คอลัมนิสต์

“แทรกแซง”นิยามอย่างไร

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

“แทรกแซง” นิยามอย่างไร คอลัมน์ ขยายปมร้อน โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับ “ต้นแบบ” ของกรรมการร่างรัฐธรรมนูญที่ทำขึ้นเพื่อรับฟังความเห็นและนำไปปรับปรุงก่อนที่จะนำเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. หากสแกนดูแล้วก็จะพบทั้งจุดที่น่าชื่นชมและจุดที่น่าสงสัยว่าการเขียนแบบนี้ใช้การได้จริงหรือไม่ หรือตลอดจนเป็นการลิดรอนสิทธิของประชาชนหรือไม่

 

จุดที่ได้รับคำชมไม่น้อยคือ การกำหนดให้สาขาพรรคการเมืองมีบทบาทในการกำหนดตัวผู้รับสมัครเลือกตั้ง เพราะที่ผ่านมาไม่ว่าพรรคการเมืองไหนผู้ที่มีบทบาทสำคัญในการกำหนดตัวผู้ลงสมัครรับเลือกตั้งคือ กรรมการบริหารพรรค

 

หลายครั้งเราจึงเห็นสภาพ “คนดีในพื้นที่” ไม่ได้รับพิจารณาให้ลงสมัครรับเลือกตั้ง หากแต่คนที่ได้ลงแทนนั้น เป็นตัวแทนจากพรรคส่วนกลางโดยกรรมการบริหารพรรคที่ส่งลงมา ด้วยเหตุผลลหลายๆประการ เช่นต้องการตอบแทน ต้องการให้ได้เป็นส.ส. โดยส่งลงในเขตพื้นที่ที่มีคะแนนดี และชนะค่อนข้างแน่ หลายๆเหตุผล ทำให้ “กรรมการบริหารพรรค” มีเสียงที่เหนือกว่าคนในพื้นที่

 

ซึ่งในหลายประเทศทั่วโลกก็มีการนำระบบให้พื้นที่เป็นผู้กำหนดผู้สมัครแทนที่จะเป็นผู้นำพรรค เหรือที่เรียกกันว่า “ไพรมารีโหวต” และแน่นอนระบบนี้จะทำให้ความต้องการของคนในพื้นที่มีอำนาจเหนือกว่ากรรมการบริหารพรรค และในอีกทางผู้ที่ได้รับเลือกจากพื้นที่ก็ย่อมต้องสะท้อนและตอบสนองต่อคนในพื้นที่ได้มากกว่า คนที่ลอยมาจากกรรมการบริหารพรรคได้เช่นกัน

 

แต่ทั้งนี้ต้องมีการวางระบบของสาขาพรรคให้ดี ซึ่งว่าตามจริงแล้วการที่จะเดินตามทางนี้พื้นที่และสาขาพรรคต้องมีการพัฒนามาพอสมควร

 

อย่างไรก็ตามยังมีสิ่งที่ตั้งคำถามอยู่ไม่น้อยในร่างกฎหมายฉบับนี้ เช่นการกำหนดทุนประเดิม และต้องให้ผู้ร่วมจัดตั้งพรรค 500 คน ต้องจ่ายทุนประเดิมเป็นเงินรวม 1 ล้านบาท ซึ่งในทางหลักการยังคงถกเถียงกันว่าจำเป็นหรือไม่?

 

ฝั่งหนึ่งเห็นว่าการรวมกลุ่มเพื่อแสดงพลังทางการเมือง และขับเคลื่อนนโยบายและอุดมการณ์ในรูปแบบพรรคการเมืองควรเป็นสิทธพื้นฐานโดยชอบธรรม และไม่ควรถูกจำกัดด้วยคำว่าทุน เพราะหากเป็นเช่นนั้น คนที่ไม่มีเงินก็เท่ากับถูกตัดสิทธินี้ไปโดยปริยาย

 

อย่างไรก็ตาม อีกชุดความคิดหนึ่งบอกว่าในโลกความจริงนั้น การขับเคลื่อนกิจกรรมทางการเมืองนั้นล้วนต้องใช้เงินทั้งสิ้น หากปราศจากเงินก็ยากที่จะทำอะไรได้ โดยเฉพาะในนามองค์กร และหากเทียบกับค่าแรงขั้นต่ำ คนละ 1,000 บาท ก็ไม่ใช่เรื่องเหลือบ่ากว่าแรง

นี่จึงเป็นสองชุดความคิดที่ยังถกเถียงกันอยู่

 

อย่างไรก็ตามยังมีอีกประเด็นหนึ่งที่ต้องมาขบคิดว่าจะใช้การได้จริงหรือไม่ กล่าวคือ เรื่องการแทรกแซงกิจการของพรรคโดยคนนอก ฟังดูโดยกรอบถือว่าเข้าท่า เพราะการที่จะให้คนนอกเข้ามาแทรกแซงกิจการของพรรคก็ดูไม่เป็นการสมควร เพราะ “พรรคการเมือง” ก็ควร “ขับเคลื่อน” โดย “สมาชิกพรรค”  การที่มีคนนอกมามีบทบาทก็ดูเป็นการไม่สมควร

 

ว่ากันแบบตรงไปตรงมาคือ ก่อนหน้านี้มีข่าวเนืองๆว่า มีบางพรรคการเมืองบางพรรคให้บางคนเข้ามาเป็นผู้นำพรรค สั่งการในพรรค ไม่ว่าจะด้วยวิธีไหนก็ตาม 

  

แต่คำถามคือ เมื่ออกมาเป็นกฎหมาย แบบไหน ระดับไหน ถึงเรียกว่า “แทรกแซง” และถึงขนาดไหนที่จะเอาผิดในข้อหา “แทรกแซง” ได้

 

“การที่มีคนนอก” (ในที่นี้คือ คนที่ไม่ใช่สมาชิกพรรค ไม่ใช่กรรมการบริหารพรรค) เข้าไปนั่งในที่ประชุมพรรค โดยที่ไม่ได้สั่งการหรือแสดงความเห็นใดๆ อย่างนี้แทรกแซงหรือไม่ 

 

หรือ “การที่มีคนนอก” เข้าไปในที่ประชุมพรรค และไปให้ความเห็นเชิงโน้มน้าวให้ดำเนินการตามแนวคิดของเขา อย่างนี้เป็นการแทรกแซงหรือไม่ 

 

“การที่มีคนนอก” เข้าไปร่วมประชุม ไม่ทำอะไรเลย  แต่มีเจตนาเพื่อเข้าไปนั่งคุมเสียงในที่ประชุม อย่างนี้จะหาหลักฐานอะไรมาบอกว่าเป็นการแทรกแซง

 

“การที่มีคนนอก” ไม่เข้าประชุม ไม่มีเสียงโหวต แต่สามารถสั่งการกรรมการบริหารพรรคได้แบบรายคน  อย่างนี้จะไปหาหลักฐานอะไรว่าแทรกแซง

 

 หรือกระทั่ง “การที่มีคนนอก” เป็นผู้นำทางความคิด อย่างนี้ถือเป็นการแทรกแซงหรือไม่

 

การเขียนกฎหมายต้องนิยามและกำหนดให้ชัดว่าอะไรที่เป็นลักษณะความผิด  เพราะหากเปิดกว้างให้ตีความ มุมหนึ่งอาจไม่สามารถเอาผิดใครได้เลย  ในขณะทีอีกมุมเราอาจเห็นการ“ตีขลุม”  มากกว่า “ตีความ” เพื่อเอาผิดใครก็ได้เช่นกัน

------------

โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ