คอลัมนิสต์

ปรับโฉม “ร่างกม.พรรค”หามิตรร่วมรบทางการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(รายงาน) ปรับโฉม“ร่างกม.พรรค”หามิตรร่วมรบทางการเมือง :  ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            หลังจากคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) รับฟังความเห็นของภาคส่วนต่างๆ ของ “ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับรับฟังความเห็น” ต่อการปฏิบัติใช้ได้จริง และทิศทางของความคาดหวังจะให้พรรคการเมือง เป็น “สถาบันทางการเมือง” ที่เข้มแข็ง โปร่งใส และสร้างมาตรฐานการมีส่วนร่วมของประชาชน จะเป็นไปได้ในทางปฏิบัติหรือไม่ไปแล้ว ล่าสุด กรธ.ได้นัดประชุม มีการปรับแก้ไขเนื้อหาไปแล้วหลายครั้ง ในหลายจุดสำคัญ

            ส่วนหนึ่งเป็นความพยายามลดกำแพงแห่งอุดมคติ และหาจุดผ่อนต่อการก้าวสู่สนามการเมืองของ “พรรคการเมืองน้องใหม่”

            จุดแรก คือ บทว่าด้วยการหาสมาชิกพรรคการเมืองให้ได้ไม่น้อยกว่า 1 หมื่นคน ภายใน 4 ปีนับแต่วันที่ “กรรมการการเลือกตั้ง” ขึ้นทะเบียนเป็นพรรคการเมือง ซึ่งปรับจากเนื้อหาเดิม ที่ภายใน 4 ปีนับแต่วันจัดตั้ง ต้องหาสมาชิกให้ได้ไม่น้อยกว่า 2 หมื่นคน

            เหตุผลที่ กรธ.อธิบายไว้ คือ เพื่อยึดโยงกับหลักการเสนอร่างกฎหมายของประชาชน ที่ใช้หลักเกณฑ์ 1 หมื่นคน เข้าชื่อเสนอเนื้อหาต่อ สภานิติบัญญัติแห่งชาติได้

            แต่ในอีกทาง ต้องยอมรับในเหตุที่ต้องปรับลดจำนวนสมาชิกของพรรคการเมือง เพื่อให้ง่ายต่อการรักษาสถานภาพพรรคการเมือง สมมุติว่า มี “พรรคเกิดใหม่” ที่เป็นตัวแปรสำคัญในเกมการเมือง ที่ถูกใช้ให้เล่นเกมยาว ประคองรัฐนาวาให้ไปสู่เป้าหมาย ปม “สมาชิกพรรค” จะได้ไม่เป็นอุปสรรค

            ปรับโฉม “ร่างกม.พรรค”หามิตรร่วมรบทางการเมือง

            ซึ่งเรื่องนี้ถูกสอดคล้องเข้ากับการผ่อนกติกาใหม่ ที่ให้ “พรรคการเมือง” ต้องมีหน้าที่ เพื่อไม่ให้เป็นห่วงที่รัดคอ จนพรรคการเมืองยากต่อการขยับ หรือเดินเกมทางการเมือง

            กิจกรรม 4 เรื่องนั้น ประกอบด้วย 1.ทำให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้และเข้าใจที่ถูกต้องต่อการปกครองระบอบประชาธิปไตย โดยใช้สิทธิ เสรีภาพอย่างรับผิดชอบ 2.เสนอแนวทางพัฒนาประเทศและแก้ปัญหาต่างๆ เพื่อประชาชนอยู่เย็นเป็นสุข 3.ส่งเสริมการมีส่วนร่วมของประชาชนต่อการทำกิจกรรมทางการเมืองและตรวจสอบการใช้อำนาจรัฐ และ 4.ทำให้สมาชิกและประชาชนยอมรับความเห็นต่างทางการเมือง และแก้ไขความขัดแย้งทางการเมืองโดยสันติวิธี และหากไม่ทำหน้าที่ต้องได้รับการลงโทษ คือ ยุบพรรค ขณะที่คณะกรรมการบริหารพรรคต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้งด้วย

            โดยผ่อนผันบทลงโทษ ไปเป็น บทบัญญัติที่ต้องมีรายละเอียดตรวจสอบได้ ซึ่ง กรธ.เขียนเพิ่มเติมในมาตราว่าด้วยหน้าที่ของพรรคการเมือง ว่า “ให้หัวหน้าพรรคการเมืองจัดทำแผนหรือโครงการที่จะดำเนินการในแต่ละปี และส่งให้นายทะเบียนทราบภายในเดือนเมษายนของทุกปี เพื่อให้นายทะเบียนเผยแพร่ให้ประชาชนทราบเป็นการทั่วไป กรณีที่นายทะเบียนรายงานต่อคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) ว่าพรรคการเมืองไม่ทำตามแผนหรือโครงการที่เสนอ โดยไม่มีเหตุผลสมควร ให้สิทธิ กกต.สั่งหัวหน้าพรรคการเมืองทำภายในเวลาที่กำหนด”

            ต่อประเด็นนี้ กรธ.ขยายความไว้ว่า กิจกรรมทั้ง 4 เรื่อง อาจแยกแผนทำก็ได้ โดยไม่จำกัดว่า ใน 1 ปีต้องทำครบทั้ง 4 หัวข้อ แต่สิ่งที่ต้องเกิดหลังส่งแผน คือ การลงมือปฏิบัติ หากไม่ปฏิบัติตามแผน หรือทำในทิศทางตรงข้าม พรรคต้องถูกลงโทษ ด้วยการปรับเป็นเงินไม่เกิน 2แสนบาท ขณะที่บทลงโทษหัวหน้าพรรค คือ การเพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 5 ปี

            ขณะเดียวกัน ยังเพิ่มมาตรการว่าด้วย “การจ่ายเงินเดือน ส.ส.” ในหมวดการใช้จ่ายของพรรคการเมือง เนื้อหาสำคัญ คือ ไม่ได้ห้ามจ่าย!! หากนายทุนพรรคไหนมีศักยภาพทางเงินมากพอ แต่ก็ไม่ได้บังคับให้ทุกพรรคการเมืองต้องมีนโยบายจ่ายเงินเดือนเสมอกัน

            โดยสาระที่เพิ่มเติมระบุว่า “พรรคการเมืองจะมีมติให้จ่ายเงินเป็นค่าใช้จ่ายหรือค่าอื่นใด ให้แก่สมาชิกที่ดำรงตำแหน่ง ส.ส.เป็นรายเดือน หรือรายอื่นใด หรือเป็นครั้งคราว หากการจ่ายเงินนั้นไม่เป็นความผิดตามมาตรา 144 หรือ มาตรา 149 แห่งประมวลกฎหมายอาญา ให้ทำได้ แต่ต้องเปิดเผยมติ จำนวนเงิน และวิธีการจ่ายเงินดังกล่าวให้นายทะเบียนทราบภายใน 15 วันนับแต่วันมีมติ และให้นายทะเบียนเปิดเผยให้ประชาชนทราบทั่วกัน ทั้งนี้ ยังมีข้อห้าม ส.ส.ไปรับเงินหรือทรัพย์สินอื่นใดจากบุคคลอื่น โดยไม่มีรายละเอียดที่มาแสดงได้ตามกฎหมาย”

            ขยายความต่อประเด็นนี้ “อุดม รัฐอมฤต กรรมการร่างรัฐธรรมนูญ” บอกไว้ว่า การจ่ายเงินเดือนให้ ส.ส.ที่ผ่านมาถูกพูดกันอย่างหนาหู แต่ไม่สามารถตรวจสอบได้ ดังนั้นเมื่อเขียนไว้ในกฎหมาย เพื่อทำให้มีความโปร่งใส ตรวจสอบ โดยเงินเดือนที่จะนำมาจ่าย ส.ส.ต้องถูกรายงานทางบัญชีด้วย สำหรับเงินที่นำมาจ่าย คือเงินที่มาจากรายได้ของพรรค เช่น การระดมทุน, เงินบริจาค ดังนั้นเมื่อ ส.ส.ที่ได้รับเงินบริจาคจากบุคคลมาต้องนำมาให้พรรค ไม่ใช่ฮุบไว้เพียงส่วนตัว อย่างไรก็ดี การกำหนดเช่นนี้ หลายคนอาจมองว่าสร้างภาระและปฏิบัติยุ่งยาก แต่หากมองว่า หากส.ส.ไปรับเงินคนนอกแล้วทำงานสนองประโยชน์เขา ลงมติในญัตติ หรือร่างกฎหมาย จนทำหน้าที่ไม่โปร่งใส เป็นเรื่องที่ยอมไม่ได้เช่นกัน

            แต่หลายกรณี ที่ผ่านมาการจ่ายเงินเดือน ส.ส.ไม่จ่ายเป็นเงินสด ไม่ได้จ่ายเป็นเช็ค โดยแต่ละพรรคมีเทคนิคเฉพาะตัว ซึ่งหากไม่เกิดกรณีเสียประโยชน์ระหว่าง “นายทุน” กับ “ส.ส.” คนนอกย่อมไม่มีทางรู้ว่าเรื่องราวเป็นอย่างไร!

            และประเด็นสุดท้าย ว่าด้วยการปรับบทเฉพาะกาล ซึ่งเป็นบทว่าด้วย “พรรคการเมืองที่มีอยู่เดิม” ต้องปรับตัวให้รับกับกติกาใหม่อย่างไรบ้าง โดย 1.ว่าด้วยการยืนยันจำนวนสมาชิกพรรคการเมือง ถูกปรับจากการส่งสำเนาทะเบียนสมาชิกพรรคที่มีอยู่ก่อนหน้า ร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่ประกาศใช้ภายใน 30 วันต่อ กกต. ไปเป็น ให้แจ้งเฉพาะตัวเลขการเปลี่ยนแปลงจากจำนวนสมาชิกที่แจ้งต่อ กกต.รอบล่าสุด 2.กำหนดให้ พรรคการเมืองที่มีอยู่ก่อน พ.ร.ป.พรรคการเมืองฉบับใหม่ ที่มีสมาชิกไม่ถึง 500 คน ต้องหาสมาชิกให้ครบจำนวน 500 คน ภายใน 180 วัน

            โดยตามรายงานของ กกต.ต่อจำนวนสมาชิกพรรคการเมืองรอบไตรมาส ช่วงเมษายน-มิถุนายน 2558 พบข้อมูลพรรคการเมืองที่ทำกิจกรรมอยู่ทั้งสิ้น 73 พรรค โดยมีพรรค 20 พรรคที่มีสมาชิกไม่ถึง 500 คนด้วยเหตุที่ คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) สั่งห้ามพรรคการเมืองทำกิจกรรม ทำให้พรรคที่มีสมาชิกต่ำกว่าเกณฑ์ไม่สามารถหาสมาชิกได้ครบจำนวนได้ กรธ.จึงเปิดทางให้ “พรรคเก่า” หาสมาชิกพรรคภายใน 6 เดือน เพื่อรักษาสภาพพรรคการเมือง

            3.กรณีการยืนยันสมาชิกพรรคการเมือง ด้วยเงื่อนไขให้สมาชิกที่ต้องการอยู่ต่อต้อง “ชำระค่าบำรุงพรรค” และทำให้เสร็จภายใน 150 วัน ไม่เช่นนั้นจะหมดสิทธิ์ส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้ง ได้ปรับเงื่อนไขการยืนยันตัวตน และแก้เป็นให้การชำระค่าบำรุงพรรคยังมีอยู่ แต่ลดเงื่อนไขการยืนยัน “สมาชิกพรรคที่อยู่ต่อ” ด้วยการกำหนดให้สมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 500 คน ชำระค่าบำรุงพรรคภายใน 180 วันนับแต่วันที่กติกาใหม่ใช้บังคับ ทั้งนี้กำหนดให้สมาชิกพรรคไม่น้อยกว่า 5,000 คน ชำระค่าบำรุงพรรคให้ครบภายใน 1 ปี และต้องครบ 1 หมื่นคน ภายใน 4 ปี หากทำไม่ครบเงื่อนไขให้สิ้นสภาพของสมาชิกพรรคการเมืองรายที่ไม่ชำระค่าบำรุงพรรค

            ซึ่งประเด็นนี้ กรธ.อธิบายเหตุผลที่ปรับแก้ไขเงื่อนไข 500 คนภายใน 6 เดือน คือ เพื่อให้ยืนยันสถานภาพของพรรคการเมือง มากกว่าการยืนยันสมาชิกพรรคการเมือง ตามเจตนารมณ์เดิมที่ต้องการรีเซตสมาชิกพรรคการเมือง เพื่อให้พรรคเกิดใหม่และพรรคเก่า มีสถานะเท่ากัน

            ประเด็นนี้อาจจะทำให้เกิดปัญหาในกรณีของการส่งผู้สมัครลงรับเลือกตั้งของพรรคการเมือง หากพรรคการเมืองเกิดใหม่มีสมาชิกเพียง 500 คน เพราะในมาตราที่ว่าด้วยข้อบังคับการส่งผู้สมัครของพรรคจะต้องมาจากความเห็นร่วมของตัวเแทนพรรคในจังหวัด หรือสาขาพรรคในภาคต่างๆ ดังนั้นหากสมาชิกมีเพียง 500 คน อาจจะเป็นมุมที่ทำให้มีปัญหาได้ในอนาคต

            ปรับโฉม “ร่างกม.พรรค”หามิตรร่วมรบทางการเมือง

            4.งดเว้นการเก็บค่าบำรุงพรรค สำหรับปีแรกของสมาชิก จากเดิมที่กำหนดปีละ 100 บาทต่อคน เป็นปีละ 50 บาทต่อคน 

            ภาพรวมของการปรับแก้ไขร่าง พ.ร.ป.พรรคการเมือง ฉบับรับฟังความเห็นครั้งนี้ เพื่อลดหย่อนให้การจัดตั้งพรรคและการรีเซตระบบพรรคการเมืองทำได้ไม่ยากเกินไปนัก แต่ในอีกมุมตรงข้าม คือ การช่วยอำนวยความสะดวกอย่างสุดตัว สำหรับ “พรรคการเมืองที่ตั้งใหม่” หรือ “พรรคการเมืองที่มีปัจจุบัน” ที่อาจถูกใช้เพื่อเป็นท่อหายใจของ “คสช.” ที่ต้องการไปต่อในงานสายการเมือง

            ต้องยอมรับว่า ลำพังแค่ “พรรคทหาร” อาจไม่ทำให้เจตนารมณ์ คสช.อยู่ยาวจนรอดฝั่ง เพราะสนามการเมืองที่แท้จริงมักจะมีพวกเขี้ยวลากดิน ที่รอจังหวะเอาคืน!! ดังนั้นหากจะพุ่งชนเป้าหมาย ต้องมีมือไม้และ สหายร่วมรบทางการเมืองไว้บ้าง

           

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ