คอลัมนิสต์

"ปรองดอง" เงื่อนไขสู่การเลือกตั้ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ป.ย.ป.มี 4 คณะ แต่สิ่งที่วิตกคือจะตอบโจทย์ที่ตั้งเป้าหรือไม่ โดยเฉพาะ "ปรองดอง" ที่ยั่งยืน ซึ่งสุดท้ายอาจเป็นเพียงแค่ต่อรองเงื่อนไขไปสู่เลือกตั้งเท่านั้น

     หลังจากที่ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา" นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) จรดปากกาออกคำสั่งหัวหน้า คสช. ที่ 30/2560 เรื่อง การขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง เพื่อขับเคลื่อนนโยบาย ภารกิจ ที่ประกาศไว้ต่อสาธารณะ ทั้งงานปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และสร้างความสามัคคี ปรองดอง

    โดยกลไกการทำงานหลัก จะถูกขับเคลื่อนโดย “คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินตามกรอบการปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง (ป.ย.ป.)”  ซึ่งมี “นายกฯ” เป็นประธาน และมีกรรมการที่ประกอบด้วย ตัวแทนฝ่ายบริหาร และ ตัวแทนหน่วยงานราชการ

     ทั้งนี้ ป.ย.ป. จะมีคณะกรรมการ อีก 4 คณะ เพื่อเป็นแขน-ขา ในการพิจารณากลั่นกรองเรื่องต่างๆ ได้แก่ คณะกรรมการบริหารราชการแผ่นดินเชิงยุทธศาสตร์, คณะกรรมการเตรียมการปฏิรูปประเทศ, คณะกรรมการเตรียมการยุทธศาสตร์ชาติ และ คณะกรรมการเตรียมการเพื่อสร้างความสามัคคีปรองดอง

    แต่สิ่งหนึ่งที่ถูกตั้งคำถามอย่างมาก คือ งานทั้งหมด ของ ป.ย.ป. จะสอดรับเข้ากับ กติกาใหญ่ของประเทศ คือ “ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ” ได้อย่างไร เพราะอย่าลืมว่า งานด้านปฏิรูปประเทศ ยุทธศาสตร์ชาติ และการสร้างความสามัคคีปรองดอง ล้วนถูกกำหนดเงื่อนไข – ขั้นตอน – ผลสัมฤทธิ์ ไว้ใน ร่างกติกาสูงสุดของประเทศแล้ว

    โดยประเด็นของ “ยุทธศาสตร์ชาติ” ถูกเขียนไว้ในหมวดแนวนโยบายแห่งรัฐ มาตรา 65 สรุปสาระสำคัญ ได้ว่า รัฐต้องจัดให้มียุทธศาสตร์ชาติเพื่อเป็นเป้าหมายการพัฒนาประเทศอย่างยั่งยืนตามหลักธรรมาภิบาล และเป็นกรอบในการจัดทำแผนต่างๆ ให้สอดคล้องและบูรณาการเพื่อผลักดันไปสู่เป้าหมาย

    สำหรับเป้าหมายของยุทธศาสตร์ที่จะผลักดันนั้น ตามความเข้าใจคือ สิ่งที่กำหนดไว้ใน ร่างรัฐธรรมนูญ หมวดหน้าที่ของรัฐ เป็นอย่างน้อย

     ขณะที่ประเด็น “การเตรียมการปฏิรูปประเทศ” ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นหมวดใหม่เฉพาะ คือ หมวดการปฏิรูปประเทศ และกำหนดสิ่งที่ต้องปฏิรูปไว้ 7 เรื่อง คือ การเมือง, การบริหารราชการแผ่นดิน, กฎหมาย, กระบวนการยุติธรรม, การศึกษา และ อื่นๆ ซึ่งเกี่ยวกับการจัดการทรัพยากร, การถือครองที่ดิน, กำจัดขยะ, ปรับระบบหลักประกันสุขภาพ และการแพทย์เวชศาสตร์ครอบครัว

    ใน หมวดปฏิรูปประเทศนั้น ยังกำหนดเป้าหมายที่ต้องทำให้สำเร็จ 3 ประการ คือ 1.ประเทศต้องมีความสงบเรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง มีการพัฒนาอย่างยั่งยืนตามหลักปรัชญาเศรษฐกิจพอเพียง และ สมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุกับพัฒนาจิตใจ 2.สังคมสงบสุข เป็นธรรม และมีโอกาสขจัดความเหลื่อมล้ำ และ 3.ประชาชนมีสุข มีคุณภาพชีวิตที่ดี มีส่วนร่วมพัฒนาประเทศและการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข

    ซึ่งจะสอดรับกับ ประเด็น “การสร้างความสามัคคี ปรองดอง” ที่เขียนหลักการอย่างกว้างไว้ คือ ต้องทำให้ประเทศชาติมีความสงบ เรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง

    อย่างไรก็ตาม ในแง่ของการเดินงาน เรื่อง ยุทธศาสตร์ และการปฏิรูปประเทศนั้น ตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ กำหนดเงื่อนไขไว้ชัดเจน คือ ต้องออกกฎหมาย 2 ฉบับ คือ กฎหมายว่าด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินงานปฏิรูปประเทศ และ กฎหมายว่าด้วยยุทธศาสตร์ชาติ

"ปรองดอง" เงื่อนไขสู่การเลือกตั้ง

    สาระสำคัญของกฎหมายที่บังคับให้ออกก่อนจะเริ่มทำเรื่องปฏิรูป และยุทธศาสตร์ ซึ่งเขียนไว้ตรงกัน คือ ต้องให้หน่วยงานและประชาชนทุกภาคส่วน มีส่วนร่วม อย่างน้อยคือ การรับฟังความคิดเห็น !!

    ดังนั้นสิ่งที่หลายฝ่ายวิตก คือ การทำงานของ “ป.ย.ป.” ผ่านคณะกรรมการชุดต่างๆ นั้น จะมีผลตามรัฐธรรมนูญใหม่ และตอบโจทย์ของเงื่อนไขที่กำหนดได้หรือไม่

    คำตอบในประเด็นนี้ “มีชัย ฤชุพันธุ์" ฐานะสมาชิกคสช. และผู้มีบทบาทยกร่างกฎหมายการปฏิรูป และ ยุทธศาสตร์ชาติ ในกรรมกฤษฎีกา” ระบุว่า การทำงานของ ป.ย.ป. ถือเป็นการทำงานล่วงหน้า ตามที่ทราบ คณะทำงานของ ป.ย.ป. ที่จะตั้งขึ้น ต้องมีกระบวนการรับฟังความคิดเห็น รวมถึงนำข้อเสนอจากสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) รวมถึงสภาปฏิรูปแห่งชาติ (สปช.) ซึ่งผ่านการรับฟังความเห็นจากหลายภาคส่วน มาพิจารณา ดังนั้นประเด็นการฟังความเห็นจึงไม่เป็นปัญหา

    “คณะที่ตั้งปัจจุบัน ต้องทำงาน ภายใต้แนวทางที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้เป็นหลักการและบางเรื่องที่กำหนดโจทย์ไว้ แต่คณะปัจจุบันอาจทำเกินเลยไปก็ได้ไม่เป็นไร และเมื่อทำเสร็จ ประกอบกับมีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้ มีการทำกฎหมายที่เกี่ยวข้องและตั้งกรรมการตามกฎหมายนั้น คณะทำงานปัจจุบันต้องส่งเรื่องไปให้กรรมการตามกฎหมายนั้นพิจารณา หากแนวทางเดียวกันก็เอาไปใช้ได้เลย หรือ อาจมีกระบวนการรับฟังความเห็นเพิ่มเติมหรือ ผสมๆ กันก็ได้” มีชัย ให้คำตอบ

    แต่ขณะที่ประเด็น “ปรองดอง” นั้น ร่างรัฐธรรมนูญไม่ได้กำหนดรายละเอียดไว้ชัดเจน จึงเป็นเอกสิทธิ์ที่ “ป.ย.ป” จะกำหนดแนวทาง-วิธีการ เพื่อให้นำไปสู่เป้าหมายที่ ทำให้ประเทศมีความสงบ เรียบร้อย มีความสามัคคีปรองดอง

    อย่างไรก็ตาม หากจำกันได้ ในยุคของความขัดแย้งทางการเมือง ตั้งแต่ ปี 2550 รัฐบาลยุคนั้น และ ฝ่ายการเมืองที่เกี่ยวข้อง พยายามหาวิธีคลี่คลายความขัดแย้ง เพื่อให้บ้านเมืองกลับเข้าสู่ภาวะปกติสุข ทั้งรูปแบบของการตั้งคณะทำงาน อาทิ คณะกรรมการอิสระตรวจสอบและค้นหาความจริงเพื่อการปรองดองแห่งชาติ (คอป.)โดย คณิต ณ นคร , รายงานวิจัยการสร้างความปรองดองแห่งชาติ โดยสถาบันพระปกเกล้า, รายงานศึกษาแนวทางการสร้างความปรองดอง สปช. ของ เอนก เหล่าธรรมทัศน์ เป็นต้น

    รวมถึงการเดินสายของผู้ใหญ่ทางการเมือง อย่าง พล.ต.สนั่น ขจรประศาสน์, บรรหาร ศิลปอาชา ผู้อาวุโสทางการเมืองที่ล่วงลับ เพื่อเจรจากลุ่มขั้วขัดแย้งทางการเมือง แต่ทั้งประเด็นของผลการศึกษาตามรายงานและการเดินสาย กลับไม่นำมาซึ่งผลลัพท์แห่งความปรองดองได้

"ปรองดอง" เงื่อนไขสู่การเลือกตั้ง

    โดยข้อสังเกตหนึ่ง จาก “พล.อ.เอกชัย ศรีวิลาศ" ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธี และธรรมาภิบาล สถาบันพระปกเกล้า ในฐานะนักวิชาการที่คร่ำหวอดด้านการศึกษาแนวทางปรองดอง มองว่า เหตุผลที่ปรองดองยังทำไม่สำเร็จ เพราะข้อผิดพลาด ที่จุดเริ่มต้น ทั้ง กลไกการทำงาน โดยฝ่ายที่ถูกมองว่าเป็นคู่ขัดแย้ง, การไม่ยอมรับฟังความเห็นที่แตกต่าง, ความมีอคติ และความไม่มุ่งมั่นที่จะทำความปรองดองให้สำเร็จเป็นรูปธรรม

     “ที่ผ่านมาทหารได้ตั้งศูนย์ปรองดองสมานฉันท์เพื่อการปฏิรูป (ศปป.) และได้จัดเวทีพูดคุยจำนวนมาก แต่รัฐบาลยังต้องทำเรื่องปรองดองอีก แสดงว่าที่ผ่านมาทหารก็ทำเรื่องนี้ไม่สำเร็จหรือไม่ ดังนั้นตามหลักการของการสร้างกระบวนการปรองดองที่รัฐบาลจะทำนอกจากจะมีความตั้งใจแล้ว ต้องมีความชัดเจนในเรื่องแผนงาน และเปิดให้ทุกฝ่ายมีส่วนร่วม” ผู้อำนวยการสำนักสันติวิธีและธรรมภิบาล เสนอความเห็น

     อย่างไรก็ดีในข้อสังเกตหนึ่ง ในภาวะที่รัฐบาล-คสช. ต้องส่งผ่านอำนาจไปยังรัฐบาลใหม่ที่มาจากการเลือกตั้ง ซึ่งจำเป็นต้องผ่านกระบวนการเลือกตั้ง ตามที่ “นายกฯ” เคยพูดมาเสมอว่า เงื่อนไขที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ คือ ความสงบเรียบร้อยในบ้านเมือง

    ดังนั้นจึงสรุปได้ว่า แนวคิด ป.ย.ป. ยังต้องอยู่ใต้ธงใหญ่ของรัฐธรรมนูญ และมีความเป็นไปได้ว่า แนวคิดปรองดองของ ป.ย.ป. นั้น ท้ายสุดอาจเป็นเพียงการต่อรอง เพื่อนำไปสู่สถานการณ์เงื่อนไข หาใช่การสร้างความปรองดองที่ยั่งยืนถาวร

                                                     ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ