คอลัมนิสต์

ต้อง “ทางด่วนพิเศษ” ปรับกฎหมายจราจรใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“ประธานชมรมไทยปลอดภัย” ระบุ การปรับกฎหมายจราจรใหม่ ต้อง “ทางด่วนพิเศษ” : ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

                “คณะรัฐมนตรี (ครม.)” ของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้อนุมัติหลักการ ให้แก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) การจราจรทางบก ตามที่สำนักงานตำรวจแห่งชาติ เสนอไปเมื่อวันที่ 4 ม.ค. และจะส่งให้ คณะกรรมการกฤษฎีกา ฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล ไปพิจารณาเนื้อหา พร้อมกับอนุมัติกรอบใหญ่ 7 ข้อ เพื่อยกมาตรฐานความปลอดภัยทางถนนให้กับประชาชน

                ตามประเด็นนี้ “นิกร จำนง” สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ในฐานะอดีตประธานคณะกรรมาธิการวิสามัญ (กมธ.) ขับเคลื่อนกรปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน สปท.  ถึงกับต้องยกนิ้วให้ และออกปากสนับสนุนร่างแก้ไขเพิ่มเติมอย่างสุดตัว

                เหตุผลสำคัญที่ “ อดีต ประธาน กมธ.ฯ ปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนน” ซึ่งคณะทำงานชุดนี้ล่าสุดทำได้ทำงานต่อเนื่อง ในนาม“ชมรมไทยปลอดภัย”  สนับสนุน เพราะ หลักการและบทบัญญัติที่ถูกเสนอแก้ไข ตรงกับรายงานการปฏิรูปด้านระบบความปลอดภัยทางถนน ที่ สปท. เสนอไปยังรัฐบาล เมื่อวันที่ 30 ส.ค. 59

 

ต้อง “ทางด่วนพิเศษ” ปรับกฎหมายจราจรใหม่

 

                 โดย “ประธานชมรมไทยปลอดภัย” ขยายความต่อเนื้อหาตามหลักการที่ “ครม.” อนุมัติในประเด็นที่สำคัญ ว่า ประเด็นที่กำหนดให้เจ้าของรถ หรือ ผู้ขับขี่รถ ต้องดูแลผู้โดยสารทุกคนรัดเข็มขัดนิรภัยตลอดการเดินทาง ถือเป็นการเพิ่มความรับผิดชอบของคนขับให้ดูแลผู้โดยสาร ทั้งรถโดยสารสาธารณะและรถยนต์ส่วนบุคคล เพราะเมื่อมีกฎหมาย ผู้ขับต้องมีหน้าที่ดูแล หากไม่ดูแลจะถือว่าทำผิดกฎหมายได้ อย่างไรก็ดีมาตราดังกล่าวควรเสริมกลไกและสร้างความตระหนักในอันตรายของผู้โดยสารที่ไม่รัดเข็มขัดนิรภัยระหว่างโดยสารด้วย เพื่อให้มาตรการดังกล่าวได้รับความร่วมมือ

                ต่อมาคือ มาตรการที่ให้เจ้าหน้าที่ที่มีหน้าที่รับต่อภาษีหรือชำระภาษีรถประจำปี มีสิทธิปฏิเสธหรือชะลอการรับชำระภาษีประจำปี  ถือเป็นมาตรการที่อุดช่องว่าง ที่ห้ามเจ้าหน้าที่กรมขนส่ง ปฏิเสธหรือไม่รับชำระภาษีของประชาชนซึ่งเป็นหน้าที่ที่รัฐธรรมนูญกำหนดได้ และปัญหานี้ที่ผ่านมาถูกยกเป็นปัญหาคลาสสิค เพราะอายุความของชำระค่าปรับ มีประมาณ 1 ปี เมื่อไม่จ่ายก็ไม่เป็นปัญหา แต่เมื่อออกมาตรการกฎหมายลักษณะนี้ เชื่อว่าจะทำให้เจ้าหน้าที่มีสิทธิปฏิเสธ หรือชะลอการชำระภาษีรถ ของผู้ที่ไม่ยอมชำระค่าปรับตามใบสั่งจราจร

            “มาตรการนี้หากจะใช้ให้ได้ผลจริง จำเป็นต้องพัฒนาและปรับปรุงระบบการออกใบสั่งแบบอิเล็คทรอนิกส์ และเชื่อมโยงเข้ากับข้อมูลของกรมขนส่งทั่วประเทศ  ในปัจจุบันกรมขนส่งทางบกมีระบบเทคโนโลยีที่มีความพร้อม และวางโครงข่ายไว้ทั่วประเทศแล้ว แต่ส่วนของตำรวจนั้น ยังไม่มีระบบที่รองรับ และการออกใบสั่งเป็นระบบใช้มือทำ (manual) ดังนั้นหากรัฐบาลจัดสรรงบประมาณเพื่อให้ปรับปรุงระบบเพื่อให้เกิดความเชื่อมโยงทางเทคโนโลยี ระหว่างตำรวจและขนส่ง จะทำให้การใช้อำนาจทางกฎหมายเป็นจริงอย่างมีประสิทธิภาพ”  ประธานชมรมไทยปลอดภัย เสนอแนะ

            ขณะที่ประเด็นว่าด้วยให้อำนาจเจ้าหน้าที่มีอำนาจสั่งทดสอบผู้ขับขี่ว่าเมาสุราหรือเครื่องดื่มอย่างอื่นนั้น แม้จะกระทบสิทธิของประชาชนตามรัฐธรรมนูญ แต่เพื่อความปลอดภัยของผู้อื่นและของสาธารณะ เป็นเรื่องที่ตนสนับสนุน เพราะที่ผ่านมาแม้เจ้าหน้าที่มีสิทธิตรวจสอบ แต่ไม่มีอำนาจสั่งให้กระทำการเพื่อนำไปสู่การทดสอบว่าประสิทธิภาพการขับขี่ลดลงหรือไม่

                อย่างไรก็มีแม้ “ครม.” จะไฟเขียวให้แก้ไขกฎหมายจราจร แต่ “ประธานชมรมไทยปลอดภัย” ยังอดห่วงถึงระยะเวลาการใช้บังคับ ไม่ได้ เพราะจากประสบการณ์ที่ผ่านมาพบว่า ขั้นตอนการออกกฎหมายของไทย ยังมีลักษณะคอขวด ดังนั้นจึงร้องขอให้ “รัฐบาล” เร่งขั้นตอนการออกกฎหมาย แบบ “ด่วนพิเศษ” โดยเฉพาะในชั้นของคณะกรรมการกฤษฎีกา และกระบวนการการตรากฎหมายของสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อให้ทันการณ์ต่อการดูแลความปลอดภัยของประชาชนบนท้องถนน

 

ต้อง “ทางด่วนพิเศษ” ปรับกฎหมายจราจรใหม่

 

                ส่วนประเด็นการแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมายจราจรทางบก  รอบนี้ ที่ยังไม่ปรากฎประเด็นของ “ศาลจราจร” ตามข้อเสนอของ กมธ.ฯ ปฏิรูประบบความปลอดภัยทางถนนนั้น “นิกร” ระบุว่าไม่เป็นปัญหา เพราะเข้าใจว่าเป็นเรื่องที่ยาก ซึ่งเกี่ยวข้องกับการแก้ระบบที่เกี่ยวข้อง ดังนั้นจึงจะผลักดันต่อไป เพราะก่อนหน้าได้ กมธ.ฯ ได้เสนอร่าง พ.ร.บ.วิธีพิจารณาคดีจราจร ประกบไปกับข้อเสนอเพื่อสร้างความปลอดภัยทางถนนแล้ว โดยขั้นตอนจะเริ่มจากการอธิบายว่า ศาลจราจรนั้นไม่ใช่การตั้งศาลใหม่ แต่เป็นเพียงการให้มีแผนกหนึ่งในศาลจังหวัดเท่านั้น

                สำหรับประเด็นที่ “ประธานชมรมไทยปลอดภัย” กังวลต่อระยะเวลาพิจารณาร่างแก้ไขเพิ่มเติมกฎหมาย ว่าจะใช้เวลาล่าช้านั้น ได้รับคำอธิบายจาก “พล.อ.อัฎฐพร เจริญพานิช กรรมการกฤษฎีกา” ว่า ขั้นตอนของการพิจารณาร่างกฎหมายที่ ครม. เสนอ โดย คณะกรรมการกฤษฎีกา ฐานะที่ปรึกษากฎหมายของรัฐบาล คือ จะพิจารณามาตราที่ขอแก้ไข โดยดูประเด็นของการใช้ถ้อยคำ อัตราโทษ และความสอดคล้องต้องกันของบทบัญญัติในร่างกฎหมาย โดยจะไม่มีการแก้ไขหลักการ

                “หากร่างกฎหมายที่แก้ไขใดไม่ยาก จะใช้เวลาประชุมเพียง 2-3 นัด ในการพิจารณา เมื่อเสร็จแล้ว จะส่งให้ ครม. พิจารณาอีกครั้งหาก ครม. ไม่แก้ไขอะไร ขั้นตอนจะนำส่งไปยังสภานิติบัญญัติแห่งชาติ เพื่อตราเป็นกฎหมายบังคับใช้ ซึ่งโดยปกติ คณะกรรมการกฤษฎีกาแต่ละคณะจะนัดประชุมสัปดาห์ละ 2 ครั้ง” พล.อ.อัฎฐพร อธิบาย

                อย่างไรก็ตาม โดยธรรมเนียมความเป็นไทย ที่มอง กฎหมายเป็นเพียงบทบังคับ และหาทางหลีกเลี่ยงเมื่อสบโอกาส โดยไม่คำนึงถึงอันตรายหรือความปลอดภัยของบุคคล ดังนั้น มาตรการสร้างความปลอดภัยให้กับประชาชน ควรควบคู่กับการสร้างจิตสำนึกของประชาชนด้วย เชื่อว่าเมื่อ ประชาชนมีจิตสำนึก และ ผู้รักษากฎหมายทำหน้าที่อย่างเข้มงวด เป็นมาตรฐานเดียวกัน เชื่อว่าจะสามารถยกระดับความปลอดภัยทางถนนได้อย่างแท้จริง และไม่ใช่เป็นแบบครั้งคราว หลังเกิดอุบัติร้ายแรงแน่นอน

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ