คอลัมนิสต์

“ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์”ตาม รธน.(ชั่วคราว) ฉบับใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

รัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว) แก้ไขเพิ่มเติมเกี่ยวกับ "ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์" ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา มีเนื้อหาสำคัญอย่างไรบ้าง

 

            เมื่อวันที่ 15 มกราคม พ.ศ.2560  รัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว) พ.ศ.2557 แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 4 ) พ.ศ 2560 ได้ลงประกาศในราชกิจจานุเบกษา  โดยให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันถัดจากวันประกาศในราชกิจจานุเบกษา เป็นต้นไป โดยมีเนื้อหาสำคัญในมาตรา  3 และมาตรา 4

             มาตรา 3 บัญญัติ ให้เพิ่มความต่อไปนี้เป็นวรรคสามของมาตรา 2 ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย (ฉบับชั่วคราว) พ.ศ 2557  ว่า“  ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ ด้วยเหตุใดก็ตาม จะทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สําเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้ และให้ประธานรัฐสภา เป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการแต่งตั้ง และเมื่อกรณีเป็นไปตามมาตรานี้แล้ว มิให้นําความใน มาตรา  18 มาตรา  19 และมาตรา  20  ของรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย  พ.ศ. 2550 มาใช้บังคับ” 

              ซึ่งสรุปสาระสำคัญของเนื้อหาได้ดังนี้

             1. กรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ได้อยู่ในประเทศไทย หรือทรงภารกิจไม่ได้ ไม่ว่าด้วยเหตุใดก็ตาม พระมหากษัตริย์จะทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์หรือไม่ก็ได้  

             2.   ไม่ให้นำความของมาตรา 18 ของรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ. 2550 มาใช้บังคับ ( เดิมรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย ( ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ.2557 ให้นำ หมวด 2 พระมหากษัตริย์ ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ. 2550 มาบังคับใช้  และในมาตรา 18 ของรัฐธรรมนูญ ฯ พ.ศ.2550 บัญญัติว่า ในเมื่อพระมหากษัตริย์จะไม่ได้ประทับอยู่ในราชอาณาจักร หรือจะทรงบริหารพระราชภาระไม่ได้ด้วยเหตุใดก็ตาม จะได้ทรงแต่งตั้งผู้ใดผู้หนึ่งเป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์และให้ประธานรัฐสภาเป็นผู้ลงนามรับสนองพระบรมราชโองการ)

              3. ไม่ให้นำความในมาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550 มาใช้บังคับ  (มาตรา 19 ของรัฐธรรมนูญฯ พ.ศ.2550บัญญัติว่าในกรณีที่พระมหากษัตริย์มิได้ทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามมาตรา 18  หรือในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่สามารถทรงแต่งตั้งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์เพราะยังไม่ทรงบรรลุนิติภาวะหรือเพราะเหตุอื่น ให้คณะองคมนตรี เสนอชื่อผู้ใดผู้หนึ่งซึ่งสมควรดำรงตำแหน่งผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ต่อรัฐสภาเพื่อขอความเห็นชอบ เมื่อรัฐสภาให้ความเห็นชอบแล้วให้ประธานรัฐสภาประกาศในพระปรมาภิไธยพระมหากษัตริย์ แต่งตั้งผู้นั้นเป็น ผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ )

            4.ไม่ให้นำความในมาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 มาใช้บังคับ ( มาตรา 20 ของรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550บัญญัติว่า ในระหว่างที่ไม่มีผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ ตามที่บัญญัติไว้ในมาตรา 18 หรือ มาตรา 19 ให้ประธานองคมนตรี เป็นผู้สำเร็จราชการแทนพระองค์ เป็นการชั่วคราวไปพลางก่อน)

          ส่วนมาตรา 4 มีเนื้อหาสำคัญ คือ  “เมื่อนายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายแล้ว หากมีกรณีที่พระมหากษัตริย์พระราชทานข้อสังเกตว่าสมควรแก้ไขเพิ่มเติมข้อความใด ภายใน 90วัน ให้นายกรัฐมนตรีขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญนั้นคืนมา เพื่อดําเนินการแก้ไขเพิ่มเติม เฉพาะประเด็นตามข้อสังเกตนั้นและประเด็นที่เกี่ยวเนื่อง และแก้ไขเพิ่มเติมคําปรารภของร่างรัฐธรรมนูญ ให้สอดคล้องกัน แล้วให้นายกรัฐมนตรีนําร่างรัฐธรรมนูญที่แก้ไขเพิ่มเติมขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายใหม่ ภายใน 30 วันนับแต่วันที่ได้รับพระราชทานคืนมาตามที่ขอ "

          ดังนั้นขั้นตอนต่อไป หลังรัฐธรรมนูญฉบับชั่วคราวประกาศใช้ พล.อ. ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  ก็จะขอรับพระราชทานร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ ที่นำทูลเกล้าฯไปแล้วกลับคืนมาทำการแก้ไขให้เป็นไปตามรัฐธรรมนูญฯ(ฉบับชั่วคราว ) พ.ศ.2557 ที่ทำการแก้ไขเพิ่มเติมในครั้งนี้และเพิ่งประกาศใช้ เนื่องจากเนื้อหาของร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติที่นำขึ้นทูลเกล้าฯ ไปก่อนหน้านี้ ในหมวดพระมหากษัตริย์ มีเนื้อหาเหมือนกับรัฐธรรมนูญ พ.ศ.2550 โดยที่ พล.อ. ประยุทธ์ จะมีการตั้ง“คณะกรรมการพิเศษ” ซึ่งมีประมาณ 10 คน ขึ้นมาทำการแก้ไขร่างรัฐธรรมนูญฉบับประชามติ โดยมีเวลา 30 วัน แล้วนำทูลเกล้ากลับไปใหม่อีกครั้ง

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ