คอลัมนิสต์

ไผอ้าง“บิ๊กป้อม”?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ผุด“พรรครากเหง้าสภาโจ๊ก”

ท่ามกลางข่าวความโศกเศร้าเสียใจของพสกนิกรชาวไทย ในอีกมุมหนึ่ง ก็มีความเคลื่อนไหวทางการเมืองที่น่าสนใจ เพราะสื่อบางสำนัก จับโยง “บิ๊กป้อม” กับการตั้งพรรคการเมืองของอดีตสาวก “ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร” ให้เป็นเรื่องเดียวกัน

เหตุเกิดเมื่อ 23 ตุลาคม 2559 ที่ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา ฐานที่มั่นของ ประภาส โงกสูงเนิน ประธานสภาประชาชน 4 ภาค

“จอมยุทธ์อีสาน” ประภาส โงกสูงเนิน ได้จัดพิธีวางศิลาฤกษ์พระบรมราชานุสาวรีย์พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 พร้อมกับเชิญ พล.ต.ธรากฤต ทับทองสิทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 2 เป็นตัวแทน พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงกลาโหม มาเป็นประธานในพิธีดังกล่าว

เมื่อพิธีการจบแล้ว “พล.ต.ธรากฤต” รองแม่ทัพภาคที่ 2 ได้เดินทางกลับ ส่วน ประภาส โงกสูงเนิน และ สมาน ศรีงาม เปิดแถลงข่าวว่า สภาประชาชน 4 ภาค ได้มีแนวคิดตั้งพรรคการเมืองขึ้นมา ชื่อว่า “พรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย” ครั้งนี้ เนื่องจากสถานการณ์ปัจจุบันเป็นระยะเปลี่ยนผ่านของบ้านเมือง

จากกรณีรองแม่ทัพภาคที่ 2 มาเป็นประธาน กับการประกาศตั้งพรรคการเมือง เลยกลายเป็นเรื่องเดียวกัน คือ “บิ๊กป้อม” หนุนนักเคลื่อนไหวมวลชนอีสานตั้ง “พรรคทหาร”

ก่อนจะสรุปว่า เป็นพรรคทหารหรือไม่? ต้องพลิกปูมสองแกนนำ “ประภาส-สมาน” ให้กระจ่างเสียก่อน

ประภาส โงกสูงเนิน เติบโตมาจากการเป็นประธานเครือข่ายเหล้าพื้นบ้านจังหวัดนครราชสีมา และก่อร่างสร้างสภาเครือข่ายประชาชนอีสาน (สอส.) โดยมี สมเกียรติ พงษ์ไพบูลย์ เป็นที่ปรึกษา

สอส.ได้รับการสนับสนุนด้านงบประมาณจากสถาบันพัฒนาองค์กรชุมชน (พอช.) และหนึ่งในโครงการนั้น คือ “ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียงบ้านนากลาง” และตอนหลังกลายมาเป็น “ศูนย์อพยพคนไทยไร้แผ่นดิน”

ปี 2551 “ประภาส” นำมวลชนมาปักหลักประท้วงที่หน้ากระทรวงเกษตรและสหกรณ์ และยื่นข้อเรียกร้องให้รัฐบาลอภิสิทธิ์ช่วยเหลือเรื่องที่ดินทำกินและหนี้สิน ต่อมาคณะรัฐมนตรีพิจารณาข้อเสนอของ สอส.จัดสรรที่ดินขนาดใหญ่ให้เกษตรกร โดยยึดหลักเกณฑ์ของ ส.ป.ก.

หลังจากนั้น “ประภาส” จัดตั้งองค์กรใหม่ “สภาประชาชน 4 ภาค” เปิดปฏิบัติการบุกยึดที่ดินทั่วภาคอีสานกว่า 5 หมื่นไร่ ของบรรษัทบริหารสินทรัพย์ไทย (บสท.) จนมีคดีความตามมาอีกหลายคดีในวันนี้

ส่วน สมาน ศรีงาม เป็นผู้สานต่อเจตนารมณ์ของ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร อดีตกรรมการกลางพรรคคอมมิวนิสต์แห่งประเทศไทย (พคท.) และเป็นเจ้าตำรับ “ลัทธิปฏิวัติประชาธิปไตย”

ปี 2533 สมาน ศรีงาม เดินหน้าเป็นแกนนำที่ผลักดัน “สภาปฏิวัติ” ร่วมกับเพื่อนพ้อง จนถูกจับกุมคุมขังในข้อหากบฏภายในราชอาณาจักร ซึ่งเวลาต่อมา สื่อเรียกขานว่า “สภาโจ๊ก”

เมื่อ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร ถึงแก่กรรม ปลายปี 2537 ทำให้สมานเป็นผู้สืบทอด เป็น นักเคลื่อนไหว และเป็นผู้นำทางความคิด โดยยึดแนวทางของ ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร มาโดยตลอด

ทั้ง “ประภาส” กับ “สมาน” โคจรมาพบกันเพราะปัญหาข้อพิพาทปราสาทเขาพระวิหาร

ปี 2552 “ประภาส” นำกลุ่มเกษตรกรและประชาชนจากศูนย์อพยพคนไทยไร้แผ่นดิน แสดงพลังเรียกร้องทวงคืนผืนแผ่นดินไทย รอบปราสาทพระวิหาร 4.6 ตารางกิโลเมตร

ด้าน “สมาน” จัดกิจกรรมเดินธรรมยาตราสู่ผามออีแดง ศรีสะเกษ ประกาศเรียกร้องให้รัฐบาลนำเอาอนุสัญญาโตเกียว ค.ศ.1941 มาใช้ในการแก้ไขปัญหาเขาพระวิหาร และเสนอให้รัฐบาลไทยเจรจากับรัฐบาลกัมพูชา

วันที่ 28 เมษายน 2557 “ประภาส” กับ “สมาน” ทำพิธีสักการะดวงพระวิญญาณสมเด็จพระเจ้าตากสิน ณ ศูนย์เรียนรู้เศรษฐกิจพอเพียง ต.นากลาง อ.สูงเนิน จ.นครราชสีมา

หลังจากนั้น “สมาน” เปิดการประชุมของสภาประชาชนปฏิวัติสันติแห่งชาติ ณ ห้องลานิโน่ โรงแรมจอมสุรางค์ อ.เมือง จ.นครราชสีมา ว่าด้วยการปฏิวัติประชาธิปไตยโดยสันติ

นับแต่นั้นมา “จอมยุทธ์อีสาน” ได้จับมือกับ “นักปฏิวัติสันติ” สานุศิษย์ประเสริฐ ทรัพย์สุนทร เหนียวแน่น และออกแบบการสร้าง “พรรคการเมืองมวลชน” มาตั้งแต่หลังการออกเสียงประชามติร่างรัฐธรรมนูญ

หากพิจารณา “ปูมหลัง” และ “เส้นทางเดิน” ของประภาส และสมาน ก็ยากที่จะสรุปว่า พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีกลาโหม เห็นดีเห็นงามด้วย

ที่สำคัญ พรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทยนั้น มีที่มาจากหลักคิดอำนาจอธิปไตยเป็นของปวงชนชาวไทย (Sovereignty of the People) และ “สมาน” ได้จัดตั้ง “พรรคการนำใหม่ประชาชนปฏิวัติสันติ” ไว้แล้ว แต่ติดขัดเรื่องการจดทะเบียนพรรค จึงเปลี่ยนชื่อเป็นพรรคอธิปไตยปวงชนชาวไทย

ผู้ที่เก้าอี้ร้อนจากข่าว “พรรคทหาร” คงหนีไม่พ้น พล.ต.ธรากฤต ทับทองสิทธิ์ รองแม่ทัพภาคที่ 4 ที่หลวมตัวมาอยู่กลางดงจอมยุทธ์ และนักฝันสายสภาโจ๊ก

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ