผมอยากเสนอให้ยาโคลิสตินห้ามวางขายในร้านอาหารสัตว์ทั่วไป ต้องขายเฉพาะร้านขายยาสัตว์ที่มีใบอนุญาตเท่านั้น และห้ามขายให้ผู้ซื้อถ้าไม่มีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์” นายกสมาคม เสนอแผนสกัดเชื้อดื้อยาโคลิสติน

 

แผนสกัด“ยีนดื้อยาพันธุ์ใหม่”! ฟาร์มหมูไทย

       ล่าสุด
     เครือข่ายแพทย์และกลุ่มคุ้มครองผู้บริโภคเรียกร้องให้มีรัฐบาลเร่งออกนโยบายที่ชัดเจนแก้ปัญหาดังกล่าว โดยสรุปได้ดังนี้  
      1.สนับสนุนการทำวิจัยค้นหาเชื้อดื้อยาโคลิสตินและยีนเอ็มซีอาร์-1 ในฟาร์มปศุสัตว์ โดยเฉพาะจากหมู คนเลี้ยงหมู สิ่งแวดล้อมในฟาร์มหมู
     2.ศึกษาวิจัยยีนดื้อยา “เอ็มซีอาร์-1” ที่พบในผู้ป่วยคนไทยแล้วอย่างละเอียด โดยเฉพาะความสามารถในการถ่ายทอดแลกเปลี่ยนยีนดื้อยากับเชื้อโรคอื่นๆ

    3.ตรวจสอบหาผู้ป่วยในโรงพยาบาล ที่มีอาการดื้อยาโคลิสติน พร้อมรายงานสถานการณ์อย่างเปิดเผยตามข้อเท็จจริงให้ทุกฝ่ายได้เฝ้าระวัง
    4.มีนโยบายควบคุมการซื้อขายยาโคลิสตินสำหรับสัตว์อย่างเร่งด่วน โดยเฉพาะการอนุญาตให้ขายกรณีมีใบสั่งยาจากสัตวแพทย์เท่านั้น 

    5.ออกนโยบายเร่งด่วนในการปราบปรามและจับกุมการซื้อขายยาโคลิสตินเถื่อน ทั้งจากผู้นำเข้า ผู้ผลิต ผู้จำหน่าย โดยใช้มาตรการขั้นเด็ดขาด

          
      การแพร่ยีนดื้อยาโคลิสตินจากฟาร์มหมู ทำให้วงการแพทย์ทั่วโลกหวาดผวา แต่ดูเหมือนเจ้าหน้าที่รัฐผู้มีหน้าที่รับผิดชอบในประเทศไทย ยังไม่กระตือรือร้นในการแก้ปัญหาอย่างจริงจัง  หรือเป็นเพราะ “บริษัทค้ายาสัตว์ยักษ์ใหญ่” ให้ผลประโยชน์บางอย่างแลกเปลี่ยน จนลืมคุณธรรมจริยธรรมในการประกอบวิชาชีพ ?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ