คอลัมนิสต์

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สมเด็จพระเจ้าอยู่หัววชิราลงกรณฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯ แต่งตั้ง องคมนตรีใหม่ โดยในนั้นมี 3 คนที่เป็นองคมนตรีใหม่

พล.อ. ไพบูลย์ คุ้มฉายา 
 
    พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา เกิด 21 มิถุนายน พ.ศ. 2498 อายุ 61 ปี   รัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม,หัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรมของ คสช.และสมาชิกคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.)
 
     เคยผ่านตำแหน่งสำคัญทางทหารมามากมาย  ทั้ง  อดีตรองผู้บัญชาการทหารสูงสุด, ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก ,แม่ทัพภาคที่ 1, อดีตผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์, อดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 1 มหาดเล็กรักษาพระองค์และอดีตผู้บังคับการกรมทหารราบที่ 11 รักษาพระองค์
 
    พลเอก ไพบูลย์ คุ้มฉายา หรือที่สื่อมวลชนมักจะเรียกว่า "บิ๊กต๊อก"  เป็นคน อำเภออู่ทอง จังหวัดสุพรรณบุรี เป็นบุตรของนายลออ คุ้มฉายา กับนางจันทร์ คุ้มฉายา  ฐานะครอบครัวค่อนข้างยากจน พ่อเป็นครูประชาบาล และทำไร่นา  ต่อมาสมรสกับนางพจนี คุ้มฉายา โดยมีบุตรสาว 1 คน คือ นางอิงฆ์พลัฏฐ์ อำไพวิทย์ ปัจจุบันได้สมรสกับนายพีรพล อำไพวิทย์
 
    ในวันที่22 ตุลาคมพ.ศ. 2558  เขา ได้รับแต่งตั้งเป็น “ราชองครักษ์พิเศษ” 

    พลเอกไพบูลย์ จบการศึกษา ระดับมัธยมจากโรงเรียนอู่ทองซึ่งเป็นโรงเรียนประจำอำเภอ และจบจากโรงเรียนเตรียมทหารรุ่น 15 (ตท.15) และโรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้ารุ่น 26 (จปร.26) รุ่นเดียวกับพลตำรวจเอกสมยศ พุ่มพันธุ์ม่วง อดีตผู้บัญชาการตำรวจแห่งชาติ, พลเอกปรีชา จันทร์โอชา ปลัดกระทรวงกลาโหม

     พล.อ. ไพบูลย์ ได้รับการแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรม ในรัฐบาลของพลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชาและเป็นหัวหน้าฝ่ายกฎหมายและกระบวนการยุติธรรม ของคณะรักษาความสงบแห่งชาติ อีกหน้าที่หนึ่ง

   ทั้งนี้ผลงานของ พล.อ.ไพบูลย์ ในขณะที่ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงยุติธรรมประกอบด้วย 

-ปรับโฉมหน้ายุทธศาสตร์แก้ปัญหายาเสพติดชาติ ตามเทรนโลกซึ่งตรงกับโครงการพระราชดำริของพระเจ้าหลานเธอพระองค์เจ้าพัชรกิตติยาภา  เน้นการบำบัดรักษาผู้เสพ. เพื่อให้ผู้เสพเป็นผู้ป่วยอย่างแท้จริงขณะที่นักค้ารายใหญ่ต้องถูกกวาดล้างปราบปราม. โดยตัดทำบัญชีนักค้ารายใหญ่ระดับชาติ 5 กลุ่มใหญ่ 60 เครือข่าย ดึงความร่วมมือจากนานาชาติร่วมปราบปรามในปฏิบัติการเซฟแม่โขง ปิดล้อมสามเหลี่ยมทองคำสกัดสารตั้งต้นไม่ให้ลำเลียงเข้าสู่แหล่งผลิตและปิดกั้นไม่ให้ยาเสพติดที่ผลิตถูกขนส่งออกไปยังประเทศที่สาม โดยได้รับความร่วมมือที่ดีจากจีน. และดึงเงินสนับสนุนจากออสเตรเลียและยูเอ็นโอดีซีเข้าไปสนับสนุนยุทโธปกรณ์และพัฒนาการปลูกพืชทางเลือกตามศาสตร์พระราชาในประเทศพม่า 

-คดี 112 พล.อ.ไพบูลย์มีบทบาทสำคัญในการตามล่าผู้ต้องหาตามหมายจับในคดี 112 ซึ่งเป็นผู้ร้ายข้ามแดนหลบหนีไปยังประเทศแต่ยังมีความเคลื่อนไหวโพสต์ข้อความหมิ่นพระบรมเดชานุภาพอย่างต่อเนื่อง โดยพล.อ.ไพบูลย์สั่งการให้ดีเอสไอทำหนังสือชี้แจงทำความเข้าใจไปยังสถานทูตต่างๆหลายครั้ง จนกระทั่งได้รับการตอบรับจากสถานทูตของหลายประเทศ

- ปัญหาเด็กแวนท์-ผับบาร์เปิดเกินเวลาให้เยาวชนอายุต่ำกว่า. 20 ปีเข้าไปใช้บริการ ซึ่งพล.อ.ไพบูลย์ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้เป็นประธานการแก้ปัญหา หากมีการจู่โจมตรวจค้นพบว่าสถานบริการใดให้เยาวชนเข้าไปใช้บริการหรือเปิดบริการเกินเวลาจะถูกสั่งปิดถาวร เจ้าหน้าที่จะถูกย้ายออกจากพื้นที่ ส่วนปัญหาเด็กแว้นท์ได้ผระสานความร่วมมือระหว่างตำรวจกับกระทรวงดิจิตอลฯให้ติดตามเฟชบุ๊คและโซเซียลมีเดียของเยาวชนกลั่มเสี่ยงเพื่อวางแผนเข้าจับกุมตั้งแต่ก่อนเยาวชนจะเริ่มแข่งขันซิ่งรถในทาง นอกจากนี้ยังเพิ่มโทษเอาผิดกับผู้ปกครองที่ปล่อยปะบุตรหลานให้ออกมาสร้างความเดือดร้อนให้สังคมด้วย


- ปราบทุจริต. บูรณาการงานปราบปรามทุจริตภายใต้ศอตช.  นำไปสู่การตรวจสอบโครงการส่อทุจริตทั่วประเทศ. และเสนอให้นายกฯใช้อำนาจตามมาตรา 44 ย้ายข้าราชการและนักการเมืองท้องถิ่นพ้นจากตำแหน่งในทันทีที่ตรวจสอบพบหลักฐานพัวพันการทุจริต ล่าสุดมีการใช้มาตรา 44 ย้ายข้าราชการไปแล้ว 4 ล็อต

- One map. แผนที่ฉบับบูรณาการอัตราส่วน 1:4000 พล.อ.ไพบูลย์ได้รับมอบหมายจากนายกฯให้แก้ไขปัญหาการทับซ้อนของที่ดินซึ่งมีที่มาจากการใช้ภาพถ่ายแผนที่ทางอากาศแนบท้ายกฎหมายของหน่วยราชการต่างๆที่มีอัตราส่วนแตกต่างกัน เป็นช่องว่างให้เกิดการทุจริตออกเอกสารสิทธิที่ดินและการบุกรุกป่า. ล่าสุดการขีดเส้นแผนที่แล้วเสร็จตามกรอบเวลา คงเหลือเพียงการแก้ไขกฎหมายแนบท้ายของหน่วยราชการ คาดว่าจะประกาศใช้แผนที่ฉบับบูรณาการได้ภายในปี. 2561 


- คดียักยอกฉ้อโกงสหกรณ์เครดิตยูเนี่ยนคลองจั่นจำกัด. ซึ่งเดิมคดีล่าช้า ถูกมองว่ามีการตัดตอนความผิดไปให้ศุภชัย ศรีศุภอักษร เพียงคนเดียว แต่พล.อ.ไพบูลย์สั่งรื้อสำนวนการสอบสวน ส่งผลให้มีการสอบสวนคดีฟอกเงินไปยังผู้มีรายชื่อรับเช็คทุกฉบับที่สั่งจ่ายจากศุภชัย. โดย 1 ในนั้นมีพระธัมมชโยเจ้าอาวาสวัดพระธรรมกาย รับเช็คบริจาควงเงิน 1,400 ล้านบาท. แต่ก็มีการสั่งเลื่อนคดีของอัยการหลายครั้ง กระทั่งพล.อ.ไพบูลย์สะท้อนความรู้สึกของประชาชนว่า ด้วยวลี "ใครถ่วงคดี"  จากนั้นเพียงไม่กี่วันอัยการจึงรความเห็นสั่งฟ้องพระธัมมชโยฐานสมคบฟอกเงิน ร่วมกันฟอกเงิน และรับของโจร. นอกจากนี้ยังมีการขยายผลคดีถึงข้าราชการดีเอสไอที่มีชื่อรับเช็คในกลุ่มนายหน้าขายที่ดิน โดยพล.อ.ไพบูลย์สั่งการให้ดำดนืนคดีอาญาและสอบสวนวินัยร้ายแรง และขยายผลให้ถึงผู้อยู่เบื้องหลังข้าราชการทั้ง. 2 รายนี้ รวมถึงเจ้าหน้าของสำนักงานป้องกันและปราบปรามการฟอกเงิน (ปปง.) ที่ร่วมกันมีมติถอนอายัดี่ดินนำไปสู่การซื้อขายวงเงินกว่า 400 ล้านบาท แต่มีเงืนคืนให้สหกรณ์คลองจั่นเพียง 100 ล้านบาทเท่านั้น


- สำหรับคดีเสื้อแดง พล.อ.ไพบูลย์สั่งปิดเรือนจำชั่วคราวหลักสี่ หรือคุกนักโทษคดีการเมือง โดยให้กระจายนักโทษทุกรายไปขังตามเรือนจำในภูมิภาคของนักโทษ เพื่อความสะดวกในการเยี่ยมญาติ. พร้อมย้ำว่าไม่มีนักโทษคดีการเมือง มีแต่นักโทษคดีอาญา ซึ่งกรมราชทัณฑ์ต้องควบคุมดูแลเท่าเทียมกันทุกราย

    ล่าสุดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่

พล.อ.ธีรชัย นาควาณิช

    พล.อ.ธีรชัย นาควาณิช   เกิดเมื่อวันที่ 16 พฤศจิกายน พ.ศ. 2498 อายุ 61 ปี เป็นบุตรของ พล.ต ธวัชชัย นาควานิช กับหม่อมราชวงศ์พิศวาส ดิศกุล นาควานิช สมรสกับ พล.ต.หญิง บุญรักษา นาควานิช มีบุตรชาย 2 คน 
 
    พล.อ.ธีรชัย จบการศึกษาระดับมัธยมศึกษาที่โรงเรียนสาธิตมหาวิทยาลัยศรีนครินทรวิโรฒ ปทุมวัน รุ่นที่ 15  จากนั้นเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 14 รุ่นเดียวกับ พลอากาศเอก ตรีทศ สนแจ้ง อดีตผู้บัญชาการทหารอากาศ  และเข้ารับการศึกษาต่อเนื่องที่โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 25 

    โดย พล.อ.ธีรชัย รับตำแหน่งสำคัญๆ และไต่เต้าขึ้นมาตามลำดับ   โดยเป็น เสนาธิการกองทัพน้อยที่ 1  รองแม่ทัพน้อยที่ 1 รองแม่ทัพภาคที่ 1 แม่ทัพน้อยที่ 1  ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบก ฝ่ายส่งกำลังบำรุง  รองเสนาธิการทหารบก แม่ทัพภาคที่ 1  ผู้ช่วยผู้บัญชาการทหารบก  และเป็นผู้บัญชาการทหารบก เมื่อปี 2558   

     พล.อ.ธีรชัย เป็น ผู้บัญชาการทหารบก คนที่ 39 ในปี 2558  ต่อจาก พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา และ พล.อ.อุดมเดช สีตะบุตร  โดยถูกมองว่าเป็นหนึ่งในสายบูรพาพยัคฆ์  

    ทั้งนี้ เขายังมีบทบาทสำคัญในช่วงรัฐประหาร โดยขณะนั้นดำรงตำแหน่งแม่ทัพภาค 1  และเคยเป็นผู้บัญชาการกองกำลังรักษาความสงบ (กกล.รส.) อีกด้วย  
 
    อย่างไรก็ตามเขาเกษียณจากตำแหน่งผู้บัญชาการทหารบกเมื่อวันที่ 30 ก.ย. 2559  ที่ผ่านมา   และในการประชุมคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ก็ได้มีมติแต่งตั้ง พล.อ.ธีรชัยเป็นประธานคณะกรรมการการประปาส่วนภูมิภาค  

    ล่าสุดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่

พล.อ.ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ 

    พล.อ. ดาว์พงษ์ รัตนสุวรรณ เกิด 8 กันยายน พ.ศ. 2496  ปัจุจุบัน อายุ 63 ปี เป็นบุตรชายของ พันเอก (พิเศษ) ศิริ รัตนสุวรรณ และนางชม้อย รัตนสุวรรณ สมรสกับ พลโทหญิง สุพัตรา รัตนสุวรรณ ข้าราชการบำนาญ อดีตผู้ทรงคุณวุฒิกองทัพบก มีบุตร 2 คน 

    พล.อ.ดาว์พงษ์ จบการศึกษาจากโรงเรียนเตรียมทหาร รุ่นที่ 12   รุ่นเดียวกับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี  และ โรงเรียนนายร้อยพระจุลจอมเกล้า รุ่นที่ 23 (จปร.23) และ

    ในชีวิตราชการ พล.อ.ดาว์พงษ์ได้ดำรงตำแหน่งสำคัญๆ อาทิ ผู้บัญชาการกองพลที่ 1 รักษาพระองค์  รองแม่ทัพภาค 1  ผู้ช่วยเสนาธิการทหารบกฝ่ายยุทธการ  รองเสนาธิการทหารบก และ เสนาธิการทหารบก และเกษียณราชการในตำแหน่งรองผู้บัญชาการทหารบก     
 
    พล.อ.ดาว์พงษ์เป็นผู้มีบทบาทสำคัญในการรัฐประหารปี 2549  และ ในขณะนั้นเขาได้รับตำแหน่งสมาชิก สนช. อีกทั้ง ยังเป็นกรรมการและผู้ช่วยเลขานุการศูนย์อำนาจการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน ช่วงการชุมนุมของกลุ่ม นปช. โดยทำหน้าที่ออกแถลงการณ์ผ่านโทรทัศน์ถึงการกระชับพื้นที่และการสลายการชุมนุม 

    นอกจากนั้น  พล.อ.ดาว์พงษ์ยังมีบทบาทในการแก้ไขสถานการณ์ความรุนแรงในภาคใต้ โดยเป็นผู้รับผิดชอบจัดทำโครงสร้างของกองอำนวยการรักษาความมั่นคงภายใน (กอ.รมน.) และเป็นผู้วางแผนงานต่าง ๆ ในการปราบปรามผู้ก่อความไม่สงบรวมถึงเป็นผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์ปฏิบัติการคณะกรรมการขับเคลื่อนนโยบายและยุทธศาสตร์การแก้ไขปัญหาจังหวัดชายแดนภาคใต้ 

    พล.อ.ดาว์พงษ์นั้นถือเป็นนายทหารสายวงศ์เทวัญ เพียงคนเดียวที่ได้รับเลื่อนยศและตำแหน่งในช่วงที่มีการวิจารณ์ว่ามีแต่สายบูรพาพยัคฆ์ 
 
    ทั้งนี้ภายหลังการรัฐประหาร เขาได้รับแต่งตั้งเป็น  รัฐมนตรีว่าการกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม  และต่อมาถูกปรับให้ไปรับตำแหน่งรัฐมนตรีว่าการกระทรวงศึกษาธิการ ในเดือนสิงหาคม พ.ศ. 2558

    และล่าสุดสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณฯ มีพระบรมราชโองการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้เป็นองคมนตรี

เปิดประวัติ สาม "องคมนตรี" ใหม่

-------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ