คอลัมนิสต์

อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังฯใต้ร่มพระบารมี

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่อง / ภาพ : นพพร วิจิตร์วงษ์

ไม่มีที่ไหน ที่พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช ไม่ได้ประทับพระบาท

ไม่มีสถานที่กันดารที่ไหน ที่ไม่มีเรื่องเล่าเกี่ยวกับการเสด็จฯ ของพระองค์

ฝุ่นคลุ้งไปตลอดเส้นทาง เมื่อรถขบวนหนึ่งแล่นผ่านถนนสายชนบท ไปยัง ต.คุ้มเก่า อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ สภาพของถนนเป็นหลุม เป็นบ่อ จนรถไม่อาจหลบหลีกหลุมพวกนั้นไปได้ คนที่นั่งบนรถถึงกับหัวสั่นหัวคลอนไปตามๆ กัน

ถนนดิสโก้ หรือ Disco Road ได้รับการเอื้อนเอ่ยจากบุรุษที่อยู่บนรถ บุรุษผู้เป็นถึงพระเจ้าแผ่นดิน พระนาม “พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช” ซึ่งเสด็จฯ ไปกับขบวนรถเพื่อทรงเยี่ยมราษฎรในแถบ ต.คุ้มเก่า เมื่อราวเดือนพฤศจิกายน 2535 ด้วยช่วงนั้นยังอยู่ในยุคดิสโก้ที่ผู้คนรู้จักกันดี ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงเปรียบเปรยได้เห็นภาพของผู้คนที่เต้นกันสุดเหวี่ยงในดิสโก้เธค กับคนที่นั่งหัวโยกหัวคลอนไปบนถนนเป็นหลุมเป็นบ่อแห่งนี้ กระทั่งปัจจุบัน ถนนสายนี้ได้รับการพัฒนาดีขึ้นมาก หากแต่ผู้คนที่นั่น ก็ยังเรียกกันว่า “ถนนดิสโก้” อยู่นั่นเอง

อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังฯใต้ร่มพระบารมี

การเสด็จฯ ไปเยี่ยมราษฎรใน ต.คุ้มเก่า นี่เอง จึงทรงเห็นถึงความลำบาก แร้นแค้นของราษฎรในพื้นที่ ที่ไม่มีแม้แต่น้ำจะทำการเกษตร จึงเกิดเป็นพระราชดำริให้กรมชลประทานจัดหาแหล่งน้ำเพื่อช่วยเหลือราษฎรให้ทำมาหากินได้ ทั้งนี้ ในหลวง รัชกาลที่ 9 ทรงให้ความสำคัญกับการพัฒนาแหล่งน้ำเป็นสำคัญ ด้วยเพราะน้ำคือชีวิต อีกทั้งทรงเห็นว่า หากไม่ดำเนินการช่วยเหลือราษฎรในพื้นที่นั้น ราษฎรก็จะบุกรุกป่าและทำลายพื้นที่ลุ่มน้ำ 1 เอ จนหมดไปได้

“เรื่องน้ำนี้ ก็เป็นปัจจัยหลักของมวลมนุษย์ ไม่ใช่มนุษย์เท่านั้นทั้งสัตว์ทั้งพืช ถ้าไม่มีก็อยู่ไม่ได้ เพราะว่าน้ำเป็นสื่อหรือเป็นปัจจัยสำคัญของสิ่งมีชีวิต ที่กล่าวถึงข้อนี้ ก็จะให้ได้ทราบถึงว่า ทำไมการพัฒนาขั้นแรกหรือสิ่งแรกที่นึกถึงก็คือ โครงการชลประทาน” พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อวันที่ 29 ธันวาคม 2532 ณ พระตำหนักจิตรลดารโหฐาน

ในที่สุด ก็เกิดเป็น โครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ซึ่งมีการดำเนินการ 2 ส่วน คือ อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน (ห้วยวังคำ) ตั้งอยู่ที่บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง ซึ่งก่อสร้างแล้วเสร็จในปี 2538 สันเขื่อนกว้าง 8 เมตร ยาว 725 เมตร ความจุ 3.5 ล้านลูกบาศก์เมตร ก่อนจะเพิ่มเป็น 4 ล้านลูกบาศก์เมตร ในปี พ.ศ.2543 ตามพระราชดำริ ทำให้พื้นที่ 14 หมู่บ้าน ของ ต.สงเปลือย และอีก 5 หมู่บ้านของ ต.คุ้มเก่า ได้รับประโยชน์กันถ้วนหน้า

อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังฯใต้ร่มพระบารมี

นอกจากนี้ ยังมีโครงการ อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ อันเนื่องมาจากพระราชดำริ ในท้องที่บ้านดงหมู ต.คุ้มเก่า ซึ่งในหลวง รัชกาลที่ 9 พระราชทานพระราชดำริ เมื่อ 22 มิถุนายน 2542 ให้พิจารณาผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ซึ่งอยู่ใน อ.ดงหลวง จ.มุกดาหาร มาเติมให้แก่อ่างเก็บน้ำลำพะยัง โดยให้เกิดผลกระทบต่อพื้นที่ของกรมป่าไม้น้อยที่สุด ให้ดำเนินการปลูกป่าโดยทำเป็นอุทยานเล็กๆ เพื่อทดแทนผลกระทบที่จะเกิดขึ้นกับป่าไม้ กระทั่งปี 2551 จึงเกิดอุโมงค์ผันน้ำขึ้น และเป็นแห่งแรกของประเทศที่มีการผันน้ำจากอ่างเก็บน้ำของจังหวัดหนึ่ง ลอดใต้ภูเขา มาสู่อ่างเก็บน้ำของอีกจังหวัดหนึ่ง

อุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ มีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางอุโมงค์ 3 เมตร ระยะทางประมาณ 710 เมตร จากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ ฝั่ง จ.มุกดาหาร ลอดใต้เขาภูบักคี มาสู่อ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน บ้านนาวี ต.สงเปลือย อ.เขาวง จ.กาฬสินธุ์ โดยมีการก่อสร้างถนนเข้ามาเชื่อมต่อกับปลายอุโมงค์ฝั่งกาฬสินธุ์ เป็นระยะทาง 4.905 กิโลเมตร และฝั่งมุกดาหาร 4.810 กิโลเมตร ภายในอุโมงค์มีท่อส่งน้ำอยู่ตรงกลาง เป็นท่อเหล็กมีขนาดเส้นผ่าศูนย์กลาง 1.20 เมตร ในช่วง 50 เมตรแรก และลดขนาดเส้นผ่าศูนย์กลางเหลือ 0.80 เมตร ไปจนสุดปลายทาง

การรับน้ำจากอ่างเก็บน้ำห้วยไผ่ส่งผ่านท่อผันน้ำในอุโมงค์ จะมาลงที่ถังพักน้ำ และกระจายน้ำไปโดยระบบชลประทาน ครอบคลุมพื้นที่ 12,000 ไร่ ซึ่งเป็นขนาดพื้นที่ที่เหมาะสมกับปริมาณน้ำที่ผันได้ และปริมาณการใช้น้ำ

นายอำพล ตมโคตร หัวหน้าฝ่ายส่งน้ำและบำรุงรักษาที่ 4 โครงการชลประทานกาฬสินธุ์ ซึ่งทำหน้าที่ดูแลโครงการพัฒนาลุ่มน้ำลำพะยังตอนบน พาเดินสำรวจ ลอดไปตามอุโมงค์ ลึกเข้าไปเรื่อยๆ อากาศในอุโมงค์เย็นกว่าด้านนอก เดินไปเรื่อยๆ ผ่านระยะ 200-300 เมตร เริ่มได้ยินเสียงหายใจดังขึ้น ยิ่งใครไม่ค่อยได้ออกกำลังกายก็ได้รู้กันคราวนี้ เพราะเส้นทางเดินตามอุโมงค์ ไม่ต้องปีนไปตามภูเขาก็จริง แต่เป็นการเดินขึ้นเนินไปเรื่อยๆ ด้วยว่า ฝั่งกาฬสินธุ์ อยู่ต่ำกว่าฝั่งมุกดาหารนั่นเอง แต่ก็น่าตื่นเต้นตรงที่เราเดินข้ามจังหวัดได้ง่ายๆ เพราะราวๆ ครึ่งทางของอุโมงค์ ก็ประจวบเหมาะกับเส้นแบ่งจังหวัดพอดี โดยมีการทำป้ายบอกระยะช่วงรอยต่อของจังหวัดเอาไว้ด้วย

 

อุโมงค์ส่งน้ำ ไม่ได้แค่ให้ตื่นเต้นตอนเดินลอดภูเขาข้ามจังหวัด แต่ยังเห็นเกล็ดหินปูนเกิดผนังเป็นเกล็ดเล็กๆ ระยิบระยับ อันเกิดจากการไหลซึมของน้ำใต้ดิน จนเชื่อว่าในอนาคตอีกนับร้อยปี อาจจะเป็นหินงอก หินย้อยที่มีขนาดใหญ่ก็ได้ถ้าไม่เป็นหินตายเสียก่อน

และที่มากไปกว่านั้นคือ เจ้าอุโมงค์ส่งน้ำนี่เอง ช่วยให้พื้นที่การเกษตรโดยรอบเกิดเป็นพื้นที่สีเขียวจากการเพาะปลูกได้ จากการประเมินก่อนหน้านี้ พบว่า มีพื้นที่รับผลประโยชน์มาก 40 หมู่บ้าน 1,037 ครัวเรือน แบ่งเป็นพื้นที่ ต.สงเปลือย 15 หมู่บ้าน ต.คุ้มเก่า 18 หมู่บ้าน และ ต.คุ้มใหม่ 7 หมู่บ้าน รวมพื้นที่ทำการเกษตรถึง 12,000 ไร่ สมกับชื่อ “ลำพะยังภูมิพัฒน์” อันหมายถึง อุโมงค์ผันน้ำที่นำความเจริญมาสู่แผ่นดินลุ่มน้ำลำพะยังนี่เอง

นอกจากโครงการอ่างเก็บน้ำ และอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังแล้ว ยังมีสระเก็บน้ำประจำไร่นา ตามรูปแบบเกษตรทฤษฎีใหม่ รวมขุดสระตั้งแต่ปี 2539-2553 แล้วเสร็จ 168 สระ อยู่ในเขตพื้นที่รับน้ำจากอ่างเก็บน้ำลำพะยังตอนบน 91 สระ และพื้นที่รับน้ำจากอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ 77 สระ ในเขตพื้นที่ที่ได้รับประโยชน์ของโครงการอุโมงค์ผันน้ำลำพะยังภูมิพัฒน์ ทำให้ทุกวันนี้เกษตรกรในพื้นที่สามารถเพาะปลูกทั้งข้าวที่ให้ผลผลิตเพิ่มขึ้น 2-3 เท่า และพืชไร่อื่นๆ เช่น ข้าวโพด เผือก กล้วย มะละกอ ฯลฯ จนสามารถลืมตาอ้าปากได้

และนี่เอง เป็นหนึ่งในโครงการชัยพัฒนาที่แท้จริง เหมือนดังที่ในหลวงมีพระราชดำรัสไว้ว่า “ลำพะยังเป็นโครงการที่เป็นชัยพัฒนาจริงๆ เพราะเริ่มทำตั้งแต่ไม่มีน้ำ ต้องใช้น้ำค้างทำการเกษตร ไม่ได้ผลผลิตเลย ข้าวเปลือกที่ชาวบ้านเก็บมาตากไม่มีเมล็ดข้าวเลย ก็เริ่มพัฒนาลำพะยังให้มีน้ำกักเก็บได้ จนปัจจุบันราษฎรมีอาชีพ มีฐานะ จึงถือว่าเป็นชัยพัฒนา”

“...หลักสำคัญว่าต้องมีน้ำบริโภค น้ำใช้เพื่อการเพาะปลูก เพราะว่าชีวิตอยู่ที่นั่น ถ้ามีน้ำคนอยู่ได้ ถ้าไม่มีน้ำคนอยู่ไม่ได้ ไม่มีไฟฟ้าคนอยู่ได้ แต่ถ้ามีไฟฟ้า ไม่มีน้ำ คนอยู่ไม่ได้...”

พระราชดำรัส พระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลยเดช เมื่อ 17 มีนาคม 2529 ณ พระตำหนักจิตรดารโหฐาน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ