คอลัมนิสต์

“ส่อง ตุลาการศาล รธน....ใคร? ร่วง !!-อยู่ต่อ ”

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ยกระดับคุณสมบัติตุลาการศาล รธน. สูงขึ้นกว่าเดิม ซึ่งอาจสร้างปัญหาให้ ตุลาการศาล รธน.ชุดปัจจุบัน

 

             แม้ว่า “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ชุดปัจจุบัน จะอยู่ได้อีกนานแค่ไหน ขึ้นอยู่กับ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญหรือ กม.ลูก ซึ่งเป็นไปตามมาตรา 273 ของร่างรัฐธรรมนูญ ที่บัญญัติว่า “ ให้ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ซึ่งดำรงตำแหน่งอยู่ในวันก่อนวันประกาศใช้รัฐธรรมนูญนี้ยังคงอยู่ในตำแหน่งเพื่อปฏิบัติหน้าที่ต่อไป และเมื่อ  พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวข้องที่จัดขึ้นใช้บังคับแล้ว การดำรงตำแหน่งต่อไปเพียงใดให้เป็นไปตามพระราชบัญญัติประกอบรัฐธรรมนูญดังกล่าว” แต่ปกติแล้ว พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญ หรือ กม.ลูก จะบัญญัติเนื้อหาขัดในสาระสำคัญกับ“รัฐธรรมนูญ” ซึ่งเป็นกฎหมายสูงสุดและเป็น “แม่บท”ไม่ได้  

              ดังนั้น จึงต้องพลิกไปดูร่างรัฐธรรมนูญใหม่ ในส่วนที่เกี่ยวกับ “ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าบัญญัติไว้อย่างไร 

              ทั้งนี้มาตรา 200 บัญญัติว่า ศาลรัฐธรรมนูญ ประกอบด้วยตุลาการศาลรัฐธรรมนูญจำนวน 9 คน  ซึ่งพระมหากษัตริย์ทรงแต่งตั้งจากบุคคล ดังต่อไปนี้ 

               (1) ผู้พิพากษาในศาลฎีกา ซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา มาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา  จำนวน 3 คน (คุณสมบัติสูงกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ซึ่งบัญญัติว่า ดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า ผู้พิพากษาศาลฎีกา และไม่ได้กำหนดระยะเวลาในการดำรงตำแหน่ง)

             (2) ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดซึ่งดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่า  ตุลาการศาลปกครองสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี  ซึ่งได้รับคัดเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุดจำนวน 2 คน (คุณสมบัติสูงกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติแต่เพียงว่า เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุด แต่ไม่ได้กำหนดระยะเวลาการดำรงตำแหน่ง) 

             (3) ผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์  ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่ง “ศาสตราจารย์” ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า 5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์ จำนวน 1 คน (คุณสมบัติสูงกว่ารัฐธรรมนูญปี50 ที่บัญญัติ เพียงว่าเป็นผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์)

            (4)ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ หรือรัฐประศาสนศาสตร์  ซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้ดำรงตำแหน่งหรือเคยดำรงตำแหน่ง“ศาสตราจารย์” ของมหาวิทยาลัยในประเทศไทยมาแล้วเป็นเวลาไม่น้อยกว่า5 ปี และยังมีผลงานทางวิชาการเป็นที่ประจักษ์จำนวน 1 คน  (คุณสมบัติสูงกว่ารัฐธรรมนูญปี 2550 ที่บัญญัติเพียงว่า ผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ รัฐประศาสนศาสตร์  หรือสังคมศาสตร์อื่น )  

            (5) ผู้ทรงคุณวุฒิซึ่งได้รับการสรรหาจากผู้รับหรือเคยรับราชการในตำแหน่งไม่ต่ำกว่าอธิบดีหรือหัวหน้าส่วนราชการที่เทียบเท่า หรือตำแหน่งไม่ต่ำกว่ารองอัยการสูงสุดมาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี จำนวน 2 คน (เพิ่มมาใหม่)

            สำหรับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ปัจจุบันมี 9 คน ดังนี้

            1. มาจากการได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา   3 คน คือ นายนุรักษ์ มาประณีต ( ปัจจุบันเป็นประธานศาลรัฐธรรมนูญ),นายชัช ชลวร , บุญส่ง กุลบุปผา

           2.มาจากการได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน คือ  นายวรวิทย์  กังศศิเทียม  และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี 

           3 มาจากการสรรหาจากผู้ทรงคุณสาขานิติศาสตร์   2 คน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล และ นายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

           4. มาจากการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิ สาขารัฐศาสตร์   2 คน คือ  นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์  และนายปัญญา อุดชาชน  

            ดังนั้นหาก กม.ลูก ออกมาประกาศใช้ แล้วไม่มีการยกเว้นคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่กำหนดตามร่างรัฐธรรมใหม่ไว้ให้กับตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน อาจมีตุลาการศาลรัฐธรรมนูญต้องพ้นจากตำแหน่ง เนื่องจากมีคุณสมบัติไม่ถึงตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด คือ

          -ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  3 คนที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา

          คือ นายนุรักษ์ มาประณีต เนื่องจาก  ตำแหน่งสูงสุด ก่อนเป็น ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ คือ ผู้พิพากษาศาลฎีกา  ไม่ถึงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา เช่นเดียวกับนายบุญส่ง กุลบุปผา ส่วนนายชัช ชลวร  แม้จะเคยเป็นถึงผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา,ประธานแผนกคดีเยาวชนและครอบครัวในศาลฎีกา ซึ่งเป็นตำแหน่งที่สูงกว่าผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา แต่เมื่อรวมระยะเวลาที่นายชัช ดำรงตำแหน่งทั้งสองตำแหน่งเป็นเวลา 2 ปีเศษ เท่านั้น ไม่ถึง 3 ปี ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่กำหนด

           แต่ทั้ง 3 คน อาจได้อยู่ต่อ หากเข้าข้อยกเว้น คือ ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา ไม่สามารถเลือก "ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา " มาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ ทั้งนี้เป็นไป ตามมาตรา 200 วรรคสอง ที่ว่า " ในกรณีที่ไม่อาจเลือกผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา ที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาจะเลือกบุคคลจากผู้ซึ่งเคยดำรงตำแหน่งไม่ต่ำกว่าผู้พิพากษาในศาลฎีกามาแล้วไม่น้อยกว่า 3 ปี ก็ได้ 

           อย่างไรก็ตาม แม้ว่า จะยึดตามหลักที่ว่า ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกา จะต้องเป็นระดับ “ ผู้พิพากษาหัวหน้าคณะในศาลฎีกา”ขึ้นไป แต่เนื่องจากทั้ง 3 คน  คือนายนุรักษ์,นายชัช และนายบุญส่ง ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ พ.ค.2551 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ใน พ.ค.ปี 2560 ดังนั้นกว่า พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ จะเสร็จและมีผลบังบังคับใช้ทั้ง 3 คน คงพ้นตำแหน่งตามวาระไปแล้ว จึงไม่น่าจะได้รับผลกระทบใดๆ เนื่องจาก ร่าง พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญฯ คณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญมีเวลาในการยกร่างถึง 240 วันหรือ 8 เดือนนับแต่วันประกาศใช้รัฐธรรมนูญ และร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ ไม่ได้มีความเร่งด่วนเหมือนกับร่าง พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับการเลือกตั้ง ซึ่งคณะกรรมการร่างรัฐธรรมนูญได้หยิบขึ้นมายกร่างก่อน (และเมื่อทั้ง 3 คนครบวาระไปแล้ว การดำเนินการสรรหาคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากที่ประชุมใหญ่ศาลฎีกาก็จะเป็นไปตามรัฐธรรมนูญใหม่ คือต้องระดับผู้พิพากษาหัวคณะศาลฎีกาขึ้นไป)

           อีกประเด็นที่มีการพูดถึงกันมากก็คือ ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากคณะกรรมการสรรหาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์และสาขารัฐศาสตร์  

         เมื่อมองไปที่ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขานิติศาสตร์ ปัจจุบัน มี 2 คน คือ นายจรัญ ภักดีธนากุล และนายทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ  

        สำหรับนายจรัญ เป็น“ศาสตราจารย์พิเศษ”ตั้งแต่ ปี 2541และได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เมื่อปี 2551 จึงเป็นระดับ“ศาสตราจารย์” มาแล้วไม่น้อยกว่า 5 ปี นับแต่ได้รับคัดเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ  

        แต่มีปัญหาว่า ตำแหน่ง“ศาสตราจารย์พิเศษ”  ตรงตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนดหรือไม่ เพราะร่างรัฐธรรมนูญกำหนดว่าต้องเป็น“ศาสตราจารย์”  ใช้ทดแทนกันได้หรือไม่ ทั้งนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการสรรหาจะเป็นผู้วินิจฉัย 

        อย่างไรก็ตามก่อนหน้านี้ ศาลรัฐธรรมเคยวินิจฉัยเมื่อปี 2541  ด้วยคะแนน 4 ต่อ 3 เสียงกรณีของศาสตราจารย์พิเศษ อุกฤษ มงคลนาวิน ที่คณะกรรมการสรรหา เสนอชื่อเป็น“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ” ว่าขาดคุณสมบัติที่จะเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ เพราะขัดกับคุณสมบัติของตุลาการศาลรัฐธรรมตามที่รัฐธรรมนูญ ปี 2540 ซึ่งใช้บังคับอยู่ในขณะนั้นกำหนดว่าต้องเป็น“ศาสตราจารย์” โดยศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่า ตำแหน่ง“ศาสตราจารย์” และ“ศาสตราจารย์พิเศษ” เป็นคนละอย่างกัน  ซึ่งคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญผูกพันทุกองค์กร รวมทั้งศาลรัฐธรรมนูญด้วย

        แต่ปัญหาข้างต้นไม่น่าจะเกิดกับนายจรัญ  เนื่องจากว่านายจรัญ  ได้รับการโปรดเกล้าแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งเมื่อ พ.ค.2551 จะครบวาระการดำรงตำแหน่ง 9 ปี ใน พ.ค.ปี 2560 ดังนั้นกว่า ร่างพ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญ จะเสร็จและมีผลบังบังคับใช้ นายจรัญ คงพ้นตำแหน่งตามวาระไปแล้ว 

       มามองที่นายทวีเกียรติ  สำหรับนายทวีเกียรติ ได้เป็น“ศาสตราจารย์”เมื่อปี 2554 และได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2556 จึงเป็น“ศาสตราจารย์”ไม่ถึง 5 ปี  ตามที่ร่างรัฐธรรมนูญกำหนด น่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

      ส่วน“ตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากผู้ทรงคุณวุฒิสาขารัฐศาสตร์ ” ซึ่งปัจจุบัน มี 2 คน คือ   คือ นายนครินทร์ เมฆไตรรัตน์ และนายปัญญา อุดชาชน นั้น 

    สำหรับนายนครินทร์  เป็น“ศาสตราจารย์ ” เมื่อ 17  ก.พ. ปี 2554  และได้รับเลือกเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อ  11 ก.ย .ปี 2558   จึงเป็น“ศาสตราจารย์” เพียง 4 ปี ไม่ถึง 5 ปี ตามที่ร่างรัฐธรรมใหม่กำหนด น่าจะต้องพ้นจากตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ

      เช่นเดียวกับนายปัญญา   ซึ่งมีตำแหน่งทางวิชาการไม่ถึง “ศาสตราจารย์ ”  จึงต้องพ้นตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญไป

       (อย่างไรก็ตามสำหรับนายทวีเกียรติและนายนครินทร์  อาจดำรงตำแหน่งตุลาการศาลรัฐธรรมนูญ ต่อไปได้ถ้าคณะกรรมการสรรหา ปรับลดระยะเวลาการดำรงตำแหน่งศาสตราจารย์ลงเหลือ 2 ปี ซึ่งร่างรัฐธรรมนูญใหม่เปิดช่องให้ทำได้  โดยมาตรา 200 วรรคท้าย บัญญัติว่า ในกรณีจำเป็นอันไม่อาจหลีกเลี่ยงได้ คณะกรรมการสรรหาจะประกาศลดระยะเวลา 5 ปี ลงก็ได้ แต่จะลดลงเหลือน้อยกว่า 2 ปี ไม่ได้)

        ส่วนตุลาการศาลรัฐธรรมนูญที่มาจากการได้รับเลือกโดยที่ประชุมใหญ่ตุลาการในศาลปกครองสูงสุด 2 คน คือ นายวรวิทย์ กังศศิเทียม และนายอุดมศักดิ์ นิติมนตรี นั้น 

       สำหรับนายอุดมศักดิ์  เป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดเมื่อปี 2550และได้รับเลือกจากที่ประชุมใหญ่ตุลาการศาลปกครองสูงสุด ให้เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญในปี 2551 นายอุดมศักดิ์ จึงเป็นตุลาการศาลปกครองสูงสุดไม่ถึง 5 ปี นับแต่วันได้รับคัดเลือกตามที่ร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนด นายอุดมศักดิ์ จึงต้องพ้นตำแหน่ง

       แต่เนื่องจากนายอุดมศักดิ์ จะครบวาระการดำรงตำแหน่งใน พ.ค . ปี 2560  ดังนั้นเมื่อ พ.ร.บ. ประกอบรัฐธรรมนูญที่เกี่ยวกับศาลรัฐธรรมนูญมีผลใช้บังคับ นายอุดมศักดิ์ น่าจะครบวาระไปก่อนแล้ว จึงไมได้ส่งผลกระทบใดๆต่อนายอุดมศักดิ์ 

       ส่วนนายวรวิทย์ เป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญได้ต่อไป เนื่องจากมีคุณสมบัติครบตามร่างรัฐธรรมนูญใหม่กำหนดและ เพิ่งมาเป็นตุลาการศาลรัฐธรรมนูญเมื่อปี 2557

       ทั้งหมด คือ ภาพรวมของตุลาการศาลรัฐธรรมนูญชุดปัจจุบัน ที่อาจได้รับผลกระทบตามร่างรัฐธรรมนูญฉบับใหม่

       กลุ่มเสี่ยง

      ปัญญา อุดชาชน

      ทวีเกียรติ มีนะกนิษฐ

       นครินทร์ เมฆไตรรัตน์

       * นุรักษ์ มาประณีต

       * ชัช ชลวร

       * บุญส่ง กุลบุปผา

       * อุดมศักดิ์ นิติมนตรี 

       * จรัญ ภักดีธนากุล 

 หมายเหตุ * หมายถึง ครบวาระ พ.ค. 60

        ไม่เสี่ยง

        นายวรวิทย์ กังศศิเทียม

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ