คอลัมนิสต์

ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ใบอนุญาตละเมิด ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่าง พ.ร.บ.คอมพ์ฯ ใบอนุญาตละเมิด ? คอลัมน์ ขยายปมร้อน โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

ตามระเบียบวาระ ในวันพฤหัสบดี ที่ 15 ธ.ค. สภานิติบัญญัติแห่งชาติ จะพิจารณา ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ (ฉบับที่ ..) พ.ศ. ... ซึ่ง ร่างกฎหมายฉบับนี้เป็นการแก้ไขเพิ่มเติม พระราชบัญญัติ ว่าด้วยการกระทำความผิดเกี่ยวกับคอมพิวเตอร์ พ.ศ. 2550

 

ร่างกฎหมายฉบับนี้ทำให้หลายคนกังวลใจว่า จะเป็นการจำกัดสิทธิเสรีภาพหรือไม่ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ในปัจจุบัน ที่รัฐเป็นผู้กุมอำนาจสูงสุดของประเทศ หลายคนหวั่นว่า รัฐจะใช้กลไกที่บัญญัติไว้ตามกฎหมายเป็นเครื่องมือในการควบคุมข่าวสาร รวมไปถึงจัดการกับผู้ที่เห็นต่าง ซึ่งแน่นอนว่าย่อมหมายถึง สิทธิเสรีภาพในการแสดงความคิดเห็นด้วย

 

วันนี้เราลองมาสแกนดูกันว่า ร่างกฎหมายฉบับนี้น่าสนใจ และเป็นอย่างที่กังวลกันหรือไม่

ซึ่งหากดูในหลักการและเหตุผลของร่างกฎหมายฉบับนี้ที่เสนอต่อ สนช. มีข้อหนึ่งที่ระบุว่า “เพื่อเป็นการแก้ไขเพิ่มเติมกระบวนการหลักการและหลักเกณฑ์ การระงับ หรือการให้แพร่หลาย หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ ในกรณีที่มีการทำให้แพร่หลายซึ่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่เป็นความผิดตามพระราชบัญญัตินี้ ข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่อาจกระทบกระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร ...ข้อมูลอันมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี หรือข้อมูลคอมพิวเตอร์ที่ไม่เป็นความผิดต่อกฎหมายอื่นแต่มีลักษณะขัดต่อควมสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี โดยมีคณะกรรมการทำหน้าที่กลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ดังกล่าว”

 

แปลความง่ายๆ ว่า ตามกฎหมายฉบับนี้จะเป็นการแก้ไขหลักเกณฑ์ ประเภทของการกระทำอันนำมาซึ่งของการบล็อกเว็บ ที่ขยายความไปถึงการกระทำที่จะถูกตีความว่า “กระเทือนต่อความมั่นคงแห่งราชอาณาจักร” และ “ข้อมูลอันมีลักษณะขัดต่อความสงบเรียบร้อยหรือศีลธรรมอันดี” และ จะมีคณะกรรมการขึ้นมาเพื่อทำหน้าที่ตีความหรือคอยสอดสอดส่องและกลั่นกรองว่า การกระทำใดเข้าข่ายบ้าง

 

ซึ่งหากไปเปิดในเนื้อหากฎหมาย จะพบว่าได้บัญญัติ ในมาตรา 4 ก็มีการระบุเกี่ยวกับลักษณะประเภทของการกระทำว่า “ส่งข้อมูลคอมพิวเตอร์ หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์แก่บุคคลอันมีลักษณะเป็นการก่อให้เกิดความเดือดร้อนรำคาญแก่ผู้รับข้อมูลคอมพิวเตอร์หรือจดหมายอิเล็กทรอนิกส์”

 

ส่วนมาตรา 5 ก็บัญญัติ ลักษณะความผิดที่กระทำต่อ “ข้อมูลหรือระบบคอมพิวเตอร์ที่เกี่ยวกับการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยของสาธารณะ ความมั่นคงในทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะหรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะ”

 

เช่นเดียวกับมาตรา 8 ที่บัญญัติความผิดเช่น การนำข้อมูลอันเป็นเท็จ ,ทุจริต ,หลอกลวง,ลามก เข้าสู่ระบบคอมพิวเตอร์ ที่สำคัญคือ (2) กาารนำเข้าข้อมูลอันเป็นเท็จ โดยประการที่น่าจะเกิดความเสียหายต่อการรักษาความมั่นคงปลอดภัยของประเทศ ความปลอดภัยสาธารณะ ความมั่นคงทางเศรษฐกิจของประเทศ การบริการสาธารณะ หรือโครงสร้างพื้นฐานอันเป็นประโยชน์สาธารณะของประเทศ หรือก่อให้เกิดความตื่นตระหนก

 

เรียกได้ว่าครอบจักรวาลทีเดียว

ในส่วนของการระงับการเผยแพร่นั้น มาตรา 14 ระบุ ว่าในกรณีที่มีการเผยแพร่ข้อมูลที่เป็นความผิด ให้เจ้าหน้าที่ที่ได้รับความเห็นชอบจากรัฐมนตรี สามารถยื่นคำร้องต่อศาลเพื่อขอให้มีคำสั่งระงับการเผยแพร่หรือลบข้อมูลคอมพิวเตอร์ออกจากระบบได้ และหากมีหตุจำเป็นเร่งด่วนเจ้าหน้าที่สามารถยื่นคำร้องต่อศาลโดยไม่ต้องขอความเห็นชอบของรัฐมนตรีก็ได้

 

และในมาตรา 14/1 ระบุเรื่องการตั้งคณะกรรมการกลั่นกรองข้อมูลคอมพิวเตอร์ โดยสามารถมีได้หลายคณะ ที่จะมาทำหน้าที่ดังที่ระบุเอาไวั โดยให้แต่ละคณะมีกรรมการ 5 คน ซึ่ง 2 ใน 5 ต้องมาจากเอกชน

 

ประเด็นจึงอยู่ที่ว่า 5 คนนี้จะทำตัวเป็น “กบว. ไซเบอร์” คอยดูว่าอะไรทำได้ไม่ได้ในโลกออนไลน์และขอบล็อกหรือปิดเว็บได้ตามดุลพินิจ เป็น  5 อรหันต์ชี้เป็นชี้ตาย และกรรมการชุดนี้จะแต่งตั้งโดยรัฐมนตรีกระทรวงดิจิทัลฯที่รักษาการตาม ร่าง พ.ร.บ.ฉบับนี้

 

และน่าสนใจขึ้นไปอีกว่าเขาจะคอยชี้เป็นชี้ตายได้อย่างไร หากไม่มีการสอดส่องไปทั่ว

 

จากนี้เสรีภาพในโลกออนไลน์จะเป็นอย่างไร น่าคิดว่าหากเป็นสภาวะบ้านเมืองปกติ จะออกกฎหมายที่กระทบกับสิทธิของประชาชนได้ขนาดนี้หรือไม่

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ