คอลัมนิสต์

เช็กชื่อ!! พรรค -ใคร คิดอย่างไร “สัตยาบันปรองดอง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(รายงาน) เช็กชื่อ!! พรรค -ใคร คิดอย่างไร “สัตยาบันปรองดอง” : สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            สำรวจความเห็นของพรรคการเมืองและกลุ่มการเมืองต่างๆ หลังรัฐบาลเสนอให้มีการลง “สัตยาบัน” หรือทำ “เอ็มโอยู” ระหว่างพรรคการเมืองต่างๆเรื่องความปรองดอง ว่าพรรคไหน กลุ่มไหนสนับสนุนแนวคิดนี้มากน้อยเพียงใด

            พรรคเพื่อไทย นั้นสรุปได้ว่า มีแนวคิดที่ “เห็นด้วย”  โดย นายสมคิด เชื้อคง อดีต ส.ส. พรรคเพื่อไทย  ยอมรับว่าอดีต ส.ส.ของพรรคหลายคนได้พูดคุยกันในเรื่องนี้ และไม่มีใครคัดค้าน 

            “มองว่าเจ็บปวดบ้างแต่ก็ไม่เป็นไรเพื่อให้ประเทศเดินหน้าต่อไปได้ และมองด้วยว่ารัฐบาลทำเรื่องนี้ช้าไปด้วยซ้ำ แต่ก็ให้กำลังใจที่คิดจะทำ”

            อย่างไรก็ตามเขาระบุด้วยว่า การลงสัตยาบันว่า อาจจะไม่จำเป็นก็ได้ เพราะเรื่องปรองดองนั้นเป็นเรื่องที่ผู้มีอำนาจจะต้องระวัง เรื่องของการพูดไม่ให้กลุ่มใดกลุ่มหนึ่งเกิดความเจ็บช้ำน้ำใจ รวมทั้งต้องมีเมตตาและให้อภัย พูดแต่เรื่องดีๆที่จะถึงในวันข้างหน้า ส่วนตัวไม่ได้คัดค้าน อะไรที่ทำให้ประเทศเดินหน้าไปได้ เราก็ยินดี แต่ทุกกลุ่มทุกฝ่ายควรที่จะต้องรู้จักถอยบ้าง เพราะไม่มีใครได้หรือเสียทั้งหมด อย่าไปเรียกร้องอะไรมาก ขอแค่จริงใจที่จะทำมากกว่า เพราะเรื่องปรองดองเป็นเรื่องของความจริงใจ และเน้นในทางปฏิบัติมากกว่า

            สำหรับ พรรคประชาธิปัตย์ แสดงความ "ไม่เห็นด้วย" โดย    นายนิพิฏฐ์ อินทรสมบัติ ระบุว่า การให้สัตยาบันไม่ได้ช่วยอะไรมากมาย เพราะไม่ทราบว่าจะมีข้อตกลงอะไรกันบ้าง และจะทำสัตยาบันกับใคร นึกไม่ออกว่าการทำสัตยาบันจะเสริมสร้างการปรองดองอย่างไร หรือจะเป็นเอ็มโอยูว่าจะไม่ทำผิดกฎหมายอีก ก็ไม่ช่วยอะไรเพราะทุกคนต้องทำตามกฎหมายอยู่แล้ว การปรองดองไม่ใช่แค่การจับมือกัน แต่ต้องมีการทำความจริงให้กระจ่างว่าใครทำผิดอะไรอย่างไรบ้าง เพื่อที่จะไม่ให้สังคมไทยย้อนกลับไปสู่จุดนั้นอีก

            ขณะที่ นายราเมศ รัตนะเชวง รองโฆษกพรรคประชาธิปัตย์ กล่าวว่า การที่จะให้พรรคการเมืองไปทำ MOU ข้อตกลงก็ต้องถามว่าสาระของข้อตกลงคืออะไร ถ้าตกลงว่าจากนี้ไปเราจะเคารพกฎหมายกัน ข้อนี้คงไม่ต้องตกลง เพราะทุกคนต้องปฏิบัติตามกฎหมายอยู่แล้ว ถ้าตกลงว่าจากนี้ทุกฝ่ายเงียบไม่ต้องดำเนินการสิ่งใด ใครทำผิดกฎหมายทุกฝ่ายก็เงียบ ก็คงไม่ดี ฉะนั้นสาระสำคัญของข้อตกลงจึงต้องมีความชัดเจนด้วย

             เช็กชื่อ!! พรรค -ใคร คิดอย่างไร “สัตยาบันปรองดอง”

            ส่วนของพรรคขนาดกลางอย่างชาติพัฒนา นั้น ยังค่อนข้างสงวนท่าที แต่ออกไปในทาง "เห็นด้วย"  โดย  ร.ต.ประพาส ลิมปะพันธุ์ รองหัวหน้าพรรคชาติพัฒนา กล่าวถึงกรณีแนวคิดการปรองดองของรัฐบาล ที่จะมีการเชิญพรรคการเมือง กลุ่มการเมืองมาร่วมพูดคุยเรื่องการปรองดองว่า ส่วนของพรรคชาติพัฒนายังไม่มีการหารือกันในเรื่องนี้ เพราะยังไม่สามารถประชุมพรรคการเมืองได้ แต่โดยส่วนตัว มองว่า เราต้องเข้าใจ พฤติกรรมของมนุษย์ก่อน ต้องเข้าใจพื้นฐานของคน ซึ่งจะดึงให้กลับมาเป็นเรื่องยาก

            ทั้งนี้เรื่องปรองดองตนเห็นด้วย ใครก็ตามทำให้บ้านเมืองปรองดองได้ ถือว่าเป็นสุดยอด ซึ่งทุกคนต้องเข้าใจ ว่าเรื่องนี้เหนื่อย แต่หากปรองดองได้จะทำให้ประเทศอยู่เย็นเป็นสุข ไม่ต้องมานั่งคอยระแวงกัน

            ขณะที่ พรรคภูมิใจไทย นั้นก็ "เห็นด้วย" เช่นกัน โดย นายศุภชัย ใจสมุทร รองเลขาธิการพรรคภูมิใจไทย กล่าวว่า การคิดทำเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ถูกต้อง ซึ่งความจริงแล้วควรจะดำเนินการนับตั้งแต่เข้ามาบริหารประเทศเสียด้วยซ้ำ และเห็นว่าจริงๆหากประเทศจะเข้าสู่การเลือกตั้งโดยปัญหาความขัดแย้งยังไม่คลี่คลาย ก็น่าห่วงว่าที่สุดประเทศเราก็จะตกอยู่ในวังวนเดิมๆอีก

            ทั้งนี้การปรองดองเป็นการจัดการความขัดแย้งระหว่างกลุ่มต่างๆ ในสังคมที่เคยแตกแยก ต่อสู้ และปะทะกัน ทั้งในระดับความคิดและในระดับการใช้ความรุนแรงทางกายภาพ อาจจะรวมถึงการใช้มาตรการออก “กฎหมายนิรโทษกรรม” เพื่อเป็นเครื่องมือเยียวยาความเสียหายโดยเริ่มจากการแสวงหาความจริงในอดีต สาเหตุความไม่เป็นธรรมในสังคม การช่วยเหลือเยียวยาผู้ได้รับความเดือดร้อนจากความขัดแย้ง การแสวงหาข้อเท็จจริงของความคิดแต่ไม่หาคนผิด

            อย่างไรก็ตามสิ่งสำคัญที่สุดก็คือ คสช.หรือรัฐบาล ต้องมีจุดยืนสำคัญว่ามีความจริงใจในการจะสร้างความปรองดองให้เกิดขึ้นจริง เพราะต้องยอมรับว่าสังคมส่วนหนึ่งยังสงสัยว่าท่านเป็นคู่ขัดแย้งอยู่ด้วย

             เช็กชื่อ!! พรรค -ใคร คิดอย่างไร “สัตยาบันปรองดอง”

            ส่วนของพรรคภูมิใจไทยนั้น ยังไม่มีการพูดคุยกันในเรื่องดังกล่าว แต่นายอนุทิน ชาญวีรกุล หัวหน้าพรรค ได้พูดมาตลอดว่า หากจะทำให้บ้านเมืองเดินหน้าต่อไปได้อย่างสงบสุข พรรคก็พร้อมจะให้ความร่วมมืออย่างเต็มที่

            ด้านพรรคชาติไทยพัฒนา    นั้นแม้จะมีท่าทีสนับสนุนการปรองดองแต่ก็ไม่เห็นด้วยกับการลงสัตยาบัน โดย นายสมศักดิ์ ปริศนานันทกุล อดีตแกนนำพรรคชาติไทยพัฒนา กล่าวว่า ตนเห็นด้วยกับแนวทางปรองดองของรัฐบาลที่จะเชิญทุกฝ่ายรวมทั้งฝ่ายการเมืองและฝ่ายภาคประชาชนเข้ามาพูดคุยสร้างความปรองดอง  

            “แต่ไม่เห็นด้วยกับการลงนามเอ็มโอยู เพราะหากใจไม่ให้เรื่องแบบนี้จะกลายเป็นเรื่องไร้สาระทันที” 

            ส่วนในการเชิญทุกฝ่ายมาพูดคุย ตนมองว่าไม่ควรกำหนดกรอบแนวทางใดๆ ควรให้ผู้ร่วมเวทีเป็นผู้เสนอความเห็นว่า  หากจะทำให้ชาติเกิดความปรองดองจะมีวิธีใดบ้าง ไม่ควรกำหนดกรอบ  ตนมองว่าการรับฟังความคิดเห็นของทุกฝ่ายโดยเฉพาะประชาชนจะทำให้ได้มุมมองและเป็นทางออกของการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งในช่วงที่บ้านเมืองต้องการเดินหน้าไปสู่การปฏิรูปการกระทำใดๆควรมีการติดตามผลไม่ใช่ทำเป็นเฉพาะกิจทั้งนั้น 

            ด้านกลุ่มการเมืองอย่าง กปปส. นั้น ชัดเจนว่า “ไม่เห็นด้วย”  โดยนายสุเทพ เทือกสุบรรณ ประธานมูลนิธิมวลมหาประชาชนเพื่อการปฏิรูปประเทศไทย ได้ระบุว่าไม่เห็นด้วยและให้เหตุผลว่าไม่ใช่วิธีที่จะสร้างความปรองดองได้ ความปรองดอง จะเกิดขึ้นได้นั้นประชาชนทุกคนในชาติต้องสามัคคีกัน ไม่เห็นด้วยหากจะมีการนิรโทษกรรม ที่อ้างความปรองดอง หรือการออกกฎหมายลบล้างความผิดต่าง ๆในอดีต เช่น การกระทำความผิดตามมาตรา112 , การกระทำการทุจริตคอรัปชั่น ,การกระทำความผิดอาญาต่าง ๆ เป็นต้น เพราะจะเป็นการสร้างปัญหามากกว่าการปรองดอง

            “จะไม่ไปร่วมลงนามMOU ดังกล่าวอย่างแน่นอน เพราะมองว่าการลงนามนั้น ไม่ใช่ประโยชน์หรือทางออกของการปรองดองอย่างแท้จริง เพระแค่การลงนามMOU การปรองดองจะไม่เกิดผลอย่างแท้จริง”

            สำหรับแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ (นปช.) นั้นแสดงความ “เห็นด้วย” โดย นายก่อแก้ว พิกุลทอง แกนนำแนวร่วมประชาธิปไตยต่อต้านเผด็จการแห่งชาติ(นปช.) กล่าวว่า"เห็นด้วยและเป็นสิ่งที่ต้องทำ เพราะสังคมติดหล่มมานานหลายปี ทำให้พัฒนาลำบาก ซึ่งการปรองดองต้องมีการคุยกันทุกส่วนที่จะมาร่วมแสดงความคิดเห็นหาทางออก โดยเฉพาะกลุ่มที่มีความเกี่ยวข้องกับความขัดแย้ง ต้องเปิดอก รับฟังทุกฝ่าย เปิดใจ และต้องไม่ตั้งเงื่อนไขมาก่อนจะเป็นสิ่งที่ดี ช่วยหาทางออกร่วมกันได้ เรื่องปรองดองไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เราก็หลีกเลี่ยงไม่ได้ อยากให้คสช.รัฐบาลและทุกฝ่าย เปิดใจคุยกันหาจุดร่วมที่ทุกฝ่ายจะอยู่ร่วมกันอย่างสันติสุข

            เมื่อถามว่าการปรองดองจะเกิดขึ้นได้จริงหรือไม่ เพราะที่ผ่านมารัฐบาลหลายชุด ก็มีการตั้งกรรมการชุดต่างๆ แต่ก็ยังไม่สำเร็จ นายก่อแก้ว กล่าวว่า ที่ผ่านมายอมรับว่าบางกลุ่มสร้างเงื่อนไขไว้ล่วงหน้า เอาความต้องการฝ่ายตัวเองเป็นหลัก และก็เป็นรัฐบาลปกติ แต่ขณะนี้เป็นรัฐบาลพิเศษ มีอำนาจเด็ดขาด จึงน่าจะสามารถผลักดันเรื่องนี้ง่ายกว่าและมีความเป็นไปได้สูงกว่า แต่ก็ไม่ง่ายเพราะวันนี้มีบางส่วน ยังยืนยันในจุดยืนของตัวเองอยู่ จึงขอให้คสช.รัฐบาลใจเย็น ค่อยๆคุยกันไป เชื่อว่าการพูดคุย จะทำให้ผ่อนคลาย และมีจุดยืนร่วมกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ