คอลัมนิสต์

“ราคาข้าว” ปัจจัยการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "ขยายปมร้อน" โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

สถานการณ์ราคาข้าวที่เกิดขึ้นตอนนี้ บอกได้คำเดียวว่าหนักหนาสาหัสยิ่งนักสำหรับชาวนา การที่ข้าวเหลือตันละ 5,000 - 6,000 บาท ย่อมไม่ใช่เรื่องปกติ เพราะนั่นหมายถึงข้าวเปลือกหนึ่งกิโลกรัม ตก 5 - 6 บาทเท่านั้น

 

แน่นอนว่าราคาขนาดนี้ย่อมไม่คุ้มกับต้นทุนที่พวกเขาได้ลงไป

 

เสียงเรียกร้องให้รัฐบาลเข้ามาแก้ปัญหาก็ดังกระหึ่มขึ้น เพราะเป็นหน้าที่ของผู้บริหารประเทศโดยตรงที่จะเข้ามาดูแความทุกข์ยากของเกษตรกร โดยเฉพาะ “คนปลูกข้าว” ที่ถูกเปรียบเทียบมาโดยตลอดว่าเป็นกระดูสันหลังของชาติ

 

ที่สุดแล้วรัฐบาลก็เริ่มขยับ หลังจากเสียงเรียกร้องหนักขึ้นเรื่อยๆ โดยออกมาตรการ ที่เรียกว่า “สินเชื่อชะลอการขายข้าวเปลือกนาปี”  หรือชื่อเล่นที่เรียกว่า “จำนำยุ้งฉาง”  โดยกำหนดราคาที่ 13,000 บาท ต่อตัน เพื่อการันตีว่าชาวนาจะขายข้าวได้ราคา

 

เอาเข้าจริงแล้ว ไม่ว่าจะเรียกชื่ออย่างไร ก็คือการกำหนดว่า ชาวนาจะขายข้าวได้ราคา ซึ่งที่ผ่านมารัฐบาลของนักการเมืองก็ทำเช่นกัน ในรัฐบาลประชาธิปัตย์เรียกประกันราคาข้าว ขณะที่รัฐบาลเพื่อไทย เรียกว่า “จำนำข้าว”

 

นี่คือการเข้ามาดูแลและแทรกแซงราคาสินค้าการเกษตร ถึงวันนนี้ รัฐบาลทหาร คงได้รู้แล้วว่าทำไมรัฐบาลพลเรือนถึงต้องแทรกแซงราคาสินค้าการเกษตร

 

ต้องเข้าใจว่า บ้านเราแม้จะเปลี่ยนแปลงไปทันสมัย อยู่ในภาคธุรกิจและบริการมากขึ้น แต่คนอีกจำนวนมากก็ยังอยู่ในภาคเกษตรกรรม ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะรักอาชีพดังกล่าว แต่ก็ปฏิเสธไม่ได้ว่าอีกส่วนเป็นเพราะสภาพบังคับให้เขาต้องติดอยู่กับอาชีพนี้ตั้งแต่สมัยปู่ย่าตายาย

 

หากเราไม่มองคำว่า “การเมือง” แต่เพียงการช่วงชิงอำนาจ แต่มองในเชิงการ “บริหาร” ก็จะเห็นว่า การเมืองย่อมต้องเข้ามายุ่งกับเกษตรกร เพื่อ “บริหาร” หลายๆเรื่อง ไม่ว่าจะเป็น “บ้านเมือง” “กลไกราคา” “ความพอใจ” หรือกระทั่ง “อำนาจของตัวเอง”

 

ไม่มีพรรคการเมืองใด หรือ กลุ่มอำนาจใด จะครองใจคนได้ หากละเลยการดูแลประชาชน โดยเฉพาะเรื่องปัญหาปากท้อง

 

ทำให้สุดท้ายรัฐบาลนี้ก็ต้องจำใจ ทำวิธีที่เหมือนกับที่รัฐบาลผ่านๆมาทำ    แต่ครั้นจะไม่ทำเลยก็ไม่ได้  เพราะเมื่อราคาดิ่งเหว คนก็จะเกิดความไม่พอใจ แม้ไม่อยากยอมรับ แต่ความเป็นจริงคือ มีการเปรียบเทียบว่า ขณะที่เดินหน้าเอาผิดกับรัฐบาลที่แล้ว รวมถึงเซ็นคำสั่งทางปกครองยึดทรัพย์จาก “ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร” จากกรณีจำนำข้าว พวเขากลับไม่สามารถทำให้ราคาข้าวอยู่ในระดับที่น่าพอใจได้

 

มาวันนี้เราจึงเห็นคำพูดทำนอง “ยอมขาดทุน” และแน่นอนเรื่องเหล่านี้กำลังจะกลายเป็นประเด็นทางการเมือง 

 

ซึ่งไม่ว่าจะด้วยแรงจูงใจใดๆ ก็ย่อมต้องนับเป็นผลดี เพราะอย่างน้อยคนที่ได้ประโยชน์ก็คิือ “เกษตรกร” 

เพราะการเดินหน้าแก้ปัญหา ย่อมดีกว่าการโทษโน่นโทษนี่เช่น กล่าวหาว่าเป็นเพราะนักการเมืองจับมือโรงสีกดราคา เพื่อหวังให้คนออกมาต่อต้านรัฐบาล  การพูดหรือตั้งโจทย์เช่นนี้มิได้ทำให้อะไรดีขึ้นมาแม้แต่น้อย  เพราะต้องไม่ลืมว่าวันนี้หูตาของทหารอย่างกับสับปะรด ใครทำอะไรที่จะเสี่ยงกับความมั่นคงของรัฐบาลก็จะถูกทหารเข้าไปพูดคุย  ขนาดงานบุญใส่เสื้อแดงพวกเขายังเข้าไปคุย  นับประสาอะไรหากมีนักการเมืองจับมือโรงสีกดราคาข้าวแล้วพวกเขาจะทำอะไรไม่ได้ก่อนหน้านี้

 

การคิดเช่นนี้มีแต่จะทำให้การแก้ปัญหาผิดทาง  ทางที่ดีหลังจากนี้นอกจากมาตรการแก้ปัญหาเฉพาะหน้า ก็ควรวิเคราะห์ให้ตรงจุดว่าทำไมข้าวถึงราคาถูก  เพราะล้นตลาดหรือไม่   และจะแก้ไขปัญหาในระยะยาวอย่างไร  จะเปลี่ยนการเพาะปลูกเป็นอย่างอื่น จะใช้วิธีอย่างไร 

 

หรือหากมั่นใจว่า มีการจับมือกดราคาจริงก็ต้องแก้ทางว่า ทำอย่างไรถึงจะรับมือกับภาวะการแทรกแซงกลไกเพื่อกดราคา เพราะหากวันนี้ทำได้ อนาคตก็ต้องทำได้ และอาจไม่ใช่เกิดจากโรงสีหรือนักการเมืองเท่านั้น  

 

และอีกอย่างที่ไม่ควรทำคือ การประชดในทำนอง “ปุ๋ยแพงกว่าข้าวก็ให้ไปขายปุ๋ย”  คำพูดเช่นนี้รังแต่จะสร้างความเจ็บช้ำน้ำใจต่อกัน และสะท้อนวุฒิภาวะของผู้พูดเอง  แม้จะอ้างว่าเป็นการพูดคุยที่หมายถึงนักข่าวก็ตาม แต่บทสนทนาที่เกิดขึ้นนั้นเกิดระหว่างการสัมภาษณ์ในประเด็นปัญหาของบ้านเมือง จึงไม่ใช่เวลาพูดเล่น แดกดัน หรือประชดใครทั้งสิ้น

 

 ------------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ