คอลัมนิสต์

จัดระเบียบโทษหนัก‘คนขับง่วง’

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

โดย...ทีมข่าวรายงานพิเศษ

 

           กรณีอุบัติเหตุรถตู้สายกรุงเทพฯ-จันทบุรี เสียหลักพุ่งชนรถกระบะที่วิ่งสวนมาทำให้เกิดระเบิดไฟลุกท่วม เป็นเหตุให้ผู้โดยสารเสียชีวิตถึง 25 ศพ ภายในพริบตานั้น เจ้าหน้าที่ตำรวจสันนิษฐานจากหลักฐานเบื้องต้นว่า คนขับรถตู้อาจ “หลับใน” !

           ข้อมูล กรมการขนส่งทางบก ระบุว่า จำนวนผู้โดยสารรถตู้สาธารณะในแต่ละปีมีไม่ต่ำกว่า 9 แสนคน และข้อมูลจาก “โครงการวิจัยการประเมินคุณภาพการให้บริการและความปลอดภัยของระบบรถโดยสารสาธารณะ” ของสถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย พบตัวเลขสถิติช่วงมกราคม 2557-มิถุนายน 2558 เกิดอุบัติเหตุของรถตู้โดยสารสาธารณะสูงขึ้นเฉลี่ยร้อยละ 41 และการเกิดอุบัติเหตุรถตู้แต่ละครั้ง ทำให้มีผู้เสียชีวิตสูงสุดเมื่อเทียบกับรถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น ตัวเลขผู้บาดเจ็บประมาณเดือนละ 27 ราย และเสียชีวิตสูงเดือนละ 9 ราย

           “นพ.มนูญ ลีเชวงวงศ์” ประธานทุนง่วงอย่าขับ ในพระอุปถัมภ์สมเด็จพระเจ้าพี่นางเธอฯ กรมหลวงนราธิวาสราชนครินทร์ มูลนิธิรามาธิบดี วิเคราะห์ให้ฟังว่า ที่ผ่านมาภาครัฐเน้นรณรงค์ “เมาไม่ขับ” ทั้งที่สาเหตุผู้เสียชีวิตจากอุบัติเหตุส่วนใหญ่เกิดจาก “คนขับหลับใน”

           “การแก้ไขมี 2 จุดต้องทำเร่งด่วน คือ จุดที่หนึ่ง จัดระเบียบเข้มข้น หามาตรการตรวจจับไม่ให้คนขับรถโดยสารอดนอนแล้วมาขับรถ มีการกำหนดเวลาทำงานขับรถไม่เกินวันละ 10 ชั่วโมง หรืออาทิตย์หนึ่งไม่เกิน 60 ชั่วโมง และต้องนอนหลับพักผ่อนอย่างน้อยวันละ 8 ชั่วโมง ที่สำคัญต้องเปลี่ยนกฎหมายที่ระบุว่า ขับรถ 4 ชั่วโมงแล้วพัก 30–60 นาที เป็นบังคับหยุดพักทุกๆ 2 ชั่วโมง เพราะ 4 ชั่วโมงนานเกินไป คนอดนอนจะรู้สึกง่วงนอนมากช่วงหลังมื้อเที่ยงประมาณ 14.00-16.00 น. หรือตอนดึกหลังเที่ยงคืนไปถึงช่วง 7 โมงเช้า ช่วงเวลานี้หลับในกันเยอะ เคยมีผลศึกษาพบว่าถ้านอนเพียง 4 ชั่วโมง แล้วไปขับรถมีผลเหมือนกับดื่มแอลกอฮอล์ที่ระดับ 50 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์ ซึ่งกฎหมายถือว่าเมาแล้ว ถ้าใครไม่ได้นอน 24 ชั่วโมงจะเท่ากับดื่มแอลกอฮอล์ในระดับ 100 มิลลิกรัมเปอร์เซ็นต์”

           นพ.มนูญ กล่าวแนะนำการแก้ไขจุดที่สองว่า รัฐบาลต้องให้ความสำคัญกับการสร้างที่พักริมทางหลวงเพิ่มขึ้น ปัจจุบันประเทศไทยมีที่พักริมทางขนาดใหญ่ 4 แห่งเท่านั้น เช่น จุดพักโคราช จุดพักชุมพร เปรียบเทียบกับประเทศญี่ปุ่นมีที่พักริมทางเตรียมไว้ทุกๆ 50 กิโลเมตร ที่ผ่านมาคนขับรถโดยสารต้องอาศัยปั๊มน้ำมัน ที่ไม่ค่อยสะดวกนัก ยิ่งถ้าเป็นรถทัวร์ขนาดใหญ่จะหาที่จอดลำบาก

           “เคยได้ยินนโยบายว่าจะสร้างอีก 40 แห่ง ผ่านมาเป็นปีก็เงียบหายไป ทั้งที่เป็นเรื่องสำคัญเกี่ยวกับชีวิตของผู้โดยสาร จุดที่พักไม่ต้องมีอะไรมาก แค่ห้องน้ำ กับร้านขายของ ขายเครื่องดื่มนิดหน่อยพอแล้ว มีพื้นที่จอดรถได้หลายๆ คัน และคนขับสามารถจอดนอนได้อย่างปลอดภัย เพราะถ้าง่วงแล้วฝืนไปขับรถ ถ้าวิ่งด้วยความเร็ว 90 กม./ชม. แค่คนขับหลับในไป 4 วินาที รถจะวิ่งไปเองทันที 100 เมตร โดยไม่รู้เลยว่าวิ่งไปไหน เช่น ไปชนท้ายรถคันหน้า วิ่งข้ามเลน ขับตกข้างทาง ชนต้นไม้ ชนเสาไฟฟ้า ชนคอสะพาน ชนเสร็จตำรวจมักตัดสินว่าเกิดจากขับเร็ว ทั้งที่เกิดจากคนขับหลับใน”

           ประธานทุนง่วงอย่าขับ กล่าวต่อว่า ตอนนี้มูลนิธิได้ร่วมกับนักวิจัยมหาวิทยาลัยมหิดล ผลิตอุปกรณ์ตรวจวัดระดับความง่วงด้วยคลื่นสัญญาณสมองแบบอัตโนมัติ ชื่อว่า “Alertz” ตอนนี้อยู่ในช่วงทดลองการใช้งาน เครื่องนี้ช่วยตรวจจับคลื่นสมองก่อนเกิดอาการหลับใน เพื่อแจ้งเตือนคนขับให้รู้ตัวล่วงหน้า หากคลื่นสมองมีความถี่ต่ำลงจากปกติ แสดงว่ามีอาการเริ่มง่วงนอน เครื่องจะสั่นสะเทือนทันทีเป็นการแจ้งเตือนผู้ขับขี่ หากการทดลองใช้งานประสบความสำเร็จคาดว่าราคาผลิตประมาณ 6,000-10,000 บาท รัฐบาลอาจบังคับให้ผู้ประกอบการรถโดยสาร ต้องซื้อให้คนขับสวมใส่ เพื่อความปลอดภัยของผู้โดยสาร

           นอกจากอุปกรณ์ป้องกันความง่วงแล้ว ที่ผ่านมา กรมการขนส่งทางบกได้พยายามคิดค้นมาตรการควบคุมคนขับรถที่พักผ่อนไม่เพียงพอ โดยมีนโยบายให้ติดตั้ง “เครื่องจีพีเอส" (GPS)

 

จัดระเบียบโทษหนัก‘คนขับง่วง’

 

           กรมการขนส่งทางบก กำหนดให้ รถโดยสารสาธารณะทุกประเภทและรถตู้  รถลากจูง และรถบรรทุกขนาดใหญ่ 10 ล้อขึ้นไปที่จดทะเบียนใหม่ โดยเริ่มตั้งแต่ 25 มกราคม 2559 เป็นต้นไป ต้องติดตั้งเครื่องจีพีเอสเพื่อเชื่อมโยงข้อมูลกับ “ศูนย์บริหารจัดการเดินรถ” ของกรมการขนส่งฯ เช่น ข้อมูลชั่วโมงขับขี่ ข้อมูลความเร็วของรถ และตำแหน่งพิกัดที่อยู่รถ นับเป็นเครื่องมือช่วยให้เจ้าหน้าที่รัฐและเจ้าของรถหรือผู้ประกอบการสามารถติดตามพฤติกรรมผู้ขับรถได้ตลอด 24 ชั่วโมง

           ระยะเวลาติดตั้งเครื่องจีพีเอสที่กฎหมายกำหนดไว้ คือ 1.รถโดยสาร 2 ชั้น ติดตั้งภายในรอบปี 2559 2.รถโดยสารสาธารณะประเภทอื่น ภายในปี 2560 3.รถบรรทุกสาธารณะ ภายในปี 2561 และ 4.รถบรรทุกส่วนบุคคล ภายในปี 2562

           ทั้งนี้ การบันทึกข้อมูลจะช่วยป้องกันไม่ให้คนขับที่นอนหลับพักผ่อนไม่พอมาขับรถ ด้วยการบังคับให้ผู้ขับรถทุกรายต้อง “รูดใบขับขี่” กับอุปกรณ์จีพีเอสก่อน ถ้าไม่รูดบัตรหรือใช้บัตรผิดประเภทจะมีเสียงร้องเตือน จากนั้นเครื่องจีพีเอสเริ่มส่งข้อมูลคนขับรถและตำแหน่งพร้อมความเร็วไปยังกรมการขนส่งทางบกและเจ้าของรถผ่านระบบเครือข่ายสัญญาณมือถือ ทำให้สามารถดูตำแหน่งรถได้ทางหน้าจอคอมพิวเตอร์หรือหน้าจอมือถือทันที เครื่องจีพีเอสบางยี่ห้อสามารถตรวจดูตำแหน่งย้อนหลังได้นานถึง 6 เดือน

           “ดร.สุเมธ องกิตติกุล” ผอ.การวิจัยด้านนโยบายการขนส่งและโลจิสติกส์ สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย (ทีดีอาร์ไอ) วิเคราะห์ให้ฟังว่า จำนวนรถตู้ทุกประเภททั่วประเทศไทย น่าจะมีประมาณ 2 หมื่นคัน การตรวจจับคนง่วงนอนแล้วขับรถทำได้ยาก เพราะถ้าตำรวจเรียกก็สะดุ้งหายง่วงแล้ว ดังนั้น ต้องใช้วิธีการควบคุมจากตารางการทำงานของคนขับรถ ว่ามีชั่วโมงขับเกิน 8 ชั่วโมงหรือไม่ ได้พักผ่อนทุก 4 ชั่วโมงหรือไม่

           “กรณีของรถตู้คันนี้ ยังไม่ได้ติดตั้งจีพีเอส เพราะตอนนี้เป็นช่วงการผ่อนผัน มีสถิติรถโดยสารไปติดตั้งเพียง 10 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น คาดว่าตั้งแต่ปีหน้าคงติดตั้งได้จำนวนมากขึ้น แต่ปัญหาที่จะพบต่อไปคือ มีเจ้าหน้าที่จำนวนมากพอที่จะไปสุ่มตรวจหรือไม่ว่าทำตามระเบียบที่กำหนด ไม่มีการโกงเครื่องจีพีเอส หรือใช้หลอกเอาบัตรคนอื่นมารูดแทน ด้วยจำนวนเจ้าหน้าที่กับรถตู้ 2 หมื่นคันทั่วไทย สิ่งที่ทำได้คงแค่สุ่มตรวจเท่านั้น คนขับหรือเจ้าของรถก็ไม่เกรงกลัวกฎหมายเท่าไร เพราะรู้ว่าตรวจเจอยาก อาจต้องใช้วิธีเพิ่มโทษให้หนักมากที่สุด บางประเทศถ้าสุ่มตรวจเจอจะยึดใบอนุญาตประกอบการรถโดยสารทันที ถ้ามีโทษหนักมาก พวกเขาอาจไม่กล้าเสี่ยง” ดร.สุเมธ กล่าวแนะนำ

           ล่าสุด วันที่ 3 มกราคม 2560 “อาคม เติมพิทยาไพสิฐ” รมว.คมนาคม สั่งเร่งกำชับให้รถโดยสารสาธารณะทั้งหมดรีบติดตั้งเครื่องจีพีเอสให้มีจอภาพเตือนพนักงานขับรถทั้งด้านความเร็วและเส้นทางจากสถานีขนส่งทุกจังหวัด รวมถึงตรวจสอบประวัติพนักงานขับรถ บันทึกการปฏิบัติงานประจำวันตามกฎหมายแรงงาน

           แต่ที่ยังคงสงสัยคือ รมว.คมนาคม ยังไม่ได้พูดถึงมาตรการตรวจสอบและวิธีเอาคนทำผิดมาลงโทษ ว่าจะจริงจังแค่ไหน !?!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ