คอลัมนิสต์

"ครูต้นแบบ"ของชุมชน 

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...ทีมข่าวไพรม์ไทม์

 

          ตี 5 เวลาที่คนส่วนใหญ่ยังหลับนอน ครูราตรี พงษ์แดง เริ่มง่วนอยู่กับเตรียมอาหารเช้ากับสมาชิกในครอบครัว ก่อนจะออกเดินทางไปทำหน้าที่ที่โรงเรียนชายนาพัฒนา ต.เจ้าเจ็ด อ.เสนา จ.พระนครศรีอยุธยา 

          นี่เป็นส่วนหนึ่งของกิจวัตรประจำวัน นับเป็นเวลาหลายสิบปีของคุณครูวัย 59 ปี และไม่ว่าเวลาจะผ่านไปนานเท่าไหร่ ฝีมือการทำกับข้าวของครูราตรีไม่เคยเปลี่ยน โดยเฉพาะต้มยำปลาสดกับสายบัว เช้าวันนี้ ที่ยังเรียกน้ำย่อยได้เสมอจากทุกคนที่ได้กลิ่นของมัน 

          เหมือนกับความมุ่งมั่นของเธอ ในฐานะครู ที่ร่วมสร้างอนาคตให้แก่เด็กๆ ในพื้นที่ห่างไกลที่ไม่เคยเปลี่ยนเช่นกัน 

 

"ครูต้นแบบ"ของชุมชน 

 

          เช้าวันนี้ครูราตรีไม่ลืมที่จะแบ่งอาหารส่วนหนึ่งใส่ถุงเพื่อไปฝากเพื่อนๆครูที่โรงเรียนและภารโรงที่กำลังพักฟื้นจากการทำบายพาสหัวใจ 

          สำหรับครูราตรี โรงเรียนชายนาพัฒนา เป็นมากกว่าโรงเรียน มันได้กลายเป็นเสมือนอีกครอบครัวหนึ่งของเธอ 

          วันนี้เป็นอีกวันหนึ่งที่ครูราตรีต้องสอนเด็กนักเรียน 2 ชั้น ในชั่วโมงเดียวกัน การจัดโต๊ะเก้าอี้ใหม่เพื่อให้นักเรียนทุกคนมีที่นั่ง เป็นเรื่องปกติของโรงเรียนแห่งนี้ ซึ่งมีนักเรียนทั้งหมด 75 คน และมีครู 6 คน 

 

"ครูต้นแบบ"ของชุมชน 

 

          ชั่วโมงนี้เป็นวิชาวิทยาศาสตร์ของนักเรียนชั้น ป.6 และเป็นการเรียนผ่านหน้าจอทีวีของการศึกษาทางไกลผ่านดาวเทียม 

          ส่วนนักเรียนชั้น ป.3 ที่ต้องมาเรียนในห้องเดียวกัน ครูราตรีให้ทำการบ้านที่เป็นวิชาศิลปะ 

          แน่นอนว่า วิธีการเรียนการสอนที่โรงเรียนแห่งนี้แตกต่างโดยสิ้นเชิงจากสมัยที่ครูราตรียังเป็นนักเรียน แต่เธอก็เชื่อมั่นว่า เด็กนักเรียนของเธอมีผลสัมฤทธิ์ทางการศึกษาไม่แพ้นักเรียนโรงเรียนขนาดใหญ่ ความสำคัญอยู่ที่การเตรียมแผนการสอนล่วงหน้าของครู 

 

"ครูต้นแบบ"ของชุมชน 

 

          “การเป็นครู ในปีแรกจะหนักมาก จะต้องมีความรู้ทั้ง 8 กลุ่มสาระ ต้องทำการบ้านหนัก พูดง่ายๆ สมัยพี่ ลงเรียนใหม่ๆ ก็หนัก เพราะเราไม่เคยสอนมาก่อน และเราอยากให้มันดี กลางคืนนอนเที่ยงคืนทุกวัน เพราะทำแผน สิ่งที่จะช่วยครูได้ดีที่สุดเรื่องการสอนก็คือแผนการสอน เพราะในแผนจะมีสื่อด้วย แล้วครูจะได้ทบทวนด้วย ก็ต้องทนเพราะนี่คืออาชีพเรา” 

          ถึงแม้กว่าครึ่งหนึ่งของนักเรียนของโรงเรียนชายนาพัฒนาเป็นเด็กไทย-มุสลิม แต่ก็สามารถเรียนร่วมกันได้อย่างกลมกลืนกับเด็กนักเรียนคนอื่นๆ ที่เป็นไทยพุทธ 
นี่เป็นแบบอย่างของความหลากหลายที่อยู่ร่วมกันได้อย่างเป็นมิตรและสันติ ไม่ว่าจะมาจากครอบครัวที่มีความเชื่อทางศาสนาอะไร ครูราตรี เชื่อว่าพื้นฐานที่สำคัญที่สุดของเด็กๆ เกิดจากผู้ปกครอง 

 

"ครูต้นแบบ"ของชุมชน 

 

          โรงเรียนชายนาพัฒนาแห่งนี้ เกือบถูกยุบตามนโยบายของกระทรวงศึกษาธิการ ที่เชื่อว่าโรงเรียนที่มีจำนวนนักเรียนต่ำกว่า 120 คน ไม่คุ้มค่าต่อการลงทุนและควรถูกยุบรวมกับโรงเรียนอื่นๆ เพื่อทำให้นักเรียนมีความเป็นเลิศทางวิชาการ ทัดเทียมโรงเรียนขนาดใหญ่ แต่ครูราตรีกลับมองว่า หัวใจของความสำเร็จในการเรียนการสอน ไม่ใช่อยู่ที่จำนวนนักเรียน 

          “ข้อดีก็คือ เราได้ใกล้ชิดเด็ก เข้าถึงเด็กได้ สอนเด็กห้องหนึ่ง 40-50 คน เราเดินเข้าไม่ถึงเด็ก เพราะเด็กตัวโต แล้วห้องมันเล็ก พอเอาโต๊ะเข้าไปก็เดินไม่ถึงเด็กแล้ว ฉะนั้นเด็กก็ต้องมาหาเรา แต่ข้อเสียก็คือ เราต้องตรวจการบ้านเยอะ ตรวจข้อสอบเยอะ ทำสมุดประจำตัวเยอะ ก็เท่านั้นเอง แต่สอนหนังสือมันค่าเท่ากัน ไปดูตารางโอเน็ต จะมีการจัดลำดับในเขตพื้นที่ในอำเภอ ส่วนมากโรงเรียน 1 ใน 10 หรือ 20 เป็นโรงเรียนขนาดเล็กทั้งนั้น ซึ่งโรงเรียนขนาดใหญ่ก็จะบอกเราว่า ก็เพราะโรงเรียนคุณน้อย ตัวหารก็เลยน้อย คือไม่มีอะไรผิดหรือถูกในความรู้สึกของพี่ เราอย่าไปคาดหวังว่า เด็กจะต้องไปเรียนระดับปริญญาตรี” 

          ครูราตรีบอกว่า แม้ทักษะทางด้านวิชาการดี แต่ทักษะทางวิชาชีพแย่ มันก็ไม่บรรลุเป้าหมายของการศึกษาที่รัฐบาลได้พยายามวางไว้ การส่งเสริมให้เด็กทำสวนเกษตร เก็บผลผลิตที่ได้ไปแปรรูปกินกันเองในโรงเรียน อย่างน้อยก็ช่วยให้เด็กๆ มีทักษะในการดำรงชีวิตประจำวัน 

 

"ครูต้นแบบ"ของชุมชน 

 

          ขณะที่ทุกโรงเรียนทั่วประเทศแข่งขันวัดผลทางวิชาการ แต่ครูราตรีกลับเชื่อว่า การทำให้เด็กๆ เป็นคนดีมีคุณธรรมและเอาตัวรอดได้ในสังคมที่เต็มไปด้วยการแข่งขันในปัจจุบัน เป็นสิ่งที่สำคัญมากกว่า 

          'ถ้าคนที่ใช้ชีวิตครูมาเกือบ 40 ปีอย่างครูราตรี ยังมองอนาคตของการศึกษาไทยด้วยความหวังที่น้อยมาก คำถามคือ อะไรทำให้เธอยังมีความมุ่งมั่นในอาชีพเรือจ้างนี้ 

          บางทีคำตอบอาจจะอยู่ที่ ความเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นกับชีวิตของ "ด.ช.ชารีฟ" นักเรียนชั้น ป.6 ของเธอ 

          จากเด็กที่ไม่เคยสนใจช่วยงานที่บ้าน ทุกวันนี้ชารีฟตื่นขึ้นมาแต่เช้า เพื่อช่วยแม่ขายข้าวเหนียวไก่ย่างบนรถเข็น 

          ความใส่ใจและความหวังดีของครูราตรีทำให้เธอกลายเป็นเสมือนหนึ่งแม่คนที่สองของชารีฟ และไม่ใช่เรื่องแปลกที่นักเรียนของโรงเรียนนชายนาพัฒนาเรียกเธอว่า “แม่” หรือว่า “แม่ราตรี” 

          แต่ความรักและความห่วงใยที่ให้แก่นักเรียน ไม่ได้หมายความว่าครูราตรีจะไม่ใช้ “ไม้แข็ง” กับใครก็ตามที่ทำผิดระเบียบ 

          “ตอนแรกๆ ก็ตี ต้องตีให้กลัว ไม่ใช่ตีเพราะเกลียดเขา บางทีเราตีไปแล้วรู้สึกเสียใจ น้ำตาคลอ แต่ถ้าไม่เอาจริงก็ไม่หยุด แล้วก็จะเริ่มอยู่เรื่อยๆ ตีไปน้ำตายังไม่ทันแห้งเลย เดี๋ยวมาอีกแล้ว มากอดแขน แม่ราตรี มาเล่าโน่นเล่านี่ให้ฟัง เด็กก็คือเด็ก แต่ก็ต้องทำ ถ้าไม่ทำก็ไม่หยุด และพอรอบต่อไป พอเราบอกเอาอีกแล้วเหรอ เขาจะหยุดทันที เพราะเขารู้ว่า ถ้าทำอีกแม่ตีแน่ ก็อย่างนี้ ทั้งขู่ทั้งปลอบกันไป อย่าไปมองว่า การที่เด็กถูกทำโทษโดนตีเขาจะโกรธนะ สำหรับพี่ พี่พิสูจน์แล้ว เราตีคนหนึ่ง แล้วคนอื่นๆ ก็จะมาบอกว่าหนูก็ทำแม่ มันคืออะไร ถ้าคนไม่รู้ จะมองเหมือนเด็กล้อเลียนไหม พอเราตีคนนี้ อีกคนก็บอกหนูก็ทำ ไม่ใช่เขาล้อเลียน แต่เขาอยากให้เราตีเขา เพราะการที่เราตีเขา แสดงถึงว่า เรารักและเอาใจใส่เขา สนใจเขา 

          การใช้ทั้งพระเดชและพระคุณกับลูกศิษย์ เป็นที่ยอมรับของคนในชุมชน ที่เชื่อว่าการลงโทษยังเป็นสิ่งจำเป็นในการสร้างวินัย 

          ครูราตรีไม่ได้ให้ความใส่ใจกับนักเรียนเฉพาะในเวลาเรียนเท่านั้น แต่เธอเชื่อว่าการได้สัมผัสกับชีวิตของเด็กๆ และครอบครัวในพื้นที่เป็นสิ่งจำเป็น 

 

"ครูต้นแบบ"ของชุมชน 

 

          “บางทีมาโรงเรียน แต่งตัวสวยเสื้อผ้าเอี่ยม แต่ไปถึงบ้าน สภาพครอบครัวดูไม่ได้เลย บางทีสิ่งที่เราเห็นก็ไม่ได้เป็นอย่างนั้น เราอยากไปสัมผัสผู้ปกครองเขา”
          วันเด็กที่ถูกจัดขึ้น เพื่อให้นักเรียนได้เล่นเกมกันอย่างสนุกสนาน แต่วันเด็กปีนี้ มีความหมายสำหรับครูราตรีเป็นพิเศษ เพราะเป็นครั้งสุดท้ายที่เธอได้ร่วมสนุกสนานกับเด็กๆ ในฐานะครูสอนโรงเรียนชายนาพัฒนา 

          แต่ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้นกับครูราตรีหลังเกษียณในเดือนตุลาคมนี้ ดูเหมือนว่าจิตวิญญาณของความเป็นครูก็จะยังอยู่กับเธอตลอดไป 

          “ถ้าเราคิดว่า จะมามีอาชีพเป็นครู เราต้องยอมรับภาระที่หนัก เรื่องของคำว่าครู เพราะครูคือต้นแบบ ต้นแบบแห่งความดี มีจิตใจเมตตากรุณา ต้องมองเด็กเป็นลูกของเราคนหนึ่ง มีแต่ความปรารถนาดี เพราะอาชีพครู ทุกคนยกย่องว่าเป็นอาชีพที่ทำคนให้เป็นคน ฉะนั้นตัวเราเป็นครู เราต้องทำตัวเราก่อน ให้เขาเห็นว่าเราเป็นคนที่มีคุณค่า ถ้าเราทำตัวมีคุณค่า ให้คนชื่นชม ไม่ต้องยกย่อง แต่อย่าให้เขามาหยามเหยียดเราว่า นี่หรือครู แค่นี้ก็พอแล้วค่ะ”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ