คอลัมนิสต์

เสรีภาพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"เสรีภาพ" คอลัมน์ "ขยายปมร้อน " โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

หากมองสถานการณ์สื่อทุกวันนี้ต้องบอกว่าอยู่ในภาวะถดถอยและตกต่ำอย่างมาก ไม่ว่าจะเป็นทางสภาพเศรษฐกิจ หรือสภาพความน่าเชื่อถือ เพราะขนาดที่สื่อออกมาเรียกร้องแสดงจุดยืนต่อ “ร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) คุ้มครองสิทธิเสรีภาพ ส่งเสริม จริยธรรมและมาตรฐานวิชาชีพสื่อมวลชน” ที่จัดทำโดยคณะกรรมาธิการ(กมธ.)ขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศด้านการสื่อสารมวลชน สภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ที่ส่อเค้าว่าอาจจะถูกควบคุมและแทรกแซงโดยอำนาจรัฐ แต่เสียงสะท้อนที่ออกมากลับไม่เป็นเชิงบวกเท่าไหร่นัก

 

แม้ว่าสังคมไทยทุกวันนี้จะเป็นสังคมที่แตกแยก แต่มุมมองเรื่องนี้จากทั้งสองกลับดูไม่เป็นคุณกับสื่อ ไม่ว่าฝ่ายไหน 

 

มุมหนึ่งแน่นอน ย่อมเป็นฝั่งที่หนุน “คณะทหาร” ที่กุมอำนาจในปัจจุบัน โดยคนกลุ่มนี้เห็นดีเห็นงามกับคณะทหารไปเสียแทบจะทั้งหมดไม่ว่าจะเป็นเรื่องไหน และที่สำคัญคนกลุ่มนี้มักจะมีจุดยืนที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับ “สิทธิ และ เสรีภาพ” ในทุกๆด้าน ไม่เฉพาะเพียงด้านสื่อเท่านั้น แต่ยังรวมไปถึงการแสดงความคิดเห็น การแสดงออก การดำรงอยู่ ซึ่งพวกเขามักจะยินดีที่จะให้ตน และคนอื่นอยู่ภายใต้การควบคุมของคณะผู้กุมอำนาจ โดยให้เหตุผลว่า “เสรีภาพมากไปทำให้วุ่นวาย”

 

แน่นอนว่าพวกเขาก็มีคำอธิบายสำหรับกรณีนี้่เช่นกัน ว่าที่ผ่านมานั้นสื่อมีเสรีภาพมากเกินไป และไม่มีความรับผิดชอบ ดังนั้นจึงต้องมีองค์กรขึ้นมาควบคุม ดังนั้นสภาพที่คนกลุ่มนี้อยากเห็นคือ ข่าวที่ออกมาจากฝั่งภาครัฐและไม่ต้องการความเห็นต่าง ภายใต้คำนิยาม “ความสงบเรียบร้อย”

 

คนเหล่านี้เป็นประชาชนที่คณะผู้มีอำนาจต้องการ และคนเหล่านี้พึงพอใจที่จะมีชีวิตอยู่ในสภาพที่ถูกจำกัดด้านสิทธิเสรีภาพ เพราะย่อมหมายถึงคนอื่นที่พวกเขาไม่ชอบก็จะถูกจำกัดการแสดงออกไปด้วย

 

ส่วนอีกฝั่งหนึ่ง แม้จะพูดถึงเรื่องเสรีภาพ แต่ก็กลับแสดงอาการสมน้ำหน้ากับภาวะที่สื่อเผชิญอยู่ เพราะพวกเขาเชื่อว่าที่บ้านเมืองเป็นอย่างนี้ และทหารก้าวเข้ามาสู่อำนาจได้ส่วนหนึ่งเป็นเพราะสื่อในวันนั้นให้การสนับสนุน เรียกได้ว่าเป็นอีกหนึ่งกลุ่มที่เปิดทางให้เกิดการรัฐประหาร โดยอ้างเรื่องปฏิรูป

 

เอาเข้าจริงก็ไม่แปลกที่สื่อจะถูกมองว่าเป็นผู้สนับสนุนการยึดอำนาจ เพราะในวันนั้นมีสื่อหลายสำนัก และหลายองค์กรสื่อที่ยินดีกับสิ่งที่เกิดขึ้นในวันนั้น ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อคณะทหารยึดอำนาจเสร็จก็มีตัวแทนขององค์กรสื่อเข้าไปนั่งอยู่ในสภาปฏิรูปแห่งชาติ ที่เป็นหนึ่งในบรรดาแม่น้ำของ คสช.

 

จริงๆพวกเขาน่าจะรับรู้กันตั้งแต่แรกแล้วว่า เมื่อทหารเข้ามาไม่มีทางที่จะให้อิสระเสรีภาพกับสื่อได้ เพรามีเพียงระบอบการปกครองที่เป็นประชาธิปไตยเท่านั้นที่จะให้สิทธิเสรีภาพในการคิด ในการแสดงออก ขณะที่ระบอบที่กำลังเป็นอยู่นี้ระแวงและไม่เห็นด้วยกับการคิดที่แตกต่าง

 

วันนี้สื่อนอกจากอยู่ในภาวะที่ตกต่ำและยังต้องอยู่ในสภาวะที่กระอักกระอ่วน ที่หันไปทางไหนก็หากน้อยคนที่จะสนับสนุน

 

สิ่งที่สมาคมสื่อต้องทำคือตั้งหลักและตอบคำถามตัวเองให้ได้ก่อนว่า สภาพสังคมและการปกครองแบบไหนที่จะเอื้อต่อการสร้างสิทธิเสรีภาพมากที่สุด   สังคมแบบประชาธิปไตยใช่หรือไม่ที่รับรองสิทธิในการแสดงความเห็นการแสดงออก  

 

 นอกจากนี้พึงตระหนักรู้ด้วยว่าไม่มีเสรีภาพใดที่ได้มาจากการอ้อนวอนหรือร้องขอ หากแต่ต้องเรียกร้องและต่อสู้เพื่อให้ได้มาทั้งสิ้น ประวัติศาสตร์ก็เคยสอนไว้ทั้งของไทยและสากล 

 

สื่อจะกลับมามีที่ยืนในสังคมรวมถึงประกอบวิชาชีพเพื่อเลี้ยงปากเลี้ยงท้องต่อไปได้อย่างมีศักดิ์ศรี  สื่อต้องกลับมายืนอยู่ในจุดที่ควรจะเป็น คือต้องมีจุดยืนและมีความน่าเชื่อถือ

   

แต่เท่านั้นยังมิพอ เพราะสื่อเองต้องปรับปรุงคุณภาพในการนำเสนอให้มากยิ่งๆขึ้น  วันนี้หลายคนหวาดหวั่นกับการเติบโตของโซเชียลมีเดีย โดยลืมไปว่าจุดแข็งของสื่อมืออาชีพคือความถูกต้องและความน่าเชื่อถือ ซึ่งโซเชียลมีเดียอาจเปิดประเด็นได้  แต่ที่เหลือสื่อจะเป็นผู้นำเสนอในเชิงลึก และที่สำคัญต้องยืนหยัดในความถูกต้องครบถ้วนและรอบด้าน

 

ซึ่งทั้งหมดจะทำได้ ก็ต้องมี “เสรีภาพ”  เป็นคำตอบสุดท้าย

-----------

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ