คอลัมนิสต์

แต่เพียงผู้เดียว

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "ขยายปมร้อน" โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

ผ่านไปแบบงงๆ แม้หลายเรื่องจะยังคาในใจ แต่เมื่อเวลาผ่านไป ข่าวใหม่ก็เข้ามาซัดข่าวเก่าให้หายไปจากความสนใจ ทำให้รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ได้พักหายใจหายคอกันบ้าง หลังจากเกือบเดือนที่ผ่านมาถูกถล่มจากปมคนใกล้ชิด ไม่ว่าจะเป็น ครอบครัวของ “จันทร์โอชาผู้น้อง” หรือ “เที่ยวบินฮาวาย” ของ พี่ใหญ่บูรพาพยัคฆ์อย่าง “ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

 

เรื่องของ “จันทร์โอชาผู้น้อง” นั้น ในส่วนของ การรับราชการของลูกชาย และการใช้เครื่องบินของกองทัพเพื่อไปเปิดฝาย “แม่ผ่องพรรณพัฒนา” ถูกการันตีจากหน่วยงานที่เกี่ยวข้องไม่ว่าจะเป็น ป.ป.ช. หรือ สตง. ว่าไม่มีความผิด

 

แต่เรื่องของการใช้งบของกลาโหมทำฝาย และ การรับงานของบุตรชาย พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา นั้น ยังไม่ได้รับคำตอบ โดยขณะนี้อยู่ในกระบวนการตรวจสอบ

 

เช่นเดียวกับ “เที่ยวบินฮาวาย” ที่หน่วยงานต่างๆ ดาหน้าออกมาปกป้องชนิด จนมีเสียงเล่าอย่างขบขันว่า ใครไม่ออกมาระวังตกเที่ยวบิน แม้แต่ สตง. ก็ใช้เวลาไม่นานสรุปว่าทุกอย่างเรียบร้อย

 

แต่เอาเข้าจริงแล้ว แม้จะมีการการันตีจากหน่วยงานทีเกี่ยวข้อง แต่ด้วยภาวะบ้านเมืองที่ปกครองด้วยระบบเช่นนี้ย่อมมิอาจปฏิเสธข้อสงสัยที่ว่าด้วย “ความช่วยเหลือ” เช่นเดียวกับยุคหนึ่งที่เรามักใช้วาทกรรม “แทรกแซงองค์กอิสระ”

 

และความเชื่อถือนั้นก็มิใช่เรื่องของผลการสอบหรือการตัดสินเท่านั้น หากแต่เป็นความเชื่อมั่นที่มาจากความเชื่อที่อยู่ในหัวใจและในมุมมอง โดยเฉพาะกับผู้ที่ต้องการความเชื่อมั่นเป็นพิเศษเพราะได้ทำลายระบบการตรวจสอบปกติทิ้งลงกับมือตัวเอง

 

่ที่น่าสนใจคือ ผู้ที่สนับสนุนรัฐบาลนี้มักใช้ระบบความเชื่อที่แยกส่วนออกจากกัน โดยใช้ความเชื่อที่ว่าคนดีนั้นคือ “ตัวผู้นำ” อย่าง “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” แต่เพียงผู้เดียว ส่วนเรื่องข้อสงสัยที่เกิดขึ้นมาตลอดทางนั้น เป็นเรื่องที่ผู้ที่อยู่รอบข้างกระทำเองไม่เกี่ยวข้องกับตัวผู้นำแต่อย่างใด

 

ลองไล่ย้อนดูประวัติปัญหาของรัฐบาลนี้ที่กระทบความเชื่อมั่น เช่น “อุทยานราชภักดิ์” ซึ่งในขณะที่กำลังมีปัญหานั้น เป้าตำบลกระสุนตกก็มาอยู่ที่ “พล.อ.อุดมเดช สีตบุตร” แต่เพียงผู้เดียว

 

หรือเรื่องข้อกล่าวหาเรื่องการทุจริตในองค์กรทหารผ่านศึก ก็มักถูกยกให้เป็นเรื่องของผู้ที่ถูกแอบอ้าง อย่าง “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ”

  

เรื่องของ “พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา” นั้นก็ถูกโยนให้เป็นเรื่องเฉพาะตัวของ “พล.อ.ปรีชาและครอบครัว” แต่เพียงลำพัง

 

เช่นเดียวกับ “เที่ยวบินฮาวาย” ก็มองเป็นเรื่องของ “พล.อ.ประวิตร” เท่านั้น

 

หลายครั้งที่เสียงของผู้สนับสนุนเหล่านี้ เรียกร้องให้ "พล.อ.ประยุทธ์" ใช้อำนาจเด็ดขาด ดำเนินการกับผู้ที่ถูกกล่าวหาเช่นนี้ วาทกรรมเช่น “นิ้วไหนร้ายตัดนิ้วนั้น” หรือ “เปลี่ยนตัวผู้เล่นเพื่อรักษาทีม” จึงเห็นได้เกลื่อนกลาด

 

มุมหนึ่งอาจมองได้ว่ากลุ่มนี้เริ่มมองเห็นปัญหาและเริ่มมีความ “ไม่เชื่อ”กับสิ่งที่รัฐบาลกำลังโฆษณา  แต่อีกมุมหนึ่งคือพวกเขายังคงอาศัยความเชื่อว่า “ผู้นำของเขา” ยังเป็นคนดี อย่างที่หวัง

  

แต่ก็อยากกระตุกเตือนกันว่า สิ่งที่กำลังคาดหวังหรือเรียกร้องนั้นอาจกลายเป็นเพียงความฝัน เพราะความเป็นจริงคือการเข้าสู่อำนาจของรัฐบาลชุดนี้เป็นการเข้าสู่อำนาจในสถานการณ์พิเศษ  เป็นภาระกิจที่เรียกว่า ไม่ใช่เฉพาะ “ผู้นำ” เท่านั้นที่เป็นผู้ดำเนินการ

 

พูดง่ายๆคือ การรัฐประหารเพื่อเข้ามาจัดการประเทศในครั้งนี้ “บิ๊กตู่” ไม่ได้ทำคนเดียว หากมีองคาพยพที่คอยสนับสนุน อย่างน้อยก็ “สามพี่น้องบูรพาพยัคฆ์” ที่ผนึกกำลังกัน ยังไม่รวมถึงทหารอีกจำนวนหนึ่งที่คอยสนับสนุน  ทั้งนี้ยงมีกลุ่มคนที่เป็นพลเรือนอีกไม่น้อยที่คอยสนับสนุนด้วยเช่นกัน  

 

พวกเขาจึงอยู่ในลักษณะการร่วมหัวจมท้าย  การหักหาญคนกันเอง อาจไม่เป็นผลดีต่อการอยู่ในอำนาจ   และอาจส่งผลต่อเสถียรภาพของรัฐบาล    เราจึงอาจเห็นเขาเดินหน้าเอาผิดกับใครก็ได้ ในเรื่องอะไรก็ได้  แต่ไม่ใช่กับกลุ่มที่ช่วยเหลือกันมาและยังต้องอาศัยเกื้อกูลกันอยู่

 

และนี่คือระบบที่กลุ่มผู้สนับสนุนลงทุนลงแรงเรียกร้องกันด้วยตัวเอง  ดังนั้นการบอกให้ “ผู้นำ” จัดการคนใกล้ตัว หรือมองแบบแยกส่วนว่า เพื่อสร้างความ“บริสุทธิ์ผุดผ่อง” กับ “ผู้นำ”  จึงเป็นเพียงการ ความชอบธรรมให้กับตัวเองว่าอย่างน้อยก็ยังสนับสนุนคนดี มิได้สนับสนุนเรื่องที่เคยกล่าวหา ทั้งๆที่จริงๆแล้วทั้งหมดเกี่ยวร้อยเป็นนหนึ่งเดียวกัน

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ