คอลัมนิสต์

โจทย์ที่หลากหลาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

"โจทย์ที่หลากหลาย" คอลัมน์ "ขยายปมร้อน" โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

วันเวลาผ่านไป “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” - “รัฐบาล” - “คสช.”  ที่เข้ายึดกุมการบังคับรัฐนาวาที่ชื่อ “ประเทศไทย”  คงทราบแล้วว่าสิ่งที่ยากกว่าการเข้าคุมอำนาจ คือทำอย่างไรจะพาประเทศให้ผ่านพ้นปัญหาต่างๆไปให้ได้

 

โจทย์ของประเทศมิได้มีเพียงโจทย์เดียวเช่น โจทย์เรื่องความขัดแย้ง  โจทย์เรื่องคอร์รัปชั่น หรือโจทย์เรื่องการเมืองเท่านั้น แต่หากยังมีโจทย์อีกหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นเรื่องความเท่าเทียม  เศรษฐกิจ เรื่องทรัพยากร  เรื่องผลิตผลการเกษตร เรื่องอาชญากรรม เรื่องคุณภาพชีวิต  ทุกโจทย์ล้วนแล้วแต่ต้องการให้ผู้บริหารประเทศเข้ามาแก้ไขทั้งสิ้น

 

ซึ่งที่ผ่านมาพวกเขาก็ได้เรียนรู้มาพอสมควร เราจึงเห็นการแก้ปัญหาที่สุดท้ายแล้วเหมือนสภาพบังคับ กล่าวคือ เป็นวิธีที่ซ้ำรอยกับที่บรรดานักการเมืองเคยทำยามเป็นรัฐบาล  รวมถึงการใช้โครงการที่เคยถูกเรียกว่าเป็น “ประชานิยม” แต่มาในคราวนี้ถูกเปลี่ยนชื่อเป็น “ประชารัฐ”

 

เราได้เห็นปัญหาที่ว่าด้วยราคาสินค้าการเกษตรตกต่ำ  ไม่จำเพาะกับ “ข้าว” เท่านั้น  แต่ยังเห็นโมเดลเดียวกันเกิดกับสินค้าทางการเกษตรอื่นๆ  ไม่ว่าจะเป็นยางพาราหรือข้าวโพด  และยังมีประเภทอื่นรอคิวตามมา อาทิ ถั่วเหลือง ลำไย 

 

การแก้ปัญหาเรื่องเหล่านี้ แม้จะไม่อยากยอมรับ แต่ก็ต้องทำ เพราะนั่นหมายถึงความอยู่รอดทั้งของรัฐบาล และของเกษตรกร นั่นคือ การแทรกแซงราคาสินค้า  ตัวอย่างที่เห็นชัดล่าสุดคือ “ข้าว”  ที่แม้จะมีความพยายามลบภาพไม่ให้เหมือนรัฐบาลที่ผ่านมา ไม่ว่าจะเป็น “จำนำข้าว” หรือ “ประกันราคาข้าว” ที่มักถูกมองว่าเป็นโครงการประชานิยม แถมยังเป็นการสิ้นเปลืองงบประมาณ สร้างความเคยชินที่ไม่ถูกต้องให้เกษตรกร อีกทั้งยังมีช่องให้คอร์รัปชั่น 

 

แต่ก็ต้องยอมรับว่าหากปล่อยให้ราคาสินค้าเกษตรตกต่ำลง เกษตรกรก็จะตกอยู่ในสถานะลำบาก ไม่สามารถดำรงชีพอยู่ต่อไปได้  ซึ่งหมายถึงจะสภาพเศรษฐกิจโดยรวมจะได้รับผลกระทบ เพราะหากคนระดับล่างไม่มีเงิน การจับจ่ายก็จะไม่เกิดขึ้น  รวมไปถึงการใช้หนี้ก็จะไม่เกิด ซึ่งนั่นย่อมต้องลามถึงสถาบันการเงิน  ไม่นับต้องพูดถึงการผลิตรอบใหม่ ที่จะหยุดชะงักลง  

 

หล่านี้ล้วนเป็นสภาพที่เรียกว่า “ไฟท์บังคับ” ทั้งสิ้น ซึ่งไม่เพียงแต่รัฐบาลทหารเท่านั้นที่ต้องเผชิญ หากแต่รัฐบาลทุกรัฐบาลต้องเผชิญ แม้จะรู้ว่าเสี่ยงก็ต้องทำ เพื่อพยุงสถานการณ์   จึงไม่แปลกที่สุดท้ายรัฐบาลนี้ก้ต้องออกโครงการ “จำนำยุ้งฉาง” ซึ่งนัยยะคือการแทรกแซงราคานั่นเอง

และต่อให้เสี่ยงกับการคอร์รัปชั่นแค่ไหนก็ต้องทำ ดังเช่นที่ขณะนี้ในหลายจังหวัดกำลังเผชิญข้อกล่าวหานี้  

 

หรือเมื่อสินค้าการเกษตรขาดตลาดไม่เพียงพอต่อความต้องการ พวกเขาก็ต้องนำเข้าเพื่อให้เพียงพอต่อการผลิต  แต่เมื่อนำเข้ามากๆ ราคาสินค้านั้นๆก็จำตกลง ก็เป็นเรื่องที่รัฐบาลต้องรักษาความสมดุล  และที่สำคัญย่อมถูกตั้งคำถามว่าการทำแบบนี้เพื่อเอื้อต่อ “ใคร” เป็นพิเศษหรือไม่ 

 

นอกจากนี้ ปัญหาเศรษฐกิจอย่างปัญหาเงินฝืด ก็ทำให้รัฐบาลต้องประสบภาวะยากลำบากไม่น้อย เพราะเมื่อเศรษฐกิจอยู่ในภาวะขาลง คนย่อมชะลอการใช้จ่าย  เราจึงได้เห็นมาตรการ “แจกเงิน”เพื่อให้เกิดการจับจ่ายใช้สอยในระดับล่างๆ พูดง่ายๆคือ ต้องการให้เงินหมุนเวียนในระบบนั่นเอง  ซึ่งวิธีนี้ก็เป็นวิธีที่รัฐบาลพลเรือนทำเช่นเดียวกัน 

 

ส่วนโครงการ “ประชานิยม”  ที่เริ่มต้นโดยรัฐบาลชุดนี้อย่างมาตรการลดภาษีการจับจ่ายช่วงปีใหม่ ก็ถูกนำออกมาใช้ซ้ำ เพื่อนกระตุ้นเศรษฐกิจอีกครั้งเช่นเดียวกันในปีนี้ ซ้ำยังขยายวงเงินลดหย่อนเพิ่มเติมอีกด้วย

 

นี่คือสถานะที่รัฐบาลที่ต้องกุมการบริหารประเทศจะต้องเจอ กล่าวคือ ต้องบริหารทุกด้านพร้อมๆกัน รวมถึงบริหารอำนาจของตัวเองด้วย 

 

 แต่ที่น่าสนใจเช่นเดียวกันคือ โครงการระตุ้นเศรษฐกิจต่างๆ นั้นคณะรัฐบาลแต่ละชุดก็คิดมาทั้งกระบวนการ รวมถึงการแก้ไขปัจจัยปัยหาในช่วงนั้นๆ  เช่นโครงการจำนำข้าว รัฐบาลเพื่อไทย เองก็มองถึงสภาพปัญหาราคาข้าว ณ ขณะนั้น หรือการแจก “เช็คช่วยชาติ” ของพรรคประชาธิปัตย์ ก็พิจารณาจากการกระตุ้นเศรษฐกิจ จากสภาวะเศรษฐกิจโลกในขณะนั้นเช่นกัน

 

เราก็ได้แต่เอาใจช่วยกับรัฐบาลปัจจุบัน  ให้การแก้ไขปัญหาลุล่วง ขณะเดียวก้นก็ต้องภาวนาให้รัฐบาลมองให้เห็นโจทย์ที่แท้จริงว่า ปัญหาที่เกิดขึ้นทั้งหมดมีต้นเหตุมาจากอะไร หากมองไม่ออก ต่อให้ทำอะไรลงไปเท่าไหร่ก็มีแต่สูญเปล่าเท่านั้น 

-------------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ