คอลัมนิสต์

จากโมเดล “แม่ไก่” สู่ “ทุจริตไฮเทค”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โกงสอบเข้านายสิบตำรวจที่เป็นข่าวอื้อฉาว ไม่ใช่ครั้งแรกที่ตรวจสอบพบทุจริตสอบเข้าราชการ ก่อนหน้านี้ก็พบทุจริตสอบครูผู้ช่วย ซึ่งวิวัฒนาการโกงสอบมีมาต่อเนื่อง

    กรณีทุจริตการสอบคัดเลือกเข้าเป็นนักเรียนนายสิบตำรวจ กำลังจะได้ข้อสรุปในวันที่ 16 มกราคม ที่จะถึงนี้ ว่าจะ "โมฆะทั้งหมด หรือ โมฆะบางส่วน" ท่ามกลางการลุ้นระทึกของคนสุจริตที่สอบติดและรายงานตัวกันไปแล้ว

    การทุจริตสอบไม่ได้เกิดขึ้นเป็นครั้งแรก แต่มีข่าวเกรียวกราวมาเป็นระยะ และไม่ได้จำกัดเฉพาะการสอบของราชการเท่านั้น เมื่อกลางปีที่แล้วก็มีทุจริตสอบเข้าคณะแพทยศาสตร์ ทันตแพทยศาสตร์ และเภสัชกรรมศาสตร์ ของมหาวิทยาลัยรังสิต

    ปรากฏว่าอาจารย์ที่คุมสอบจับคนโกงได้ วิธีการที่ใช้สุดไฮเทค คือจะมีทีมงานทำทีเข้าไปสอบ แล้วใช้กล้องขนาดจิ๋วที่ติดอยู่บนแว่นตา ถ่ายภาพข้อสอบออกมา จากนั้นจะมีทีมงานด้านนอกเร่งเฉลยคำตอบ แล้วส่งกลับมาให้ผู้สอบที่จ่ายเงิน โดยส่งคำตอบเป็นรหัสผ่านทางนาฬิกาที่สั่งทำพิเศษ ที่เรียกว่า smart watch

    กรณีนี้เกิดขึ้นตั้งแต่เดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว ทางมหาวิทยาลัยได้แจ้งความดำเนินคดีผู้ที่เกี่ยวข้อง 5 คน ในข้อหา “เอาไปเสียซึ่งเอกสารของผู้อื่น โดยประการที่จะทำให้เกิดความเสียหายต่อผู้อื่นหรือประชาชน” ตามประมวลกฎหมายอาญา มาตรา 188 โดยเทียบเคียงกับพฤติกรรมการถ่ายภาพข้อสอบออกไป

    แต่ผ่านมาแล้วกว่าครึ่งปี จนถึงขณะนี้คดียังอยู่ในชั้นอัยการ และยังไม่แน่ว่าจะเอาผิดผู้กระทำได้หรือไม่ เพราะบ้านเราไม่มีกฎหมายเอาผิดกับการทุจริตสอบโดยตรง ต้องใช้กฎหมายอื่นเทียบเคียงเท่านั้น

    และนี่เองคือเหตุผลสำคัญที่ทำให้แก๊งโกงสอบเติบโตเป็นเครือข่ายใหญ่ มีวิวัฒนาการการโกงถึง 5 รูปแบบ กระทั่งตำรวจที่คร่ำหวอดในเรื่องนี้มานานถึงกับบอกว่า การสอบของราชการถึงร้อยละ 70 มีการทุจริต

จากโมเดล “แม่ไก่” สู่ “ทุจริตไฮเทค”

    "พล.ต.ต.จักรกฤษศณ์ สิงห์ศิลารักษ์" รองผู้บัญชาการศึกษา สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เล่าให้ฟังว่า รูปแบบการโกงเมื่อ 20-30 ปีก่อน นิยมใช้วิธีการจ้างคนเก่งๆ เข้ามาทำเฉลย เรียกว่าโมเดล “แม่ไก่” คือมีคนทำเฉลยเพียงคนเดียว และจะส่งข้อสอบให้คนรอบข้างลอกประมาณ 9-10 คน เวลาสมัครสอบก็จะสมัครพร้อมกัน เพื่อให้ได้นั่งใกล้ๆ กัน แต่วิธีการนี้ ระยะหลังไม่เป็นที่นิยม เพราะการคุมสอบรัดกุมขึ้น และมีการคละผู้สมัคร ไม่ให้คนที่สมัครพร้อมๆ กันได้นั่งใกล้กัน

    แต่ที่น่าแปลกใจก็คือ การสอบเข้านักเรียนนายสิบตำรวจปีนี้ แก๊งโกงย้อนกลับมาใช้โมเดล “แม่ไก่” เพียงแต่ซับซ้อนขึ้น และอาศัยช่องโหว่จากการจ่ายค่าสมัครผ่านธนาคาร ทำให้ได้ที่นั่งสอบใกล้ๆ กัน

    ยุคต่อมาเป็นวิธีที่กลุ่มรับจ้างโกงสอบนิยมทำมากที่สุด คือพยายามหาข้อสอบมาให้ได้ก่อน จากนั้นก็จะทำเฉลย แล้วส่งข้อมูลให้ผู้เข้าสอบจริงที่ร่วมขบวนการ

จากโมเดล “แม่ไก่” สู่ “ทุจริตไฮเทค”

    สมัยที่ยังไม่มีเทคโนโลยีช่วย ผู้รับจ้างเฉลยข้อสอบจะสมัครเข้าสอบด้วย และนำข้อสอบออกมา หรือรีบทำเฉลยให้เสร็จเร็วๆ ก่อนจะส่งคำตอบให้ผู้ร่วมขบวนการได้ทราบ

    กระทั่งเมื่อราวๆ 10 ปีที่ผ่านมา เริ่มมีการใช้โทรศัพท์มือถือเข้าไปในห้องสอบ เพื่อเป็นอุปกรณ์ในการส่งข้อความ ทำให้ผู้จัดสอบล้อมคอกด้วยการห้ามนำโทรศัพท์มือถือเข้าห้องสอบโดยเด็ดขาด

    ต่อมาภายหลังมีการพัฒนาใช้เครื่องรับส่งสัญญาณเฉลย เป็นเครื่องอิเล็กทรอนิกส์ขนาดจิ๋ว เพื่อไม่ให้กรรมการคุมสอบตรวจพบเวลาตรวจค้นร่างกาย เคยมีแม้กระทั่งผู้หญิงซุกซ่อนเครื่องลักษณะนี้ไว้ในที่ลับ

    ในปี 2555 ตำรวจพบวิธีนับสระและวรรณยุกต์ เพื่อเป็นโค้ดในการบอกคำตอบ แต่ไม่ค่อยได้รับความนิยม เพราะใช้เวลานานและผิดพลาดง่าย

    จากสารพัดวิธีโกงสอบ พล.ต.ต.จักรกฤษศณ์ บอกว่า สุดท้ายหน่วยงานตำรวจได้เปลี่ยนวิธีการสอบ โดยใช้ระบบข้อสอบแบบบาร์โค้ด ผลิตทีละหลายๆ ชุด แต่ละชุดสลับข้อกัน วิธีนี้ทำให้พวกมิจฉาชีพโกงไม่ได้ผล

    “เราก็มานั่งตั้งโจทย์ตรงที่ว่า ถ้าคุณไม่รู้ว่าข้อสอบเป็นชุดไหน คุณจะส่งเฉลยถูกได้อย่างไร ก็เป็นที่มาของระบบบาร์โค้ด ซึ่งประเทศไทยปัจจุบันใช้ระบบนี้กันเยอะขึ้น ผู้เข้าสอบจะไม่รู้ล่วงหน้าว่าคุณได้ข้อสอบชุดอะไร เพราะมีเลข 8 หลัก กระบวนการผลิตด้วยคอมพิวเตอร์ทั้งหมด เมื่อผู้เข้าสอบไม่รู้ข้อสอบล่วงหน้า และคนในเครือข่ายก็อาจได้ข้อสอบคนละชุดกัน ก็เท่ากับว่าข้อสอบไม่รั่ว และโกงไม่สำเร็จ” รองผู้บัญชาการศึกษา กล่าว

จากโมเดล “แม่ไก่” สู่ “ทุจริตไฮเทค”

    สาเหตุที่การทุจริตสอบเป็นไปอย่างแพร่หลาย นอกจากเรื่องผลประโยชน์ที่ “วิน-วิน” กันทั้งสองฝ่าย คือฝ่ายผู้รับจ้างกับผู้ว่าจ้าง หรือผู้ลอกกับผู้ให้ลอกแล้ว เหตุผลสำคัญอีกประการหนึ่งก็คือ ประเทศไทยไม่มีกฎหมายเฉพาะเพื่อเอาผิดเรื่องทุจริตสอบ พล.ต.ต.จักรกฤษศณ์ บอกว่า ที่ผ่านมามีความพยายามให้แก้ไขเพิ่มเติมประมวลกฎหมายอาญา แต่ไม่เป็นผลสำเร็จ ทำให้ต้องใช้กฎหมายอื่นเทียบเคียง แต่สำหรับครั้งนี้ ตำรวจได้บูรณาการกฎหมายหลายฉบับมาเป็นบทลงโทษ ทั้งอั้งยี่ แจ้งความเท็จ และ พ.ร.บ.คอมพิวเตอร์ เพื่อทำให้เป็นต้นแบบของการแก้ไขปัญหา และลงโทษคนทุจริตไม่ให้เป็นเยี่ยงอย่างอีกต่อไป

    จากการสืบสวนของตำรวจยังพบว่า การทุจริตสอบมีอยู่ทุกหน่วยราชการ คนในขบวนการมีการทำตลาด เรียกเก็บค่าหัวคิวกันอย่างเป็นล่ำเป็นสัน อย่างการทุจริตสอบตำรวจที่เป็นข่าวใหญ่รับปีระกานี้ ลูกค้า 1 คนต้องเสียเงินค่าจ้างถึง 5 แสนบาท เฉพาะที่กองบัญชาการตำรวจนครบาล แก๊งโกงสอบได้เงินมากถึง 40 ล้านบาท

    ทั้งหมดนี้จึงเป็นภารกิจสำคัญขององค์กรตรวจสอบทั้งหลาย รวมทั้งทุกคนในสังคมไทยที่จะต้องช่วยกันขจัดขบวนการเลวร้ายนี้ให้หมดไป โดยเฉพาะการสอบข้าราชการทุกระดับ เพราะหากเริ่มต้นก็โกงเสียแล้ว ประเทศไทยคงไม่พ้นวงจรอุบาทว์ว่าด้วยการคอร์รัปชั่นเป็นแน่

    ปิดท้ายด้วยคำกล่าวของ ร.ต.อ.ดร.จอมเดช ตรีเมฆ นักวิชาการด้านอาชญาวิทยา มหาวิทยาลัยรังสิต หนึ่งในคณะกรรมการตรวจสอบการทุจริตสอบของมหาวิทยาลัยที่ว่า “วัฒนธรรมลอกข้อสอบของคนไทยคือสิ่งสำคัญ เพราะสังคมของเรามองว่าไม่ใช่เรื่องเลวร้าย”

     ได้เวลาปฏิรูปความคิดแบบนี้กันเสียที !

                                            เนื้อแพร พงษ์สุวรรณ ทีมล่าความจริง NOW26

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ