คอลัมนิสต์

แผนบูรณะราชรถ-ราชยาน พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(ตะลุยกองทัพ)  แผนบูรณะราชรถ-ราชยาน พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ : จิตตราภรณ์ เสนวงค์ สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

           กรมสรรพวุธทหารบก ได้ทำแผนซ่อมบำรุงบูรณะ ราชรถ ราชยาน  เพื่อใช้ในกระบวนพระบรมราชอิสริยยศเชิญพระบรมโกศ จากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทพระบรมมหาราชวัง เคลื่อนไปยังพระเมรุมาศ ท้องสนามหลวง ในพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างช่วงล่างและส่วนขับเคลื่อนซึ่งอยู่ในความรับผิดชอบของกรมสรรพวุธทหารบก ภายใต้การกำกับดูแลของ พล.ท.อาวุธ เอมวงศ์ เจ้ากรมสรรพวุธทหารบก

           ในส่วนของราชรถ ประกอบด้วย พระมหาพิชัยราชรถ มีลักษณะเป็นราชรถบุษบก ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ที่จะใช้อันเชิญพระบรมโกศพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช และ ราชรถน้อยมีสามองค์ เป็นลักษณะเป็นราชรถทรงบุษบก ขนาดเล็กกว่าพระมหาพิชัยราชรถ ทำด้วยไม้แกะสลักลงรักปิดทองประดับกระจก ในอดีตทำหน้าที่เป็นรถพระนำ เรียกอย่างย่อว่า “รถสวด” ทำหน้าที่เป็นรถโปรยข้าวตอกเรียกอย่างย่อว่า “รถโปรย”และสำหรับโยงภูษาโยงจากพระบรมโกศ เรียกอย่างย่อว่า “รถโยง” ซึ่งในส่วนของราชรถน้อยจะเลือกใช้เพียง 1องค์

            แผนบูรณะราชรถ-ราชยาน พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

           ขณะที่ ราชยาน ประกอบด้วย 1.พระที่นั่งราเชนทรยาน ใช้อัญเชิญพระบรมโกศพระบรมอัฐิจากพระเมรุท้องสนามหลวงเข้าสู่พระบรมมหาราชวัง  2.พระยานมาศสามลำคาน ใช้สำหรับอัญเชิญพระบรมโกศจากพระที่นั่งดุสิตมหาปราสาทในพระบรมมหาราชวัง ไปประดิษฐานบนพระมหาพิชัยราชรถ 3.พระวอสีวิกากาญจน์ ใช้เป็นยานสำหรับเจ้านายฝ่ายในและพระสงฆ์ทรงสมณศักดิ์  4. เกรินบันไดนาคอัญเชิญพระบรมโกศและพระโกศลงจากพระมหาพิชัยราชรถ ณ ท้องสนามหลวง

           สำหรับแผนซ่อมบำรุงบูรณะ ราชรถ ราชยาน ของ กรมสรรพวุธทหารบก จะเน้นให้เกิดความทันสมัยและรับน้ำหนักได้มากขึ้น โดยการซ่อมและเปลี่ยน คือ ระบบพยุงตัวรถ คือ ล้อรับน้ำหนักที่เป็นล้อหลัก 4 ล้อ  ระบบเคลื่อนที่ คือ ห่วงชักลากด้านหน้า 4 เส้น ด้านหลัง 2 เส้น  ล้อประดับ โดยราชรถทุกองค์มีล้อประดับ 4 ล้อ ซ้าย ขวา หน้า หลัง

           แบ่งเป็น 1.ชุดยกล้อประดับ ซึ่งต้องทำการเปลี่ยนแป้นเกลียวและมือหมุนให้สามารถพับเก็บได้ พร้อมเปลี่ยนน๊อตยึดทุกตัว ทาสีทอง 2.ชุดแหนบล้อประดับ ต้องเปลี่ยนแผ่นแหนบ ยก-กด ล้อประดับทั้งหมดจำนวน 16 แผ่น รวมถึง เปลี่ยนน๊อตและสลักยึดแหนบ รวมถึงการเปลี่ยนบู๊ชตุ๊กตาเพลาทั้งด้านนอกด้านใน เปลี่ยนเพลาล้อประดับ เปลี่ยนล้อกันส่ายพร้อมแกนล้ำ ทาด้วยสีแดง ระบบยึดตรึง คือ บุษบก ต้องเปลี่ยนสลิงยึดยอดบุษบกชั้นบก เส้นผ่าศูนย์กลาง 1/8 นิ้ว ยาวประมาณ 20 เมตร และเปลี่ยนสเตย์พร้อมแค้มรัดสลิงและห่วงยึดสเตย์ที่พื้นราชรถ รวมถึงเปลี่ยนสลิงบุษบกด้านในด้วย

           “การดูแลบำรุงรักษาส่วนใหญ่ คือ พระมหาพิชัยราชรถ จะมีการจัดทำล้อประดับใหม่ และซ่อมแซมช่วงล่างราชรถน้อย รวมถึงเปลี่ยนตัวขับเคลื่อนใหม่ทั้งหมด สำหรับคานล่างที่เป็นไม้หากตรวจสอบดูแล้วไม่พร้อมใช้งานก็จะให้ในส่วนของกองช่างไม้ เป็นผู้ดำเนินการจัดสร้างขึ้นใหม่ เพื่อทดแทนส่วนที่อาจจะผุ โดยใช้เวลาดำเนินการ 6 เดือน"  พล.ต.ธวัชชัย มาชมสมบูรณ์ ผู้บัญชาการ ศูนย์อุตสาหการสรรพาวุธ กรมสรรพวุธทหารบก กล่าว

            แผนบูรณะราชรถ-ราชยาน พิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพ

           การใช้ราชรถ ราชยาน ในราชสำนัก มีมาตั้งแต่ครั้งโบราณกาล แต่ปรากฎหลักฐานชัดเจนในสมัยกรุงศรีอยุธยาและเป็นราชประเพณีสืบเนื่องมาจนถึงสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ โดยในรัชกาลพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช โปรดเกล้าฯให้สร้างราชรถ ใช้ประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระอัฐสมเด็จพระปฐมบรมชนก และราชยานบางส่วนสร้างขึ้นสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ