คอลัมนิสต์

เมื่อ “กระบวนการออกกฎหมาย” ถูกตั้งคำถาม

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(คอลัมน์ขยายปมร้อน) เมื่อ “กระบวนการออกกฎหมาย” ถูกตั้งคำถาม : อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            เริ่มเข้าศักราชใหม่ แต่โลกยังต้องหมุนไปด้วยเหตุและผลที่ยึดโยงมาจากอดีต เช่นเดียวกับปัจจัยทางการเมือง ที่ไม่มีสิ่งใดเกิดขึ้นด้วยบังเอิญ หรือจู่ๆก็เกิดขึ้นมาแบบไม่มีปี่มีขลุ่ย หากแต่เป็นผลต่อเนื่องมาทั้งสิ้น เหตุที่จะเกิดขึ้นในปีใหม่ ก็ล้วนมีผลมาจากปีเก่า

            ดังเช่นเหตุการณ์จากปลายปีที่แล้ว ที่อาจจะส่งผลกระทบ กระเพื่อมมาถึงปีใหม่ ซึ่งทั้งสองเรื่องล้วนเกิดขึ้นในสภานิติบัญญัติแห่งชาติ

            เรื่องแรกคือการผ่าน ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. .... และ เรื่องที่สองคือ ร่างพระราชบัญญัติคณะสงฆ์ พ.ศ. .... เรื่องสองเรื่องดูคล้ายจะไม่เกี่ยวข้องกัน เพราะเรื่องหนึ่งเป็นเรื่องทางโลก เป็นเรื่องที่มุมหนึ่งมองเป็นอาชญากรรมทางคอมพิวเตอร์ อีกมุมมองเป็นเรื่องสิทธิเสรีภาพ ขณะที่อีกเรื่องเป็นเรื่องทางธรรม เป็นเรื่องของศาสนจักร ที่ยังคงค้างคาเรื่องการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช

            แต่สิ่งที่ทำให้ทั้งสองเรื่อง มีความคล้ายคือกระบวนการผ่านกฎหมาย ที่ก่อให้เกิดการตั้งคำถามถึงความรอบคอบ เพราะถูกมองว่ารวบรัดตัดตอน

            เรื่อง พ.ร.บ.คอมฯนั้น แม้ สนช. จะพิจารณาแบบปกติ กล่าวคือ มีการแบ่งเป็นสามวาระ ทั้งวาระรับหลักการ วาระแปรญัตติ และวาระเห็นชอบ แต่กระบวนการในวาระหนึ่งนั้น ผ่านไปอย่างเงียบเชียบไม่น้อย กว่าคนจะมารู้กันก็ เป็นเพียงกระบวนการรอเข้าวาระสองและสามแล้ว

            แม้มีเวลาเพียงไม่กี่วัน แต่ก็คนออกมาคัดคานเป็นจำนวนมาก ทั้งการคัดค้านในรูปแบบการวิพากษ์วิจารณ์ และการคัดค้านแบบลงชื่อเป็นเรื่องเป็นราว เอาเฉพาะแบบลงชื่อ แค่เสียงสามวัน กลับรวมรวมรายชื่อคนไม่เห็นด้วยได้เกือบ 4 แสนคน

            แต่ดูเหมือนว่า สนช. ก็มิได้นำพาต่อเสียงคัดค้านแต่อย่างไร ไม่แม้กระทั่งชะลอเพื่อไปรับฟังความเห็น และที่สุดร่างกฎหมายฉบับนี้ก็ผ่านไปด้วยเสียง 168 ต่อ 0

            ส่วน ร่างพ.ร.บ. คณะสงฆ์ ดูเหมือนจะมีการเตรียมการและเรื่องราวที่น่าสนใจในกระบวนการอยู่ไม่น้อย เพราะเรื่องนี้เป็นข่าวเมื่อวันจันทร์ในสัปดาห์สุดท้ายของปี 2560 และมีการนำเข้าสู่การประชุมวิป สนช. ในวันอังคาร และบรรจุเข้าวาระการประชุม สนช. ในวันพฤหัสบดี

            และที่น่าสนใจกว่านั้นคือมีการผ่านสามวาระรวดในวันเดียว แม้ผู้ที่เกี่ยวข้องบอกไม่ทราบมาก่อน แต่เอาเข้าจริงคือข่าวเรื่องการเร่งผ่านในวันเดียวได้สะพัดมาก่อนหน้านี้แล้ว และสุดท้าย ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้ใช้เวลาเพียง หนึ่งชั่วโมงก็เสร็จสิ้นกระบวนการผ่านกฎหมายด้วยเสียง 186 ต่อ 0

            แน่นอนว่าเสียงค้านย่อมมี โดยเฉพาะมาจากสงฆ์บางกลุ่ม

            แต่วันนี้เราจะไม่พูดถึงความดีความเหมาะสมของเนื้อหา  แต่เราต้องพูดเรื่องกระบวนการที่เหมาะสมของการออกกฎหมายกับเรื่องที่เป็นเรื่องสำคัญ  หากกกฎหมายนั้นดีจริง จะยากอะไรกับการเข้าสู่กระบวนการปกติ ให้คนที่เห็นต่างสามารถแสดงความคิดความเห็นได้อย่างเต็มที่ 

            เพราะการออกกฎหมายที่จะบังคับใช้ ต้องทำให้คนยอมรับ  และการยอมรับนั้นต้องเป็นการยอมรับจากใจมิใช่ใช้อำนาจบังคับ ซึ่งการยอมรับจากใจก็เกิดขึ้นได้จากกระบวนการรับฟังความคิดเห็น กระบวนการที่ให้พื้นที่โต้แย้งถกแถลงความคิดเหตุผลของตัวเองอย่างเต็มที่ 

            การรวบรัดตัดตอนไม่ฟังความเห็นต่างเห็นค้านเช่นนี้ รังแต่จะทำให้กระบวนการออกกฎหมายไม่ได้รับความเชื่อถือ  และเข้าใจได้ว่า สภานิติบัญญัติแห่งชาติเป็นเพียงเครื่องมือของคนบางกลุ่มเท่านั้น 

            ดังนั้นวันที่มีการอภิปราย   มี สนช. ผู้หนึ่งระบุว่า “เป็นตัวแทนของปวงชนชาวไทย”  ทุกคนจึงยังสงสัยว่า ท่านกำลังเข้าใจผิด เพราะเอาเข้าจริงแล้ว ท่านไม่ใช่ตัวแทนของปวงชนชาวไทย หากแต่เป็นตัวแทนของกลุ่มคนที่มายึดอำนาจการเป็นเจ้าของประเทศไปจากปวงชนชาวไทย 

            ดังนั้นจึงไม่แปลกหากเราจะเห็นการต่อต้านกฎหมายที่เขาไม่ยอมรับ แม้จะผ่านกระบวนการมาแล้วก็ตาม เพราะกฎหมายที่มีกระบวนการไม่ชอบธรรมก็ไม่อาจเรียกเป็นกฎหมายได้เช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ