คอลัมนิสต์

“ชายชุดดำ”มีจริง-บทพิสูจน์จาก“คำพิพากษา” 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คำพิพากษาศาลอาญา ที่ให้จำคุก"ชายชุดดำ" เป็นบทพิสูจน์ หนึ่งว่า "ชายชุดดำ" ในเหตุการณ์ชุมนุมของคนเสื้อแดงเมื่อปี 2553 มีอยู่จริง


        31 มกราคมที่ผ่านมา ศาลอาญาได้มีคำพิพากษาใน “คดีชายชุดดำ” แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ  (นปช. ) ที่พนักงานอัยการ เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง นายกิตติศักดิ์  หรืออ้วน  สุ่มศรี ,นายปรีชา หรือไก่เตี้ย อยู่เย็น ,นายรณฤทธิ์  หรือนะ สุริชา ,นายชำนาญหรือเล็ก ภาคีฉาย และนางปุณิกา หรืออร ชูศรี ร่วมกันเป็นจำเลยที่ 1-5 ในความผิดฐาน ร่วมกัน พกพาอาวุธปืนไปในที่สาธารณะ หรือชุมชน และมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืนและวัตถุุระเบิด ที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้ ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ พ.ศ.2490 
          โดยศาลพิพากษาว่า นายกิตติศักดิ์  จำเลยที่ 1 และนายปรีชา  จำเลยที่ 2  มีความผิดฐานร่วมกันมีอาวุธ เครื่องกระสุนปืน และวัตถุระเบิดที่นายทะเบียนไม่สามารถออกใบอนุญาตได้  ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืน พ.ศ.2490 ให้จำคุกคนละ 8 ปี และฐานพาอาวุธปืนไปในเมือง ที่ชุมชน หรือทางสาธารณะ โดยไม่ได้รับอนุญาต จำคุกคนละ 2 ปี รวมจำคุกคนละ 10 ปี 
           ส่วนนายรณฤทธิ์ ,นายชำนาญ และนางปุนิกา จำเลยที่ 3-5  นั้น พิพากษายกฟ้อง แต่ให้ขังไว้ระหว่างอุทธรณ์ 
            “ชายชุดดำ”มีจริง-บทพิสูจน์จาก“คำพิพากษา” 

       

         คดีนี้เกี่ยวกับเหตุการณ์ เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ซึ่งเป็น “เหตุการณ์ประวัติศาสตร์” สำคัญอันหนึ่งของเมืองไทย  "รัฐบาลอภิสิทธิ์"โดย ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ. )ได้สั่งปฏิบัติการ “ขอคืนพื้นที่” จากการชุมนุม บริเวณสี่แยกคอกวัว มีการปะทะกันอย่างต่อเนื่องตั้งแต่ช่วงบ่ายจนถึงค่่ำ ระหว่างผู้ชุมนุม แนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติหรือ นปช. กับทหาร เหตุการณ์ในวันดังกล่าวมีผู้เสียชีวิตจำนวน 27 ราย เป็นพลเรือน 22 ราย และเจ้าหน้าที่ทหาร 5 นาย โดยหนึ่งในนั้น คือ พ.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม  รองเสนาธิการ กองพลทหารราบที่ 2 รักษาพระองค์ฯ จ.ปราจีนบุรี( ยศและตำแหน่งในขณะนั้น และหลังเสียชีวิตได้รับการพระราชทานยศเป็น พล.อ.) ทั้งนี้ในเหตุการณ์ดังกล่าว มีคนเห็น“ชายชุดดำ” ปรากฏตัวขึ้นและมีการปะทะกับเจ้าหน้าทีี่ทหารที่กำลังปฏิบัติการขอคืนพื้นที่ จนทำให้เกิดการสูญเสีย มีคนเสียชีวิตและบาดเจ็บ
          จากคำพิพากษาดังกล่าว ในแง่ของ“การเมือง” อาจถือได้ว่า ประสบความสำเร็จระดับหนึ่ง 
          
เห็นได้จากที่  พล.ท.สรรเสริญ แก้วกำเนิด โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี ออกมาระบุว่า การที่ศาลอาญาพิพากษาให้ “ชายชุดดำ”ในเหตุการณ์ชุมนุมทางการเมืองเมื่อปี 2553 จำนวน 2 คน มีโทษจำคุก 10 ปี นั้น คำพิพากษาดังกล่าวเป็นสิ่งที่ยืนยันแน่ชัดว่า “ ชายชุดดำ”ที่มีการกล่าวถึงมาโดยตลอด ได้กระทำความผิดจริงตามข้อเท็จจริงและหลักฐานที่ปรากฏ ซึ่งสามารถหักล้างการกล่าวอ้างของ“กลุ่มการเมือง”ที่ว่า ทหารยิงกันเอง จนเป็นเหตุให้มีผู้เสียชีวิตและบาดเจ็บหลายรายได้
         “การที่กลุ่มการเมืองระบุว่า การชุมนุมช่วงวันที่ 10 เม.ย.2553 เป็นการชุมนุมที่สงบปราศจากอาวุธ จึงสวนทางกับความเป็นจริง หรือต้องการบิดเบือนการกระทำของตน เพราะศาลได้พิเคราะห์แล้วพบอาวุธปืนหลายประเภทและเครื่องยิงระเบิด ซึ่งหมายถึงการมีเจตนาประสงค์ร้ายต่อชีวิตของผู้อื่น โดยเฉพาะการใช้ยิงเจ้าหน้าที่ทหารที่ขอคืนพื้นที่การชุมนุมบริเวณอนุสาวรีย์ประชาธิปไตยและบริเวณใกล้เคียง ทำให้สังคมได้ประจักษ์ชัดขึ้นในเรื่องนี้"
          แต่ในอีกแง่มุมหนึ่ง หลายชีวิต อาจต้องตายฟรี !! จากเหตุการณ์ในครั้งนั้นด้วย ซึ่งหนึ่งในนั้นอาจรวมถึง พล.อ.ร่มเกล้า และช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น เพราะจนถึงขณะนี้ผ่านมาหลายปี ก็ยังไม่สามารถจับกุมดำเนินคดีกับคนที่“ฆ่า”หรือทำให้ “พล.อ.ร่มเกล้า” และช่างภาพรอยเตอร์ชาวญี่ปุ่น เสียชีวิตได้   
         หากมองย้อนไปเมื่อวันที่ 11 เมษายน 2557 เมื่อครั้งที่ตำรวจเอาตัวผูู้ัต้องหาทั้ง 5 คน (ที่ศาลเพิ่งตัดสินคดีไปข้างต้น)มาแถลงข่าว  สื่อหลายฉบับต่างพาดหัวว่า “รวบชายชุดดำ สังหาร พล.อ.ร่มเกล้า” ซึ่งอาจทำให้เข้าใจว่า จับตัวคนฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า ได้แล้ว
          ในครั้งนั้น นางนิชา หิรัญบูรณะ ธุวธรรม ภรรยา พล.อ. ร่มเกล้า ได้โพสต์ข้อความบนเฟซบุ๊กของเธอ ว่า "เป็นนิมิตรหมายดี ที่บัดนี้ หน่วยงานความมั่นคงทั้งทหาร ตำรวจและเจ้าหน้าที่ดีเอสไอที่มีจิตสำนึกได้ร่วมกันสืบค้นคดีนี้ แต่ก็คงต้องใช้ความรอบคอบอย่างมาก เพราะในช่วงที่ผ่านมา ไม่ทราบว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับหลักฐานข้อเท็จจริงของคดีทั้งหมด จึงอยากขอฝากให้นำข้อเท็จจริงจากผลการสอบสวนข้อเท็จจริงของ คอป. ,คณะกรรมการสิทธิมนุษยชน และคณะอนุกรรมการตรวจสอบข้อเท็จจริงคดี พล.อ.ร่มเกล้า ธุวธรรม ของวุฒิสภาฯลฯ มาประกอบสำนวนคดีให้ครบถ้วนเพื่อนำไปสู่การขยายผลให้ได้ข้อเท็จจริงอย่างสมบูรณ์ต่อไป   วันนี้อย่างน้อย ก็ได้ข้อสรุปให้สังคมประจักษ์ว่ามี “ชายชุดดำ”ที่ทำร้ายทหารและประชาชนผู้บริสุทธิ์จริง หวังว่าจะโยงถึงผู้สั่งการ ผู้เกี่ยวข้องกับคดีทั้ง 89 ศพในปี 53
         และหาก“สังเคราะห์” จากคำพิพากษาของศาล ก็จะเห็นได้ชัดเจนว่า  จำเลยทั้ง 5 คน ไม่ได้ถูกดำเนินคดีข้อฆ่าคนตาย แต่เป็นข้อหา ตาม พ.ร.บ.อาวุธปืนและเครื่องกระสุนปืนฯ เท่านั้น เนื่องจากกรณีของ“ชายชุดดำสวมหมวกไหมพรม พกอาวุธ” ยังมีกลุ่มที่หลบหนี การจับกุมของเจ้าหน้าที่ตำรวจไปได้อีก  จึงไม่สามารถจับมือใครดมได้ว่า ใครเป็นคนฆ่า พล.อ.ร่มเกล้า 
          เช่นเดียวกับ คดีของนาย ฮิโรยูกิ มูราโมโตะ ช่างภาพสำนักข่าวรอยเตอร์ ชาวญี่ปุ่น ที่ถูกยิงเสียชีวิตบริเวณหน้าโรงเรียนสตรีวิทยา ถ.ดินสอ  ในเหตุการณ์ 10 เมษายน 2553 ซึ่งต่อมาได้มีการยื่นคำร้องต่อศาลให้ทำการชันสูตรพลิกศพนายฮิโรยูกิ 
         และศาลได้มีคำสั่งในคดีดังกล่าวว่า  นายฮิโรยูกิ  ถึงแก่ความตายบนถนนดินสอ  หน้าโรงเรียนสตรีวิทยา เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 เวลา 21.00 น. โดยถูกยิงด้วยกระสุนปืนความเร็วสูงที่ไม่ทราบชนิดและขนาด เข้าที่ทรวงอกด้านซ้ายส่วนบน ทำลายปอดและหลอดเลือดแดงใหญ่ และกระสุนทะลุออกต้นแขนขวาด้านหลัง การเสียชีวิตของผู้ตาย ไม่ทราบว่าใครเป็นผู้กระทำ และไม่อาจทราบได้ว่า กระสุนปืนที่ยิงมีแนววิถีมาจากทางใด ดังนั้นจากการที่ศาลมีคำสั่งดังกล่าว โอกาสที่จะไปตั้งสำนวนเป็นคดีอาญา ดำเนินคดีข้อหาฆ่าคนตายกับใครว่าฆ่านายฮิโรยูกิ คงเป็นไปได้ยาก
        และอีกคดีหนึ่งที่ต้องพูดถึง ก็คือ คดีก่อการร้าย  เนื่องจากคดีดังกล่าว เป็นการรวบรวมถึงพฤติกรรมที่เป็นการละเมิดต่อกฎหมายบ้านเมืองในหลายเหตุการณ์ด้วยกัน หนึ่งในนั้น คือ เหตุการณ์บริเวณสี่แยกคอกวัว เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553 ด้วย  
        โดยคดีนี้พนักงานอัยการ ได้เป็นโจทก์ยื่นฟ้อง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ ( นปช.) ,การ์ด นปช. และอดีต ส.ส.เพื่อไทย รวม 24 คน เป็นจำเลยต่อศาลอาญา รัชดาภิเษก ซึ่ง“คดีก่อการร้าย” ในคำฟ้องได้ระบุถึง การชุมนุมของคนเสื้อแดงจำนวนหลายหมื่นคนที่บริเวณสะพานผ่านฟ้าลีลาศ ถนนราชดำเนิน ตั้งแต่สี่แยกคอกวัวถึงสี่แยกมิสกวัน และแยกราชประสงค์  และมีการใช้อาวุธเครื่องยิงลูกระเบิด เอ็ม 79 ยิงใส่บ้านพักประชาชน
        ในคำฟ้องตอนหนึ่ง ได้ระบุถึงเหตุการณ์เมื่อวันที่ 10 เมษายน 2553  ด้วยว่า จำเลยกับพวกและผู้ชุมนุม ได้ขัดขวางการปฏิบัติหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐ ที่ปฏิบัติการกดดันผู้ชุมนุมเพื่อขอพื้นที่สะพานผ่านฟ้าลีลาศและแยกราชประสงค์  โดยใช้กำลังประทุษร้ายและใช้อาวุธปืนสงคราม ระเบิดขว้าง เครื่องยิงระเบิดเอ็ม 79  ยิงใส่ทหารประชาชน  เป็นเหตุให้ พล.อ. ร่มเกล้า ธุวธรรม และประชาชนเสียชีวิตและบาดเจ็บจำนวนมาก
        สำหรับ “คดีก่อการร้าย” ปัจจุบันยังอยู่ในช่วงการสืบพยานโจทก์ และยังคงใช้เวลาอีกนานกว่าศาลจะพิพากษาคดีนี้ออกมา เนื่องจากทั้งฝ่ายโจทก์และจำเลย แต่ละฝ่ายอ้างพยานในชั้นศาลเพื่อนำเข้าสืบเกือบร้อยปาก ในขณะที่การสืบพยานที่ผ่านมายังเดินมาไม่ถึงครึ่งทาง
        “เหตุการณ์  10 เมษายน 2553” ที่มีผู้เสียชีวิตจำนวนมาก สุดท้ายอาจจบลง เหมือนกับ“ เหตุการณ์ความไม่สงบ” อื่นๆ ที่ “คนตายก็ตายไป” ส่วน“คนที่เกี่ยวข้อง”หรือ“ผู้บงการ” อันนำมาซึ่งความสูญเสีย ก็ยัง“ลอยนวล” ตามเดิม   

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ