คอลัมนิสต์

ชำแหละ ร่าง กม.พรรคการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ชำแหละ ร่าง กม.พรรคการเมือง ฉบับคุมทุน ตั้งธงปฏิรูป-โละธุรกิจการเมือง

คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญ (กรธ.) ได้ฤกษ์เปิด ร่างพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญ (พ.ร.ป.) ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับพิจารณาเบื้องต้น เพื่อรับฟังความเห็นผู้ที่เกี่ยวข้องแล้ว ภาพรวมของเนื้อหาถูกระบุไว้ในเหตุผลหน้าแรก ซึ่งสรุปสาระสำคัญ ได้ว่า

 

“เพื่อให้พรรคการเมืองทำงานได้อย่างอิสระ สมาชิกมีส่วนร่วม ตรวจสอบได้ และมีมาตรการกำกับดูแลไม่ให้สมาชิกพรรคการเมืองทำสิ่งที่ฝ่าฝืนหรือไม่ปฏิบัติตามกฎหมายเลือกตั้ง”

 

ทำให้บทบัญญัติของ ร่าง พ.ร.ป. ว่าด้วยพรรคการเมือง ฉบับที่รอการแก้ไข ถูกเติมเต็มและเพิ่มเนื้อหา ส่วนที่เกี่ยวกับกลไกการมีส่วนร่วมของสมาชิก-ข้อห้ามกระทำ-บทลงโทษ เมื่อหยิบเนื้อหาไปเปรียบเทียบกับ พ.ร.ป.ว่าด้วยพรรคการเมืองฉบับที่บังคับใช้ในปัจจุบัน โดยเนื้อหาที่ถูกเพิ่มเติมมาอย่างสำคัญ ได้แก่

บทว่าด้วยการมีส่วนร่วม การจัดตั้ง การกำหนดนโยบาย และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้ง

หัวใจหลัก คือ ให้สิทธิและเสรีภาพ ประชาชนรวมตัวตั้งพรรคการเมืองได้ แต่ไม่ใช่ตั้งได้ง่ายจนเกินไป เพราะการจัดตั้งพรรคได้หรือไม่ ถูกกำหนดด้วยจำนวนสมาชิกพรรค อย่างน้อย 5,000 คน

กล่าวคือ ร่างกติกาใหม่ ให้สิทธิบุคคลที่ มีสัญชาติไทย, อายุ 20 ปีขึ้นไป , ไม่อยู่ระหว่างสั่งห้ามดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง จำนวน 15 คน แจ้งต่อ นายทะเบียนพรรคการเมือง ซึ่งตามร่างกฎหมายใหม่ คือ เลขาธิการคณะกรรมการการเลือกตั้ง (กกต.) เพื่อจองสิทธิการตั้งพรรคการเมืองไว้และให้หาสมาชิกพรรคให้ครบจำนวนเพื่อมาจดแจ้งอย่างเป็นทางการภายหลัง

 

หรือให้ประชาชน จำนวน 500 คนที่มีอุดมการณ์เดียวกันรวมตัว จัดตั้งพรรคยื่นต่อนายทะเบียนพรรคการเมือง โดยผู้ร่วมจัดตั้งต้องจ่ายเงินทุนประเดิม ไม่น้อยกว่า 2,000 บาท และไม่เกิน 500,000 บาทด้วย

  

โดยเงื่อนไขสำคัญในช่วงก่อตั้งพรรคนั้น ต้องทำคำประกาศอุดมการณ์ของพรรคการเมือง เพื่อเป็นทิศทางการทำงานของพรรคให้กับสมาชิกปฏิบัติในแนวเดียวกัน หาก “พรรคการเมือง” หรือ “ว่าที่พรรคการเมือง” ใดไม่ทำ จะหมดสิทธิจัดตั้งพรรคการเมืองได้ตามกติกาใหม่

 

นอกจากนั้น กำหนดให้ พรรคการเมืองต้องมีหน้าที่ อย่างน้อย 4 กิจกรรม คือ 1.เสริมสร้างให้สมาชิกและประชาชนมีความรู้และเข้าใจอย่างถูกต้องในการปกครองรอบประชาธิปไตย และใช้สิทธิ เสรีภาพอย่างมีเหตุผล, รับผิดชอบ 2.เสนอแนวทางพัฒนาประเทศ, แก้ไขปัญหาในสังคมโดยคำนึงถึงความสมดุลระหว่างการพัฒนาด้านวัตถุและจิตใจ 3.ส่งเสริมให้ประชาชนมีส่วนร่วมต่อการตรวจสอบอำนาจรัฐอย่างมีเหตุผล และ4.ส่งเสริมสมาชิก และประชาชน สามัคคี ปรองดอง ยอมรับความเห็นต่างทางการเมือง

 

หากพรรคใดฝ่าฝืนหน้าที่ข้างต้น ต้องถูกลงโทษรุนแรง คือ ยุบพรรค ขณะที่กรรมการบริหารพรรคต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง นั่นหมายถึง หมดสิทธิลงเล่นการเมืองตลอดไป

 

และเมื่อจัดตั้งเป็นพรรคการเมืองได้แล้ว กำหนดให้ ภายใน 1 ปี พรรคต้องหาสมาชิกให้ได้ ไม่น้อยกว่า 5,000 คน, มีสาขาประจำภาค และภายใน 4 ปี ต้องมีสมาชิกให้ได้ 20,000 คน หากพรรคใดทำไม่ได้ ต้องถูกลงโทษด้วยการปรับเป็นเงินไม่เกิน 50,000 บาท และปรับวันละ1,000บาทจนกว่าทำให้ถูกต้อง

 

ขณะที่การมีส่วนร่วมของสมาชิกพรรค กำหนดให้มีส่วนร่วมทั้งการทำนโยบาย,เลือกกรรมการบริหารพรรค และส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งแบบแบ่งเขตเลือกตั้งและบัญชี ผ่านตัวแทนสาขาพรรค

 

ส่วนบทบัญญัติว่าด้วยข้อห้ามและบทลงโทษตามที่เพิ่มเติมใหม่นั้น ประกอบด้วย  1.ห้าม “คนนอก” รวมถึง ผู้ไม่มีสัญชาติไทย, ผู้ที่ถูกคำสั่งห้ามดำรงตำแหน่งในพรรคการเมือง, ผู้ไม่มีสิทธิเลือกตั้ง เข้าไปก้าวก่าย, แทรกแซง หรือมีส่วนในกิจกรรมทางการเมืองของพรรคไม่ว่าทางตรง และทางอ้อม หากพรรคไหนฝ่าฝืน บทลงโทษจะตกไปที่ “กรรมการบริหารพรรค” คือถูกจำคุก ตั้งแต่ 7 ปี แต่ไม่เกิน 15 ปี, ปรับ 4หมื่นไม่เกิน3ล้านบาท และ ถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

 

2.ห้ามพรรคการเมือง “ซื้อตัวบุคคล” หรือ ห้ามผู้ใดเรียกเงินจากพรรค เพื่อประสงค์ “ขายตัว” ในทางการเมือง หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุก ตั้งแต่ 3 ปี ไม่เกิน5ปี และปรับ 6หมื่นไม่เกิน1แสนบาทรวมถึงต้องโทษเพิกถอนสิทธิเลือกตั้งด้วย

 

3.ห้ามพรรคเรียกรับเงิน หรือทรัพย์สินเพื่อแลกกับตำแหน่งทางการเมือง, ตำแหน่งบริหาร หรือตำแหน่งในหน่วยงานรัฐ รวมถึง ห้ามพรรคหรือผู้ดำรงตำแหน่งในพรรคส่งเสริมให้บุคคลกระทำการโค่นล้มราชบัลลังก์เศรษฐกิจของประเทศ, ราชการแผ่นดิน,ความมั่นคงในราชอาณาจักร หรือ ก่อกวน หรือคุกคามความสงบเรียบร้อย ศีลธรรมของประชาชน และการกระทำที่ทำลายทรัพยากรธรรมชาตของประเทศ กรณีนี้หากฝ่าฝืนต้องโทษจำคุก 5 ปีไม่เกิน 20ปี หรือจำคุกตลอดชีวิต หรือประหารชีวิต โดยกรณีที่ศาลไม่ได้พิพากษาลงโทษประหารชีวิต ต้องถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

โดย “ยาแรง” ที่เพิ่มนั้น “กรธ.” อธิบายว่าเพื่อไม่ให้การทำงานการเมือง ถูกใช้เป็นเวทีทำธุรกิจ การค้า เพราะการเรียกเงินเพื่อซื้อขายตำแหน่งนั้น เท่ากับการ “ทรยศต่อประชาชน และโกงชาติ”

ขณะที่มาตรการตรวจสอบกิจกรรมของพรรค ที่ “กรธ.” ยกให้เป็นหัวใจแห่งการปฏิรูปพรรคการเมือง ในแง่ความโปร่งใส และสร้างสถาบันการเมืองที่ปราศจากนายทุนผูกขาด นั้นกำหนดให้พรรคต้องรายงานและประกาศสู่สาธารณะต่อการได้รับเงินหรือทรัพย์สินบริจาค ทุกเดือน!! ขณะเดียวกันผู้ที่บริจาคเงินเกิน 5,000 บาทต้องเปิดเผยรายชื่อ พร้อมกำหนดเพดาน ห้ามบุคคลบริจาคเงินให้พรรคเกินปีละ 10ล้านบาท ขณะที่นิติบุคคล ห้ามบริจาคเกินปีละ 5 ล้านบาท ขณะที่กาบริจาคเงินให้พรรคผ่านทางการเสียภาษี ได้เพิ่มให้เป็นปีละ 500 บาท

 

สำหรับบทที่เพิ่มมาใหม่ คือ ห้ามข้าราชการการเมือง ใช้ตำแหน่งหรือสถานะ เรี่ยไรเงินหรือชักชวนให้บริจาคเงินให้พรรคการเมือง แต่ไม่ตัดสิทธิข้าราชการการเมืองร่วมงานระดมทุนของพรรค กรณีนี้หากพบการฝ่าฝืนต้องถูกจำคุก 2-10ปี ปรับ 4หมื่น-2แสนบาท และแถมด้วยถูกเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง

 

ส่วนบทว่าด้วยการสิ้นสภาพพรรคการเมืองนั้น เนื้อหาส่วนใหญ่เหมือนกันกติกาเดิม แต่ที่เพิ่มเติม คือ “กรณีมีหนี้สินล้นพ้น ตามกฎหมายว่าด้วยล้มละลาย”

ขณะที่บทว่าด้วย ยุบพรรค ดูเหมือนจะผ่อนเบากว่า กติกาเดิมอยู่มาก เพราะรายละเอียดสำคัญ มีเพียงการกระทำล้มล้างการปกครองระบอบประชาธิปไตยอันมีพระมหากษัตริย์ทรงเป็นประมุข ใช้วิธีที่ไม่บัญญัติไว้ในรัฐธรมนูญเพื่อให้ได้มาซึ่งอำนาจปกครอง, กระทำสิ่งที่เป็นปฏิปักษ์ต่อการปกครอง 

แต่ที่เพิ่มเติม คือ การซื้อตัว-ขายตัวทางการเมือง การเรียกรับเงินเพื่อแลกกันตำแหน่ง หรือสนับสนุนผู้บ่อนทำลายประเทศในด้านต่างๆ รวมถึงการตั้งพรรคเพื่อประสงค์หากำไรมาแบ่งปันกัน

 

แต่ในกรณีดังกล่าวแง่การตรวจสอบพบว่า ให้สิทธิศาลรัฐธรรมนูญสั่งให้พรรคการเมืองระงับการกระทำไว้ชั่วคราว ตามคำร้องขอของนายทะเบียนหรืออัยการสูงสุดฐานะผู้ยื่นเรื่อง

 

ส่วนเนื้อความของบทเฉพาะกาล ซึ่งมีผลโดยตรงกับพรรคการเมืองปัจจุบัน ที่ต้องปรับตัวให้เข้ากับกติกาใหม่ กำหนดรายละเอียด คือ นับตั้งแต่มีกติกาใหม่ใช้บังคับ ภายใน 30วัน ให้ส่งสำเนาสมาชิกที่มีอยู่ ให้นายทะเบียน , ภายใน 60 วัน ให้นัดประชุมใหญ่เพื่อแก้ไขข้อบังคับและประกาศอุดมการณ์, นโยบายของพรรครวมถึงตั้งหัวหน้าสาขา, ภายใน 150 วัน ให้ตั้งสาขาพรรคและตัวแทนประจำจังหวัดให้ครบตามกำหนด, ภายใน 180 วันให้สมาชิกที่ต้องการเป็นสมาชิกของพรรค จ่ายค่าบำรุงตามข้อบังคับพรรคการเมืองกำหนด หากไม่จ่ายให้ถือว่าพ้นจากความเป็นสมาชิก และเมื่อพ้นระยะเวลาดังกล่าว ให้แจ้งหลักฐานการจ่ายค่าบำรุงให้นายทะเบียน ภายใน 50 วัน และภายใน 180 วันให้พรรคหาทุนประเดิมจากสมาชิกพรรค แล้วแจ้งต่อนายทะเบียน

  

โดยข้อปฏิบัติทั้งหมด สามารถขยายเวลาดำเนินการได้ แต่ไม่เกิน 3 ปี และระหว่างที่ยังทำไม่เสร็จ พรรคการเมืองหมดสิทธิส่งผู้สมัครรับเลือกตั้งและหมดสิทธิได้รับเงินสนับสนุนจากกองทุนพัฒนาพรรคการเมือง และหากพ้น 3 ปีแล้วพรรคทำไม่เสร็จถือว่าสิ้นสภาพพรรคการเมือง

โดยการบััญญัตินี้ไม่ได้กำหนดการ “รีเซ็ทสมาชิกพรรคการเมือง” ตามที่เป็นข่าวมาก่อนหน้านี้แต่อย่างใด

 

ทั้งนั้นนั้นเป็นภาพรวมของ ร่างกติกาใหม่ ที่ พรรคการเมือง ต้องปฏิบัติและปรับปรุงตัวเอง เพื่อเรียกความเชื่อมั่นแห่งสถานบันทางการเมืองกลับคืน ตามอุดมคติที่ “กรธ.” ได้พิจารณา แต่ทั้งหมดนั้นยังไม่ใช่ข้อยุติเป็นที่สุด.

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ