คอลัมนิสต์

อัลโลฮ่า ฮาวาย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพูดกันมากกว่านี้คือ  “ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ” ของการเดินทางไปประชุมหรือเยือนต่างประเทศ : โดย สุภลักษณ์ กาญจนขุนดี

 

            การเดินทางไปประชุมต่างประเทศด้วยเที่ยวบินเช่าเหมาลำไม่ใช่ปัญหาใหญ่โตที่ประเทศไทยจะต้องพูดกันให้มากความ นายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีมีสิทธิจะเดินทางไปประชุมต่างประเทศด้วยเที่ยวบินแบบเช่าเหมาลำได้อยู่แล้วและทำกันมาเป็นประเพณีแล้วด้วย ในกรณีการเดินทางด้วยเครื่องบินพาณิชย์ปกติไม่สะดวก

            การพยายามแก้เกี้ยวด้วยการเอาค่าใช้จ่ายการเดินทางของผู้นำแต่ละคนในอดีตและปัจจุบันมาเปรียบเทียบกันไม่มีประโยชน์อะไร สิ่งที่ประเทศไทยจะต้องพูดกันมากกว่านี้คือ  “ความคุ้มค่าและประสิทธิภาพ” ของการเดินทางไปประชุมหรือเยือนต่างประเทศมากกว่า

            ทริป 3 วัน 2 คืนของ “พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ” รองนายกรัฐมนตรีและรมว.กลาโหมนำคณะเจ้าหน้าที่ 38 ชีวิต เช่าเหมาลำเครื่องบินการบินไทย ประมาณการใช้จ่ายไว้ที่20.9 ล้านบาท เพื่อร่วมประชุมรัฐมนตรีกลาโหมอาเซียน-สหรัฐอย่างไม่เป็นทางการที่ฮาวาย วันที่ 29 ก.ย. – 1 ต.ค.ที่ผ่านมา

            คำถามใหญ่ คือ ท่านรองนายกใช้งบประมาณแผ่นดินจากภาษีประชาชนอย่างคุ้มค่าหรือไม่

            ถ้าไม่มีการปูดเรื่องนี้ออกมาเชื่อเถอะว่าไม่มีใครมองเห็นเรื่องนี้เป็นเรื่องผิดปกติหรอก จะไม่มีใครถามด้วยว่า ไปประชุมอะไรใช้คนมากมายขนาดนี้ คนมากค่าใช้จ่ายสูงเป็นธรรมดา จะไปด้วยเที่ยวบินแบบไหนก็แพง

            ว่ากันตามระเบียบราชการ การเดินทางไปราชการต่างประเทศที่มีระยะเวลาเดินทางตั้งแต่ 9 ชั่วโมงขึ้นไป ให้ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับสูง ตำแหน่งประเภทวิชาการระดับทรงคุณวุฒิโดยสารเครื่องบินชั้นหนึ่ง และให้ผู้ดำรงตำแหน่งประเภทบริหารระดับต้น ตำแหน่งประเภทอำนวยการระดับสูง โดยสารเครื่องบินชั้นธุรกิจ

            หมายความว่า ต่อให้ไปเที่ยวบินพาณิชย์แบบปกติ ถ้าเอาผู้บริหารระดับสูงร่วมคณะไปด้วยจำนวนมากเดินทางไปอีกซีกโลกหนึ่งย่อมเสียค่าใช้จ่ายแพงเป็นธรรมดา คำว่าผู้บริหารระดับสูงในระบบราชการไทยเอายศตำแหน่งเป็นเครื่องวัดมากกว่าหน้าที่และภารกิจ ยศใหญ่ตำแหน่งสูงต่อให้ไม่ได้ทำอะไรก็ได้นั่งชั้นดีกว่าพวกทำงานหนักตำแหน่งต่ำๆ เจ้าหน้าที่เล็กๆทำหน้าที่ร่างสุนทรพจน์ซึ่งเป็นหัวใจของสิ่งที่ผู้นำจะต้องพูด นั่งชั้นประหยัด นอนก็ไม่ได้ ลงเครื่องแทบไม่ได้ล้างหน้าทำงานเลยก็มี เรื่องแบบนี้เป็นเรื่องปกติในระบบบริหารราชการแผ่นดินของไทย

            สิ่งที่ต้องพิจารณาคือ การประชุมอย่างไม่เป็นทางการอย่างที่พลเอกประวิตรเข้าร่วมนั้นเป็นการประชุมที่ต้องอาศัยผู้เข้าร่วมที่เป็นเจ้าหน้าที่ระดับสูงจำนวนมากหรือไม่

ตามปกติแล้วการประชุมแบบไม่เป็นทางการ ไม่ต้องการอะไรมากไปกว่าตัวรัฐมนตรี  ล่าม (ในกรณีที่ท่านไม่สันทัดภาษาต่างประเทศ) และคนจดประเด็น อาจจะมีที่ปรึกษาอีกสักคนเผื่อท่านติดขัดเรื่องข้อมูล รวมๆแล้วไม่อนุญาตให้เจ้าหน้าที่ผู้ติดตามเข้าร่วมประชุมได้มากนัก

             ถ้าเป็นแบบไม่เป็นทางการหรือที่เรียกกันในภาษาอาเซียนว่ารีทรีตแล้ว ให้เฉพาะหัวหน้าคณะ ล่าม และเลขาคนจดประเด็นเท่านั้น การประชุมเน้นการปรึกษาหารือมากกว่าจะต้องตัดสินใจอะไรเป็นทางการ โอกาสที่ท่านรองนายกรัฐมนตรีของไทยจะใช้ทีมงานขนาดใหญ่เสริมข้อมูลในการประชุมไม่มีเลย เมื่อปรากฏว่าไม่มีการประชุมแยกย่อยของเจ้าหน้าอาวุโสเป็นการเฉพาะเหมือนการประชุมแบบเป็นทางการย่อมหมายความว่า ท่านรองนายกรัฐอาจจะพิจารณาส่งเจ้าหน้าที่เตรียมการประชุมเดินทางล่วงหน้าไปก่อนแค่คนเดียวก็เพียงพอ 

            ยิ่งปรากฏว่าท่านไม่มีกำหนดการเยือนอย่างเป็นทางการแบบทวิภาคีกับประเทศสหรัฐด้วยแล้ว เจ้าหน้าที่ซึ่งเกี่ยวข้องกับการประชุมอาเซียนสหรัฐคราวนี้คือเจ้าหน้ากลาโหมเท่านั้น

            พิจารณากันตามความจำเป็นแล้ว ท่านรองนายกรัฐมนตรีอาจจะส่งเจ้าหน้าที่เตรียมการเดินทางล่วงหน้าไป 1 คนก็พอ ความจริงก็ไม่จำเป็นด้วยซ้ำไปเพราะประเทศไทยมีสถานทูตในวอชิงตัน สามารถร้องขอให้กระทรวงการต่างประเทศจัดการเรื่องนี้ได้

             ถึงเวลาเดินทางท่านก็เดินทางท่านก็ไปกับล่ามและเจ้าหน้าที่ผู้ช่วยคนจดประเด็นก็เพียงพอ เห็นแก่ว่าท่านอายุมากแล้วทางราชการอนุญาตให้พาคนสนิทไปด้วยอีก 1 คนเผื่อท่านเหงาหรือต้องการความช่วยเหลือชนิดที่เจ้าหน้าที่อื่นไม่สามารถทำให้ได้ ท่านอาจจะพิจารณานำที่ปรึกษาไปได้อีกสักคนเผื่อติดขัดเรื่องข้อมูลและไอเดีย

             รวมๆแล้วการประชุมระดับนี้ ถ้าท่านรองนายกใช้คนมากกว่า 5 คนก็นับว่าเกินความจำเป็นแล้ว

            ประเทศที่ข้าราชการมีประสิทธิภาพในการทำงานสูงหรือมีบุคลากรและงบประมาณจำกัด เช่น สิงคโปร์ ลาว กัมพูชา คณะผู้แทนในการประชุมแต่ละคราวมักจะมีจำนวนน้อย เจ้าหน้าที่แต่ละคนสามารถทำงานได้มากกว่าหนึ่งอย่าง ในกรณีสิงคโปร์นั้นหัวหน้าคณะมักมีความสันทัดในเรื่องที่จะประชุมและภาษาต่างประเทศดีแล้ว ไม่ต้องใช้ล่าม ไม่ต้องมีที่ปรึกษา เรามักจะพบว่า รัฐมนตรีของสิงคโปร์เดินทางไปประชุมไม่ว่าในกรอบความร่วมแบบไหนด้วยจำนวนผู้ติดตามที่ไม่มากนัก อย่าเถียงว่าสิงคโปร์เป็นประเทศเล็ก ความจริงสิงคโปร์มีขนาดเศรษฐกิจใหญ่และซับซ้อนกว่าไทย แปลว่าเจ้าหน้าที่ของเขามีงานทำมากกว่าไทย แต่เขาไม่ใช้คนมากเพราะคนของเขามีประสิทธิภาพมากกว่าเท่านั้นเอง ไม่ใช่ประเทศเล็กกว่า

            เมื่อคณะมีขนาดเล็กกะทัดรัด ค่าใช้จ่ายก็ประหยัดไปด้วย ปกติการประชุมแบบนี้ ประเทศเจ้าภาพจะออกค่าใช้ในการเดินทางและค่าที่พักให้กับหัวหน้าคณะและผู้ติดตามอีก 1-2 คนอยู่แล้ว ประเทศเล็กที่ฐานะทางเศรษฐกิจไม่ดี ถ้าไม่ขนผู้ติดตามไปมากมาย แทบจะไม่ต้องมีค่าใช้จ่ายในการเดินทางไปประชุมเลย ถ้าทักษะทางการทูตดีเผลอๆจะได้ความช่วยเหลือทางด้านต่างๆติดไม้ติดมือกับบ้านมากมาย

อัลโลฮ่า ฮาวาย

            ปัญหาของประเทศไทยคือ ผู้นำส่วนใหญ่ไม่ว่าจะมาจากการเลือกตั้งหรือไม่ก็ตามชอบทำตัวเป็นศักดินา จำนวนคณะของผู้เดินทางไปประชุมหรือเยือนต่างประเทศไม่ได้สะท้อนความจำเป็นของการทำภารกิจหากแต่ไปสะท้อนอำนาจและบารมีของหัวหน้าคณะและรัฐบาล เครื่องบินส่วนตัวหรือเช่าเหมาลำ ไม่ได้ตอบโจทย์การเดินทางแต่เสริมฐานะและบารมีของหัวหน้าคณะ

            ความเป็นศักดินาของหัวหน้าคณะต้องการคนห้อมล้อมจำนวนมาก ท่านต้องการจะทำอะไร กินอะไร ใช้อะไร ล้วนแล้วแต่ต้องมีคนประเคนให้ทั้งสิ้น ดังนั้นคณะเดินทางต่างประเทศของผู้นำไทยมักจะมีจำนวนมากและไม่สอดคล้องกับการประชุมหรือการเยือนเนื่องจากผู้ติดตามส่วนใหญ่ไม่ได้ทำอะไรมากไปกว่าไปคอยรับใช้นาย บางคนทำหน้าที่แค่ขนกระเป๋า อีกคนเตรียมอาหาร อีกคนหาของฝากและช่วยนายช๊อบปิ้งแค่นั้นเอง เจ้านายไทยบางคนนั้นไม่ชอบอาหารต่างประเทศ ไปไหนก็ต้องหาอาหารไทยกินซึ่งก็เป็นที่รู้กันว่า อาหารไทยในต่างประเทศนั้นหาถูกปากไม่ได้ง่ายนักและมีราคาแพง วัตถุดิบที่ใช้ก็ไม่เหมือนในบ้านเรา จะให้ได้รสชาติแบบกินในกรุงเทพฯก็ยาก ดังนั้นผู้นำบางคนก็ต้องมีคนเตรียมเรื่องนี้ให้เป็นพิเศษ บางประเทศมีอาหารทะเลสดและดีมาก แต่ขาดน้ำจิ้มซีฟูดแบบคนไทยนิยม ถ้าห่อไปจากบ้านไม่ได้ จำเป็นต้องพาคนที่ชำนาญเรื่องน้ำจิ้มแบบนี้ไปด้วยก็มี

            สิ่งที่เกิดขึ้นกับการไปฮาวายของพลเอกประวิตรนั้นไม่ใช่สิ่งผิดปกติอะไรเลยในประเทศไทยกับการที่ท่านจะไปประชุมแค่รายการเดียวไม่มีภารกิจอื่นพ่วง แต่ขนผู้ร่วมเดินทางไปตั้ง 30-40 คนรวมทั้งนักข่าวและภาคเอกชน โดยที่ผู้ติดตามจำนวนมากในกรณีนี้อาจจะมากกว่าครึ่งไม่ได้ทำหน้าที่อะไรในการประชุมเลย นอกจากไปเป็นเพื่อนกันพอให้อบอุ่นหรือทำให้คณะดูใหญ่โตเข้าไว้แค่นั้นเอง

            เรื่องนี้ถ้าหากว่าไม่ต้องการเล่นงานกันทางการเมือง ก็ควรถือโอกาส “ปฏิรูป” ภารกิจต่างประเทศของผู้นำกันอย่างจริงจังเสียทีก็ดีเหมือนกัน ถ้าการเดินทางต่างประเทศแต่ละครั้งของนายกรัฐมนตรี รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีอื่น ตอบคำถามแค่ว่า ภารกิจอะไร ใครต้องเกี่ยวข้องบ้าง และหน่วยงานที่เกี่ยวข้องใช้บุคคลากรที่มีประสิทธิภาพแค่ไหน รับประกันได้ว่าต่อไปนี้ประเทศไทยจะไม่มีเรื่อง “อัลโลฮ่า ฮาวาย” มาเม้าท์กันให้สนุกปากอีกเลย 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ