คอลัมนิสต์

กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ “ส่งเสริม” หรือ “ถ่วงรั้ง”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ “ส่งเสริม” หรือ “ถ่วงรั้ง” คอลัมน์ขยายปมร้อน โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

แม้ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่จะยังไม่ประกาศใช้ แต่หลายคนก็เริ่มหวั่นไหวถึงอนาคตของประเทศ โดยเฉพาะกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญ หรือที่เรียกกันว่ากฎหมายลูก ที่คนจับตาว่าจะขยายความจากรัฐธรรมนูญไปมากน้อยเพียงใด

 

ถามว่าทำไมการร่างกฎหมายลูกครั้งนี้จึงสำคัญและถูกจับตามากว่าที่ผ่านๆมา (อย่างน้อยก็มากกว่ารัฐธรรมนูญฉบับปี 2540 และ 2550) นั่นก็เพราะที่ผ่านมาสองฉบับนั้นดูเหมือนจะให้ความสำคัญกับตัวรัฐธรรมนูญมากกว่ากฎหมายอื่น และมีหลักคิดว่าหากต้องการจะห้าม หรือต้องการจะให้ทำอะไรก็ก็จะบัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญเลยเพื่อป้องกันการบิดพริ้ว

 

ทำให้รัฐธรรมนูญสองฉบับที่ผ่านมาเป็นรัฐธรรมนูญที่ถูกค่อนแคะมาตลอดว่า ไม่เหมือนรัฐธรรมนูญ เพราะรัฐธรรมนูญควรจะมีสถานะที่เป็นกฎหมายแม่บท และเขียนไว้เพียงหลักการสำคัญเท่านั้น

 

แต่กับฉบับนี้ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ประกาศชัดแต่แรกแล้วว่า จะเขียนไว้เพียงหลักการ ส่วนรายละเอียดค่อยไปบัญญัติไว้ในกฎหมายลูก ทำให้เราไม่อาจละสายตากับกระบวนการนี้ได้

 

และร่างรัฐธรรมนูญฉบับนี้บัญญัติให้เขียนกฎหมายลูกถึง 10 ฉบับ พร้อมทั้งกำหนดเวลาแล้วเสร็จภายใน 240 วัน เรียกได้ว่าเป็นไฟท์บังคับที่ต้องทำ เบื้องต้นกฎหมายสี่ฉบับแรกที่จะต้องแล้วเสร็จเพื่อเดินหน้าสู่การเลือกตั้งคือ กฎหมายพรรคการเมือง กฎหมาย กกต. กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และกฎหมายการได้มาซึ่ง ส.ว.

 

กรรมการร่างรัฐธรรมนูญในฐานะเจ้าภาพทำกฎหมายลูกยืนยันว่า ต้องทำกฎหมายสองฉบับแรกให้แล้วเสร็จคือ กฎหมายพรรคการเมือง และ กฎหมาย กกต. ซึ่งหากกฎหมายสองฉบับนี้นิ่ง กฎหมายเลือกตั้ง ส.ส. และการได้มาซึ่ง ส.ว. ก็ะจะบัญญัติได้ชัดเจน

 

อย่างไรก็ตามเนื้อหาในส่วนของกฎหมายพรรคการเมืองนั้น ถูกเหล่าบรรดานักการเมืองชำแหละถึงความไม่เหมาะสม เช่นการให้รีเซ็ทสมาชิกพรรคการเมือง ที่ถูกมองว่าจะมีข้อเสียมากกว่า ข้อดี หรือกฎมาย กกต. ที่ต้องลุ้นว่า สุดท้ายแล้วจะมีการกำหนดบทบาทอำนาจหน้าที่อย่างไร โดยกรรมการ่างรัธฐรรมนูญจะเปิดเผยเนื้อหาภายในสัปดาห์นี้

 

อย่างไรก็ตามยังมีกฎหมายลูกที่สำคัญอีกหนึ่งฉบับที่ถูกบัญญัติไว้ในร่างรัฐธรมนูญคือ พระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญว่าด้วยาด้วยแผนและขั้นตอนการดำเนินการปฏิรูปประเทศ หรือที่เรียกชื่อเล่นกันว่า “กฎหมายยุทธศาสตร์ชาติ”

 

คำถามคือทำไมสำคัญ “มีชัย ฤชุพันธุ์” ได้เฉลยเรื่องนี้เอาไว้ด้วยตัวเองโดยระบุว่า “ถ้ารัฐบาลไม่ทำตามยุทธศาสตร์ เขาก็จะได้ชื่อว่าจงใจไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญ แม้กฎหมายจะไม่มีโทษอะไร แต่ในรัฐธรรมนูญก็ได้กำหนดโทษของการไม่ปฏิบัติตามรัฐธรรมนูญอยู่แล้ว”

 

และเมื่อรัฐบาลทำขัดต่อรัฐธรรมนูญย่อมจะอยู่ไม่ได้อย่างแน่นอน 

 

แต่กฎหมายยุทธศาสตร์ชาตินั้น มีนัยยะคือการกำหนดทิศทางการพัฒนาของประเทศในอีก 20 ปี ข้างหน้า และเป็นไปในลักษณะบังคับให้ทำ ซึ่งจริงๆแล้วการกำหนดทิศทางการพัฒนาประเทศควรเป็นของรัฐบาลที่ผ่านการรับรองจากประชาชนหรือไม่ รวมไปถึงต้องมีความยืดหยุ่นตามสถานการณ์โลกและกาลเวลาที่เปลี่ยนไป

 

จริงอยู่ที่รัฐบาลนี้อาจต้องการสิบทอดเจตนา โดยอ้างเรื่องการปฏิรูป  แต่ก็ต้องยอมรับว่ารัฐบาลนี้เข้าสู่อำนาจด้วยการ “ยึด”  ดังนั้นการกำหนดอนาคตของประเทศควรเป็นเรื่องของรัฐบาลปกติที่ผ่านความเห็นชอบจากประชาชนหรือไม่

 

นอกจากนั้น เวลา 20 ปี ต้องถือว่าไม่ใช่เวลาสั้นๆ หากแต่เป็นระยะเวลาที่ยาวนาน และนานพอจะเปลี่ยนภูมิทัศน์ของโลกไปอย่างสิ้นเชิง   ยกตัวอย่างเช่น สมร์ทโฟนที่ใช้กันเกร่อก็ยังมีอายุไม่ถึง 20 ปี  หรือการตลาดแบบออนไลน์ ที่กลายเป็นสตาร์ตอัพ และความหวังของหลายๆธุรกิจก็บูมมาไม่นาน อย่าว่าแต่ 20 ปีเลย  ระยะ 10 ปียังแทบจะไม่ถึงด้วยซ้ำไป

 

ดังนั้น การกำหนดยุทธศาสตร์ชาติ ที่ทำไว้นานและแข็งตัวเกินไป จนไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ แทนที่จะกลายเป็นสิ่งส่งเสริมความก้าวหน้า จะกลายเป็นสิ่งฉุดรั้งความเจริญของชาติ

เราได้แต่หวังว่าพวกเขาที่กำลังจะร่างกฎหมายนี้จะเข้าใจความเปลี่ยนแปลงนี้เช่นกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ