คอลัมนิสต์

บทเรียน“บางสะพาน” ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

น้ำท่วม อ.บางสะพาน จ.ประจวบฯครั้งนี้ หนักหนากว่าต้นธันวาคม 59 นักวิชาการได้ชี้ถึงปัจจัยทั้งเรื่องพายุฝน-ขาดควบคุมเรื่องผังเมือง ซึ่งต้องเร่งแก้ปัญหาแบบยั่งยืน

บทเรียน“บางสะพาน”

ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”-“บริหารจัดการน้ำ”

    เหตุการณ์น้ำท่วมหนักในพื้นที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ หลังฝนตกลงมาต่อเนื่องจนกระทั่งช่วงคืนวันที่ 9 มกราคม ต่อเนื่องจนเช้าวันที่ 10 มกราคม 2560 เกิดน้ำป่าไหลหลากเข้าท่วมพื้นที่ ทั้งถนนสายหลัก บ้านเรือน พื้นที่ชุมชน พื้นที่การเกษตร โดยระดับน้ำสูงถึง 1 เมตร

    มวลน้ำที่ไหลหลากจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลทะลักเข้าท่วม อ.บางสะพาน โรงพยาบาล ย่านเศรษฐกิจ สถานที่ศึกษา วัด หน่วยงานราชการ สถานีตำรวจ บ้านเรือนประชาชน พื้นที่ทางการเกษตร จนได้รับความเดือดร้อนอย่างหนัก และยังส่งผลทำให้สะพานบนถนนเพชรเกษม ช่วงทับสะแก–บางสะพาน ขาด 2 จุด คือ 1.คลองหนองหญ้าปล้อง กม.365+600 ขาดด้านใต้ขาล่อง และขาดด้านเหนือขาขึ้น 2.หน้าหมวดบางสะพาน กม.386+500 ขาดด้านเหนือทั้งขาขึ้น-ขาล่อง จนต้องปิดการจราจร ทำให้เส้นทางขึ้น-ล่องภาคใต้เป็นอัมพาต โดยกรมทางหลวงและหน่วยงานภาครัฐต้องนำสะพานเบลีย์เข้ามาใช้แก้ไขสถานการณ์

บทเรียน“บางสะพาน” ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”

    ก่อนหน้านี้ เมื่อวันที่ 6 ธันวาคม 2559 พื้นที่แห่งนี้มีฝนตกหนักและน้ำล้นอ่างเก็บน้ำลงมาจนเกิดน้ำป่าหลากเข้าท่วมพื้นที่ โดยเกิดฝนตกติดต่อนานถึง 6 วัน กว่า 70 ชั่วโมง ในพื้นที่ อ.บางสะพาน และ อ.บางสะพานน้อย จ.ประจวบคีรีขันธ์ ส่งผลให้น้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรีไหลลงคลองช้างแรก ล้นสปิลล์เวย์เข้าท่วมถนนแยกเพชรเกษม–บ้านซังข้าวแห้ง ห่างจากที่ทำการ อบต.ช้างแรก อ.บางสะพานน้อย ประมาณ 200 เมตร คอสะพานขาด รถทุกชนิดไม่สามารถผ่านได้ ส่วนถนนสายเพชรเกษม–ปากคลอง ช่วงหน้าที่ทำการไปรษณีย์บางสะพานน้อย น้ำท่วมผิวจราจรสูงประมาณ 80 ซม. รถเล็กไม่สามารถผ่านได้ และพื้นที่ อ.บางสะพาน ที่อยู่ติดกันน้ำป่าจากเทือกเขาตะนาวศรี ไหลลงคลองทองและคลองบางสะพาน เข้าท่วมถนนสายเพชรเกษม เส้นทางหลักที่จะไปสู่ 14 จังหวัดภาคใต้เป็นช่วงๆ และยังไหลเข้าท่วมบ้านเรือนชาวบ้านในพื้นที่ ต.ร่อนทอง ต.ทองมงคล ต.ธงชัย ได้รับความเสียหายด้วย

   ดังนั้นเห็นได้ว่า เหตุการณ์ฝนตกหนักและน้ำป่าไหลหลากเมื่อวันที่ 10 มกราคม 2560 เป็นสภาพเช่นเดียวกับเมื่อต้นเดือนธันวาคม 2559 ที่ผ่านมา เพียงแต่ครั้งล่าสุดสถานการณ์รุนแรงกว่า มีสะพานชำรุดถึง 2 แห่ง จนถนนเพชรเกษมลงภาคใต้ต้องสะดุด และรถยนต์ทุกประเภทผ่านไม่ได้ตกค้างจอดเรียงยาวกันเป็นระยะทางหลายกิโลเมตร

บทเรียน“บางสะพาน” ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”

    การเกิดน้ำท่วมซ้ำซากในระยะห่างแค่ 1 เดือน ทำให้หลายฝ่ายเริ่มพิจารณาถึงต้นเหตุว่าเกิดขึ้นจากปัจจัยด้านใดบ้าง หากดูจากลักษณะภูมิประเทศด้านกายภาพแล้ว ลักษณะทั่วไปของประจวบคีรีขันธ์มีความลาดเอียงจากทิศตะวันตก ซึ่งเป็นเทือกเขาตะนาวศรี อันเป็นเทือกเขากั้นระหว่างพรมแดนไทยกับพม่าลงสู่ด้านตะวันออกซึ่งเป็นอ่าวไทย และมีเทือกเขาและภูเขากระจัดกระจายทั่วไปทั้งบริเวณชายฝั่งทะเล และบริเวณส่วนกลางของพื้นที่จังหวัดมีเทือกเขาที่สำคัญ ได้แก่ เทือกเขาสามร้อยยอด ซึ่งมีความสูงโดยเฉลี่ยของเทือกเขาด้านตะวันออกประมาณ 750 เมตรเหนือระดับน้ำทะเล สูงสุด 1,215 เมตร ต่ำสุด 306 เมตร ส่วนความสูงจากระดับน้ำทะเลแถบชายฝั่งตะวันออกโดยเฉลี่ยประมาณ 1-5 เมตร

    จึงเห็นได้ว่า พื้นที่มีความลาดชันค่อนข้างสูง ดังนั้นจึงเกิดมีลำห้วยกระจัดกระจายทั่วไปในพื้นที่ และมีแม่น้ำสำคัญในพื้นที่ 5 สาย ได้แก่ แม่น้ำปราณบุรี แม่น้ำกุยบุรี แม่น้ำบางสะพาน รวมทั้ง คลองนาบางรม และคลองกรูด ขณะที่ถนนเพชรเกษมแบ่งพื้นที่ออกเป็น 2 ฝั่ง โดยด้านทิศตะวันตกเป็นแนวเขาตะนาวศรี เป็นที่ตั้งของอ่างเก็บน้ำขนาดเล็ก 3 อ่าง คือ อ่างเก็บน้ำคลองลอย อ่างเก็บน้ำโป่งสามสิบ และอ่างเก็บน้ำวังน้ำเขียว

    จากความลาดเอียงของลักษณะภูมิประเทศ มวลน้ำจะถูกระบายผ่านแม่น้ำและพื้นที่ลุ่มต่ำลงสู่ทะเลที่อ่าวไทย การที่น้ำท่วมในพื้นที่อาจมาจากปัจจัยที่มวลน้ำถูกสกัดกั้นหรือมีสิ่งกีดขวางจนไม่สามารถไหลลงทะเลได้อย่างรวดเร็ว

    ทั้งนี้ ในอดีตเมื่อปี 2548 เคยเกิดเหตุการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ พอในปีถัดมาสำนักชลประทานในพื้นที่ได้เดินหน้าขุดลอกคลองและมีแผนสร้างคลองบายพาสระยะประมาณ 4-5 กิโลเมตร เพื่อระบายน้ำลงสู่ทะเลโดยตรง แต่โครงการถูกคัดค้านจนต้องสะดุดไป

    มุมมองของ “ดร.ธเนศ วีระศิริ” นายกวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย ในพระบรมราชูปถัมภ์เห็นว่า เป็นธรรมชาติของแถบภาคใต้ที่ล้อมรอบไปด้วยภูเขาและทะเล เมื่อมีฝนตกต่อเนื่องน้ำจะไหลจากที่สูงลงสู่ที่ต่ำ แต่ด้วยสภาพเมืองที่เจริญเติบโตขึ้น มีการก่อสร้างอาคารและถมดินให้สูงขึ้นเพื่อทำถนน ผังเมืองจึงเปลี่ยนแปลง ใช้สอยพื้นที่มากขึ้น แต่ขนาดของท่อระบายน้ำกลับยังเท่าเดิม จึงระบายน้ำได้ช้า

บทเรียน“บางสะพาน” ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”

    ดร.ธเนศ กล่าวอีกว่า พื้นที่ภาคใต้มีน้ำท่วมขังและฝนตกอยู่ตลอดเวลา ทำให้เกิดการเพิ่มเติมระดับน้ำในหลายพื้นที่ ประกอบกับสภาพพื้นที่ภาคใต้มีภูเขา น้ำที่ไหลจากภูเขาจะมีความรุนแรง หากเกิดการบล็อกทิศทางการไหลของน้ำเป็นบริเวณกว้าง ทำให้น้ำไหลเข้าหลายพื้นที่ แม้อยู่ใกล้ทะเลแต่การลดระดับน้ำจะเป็นไปได้ช้าในบางพื้นที่ ความเสียหายจากการที่ฝนตกเพิ่มตลอดทำให้เกิดการไหลบ่าเข้าหาชุมชน จึงต้องมีวิธีป้องกันและแก้ไขปัญหาที่ดี

    ขณะเดียวกันนักวิชาการเคยเสนอแนะถึงการแก้ปัญหาระยะยาวในพื้นที่ภาคใต้ คือ การทำฟลัดเวย์ หรือทางน้ำไหล เพื่อช่วยระบายน้ำลงสู่ทะเลรองรับการขยายตัวเติบโตของเมืองในพื้นที่ รวมทั้งจัดการปัญหาสิ่งก่อสร้างที่ขวางทางน้ำ มีการเสนอให้ขุดเจาะทางระบายน้ำใต้ถนนที่กั้นทางน้ำไหล จัดหาพื้นที่แก้มลิงพักน้ำ ซึ่งเหล่านี้เป็นปัจจัยในการช่วยแก้ปัญหาน้ำท่วม ซึ่งสิ่งเหล่านี้เกี่ยวข้องกับการจัดทำ “ผังเมือง” ทั้งสิ้น

บทเรียน“บางสะพาน” ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”

    เช่นเดียวกับ “ดร.รอยล จิตรดอน” ผอ.สถาบันสารสนเทศทรัพยากรน้ำและการเกษตร (สสนก.) กระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี เคยแสดงความกังวลเกี่ยวกับปรากฏการณ์น้ำท่วมภาคใต้เอาไว้ก่อนปีใหม่ว่า น้ำฝนที่ตกลงมาในช่วงเวลานั้นจะซึมลงดิน จนดินนั้นอุ้มน้ำเอาไว้เต็มพิกัด หากหลังปีใหม่ยังมีฝนตกลงมาอย่างหนักอีก เมื่อนั้นหลายพื้นที่จะเดือดร้อนหนัก เพราะดินอุ้มน้ำเอาไว้เต็มพิกัดแล้ว

    ไม่เพียงแต่ดินอุ้มน้ำเอาไว้เต็มพิกัดเท่านั้น เมื่อตรวจสอบเรื่องการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ จ.นครศรีธรรมราช นั้น ถือว่าเป็นพื้นที่ที่สุ่มเสี่ยงกับการเกิดน้ำท่วมอย่างน่าตกใจยิ่ง เพราะพบว่าเส้นทางการไหลของน้ำที่มีอยู่เดิมถูกขวางกั้นด้วยหมู่บ้านจัดสรรแล้วเกือบทั้งหมด เช่น พื้นที่ถนนสะพานยาว ที่เดิมเคยเป็นคลองน้ำผ่านที่ใหญ่ที่สุดในเขต อ.เมือง เวลานี้กลายเป็นหมู่บ้านจัดสรรและชุมชนขนาดย่อมแห่งหนึ่งของจังหวัดเลยทีเดียว หรือกระทั่งถนนกะโรม ที่พาดผ่านทางรถไฟ เดิมเป็นคลองรับน้ำ บัดนี้ถูกถมเต็มพื้นที่ เรียกได้ว่าแทบจะไม่มีคลอง หรือแหล่งใดๆ ระบายน้ำได้เลย อีกทั้งยังมีรายงานว่า ท่อระบายน้ำแทบทุกแห่งก็เต็มไปด้วยขยะอุดตัน ยากต่อการไหลผ่านของน้ำ เรียกว่าระบบผังเมืองมีปัญหา

    ดังนั้นจากเสียงสะท้อนของกลุ่มนักวิชาการ เห็นได้ชัดว่า ปมปัญหาที่ทำให้เกิดน้ำท่วม โดยเฉพาะเรื่อง "ระบบผังเมือง" และ “การบริหารจัดการน้ำ" ถือเป็นส่วนสำคัญที่จะช่วยให้แก้ปัญหาได้แบบยั่งยืน 

     จึงเป็นหน้าที่ของภาครัฐต้องปฏิรูปให้เกิดการเปลี่ยนแปลง อย่าปล่อยให้เกิดน้ำท่วมซ้ำซาก เพราะสร้างผลกระทบต่อประชาชนและเศรษฐกิจอย่างมาก

--------------------------

บทเรียน“บางสะพาน” ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”

พายุเหนี่ยวนำฝนถล่มใต้

     เมื่อค่ำวันที่ 10 มกราคม รายการ “คม ชัด ลึก” ทางเนชั่นทีวี ช่อง 22 ดำเนินรายการโดย นายเอกรัฐ ตะเคียนนุช ได้เชิญผู้ร่วมรายการ "ชวลิต จันทร์รัตน์" ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีมกรุ๊ป เข้ามาวิเคราะห์สถานการณ์น้ำท่วมภาคใต้ ในหัวเรื่อง “สาหัส!วิกฤติน้ำทะเลใต้”

     ชวลิต กล่าวถึงน้ำท่วมหลายจังหวัดภาคใต้ในช่วง 2-10 มกราคม 2560 ว่า สาเหตุก็มาจากลมมรสุมตะวันออกเฉียงเหนือจะพัดความชื้นมาตกในภาคใต้ของไทย แต่อันดามันมีการก่อตัวพายุไซโคลนห่างเกาะภูเก็ตประมาณ 100 กิโลเมตร และความชื้นมาปะทะชายฝั่งจนคลื่นลมแรง และเกิดพายุฝน ซึ่งภาคใต้ฝนตกมากเป็นเรื่องปกติ แต่จะไม่ตกนานและย้ายพื้นที่ไล่ไปตกครั้งละ 2 วันแล้วหยุดบ้าง แต่พายุไซโคลนเป็นตัวเหนี่ยวนำให้ฝนตกต่อเนื่องนานหลายวัน

    “สังเกตว่าพายุฝนตกช่วงส่งท้ายปี พอวันที่ 5 มกราคม ก็ตกต่อเนื่องนาน ซึ่งพายุลูกนี้ม้วนตัวในอันดามันเป็นเวลานาน และปริมาณฝน 1,000 มม. ตกอยู่อาทิตย์เดียวถือว่าฝนเยอะมาก โดยพายุนี้เหนี่ยวนำให้ฝนตกประมาณ 7-8 วัน โดยในส่วนภาคใต้ก็ขึ้นมาด้านบนที่ประจวบคีรีขันธ์และเพชรบุรี จากนี้ก็จะเคลื่อนขึ้นเหนือ บริเวณด้านทิศตะวันตกของไทย ที่กาญจนบุรี อุทัยธานี ตาก แม่ฮ่องสอน เชียงราย ก็ต้องติดตามเฝ้าระวัง เพราะอาจเป็นพื้นที่ได้รับผลกระทบในช่วงหลังวันที่ 11 มกราคม” นายชวลิต กล่าว

    ประธานเจ้าหน้าที่บริหารทีมกรุ๊ป กล่าวว่า พายุลูกนี้ทิศทางจะขึ้นเหนือตรงไปพม่า ทวาย โดยหลังวันที่ 11 มกราคม ทางใต้ฝนจะลดลง ตอนนี้เหลือแต่ว่าภาคใต้จะระบายน้ำออกอย่างไร ซึ่งอิทธิพลที่ภาคใต้ได้รับ เพราะเป็นแหลมยื่นในทะเลหลวง ตะวันออกเป็นทะเลจีนใต้ ลมจากแปซิฟิกพัดพาความชื้นมา จะเห็นว่าอะไรที่มาทางแปซิฟิกจะผ่านฟิลิปปินส์ก็จะมีโอกาสมาถึงเรา แต่จะเบาลง

บทเรียน“บางสะพาน” ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”

    ตอนนี้เราติดตามพายุอีกลูกเกิดที่ฟิลิปปินส์และจะเข้ามาเวียดนาม แฉลบลงล่างวันที่ 17 มกราคม ทางสุราษฎร์ธานี นครศรีธรรมราช อาจมีฝนตกอีกครั้ง แต่ตกวันเดียว ไม่ต้องตกใจ อันนี้คือลมจากตะวันออกมาทางทะเลจีน ส่วนที่มาทางภาคอีสาน จะมีเวียดนาม ลาวรับไว้ เวลาเข้ามาไทยจึงไม่รุนแรง ส่วนด้านอันดามันต่อจากมหาสมุทรอินเดีย ทางเรามีภูเขาสูงปะทะให้เบาลง อาทิ พื้นที่ ระยอง พังงา ภูเก็ต กระบี่ ตรัง ดังนั้นภาคใต้มี 2 ด้านรับมรสุม

    ส่วนกรณีเปรียบเทียบน้ำท่วมเมื่อปี 2554 กับครั้งนี้ จะเห็นว่าปริมาณฝนเมื่อปี 2554 ตกที่นครศรีธรรมราชถึง 8 วัน มีปริมาณน้ำฝน 1,400 มม. แต่ครั้งนี้ตก 1,000 มม. แต่ความเสียหายมากกว่า เพราะการพัฒนาบ้านเมืองโตไม่หยุด สร้างถนนหนทาง เช่น ถนนเพชรเกษมที่ขวางทางไหลน้ำอยู่แล้ว ไปปลูกสิ่งก่อสร้าง ทำให้แก้มลิงธรรมชาติหายไป ลำน้ำตื้นเขินถูกบุกรุกปลูกสร้างอาคาร ซึ่งการระบายน้ำปี 2554 ก็ค่อนข้างแย่อยู่แล้ว แต่ครั้งนี้ระบายลงทะเลได้ช้ากว่า

     ชวลิต กล่าวตอนท้ายว่า ในส่วนความเสียหายที่ อ.บางสะพาน จ.ประจวบคีรีขันธ์ ที่น้ำพัดจนสะพานขาด 2 แห่ง ก็เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นได้ หากฝนตกเกิน 100 มม. ความชุ่มฉ่ำดินโคลนถล่มก็เป็นเรื่องหนึ่ง เรื่องที่สองสะพานถ้าทำเล็กไปคอสะพานก็ถูกพัดขาด อย่างบริเวณบางสะพานมี 3 คลองมารวมที่บางสะพาน เข้าโจมตีที่เดียวความแรงย่อมสูง จึงมีโอกาสเกิดขึ้นได้

บทเรียน“บางสะพาน” ถึงเวลาปฏิรูป“ผังเมือง”

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ