คอลัมนิสต์

เลือกตั้ง 60/61?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

(คอลัมน์ขยายปมร้อน) เลือกตั้ง 60/61? : ขนิษฐา เทพจร สำนักข่าวเนชั่น รายงาน

 

            เริ่มต้นศักราชใหม่ สิ่งที่ “คนการเมือง-นักเลือกตั้ง” ทวงถามกันมากสุด คงหนีไม่พ้น คือ โร้ดแม็พเลือกตั้ง ของ คสช. ที่ชัดเจน

             ซึ่งอาจสร้างความสงสัย สำหรับคนทั่วไป ว่า ทำไม “การเลือกตั้ง” ถึงสำคัญ และถูกทวงถามความชัดเจน แม้ยังไม่ทันข้ามคืนของการขึ้นปฏิทินปี 2560

            ขอสรุปง่ายๆ ว่า การจัดให้มีการเลือกตั้งส.ส. หมายถึงการเข้าสู่ วิถีการปกครองในระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุขโดยสมบูรณ์ และพ้นจากการปกครองของประเทศ ที่ถูกต่างชาติ รวมถึงนักประชาธิปไตย เรียกว่า “ระบอบเผด็จการ”

            ตามอำนาจและบทบาทของ “คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)” ที่สัญญาไว้กับประชาชน คือ จะจัดให้มีการเลือกตั้ง ภายในปี 2560 ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นนับปีตามห้วงเวลาที่ คสช. บอกไว้ จึงเป็นประเด็นที่ใครๆ จับตาว่า “สัญญา” ที่ให้ไว้ จะเป็นจริงหรือไม่ หรือมีเหตุใด ต้องเลื่อน! หรือไม่

            ระหว่างการจับตาของ “คอการเมือง” นั้น สัญญาณของการ เลื่อนโร้ดแม็พ และ ไม่เลื่อนโร้ดแม็พ ถูกนำเสนอเป็นรายวันจนสร้างความสับสน

            หนึ่งของผู้ที่คาดการณ์ว่า จะเลื่อนไทม์ไลน์เลือกตั้ง ออกไป เป็นกลางปี 2561 หรือ อีกเกือบ2 ปีจากนี้ คือ “รองประมุขฝ่ายนิติบัญญัติ – สุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย” ที่ให้ความเห็นระหว่างการสัมภาษณ์ของสื่อมวลชนว่า “ภารกิจตลอดปี 2560 ของสภานิติบัญญัติแห่งชาติต้องพิจารณากฎหมายตามโร้ดแม็พของคสช.มากกว่า 100 ฉบับ เพื่อให้เป็นเครื่องมือของรัฐบาลในการบริหารประเทศ ก่อนนำไปสู่การเลือกตั้งประมาณกลางปี 2561”

             เลือกตั้ง 60/61?

            เหตุผลและการคาดการณ์ ของ “สุรชัย” นั้น อาจพอเข้าใจได้ว่า ถนนที่จะนำไปสู่การเลือกตั้งได้ ส่วนสำคัญต้องขั้นอยู่กับกฎหมายที่จะตราเพื่อ บังคับใช้

           โดยกฎหมายที่ต้องออกใช้บังคับ และเป็นหลักของการเดินสู่โร้ดแม็พเลือกตั้ง ถูกกำหนดไว้แล้วในร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

            ตาม ร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ ที่ขณะนี้อยู่ในพระบรมราชวินิจฉัยของพระมหากษัตริย์ ส่วนของบทเฉพาะกาล กำหนดไว้ชัดเจน ในมาตรา 268 ที่ระบุให้ดำเนินการเลือกตั้ง ส.ส. ให้แล้วเสร็จภายใน 150 วันนับแต่วันที่พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ทั้ง 4 ฉบับ ได้แก่ พ.ร.ป.ว่าด้วยการเลือกตั้ง ส.ส., พ.ร.ป.ว่าด้วยการได้มาซึ่งส.ว., พ.ร.ป.ว่าด้วยคณะกรรมการการเลือกตั้ง และ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมือง มีผลบังคับใช้

            โดยปฏิทินทำงานของการจัดทำ พ.ร.ป.ทั้ง 4 ฉบับนั้น ถูกกำหนดไว้ชัดเจน ในร่างรัฐธรรมนูญฉบับผ่านประชามติ มาตรา 267 สรุปสาระได้ ว่า ให้ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ ชุดของ “มีชัย ฤชุพันธุ์” จัดทำร่าง พ.ร.ป. จำนวน 10 ฉบับ ซึ่งรวมถึง 4 ฉบับสำคัญนั้นด้วย ให้แล้วเสร็จ ภายใน 240  วัน  หรือ 8 เดือนนับแต่มีรัฐธรรมนูญใหม่ใช้บังคับ และเมื่อทำเสร็จให้เสนอต่อ “สภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.)” พิจารณาให้ความเห็นชอบต่อไป

            ขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.ป. ในชั้นของ “สนช.” นั้น มาตรา 267 วรรคสี่ เขียนไว้เช่นกันว่า เมื่อ สนช. ได้รับร่าง พ.ร.ป. แล้วต้องพิจารณาให้เสร็จภายใน 60 วันนับแต่วันที่ได้รับร่าง พ.ร.ป. แต่ละฉบับ และเมื่อสนช. พิจารณาเสร็จ ให้ส่ง ร่าง พ.ร.ป.ให้ศาลรัฐธรรมนูญ หรือองค์กรที่เกี่ยวข้อง และ กรธ. พิจารณา  ใน 10 วัน โดยหากมีข้อโต้แย้งว่าเนื้อหาไม่ตรงตามเจตนารมณ์ของรัฐธรรมนูญ จะเข้าสู่กระบวนการพิจารณาทบทวนโดยกรรมาธิการร่วมกัน ภายใน 15 วันและส่งกลับเข้าที่ประชุมสนช. ลงมติยืนยันว่าจะเห็นชอบกับสิ่งที่ทบทวนหรือไม่

            ดังนั้น เมื่อดูความจำเป็นของการพิจารณากฎหมาย ที่ต้องทำให้ดี และเป็นมาตรฐาน เพื่อนำไปสู่เส้นทางสายเลือกตั้งแล้ว เกณฑ์และเงื่อนเวลาที่ต้องใช้จัดทำ ส่อลากยาวไปเกือบปลายปี 2560  

            แม้ขณะนี้ “กรธ.” จะพยายามเร่งทำร่าง พ.ร.ป.ฉบับรับฟังความคิดเห็น ก่อนมีรัฐธรรมนูญใหม่ประกาศใช้ เพื่อย่นเวลา-ลดปัญหาในกระบวนการ เมื่อเริ่มนับเวลาจริง และ "สนช.” จะวางตัวบุคคลเพื่อศึกษารายละเอียดของร่างพ.ร.ป.ฉบับที่องค์กรต่างๆ เสนอ รวมถึงเจตนารมณ์ของ ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ประกอบกับตัวกฎหมายลูกที่เคยมีการประกาศใช้ เพื่อเตรียมพร้อมสำหรับงานออกกฎหมาย ให้ทันตามโร้ดแม็พของคสช.

            แต่ “คนการเมือง-นักการเมือง” รวมถึง “นักวิชาการด้านการเมือง” ประเมินทางลมไว้ว่า “คสช.” จะใช้เวลาที่มีอยู่จนถึงวินาทีสุดท้าย และอาจมีช่วงทดเวลาอีกเล็กน้อย เพื่อให้สถานการณ์การเมือง รวมถึงภาวะของบ้านเมือง อยู่ในเกณฑ์นิ่งและเข้าที่มากที่สุด ก่อนปล่อยตัว “นักการเมือง” เข้าสู่สนามเลือกตั้ง

            โดยประเด็นนี้ สอดรับเข้ากับการให้สัมภาษณ์ ของ ”พล.อ.เฉลิมชัย สิทธิสาท ผู้บัญชาการทหารบก ฐานะเลขาธิการ คสช.” ที่แม้จะยืนยันว่าการเลือกตั้งจะเกิดขึ้นแน่ ในปี 2560 และกองทัพจะสามารถดูแลและควบคุมสถานการณ์ต่อจากนี้ไปจนถึงวันเลือกตั้งตามโร้ดแม็พได้ แต่หากมีเงื่อนไขใดเกิดขึ้น “พล.อ.เฉลิมชัย” ระบุว่า อาจทำให้การเลือกตั้งขยับขยายเวลาออกไป แต่ในห้วงเวลาสั้นๆ

            นั่นเท่ากับว่าความชัดเจนของการเลือกตั้งภายในปี 2560 ที่ “คสช.” สัญญา กลายเป็นเพียงเป้าหมาย แต่ถึงวันจริงจะเป็นไปตามนั้นหรือไม่ ยากยิ่งจะคาดเดา

             เลือกตั้ง 60/61?

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ