คอลัมนิสต์

ย้อนรอย...กริพเพน..!! เสริมเขี้ยวเล็บ..ทัพฟ้า

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

อีกหนึ่งเขี้ยวเล็บที่เข้ามาประจำการในยุทธศาสตร์ 12 ปีของกองทัพอากาศ...!!!


               โครงการจัดซื้อเครื่องบินกริพเพน จำนวน 12 ลำ เกิดขึ้นสมัย พล.อ.อ.ชลิต พุกผาสุข เป็นผู้บัญชาการทหารอากาศ เพื่อนำมาทดแทนเครื่องบินขับไล่ เอฟ 5 บี/อี ที่ประจำการอยู่ฝูง 701 กองบิน 7 ที่เข้ามาประจำการตั้งแต่ปี 2519 และจะปลดประจำการปี 2554 เครื่องบินแบบกริพเพน 39 ซี/ดี จึงเป็นทางเลือกของกองทัพอากาศไทยในการเสริมเขี้ยวเล็บ

               มีการเปิดเจรจากับกองทัพอากาศสวีเดน เมื่อปี 2548-2549 วงเงิน 34,400 ล้านบาท แบ่งการจัดซื้อเป็น 2 ระยะ คือ ระยะที่หนึ่ง จำนวน 6 ลำ วงเงิน 19,000 ล้านบาท จะได้รับเครื่องในปี 2554 เดือนมกราคม 3 เครื่อง เดือนมีนาคม 3 เครื่อง ส่วนโครงการระยะที่ 2 จำนวน 6 ลำ วงเงิน 15,400 ล้านบาท รับเครื่องในปี 2558

               ภายหลังเกิดวิกฤติเศรษฐกิจ 2540 กองทัพอากาศได้จัดทำยุทธศาสตร์ 12 ปี นำพาทัพฟ้าให้เป็น “กองทัพอากาศชั้นนำในภูมิภาค” โดยอาศัย “เทคโนโลยีดิจิทัล” ซึ่งการที่จะไปถึงจุดนั้นได้จะต้องมีขีดความสามารถในการป้องกันประเทศในแง่กำลังทางอากาศเท่ากัน หรือใกล้เคียงกับประเทศเพื่อนบ้านเพื่อเกิดสมดุลทางอำนาจ

               ดังนั้น หากไม่สามารถจัดหากริพเพนได้ครบ 12 ลำ อาจส่งผลกระทบต่อความมั่นคงของไทยอย่างมหาศาล โดยจะเห็นผลในระยะยาว เพราะอาวุธกองทัพไทยขณะนี้ล้าหลังกว่าชาติอื่นๆ ในอาเซียนทั้งหมด มีเพียงลาวชาติเดียวเท่านั้นที่เราเข้มแข็งกว่า

 

ย้อนรอย...กริพเพน..!! เสริมเขี้ยวเล็บ..ทัพฟ้า

 

               กริพเพน 39 ซี/ดี ถูกออกแบบมาให้มีขนาดเครื่องเล็ก น้ำหนักเบา แต่มีประสิทธิภาพบินได้คล่องแคล่ว รบได้หลากหลายรูปแบบ มีระบบการทำลายสูง คู่ต่อกรปัจจุบันมีเพียง เอฟ 18 และ ซู-30 ไม่ว่าจะเป็นการรบด้วยระบบอากาศสู่อากาศ อากาศสู่พื้นดิน และอากาศสู่ทะเล

               ในช่วงแรกๆ มี 6 ชาติที่สวีเดนยอมขายกริพเพนให้ประจำการ คือกองทัพอากาศสวีเดน อังกฤษ ฮังการี เช็ก แอฟริกาใต้ และไทย ส่วนประเทศที่กำลังจัดซื้อประกอบด้วย กองทัพอากาศบราซิล อินเดีย บัลแกเรีย โครเอเชีย กรีซ โรมาเนีย และสโลวะเกีย

               “ถ้าวัดกันในปี 2555-2557 เราอยู่ในระดับ 3-4 ในภูมิภาคอาเซียน ซึ่งถือว่าไม่สูง เพราะอย่างน้อยจะต้องพัฒนาอีก 6-7 ปี ถึงจะเทียบเท่า ต้องยอมรับว่าสิงคโปร์มีคนเก่ง เพราะมีเงินในการสรรหายุทโธปกรณ์ สิงคโปร์ได้เปรียบในแง่ของปริมาณ และคุณภาพ ถัดมาคือระดับเดียวกันคือมาเลเซีย และไทย ขึ้นอยู่กับการมองในแง่ไหนระหว่างสองประเทศนี้” พล.อ.อ.ประจิน จั่นตอง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ (ผบ.ทอ.) ให้สัมภาษณ์ “คม ชัด ลึก” เมื่อปี 2557

               พล.อ.อ.ประจิน ยอมรับว่า ของเรายังด้อยในแง่ของ “ปริมาณ” พอสมควร เพราะเรากำหนดไว้ว่ากำลังทางอากาศที่เหมาะสมควรจะมี 320-350 เครื่อง แต่เรามี 300 เครื่องโดยประมาณ ส่วนยุทโธปกรณ์ที่มีปริมาณเพียงพอ และมีระบบที่ทันสมัยอยู่ในเกณฑ์ 70-85 เปอร์เซ็นต์

 

ย้อนรอย...กริพเพน..!! เสริมเขี้ยวเล็บ..ทัพฟ้า

กองทัพอากาศจัดพิธีบรรจุกริพเพน เข้าประจำการระบบป้องกันทางอากาศแบบบูรณาการ

โดยมี พล.อ.ธนะศักดิ์ ปฏิมาประกร ผู้บัญชาการทหารสูงสุดสมัยนั้น เป็นประธาน

ที่ กองบิน 7 จ.สุราษฎร์ธานี เมื่อปี 2556

 

               จะว่าไปเครื่องบินกริพเพนถือว่าเป็นเครื่องบินรบในเจเนอเรชั่นที่ 4.5 ขณะที่เครื่องบินที่กองทัพอากาศมีอยู่อย่างเอฟ 5 และเอฟ 16 เป็นเครื่องบิน “เจเนอเรชั่นที่ 3” ???

               ต้องยอมรับว่า เทคโนโลยียังตามหลังเครื่องบินในยุคปัจจุบันที่ไปไกลถึง “เจเนอเรชั่นที่ 5” แล้ว เช่น เครื่องบินเอฟ 22 ของสหรัฐอเมริกา หรือ “ยูโรไฟเตอร์” ของยุโรป ขณะที่กริพเพน เป็นช่วงรอยต่อระหว่างเจเนอเรชั่นที่ 4.5 กับเจเนอเรชั่นที่ 5 และที่เราได้มาจำนวน 12 เครื่อง ในแง่ปริมาณถือว่ายังไม่เพียงพอ

               เครื่องบินขับไล่กริพเพน 39 ซี เป็นเครื่องบินขับไล่ประจำฝูงบิน 701 กองบิน 7 สุราษฎร์ธานี ขีดความสามารถ กริพเพน 39 ซี/ดี เป็นเครื่องบินขับไล่อเนกประสงค์ยุคที่ 4.5 (4.5 Generation Fighter) มีความอ่อนตัวและคล่องตัว ใช้อาวุธสมัยใหม่ได้แม่นยำสูง และมีพิสัยการยิงไกลปฏิบัติภารกิจได้หลากหลายรูปแบบในลักษณะ Multi-Role เมื่อประกอบเข้ากับระบบบัญชาการและควบคุม (Command and Control System : C2) ที่เปรียบเสมือนมีกำลังน้อยแต่เหมือนมีกำลังมาก (System of Systems) ในลักษณะการทวีกำลัง (Force Multiplier)

               มีสมรรถนะสูง ใช้ระบบอาวุธได้หลากหลายรูปแบบทั้งระบบอาวุธที่ผลิตจากสหรัฐและสหภาพยุโรป รวมทั้งแผนการจัดหาเพิ่มเติมโจมตีเรือผิวน้ำ RB S-15 มีสมรรถนะและเทคโนโลยีทันสมัยและสามารถพัฒนาต่อเนื่องในอนาคต ทั้งมีความเหมาะสมตามสภาพภูมิยุทธศาสตร์ในการวางกำลังในพื้นที่ภาคใต้ ตลอดจนการถ่ายทอดเทคโนโลยีเพื่อให้สามารถพึ่งพาตนเองและปฏิบัติการร่วมกันระหว่างเหล่าทัพในการป้องกันประเทศ

 

ย้อนรอย...กริพเพน..!! เสริมเขี้ยวเล็บ..ทัพฟ้า

 

               วิ่งขึ้นได้จากรันเวย์ยาว 800 เมตร และลงจอดบนถนนหลวงที่มีความยาวเพียง 500 เมตร ต้องการเจ้าหน้าที่สนับสนุนภาคพื้นดินเพียงแค่ 5 คน มีค่าใช้จ่ายในปฏิบัติการที่ต่ำกว่าเครื่องบินแบบอื่นๆ สามารถใช้อาวุธได้หลากหลาย มีความเร็วสูงสุด 1.4 มัค ที่ระดับน้ำทะเล และ 2 มัคที่ความสูงที่สูงกว่า

               ระหว่างปฏิบัติภารกิจเป็นหมู่ กริพเพนสามารถเปิดเรดาร์เพียงเครื่องเดียวเพื่อลดการตรวจจับ แต่สามารถส่งข้อมูลของเป้าหมายให้เครื่องบินอื่นๆ ในหมู่บินได้ เครื่องบินที่ไม่ได้เปิดเรดาร์จึงสามารถเข้าโจมตีได้โดยที่ถูกตรวจจับได้ยากและข้าศึกไม่รู้ตัว ระบบนี้สวีเดนเป็นชาติแรกที่พัฒนา คล้ายกับระบบที่ติดตั้งในเครื่องบินเอฟ-22 ของสหรัฐ

               กองทัพอากาศ ตั้งเป้าหมายดูแลรักษาเครื่องบินกริพเพน ให้รับใช้ชาติได้นานถึง 30 ปี แทนเครื่องบินขับไล่เอฟ 5 ซึ่งประจำการมาแล้ว 33 ปี มีการพัฒนาบุคลากรรองรับระบบที่ทันสมัยของกริพเพน ทั้งการสร้างนักบินแสดงสมรรถนะ ที่ต้องใช้ทักษะขั้นสูง และนักบินที่เติมน้ำมันกลางอากาศได้

               ข้อมูลในปี 2556 กริพเพนของไทย มีจำนวนชั่วโมงบินรวมกว่า 2,000 ชั่วโมงบิน ในช่วง 2 ปีที่เข้าประจำการ และยังได้ทำการบินวางกำลังมาแล้วทั่วประเทศ ทั้งจุดยุทธศาสตร์สำคัญและสนามบินที่มีทางวิ่งจำกัด เพื่อเตรียมพร้อมภารกิจดูแลความมั่นคงในภาคใต้ทั้งฝั่งอ่าวไทย อันดามัน และทั่วประเทศ

               อีกหนึ่งเขี้ยวเล็บที่เข้ามาประจำการในยุทธศาสตร์ 12 ปีของกองทัพอากาศ...!!!

 

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ