คอลัมนิสต์

โรดแม็พล่าสุด!! เลือกตั้งใน 19 ด.หลังประกาศใช้รธน.ใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โรดแม็พล่าสุด!! เลือกตั้งภายใน 19 เดือน หลังประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่ : สมฤทัย ทรัพย์สมบูรณ์ สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            จะเลือกตั้งเมื่อไหร่ ? เป็นคำถามที่เกิดขึ้นตั้งแต่คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) เข้ามาใหม่ๆ และแม้ว่า คสช.จะประกาศ “โรดแม็พ” ไปสู่การเลือกตั้งแล้ว คำถามนี้ก็ยังอยู่ เพราะโรดแม็พนี้ถูก “ขยับเขยื้อน” มาตลอด

            “ทุกอย่างขึ้นอยู่กับสถานการณ์” คอการเมืองคงจำกันได้ว่านี่คือประโยคที่ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา หัวหน้า คสช. ย้ำอยู่หลายครั้ง ซึ่งก็เป็นจริงตามนั้น

            เหตุที่ทำให้โรดแม็พเลือกตั้งของ คสช.ขยับ จากที่ คสช.บอกว่าจะเลือกตั้งภายในปี 2559 ครั้งแรกคือการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเพิ่มขั้นตอนให้มีการทำ “ประชามติร่างรัฐธรรมนูญ” ด้วยจากเดิมที่ไม่ได้กำหนดไว้ ครั้งที่สองคือ เมื่อสภาปฏิรูปแห่งชาติ(สปช.) “โหวตคว่ำร่างรัฐธรรมนูญ” ของคณะร่างรัฐธรรมนูญชุด “บวรศักดิ์ อุวรรณโณ” จนต้องนับหนึ่งกระบวนการร่างรัฐธรรมนูญใหม่ โดยคณะของ “มีชัย ฤชุพันธุ์”

            จากเลือกตั้งปี 2559 ขยับมาเป็นปี 2560 และเมื่อไทม์ไลน์ของขั้นตอนในการทำกฎหมายลูก และระยะเวลาในการจัดการเลือกตั้งประกาศออกมาชัดเจนในร่างรัฐธรรมนูญของ “มีชัย” ทำให้เริ่มมีการมองว่าการเลือกตั้งอาจขยับไปเป็นต้นปี 2561 ถึงแม้ว่า “บิ๊กตู่” จะออกมาย้ำหลายครั้งว่าตั้งใจจะให้มีการเลือกตั้งในปี 2560 ให้ได้

            ถึงนาทีนี้ ถ้าดู “สถานการณ์” แล้ว น่าจะฟันธงได้ว่าคงจะไม่มีการเลือกตั้งในปี 2560 แน่ๆ เพราะหากดูรายละเอียด “ขั้นตอน” ก่อนจะไปถึงวันเลือกตั้งชัดๆ ตามที่ “วิษณุ เครืองาม” รองนายกฯ ด้านกฎหมายของรัฐบาลอธิบายไว้ จะเห็นได้ว่ากินระยะเวลานานที่สุดถึง 19 เดือน “หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

            ย้ำอีกครั้งว่า “19 เดือน หลังมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่”

            ไล่ไปทีละขั้นตอนตามที่ “วิษณุ” แจกแจงออกมา นับได้ 19 เดือน คือ

 

            โรดแม็พล่าสุด!! เลือกตั้งใน 19 ด.หลังประกาศใช้รธน.ใหม่

            1.คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญจัดทำกฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 240 วัน (8 เดือน)

“กฎหมายลูก” หรือกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้มีทั้งหมด 10 ฉบับ อย่างไรก็ตาม กรธ.แสดงท่าทีชัดเจนมาตลอดว่าจะเร่งทำกฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับให้เสร็จก่อน เพื่อจะได้ไปสู่ขั้นตอนการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น เพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนดไว้ว่า ให้จัดการเลือกตั้งภายใน 150 วัน หลังประกาศใช้กฎหมายลูกเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับ (พ.ร.ป.เลือกตั้ง ส.ส., พ.ร.ป.การได้มาซึ่ง ส.ว., พ.ร.ป.พรรคการเมือง, พ.ร.ป.กรรมการการเลือกตั้ง)

            2.สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) พิจารณากฎหมายลูกให้เสร็จภายใน 60 วัน (2เดือน)

            3.สนช.ส่งร่างกฎหมายลูกให้ศาลรัฐธรรมนูญหรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้องและ กรธ.พิจารณา หากศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรอิสระที่เกี่ยวข้อง หรือ กรธ.เห็นว่าร่างกฎหมายนั้นไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญให้แจ้ง สนช.ภายใน 10 วัน และตั้ง กมธ.ร่วมของฝ่ายต่างๆมาพิจารณา แล้วเสนอสนช.ให้ความเห็นชอบภายใน 15 วัน หาก (ประมาณ 1 เดือน) และสนช.ไม่เห็นชอบ กรธ.ต้องทำกฎหมายลูกใหม่ ขั้นตอนนี้ไม่ได้กำหนดระยะเวลา แต่ “มีชัย” บอกว่าคงใช้เวลาไม่นาน

            4.ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายลูกเพื่อมีพระราชวินิจฉัยใน 90 วัน (3 เดือน)

            5.เลือกตั้งภายใน 150 วัน (5 เดือน) นับแต่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้

            เบ็ดเสร็จแล้ว ระยะเวลายาวสุดที่จะมีการเลือกตั้งเดือนกันยายน 2561

            แน่นอน ในแทบทุกขั้นตอนสามารถเร่งรัดดำเนินการให้เสร็จก่อนเวลาได้ แต่ทั้งหมดนี้คือ “ระยะเวลานานที่สุด” ที่จะเดินไปสู่การเลือกตั้ง ซึ่งก็ต้องถือว่า ยังอยู่ใน “โรดแม็พ” ที่ คสช.บอกไว้

            “โรดแม็พคืออย่างนี้และก็ยังเป็นเช่นนี้ เพียงแต่เมื่อหลายเดือนก่อนรัฐบาลบอกว่า การเลือกตั้งน่าจะเกิดขึ้นได้ในปี 2560 เพราะมองด้วยสมมุติฐานที่ว่าได้ทูลเกล้าฯ ถวายร่างรัฐธรรมนูญไปเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 คิดว่าน่าจะได้รับพระราชทานโปรดเกล้าฯ ลงมาในเดือนพฤศจิกายน 2559 แล้วประกาศใช้ต่อไป ถ้าเป็นอย่างนั้นการเลือกตั้งก็เกิดขึ้นได้ในปี 2560 แต่บัดนี้เกิดกรณีที่ในหลวงรัชกาลที่ 9 สวรรคต ทุกอย่างเลื่อนไป และจนถึงวันนี้ยังไม่มีพระราชทานรัฐธรรมนูญลงมา เราจึงนับไม่ถูก ตอบไม่ถูก” รองฯ วิษณุ กล่าว

             โดยเฉพาะถ้าดูตามคำพูดของ พล.อ.ประยุทธ์ ที่พูดผ่านรายการ “ศาสตร์พระราชา สู่การพัฒนาอย่างยั่งยืน” เมื่อวันศุกร์ที่ผ่านมา ก็ยิ่งจะเห็นความชัดเจน

            “สำหรับการเริ่มกระบวนการเลือกตั้ง เช่น การดำเนินกิจกรรมทางการเมือง การหาเสียงเลือกตั้ง การจัดการเลือกตั้ง โดยคณะกรรมการการเลือกตั้งและการจัดตั้งรัฐบาลต่อไปนั้น จะต้องคำนึงถึงบรรยากาศและความรู้สึกของประชาชนชาวไทยในช่วงนี้ด้วย อันเกี่ยวเนื่องกับความสูญเสียอันยิ่งใหญ่ ที่ไม่ได้คาดคิดหรือเตรียมการไว้ล่วงหน้า และด้วยขั้นตอนตามกระบวนการนิติบัญญัติต่างๆ แล้วก็ยังคงอยู่ในกรอบของเวลา หรือโรดแม็พ ที่ผมเห็นว่าทุกคนทุกฝ่ายน่าจะยอมรับได้และเห็นด้วย”

            แต่อย่างที่บอกไว้ข้างต้นว่า ขั้นตอน 19 เดือนนี้จะเริ่มนับหนึ่งได้ หลังจากมีการประกาศใช้รัฐธรรมนูญแล้วเท่านั้น ซึ่งตอนนี้ร่างรัฐธรรมนูญอยู่ในขั้นตอนที่นายกฯ นําขึ้นทูลเกล้าทูลกระหม่อมถวายไปแล้วเมื่อวันที่ 8 พฤศจิกายน 2559 ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 37 วรรคเจ็ด

            แต่ในขั้นตอนนี้ยังมีวรรคแปด ของมาตราเดียวกัน ระบุว่า “ในกรณีที่พระมหากษัตริย์ไม่ทรงเห็นชอบด้วยกับร่างรัฐธรรมนูญและพระราชทานคืนมา หรือเมื่อพ้นกําหนดเก้าสิบวันแล้วมิได้พระราชทานคืนมา ให้ร่างรัฐธรรมนูญนั้นเป็นอันตกไป” หากเกิดกรณีนี้ขึ้น กระบวนการต่อไปก็จะไม่ใช่การนับ 1 ถึง 19 เดือนตามที่แจกแจงข้างต้น แต่จะวกกลับมาที่ “คสช.” ว่าจะดำเนินการอย่างไรต่อไป ซึ่งในรัฐธรรมนูญชั่วคราวไม่ได้กำหนดไว้ว่า หากเกิดกรณีที่ “ร่างรัฐธรรมนูญตกไป” อีกครั้ง จะดำเนินการอย่างไรต่อไป

            คำถามนี้เคยเกิดขึ้นมาแล้ว หลังมีการแก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวไว้รองรับกรณี สปช.คว่ำร่างรัฐธรรมนูญ ครั้งนั้นทาง คสช.ตอบไว้ทำนองว่ายังไม่ถึงเวลา แต่ตอนนี้อาจจะถึงเวลาแล้ว

            กระแสข่าวการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวกำลังปะทุขึ้นมาอีกครั้ง!!

            -----

             โรดแม็พล่าสุด!! เลือกตั้งใน 19 ด.หลังประกาศใช้รธน.ใหม่

โรดแม็พสู่เลือกตั้ง (กรณีนานสุด)

ภายใน 19 เดือน!! นับแต่ประกาศใช้รัฐธรรมนูญใหม่

-ประกาศใช้รัฐธรรมนูญฉบับใหม่ (ภายใน 6 ก.พ.60)

-กรธ.จัดทำกฎหมายลูก 10 ฉบับ ภายใน 240 วัน (ภายใน ต.ค.60)

-สนช.พิจารณากฎหมายลูก ภายใน 60 วัน (ภายใน ธ.ค.60)

-กรณี ศาล รธน. หรือ องค์กรอิสระ หรือ กรธ. ไม่เห็นด้วยกับการแก้ไขของ สนช. ต้องตั้ง กมธ.ร่วมมาพิจารณา รวมใช้เวลาภายใน 25 วัน (ภายใน ม.ค.61)

-ขั้นตอนการทูลเกล้าฯ ร่างกฎหมายลูกเพื่อมีพระราชวินิจฉัยใน 90 วัน (ภายใน เม.ย.61)

-เลือกตั้งภายใน 150 วันนับแต่กฎหมายเกี่ยวกับการเลือกตั้ง 4 ฉบับมีผลบังคับใช้ (ภายใน ก.ย.61)

หมายเหตุ : กรธ.ย้ำจะทำร่างกฎหมายลูก 4 ฉบับเกี่ยวกับการเลือกตั้งให้เสร็จก่อน หากเป็นเช่นนั้นจะจัดการเลือกตั้งได้เร็วขึ้น

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ