คอลัมนิสต์

แก้ พ.ร.บ. สงฆ์ : ผ่าทางตัน สถาปนา “สังฆราช”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เมื่อ สนช. ตัดสินใจ ผ่าทางตัน แก้กฎหมายพระ ผลจะเป็นอย่างไร

กลายเป็นเรื่องร้อนส่งท้ายปี เมื่อ คณะกรรมาธิการการศาสนาและศิลปวัฒนธรรม สภานิติบัญญัติแห่งชาติ ซึ่งมี พล.ต.อ.พิชิต ควรเตชะคุปต์ เป็นประธาน ได้เสนอแก้ไข พระราชบัญญัติคณะสงฆ์ปี 2505 ฉบับแก้ไขปี 2505 โดยมีเสียงสนช. ร่วมลงชื่อเสนอร่างดังกล่าวถึง 84 คน

 

โดยเนื้อหาหลักคือ การแก้ไข มาตรา 7 เรื่องการแต่งตั้ง สมเด็จพระสังฆราช ให้กลับไปเป็นแบบ พ.ร.บ.สงฆ์ ฉบับแรกเริ่มปี 2505 ที่ให้การสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์

 

โดยมาตรา 7 ของกฎหมายฉบับแรกเริ่มบัญญัติไว้เพียงสั้นๆว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช"

  อย่างไรก็ตามในปี 2535 มีการแก้ไขร่างพระราชบัญญัติฉบับดังกล่าว โดยนัยยะคือให้ให้มหาเถรสมาคม เป็นผู้เสนอพระนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ ต่อนายกรัฐมนตรี เพื่อเสนอให้พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

 

ข้อความตามกฎหมายปี 2535 ระบุว่า "พระมหากษัตริย์ทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชพระองค์หนึ่ง

  

ในกรณีที่ตำแหน่งสมเด็จพระสังฆราชว่างลง ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ขึ้นทูลเกล้าฯเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช

 

ในกรณีที่สมเด็จพระราชาคณะผู้มีอาวุโสสูงสุดโดยสมณศักดิ์ไม่อาจปฏิบัติหน้าที่ได้ ให้นายกรัฐมนตรีโดยความเห็นชอบของมหาเถรสมาคมเสนอนามสมเด็จพระราชาคณะรูปอื่น ผู้มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์รองลงมาตามลำดับและสามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ขึ้นทูลเกล้าเพื่อทรงสถาปนาเป็นสมเด็จพระสังฆราช"

 

ถอดความได้ว่า หากเป็น พ.ร.บ.ฉบับปัจจุบัน พระมหากษัตริย์จะทรงสถาปนาสมเด็จพระสังฆราชตามมติของมหาเถรสมาคม ซึ่งการเสนอชื่อของมหาเถรสมาคมนั้น ก็พิจารณาเป็นอื่นไม่ได้ นอกจากนับลำดับความอาวุโสของการอยู่ในสมณศักดิ์ชั้นสมเด็จราชาคณะ หากผู้มีอาวุโสลำดับสูงสุด ปฏิบัติหน้าที่ไม่ได้ ก็ต้องเสนอผู้มีอาวุโสลำดับรองลงไปแทน

 

ซึ่งตามข้อเสนอของ สนช. จึงเท่ากับว่าตัดทั้งส่วนของ มหาเถรสมาคม และ ตัดเรื่องลำดับอาวุโสดยสมณศักดิ์ และให้เป็นพระราชอำนาจในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช โดยจะรูปใดก็ได้ และที่สำคัญคือ “ไม่ต้องเรียงลำดับอาวุโสก็ได้”

 

สนช. ให้เหตุผลว่า เพื่อเป็นการแก้ไขปัญหาความขัดแย้งเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชที่ผ่านมา รวมถึงกลับไปใช้ความเดิมตามโบราณราชประเพณี ที่เป็นพระราชอำนาจของพระมหากษัตริย์ในการสถาปนาสมเด็จพระสังฆราช 

 

 นอกจากนี้ยังอ้างเหตุผลว่าพระสังฆราชควรเป็นผู้เสนอชื่อตามความเหมาะสมของการประพฤติปฏิบัติตัว มิใช่ใช้ระบบอาวุโสคล้ายระบบข้าราชการของทางโลก

 

โดยเรื่องดังกล่าว จะนำเข้าสู่วาระการพิจารณาของ สนช. ในวันที่ 29 ธ.ค. ที่จะถึงนี้ โดยจะให้ตัวแทนของรัฐบาลเข้ามาร่วมรับฟัง และมีความเป็นได้สูงว่า อาจจะผ่านสามวะวาระรวด ในวันเดียวกัน

 

หากเป็นจริง ถือเป็นการพิจารณาเรื่องใหญ่ทิ้งท้ายปี ก่อนจะหยุดยาว

 

เรียกว่าไม่อ้อมค้อมกันกับเหตุผล เพราะทุกคนก็รู้กันว่าที่ผ่านมามีปัญหาเรื่องการแต่งตั้งสมเด็จพระสังฆราชองค์ใหม่ เพราะสมเด็จพระราชาคณะที่มีอาวุโสโดยสมณศักดิ์สูงสุดที่ปฏิบัติหน้าที่ได้ และมหาเถรสมาคมมีมติเสนอชื่อก็คือ “สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญโญ)”

 

แต่ที่ผ่านมาท่าเองก็ถูกข้อกล่าวหาว่ามีความใกล้ชิดกับ “วัดพระธรรมกาย” ที่กำลังมีปัญหาในขณะนี้ นอกจากนี้ยังมีเรื่องคดีรถหรูที่จดแจ้งไม่ถูกต้อง และคดียังค้างคาอยู่ที่กรมสอบสวนคดีพิเศษ ทำให้ท่านถูกตั้งคำถามถึงความเหมาะสม

 

ซึ่งที่ผ่านมาดูเหมือนรัฐบาลก็พยายามหาทางแก้ไข โดยเรียกประชุมรวมถึงให้มีการตีความกฎหมาย ว่าจะเป็นอื่นได้หรือไม่ โดยไม่ยึดติดกับมติของมหาเถรสมาคม หรือกระทั่งให้นายกฯเป็นผู้ตั้งเรื่อง แต่ทั้งหมดก็เป็นทางตัน เพราะกฎหมายเขียนเอาไว้ชัดเจนจนยากที่จะตีความเป็นอื่น  

 

และนี่เองที่เป็นที่มาซึ่งนายกฯยังยอมไม่ทูลเกล้ารายชื่อ “สมเด็จช่วงฯ” เสียที จนเกิดภาวะสูญญากาศขึ้น 

 

จึงเป็นที่มาของการ “ผ่าทางตัน” ในครั้งนี้  

หากเป็นเช่นนี้ ลำดับชั้นอาวุโสก็จะไม่มีความหมายอีกต่อไป เช่นเดียวกับมติของมหาเถรสมาคม 

 

แน่นอนว่ากลุ่มที่หนุน “สมเด็จช่วงฯ” อาจจะคลางแคลงใจอยู่บ้าง แต่ก็คงไม่อยู่ในสถานะที่จะพูดอะไรได้

 

นอกจากนี้หากปลดล็อกได้ สมเด็จพระราชาคณะที่เหลือ ไม่ว่ามีอาวุโสเท่าไหร่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นผู้มีสิทธิได้รับการสถาปนาทั้งสิ้น ไม่เว้นแม้แต่  พระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) ที่เพิ่งได้รับการสถาปนาเป็นสมเด็จพระราชาคณะ  และถูกมองว่าเป็นที่ยอมรับของทุกฝ่าย ก็จะถือเป็นหนึ่งในผู้มีสิทธิเช่นกัน 

  

 ----------

 

รายชื่อสมเด็จพระราชาคณะ เรียง ลำดับอาวุโส

-สมเด็จพระมหารัชมังคลาจารย์ (ช่วง วรปุญฺโญ) สถาปนา 2538 (91 ปี)

-สมเด็จพระมหาวีรวงศ์ (มานิต ถาวโร) สถาปนา 2544 (98 ปี)

-สมเด็จพระมหามุณีวงศ์ (อัมพร อมฺพโร) สถาปนา 2552 (89 ปี)

-สมเด็จพระวันรัต (จุนท์ พฺรฺมคุตฺโต) สถาปนา 2552 (80 ปี)

-สมเด็จพระธีรญาณมุนี (สมชาย วรชาโย) สถาปนา 2553 (69 ปี)

-สมเด็จพระพุทธชินวงศ์ (สมศักดิ์ อุปสโม) สถาปนา 2554 (75 ปี)

-สมเด็จพระพุฒาจารย์ (สนิท ชวนปญฺโญ) สถาปนา 2557 (74 ปี)

-สมเด็จพระพุทธโฆษาจารย์ (ประยุทธ์ ปยุตฺโต) สถาปนา 2559 (78 ปี)

-----------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ