คอลัมนิสต์

“ไอ - พิซซ่า” สองเสืออากาศสาว กองทัพอากาศไทย

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

สัมภาษณ์พิเศษ "ไอ- พิซซ่า" สองสาวที่กลายเป็นนักบินหญิงคู่แรกของกองทัพอากาศไทย สำนักข่าวเนชั่น โดย จิตราภรณ์ เสนวงศ์

กว่าจะมาถึงจุดนี้ ไม่ใช่เรื่องง่ายสำหรับ ไอเรืออากาศตรี สิรีธร ลาวัณย์เสถียร และ  พิซซ่าเรืออากาศตรี ชลนิสา สุภาวรรณพงศ์ สองนักบินหญิงรุ่นนำร่องของกองทัพอากาศ 

เมื่อ 6 เดือนก่อน เธอทั้งสองเป็นเพียงนักบินพลเรือนโดย “ไอ” จบการศึกษาระดับปริญญาตรีจาก สถาบันการบิน มหาวิทยาลัยรังสิตและจบหลักสูตรฝึกบินจากสถาบัน Bangkok Aviation Center ส่วน "พิซซ่า)  จบการศึกษาระดับปริญญาตรี สาขามนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์และจบหลักสูตรฝึกบินจากสถาบันพลเรือน

ทันทีที่ทราบว่า กองทัพอากาศเปิดโครงการนักบินหญิงลำเลียงรุนแรกจำนวน 5 คน จึงตัดสินใจมาสมัครเข้าร่วมโครงการดังกล่าวพร้อมกับผู้สมัครอีกหลายราย แต่ด้วยคุณสมบัติที่โดดเด่นเข้าข่ายเกณฑ์ที่กองทัพอากาศกำหนด มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว และสามารถผ่านการทดสอบ จนได้รับการคัดเลือกติด 2 ใน 5 นักบินหญิงกองทัพอากาศ 

 

“ไอ - พิซซ่า” สองเสืออากาศสาว กองทัพอากาศไทย

ปัจจุบัน เรืออากาศตรีสิรีธรและเรืออากาศตรี ชลนิสา ถูกย้ายมาประจำฝูงบิน 601 และได้รับมอบหมายให้บังคับ เจ้าเฮอร์คิวลิสหรือ เครื่องซี 130 เครื่องบินขนส่งขนาดใหญ่ที่มีภาระกิจสำคัญหลายๆอย่าง 

เราได้ไปสอบถามถึงความรู้สึกของทั้งสอง ที่ขณะนี้ได้เป็นนักบินหญิงกองทัพอากาศเต็มตัวและได้มีโอกาสบังคับเจ้ายักษ์ใหญ่ ซี130 รู้สึกอย่างไรบ้าง

เรืออากาศตรี สิรีธร: ต้องขอขอบคุณกองทัพอากาศเปิดรับสมัครนักบินหญิงจนทำให้ตัวเองได้เข้ามายืนตรงจุดนี้ และเมื่อทราบว่าจะได้บินเครื่องซี130 รู้สึกดีใจและภูมิใจ เพราะทราบกันดีว่าเครื่องซี 130 เป็นเครื่องบินลำเลียงใช้ทำภารกิจหลักของกองทัพอากาศ เปรียบเป็นพระเอกก็ว่าได้ ก็ดีใจ ที่ได้บินเครื่องนี้และได้ทำในสิ่งที่ทัดเทียมกับนักบินผู้ชาย

เรืออากาศตรี ชลนิสา: รู้สึกภูมิใจมาก ไม่คิดว่าตัวเองจะเดินมาไกลถึงจุดนี้ ขอบคุณผู้ใหญ่ในกองทัพอากาศที่มีส่วนทำให้เกิดโครงการนี้ ทำให้เป็นที่รู้จักมากขึ้น ซึ่งได้บอกกับตัวเองทุกวัน ไม่ว่ากองทัพอากาศจะมอบหมายให้ปฏิบัติภารกิจอะไร จะตั้งใจทำให้ดีที่สุด และตอนนี้มีความพร้อม100% ส่วนต้องบินเครื่องซี130นั้น ส่วนตัวแล้วไม่รู้สึกกังวลอะไร เพราะที่ผ่านมาได้ฝึกฝนร่างกายและเตรียมความพร้อมร่างกายตลอดเวลา

 

“ไอ - พิซซ่า” สองเสืออากาศสาว กองทัพอากาศไทย

ทั้งสองคนได้สัมผัสเครื่องซี130หรือยัง ?

เรืออากาศตรี สิรีธร: ยังค่ะ ตอนนี้มีคำสั่งให้ตนย้ายไปสังกัดฝูงบิน 601 หลังจากนั้นเรียนภาคพื้น (ground school )เน้นด้านวิชาการประมาณ 3 เดือน และต้องเดินทางไปประเทศเบลเยี่ยมเพื่อเข้าเครื่องฝึกบินจำลอง (simulator)11วัน เปรียบเสมือนขึ้นเครื่องซี130จริงเพื่อฝึกบิน หากเกิดปัญหาทำให้รู้ว่าต้องแก้ไขอย่างไร และเมื่อกลับมาแล้วก็จะขึ้นเครื่องซี130จริง โดยการฝึกมี2ห้วง ห้วงแรก ใช้เวลาประมาณ 2 เดือน เรียกว่าการฝึกเปลี่ยนแบบ ห้วงที่ 2 บินออกไปปฏิบัติภารกิจที่ได้รับมอบหมาย แต่จะมีครูการบินคอยประกบ เรียกว่า การฝึกพร้อมรบ ใช้เวลา 4 เดือน รวมแล้วทุกอย่างจะเสร็จสิ้นภายในเวลา1ปี

เรืออากาศตรี ชลนิสา: ยังเหมือนกันค่ะ ซึ่งขั้นตอนต่างๆเป็นแบบเดียวกัน ตอนนี้เราต้องเตรียมความพร้อมของตัวเอง พยายามฝึกฝนให้มากที่สุด เพื่อให้ผลงานออกมาดี

  “ไอ - พิซซ่า” สองเสืออากาศสาว กองทัพอากาศไทย

เครื่อง 130 เป็นเครื่องบินขนาดใหญ่อาจจะไม่เหมาะกับนักบินหญิง ?

เรืออากาศตรี สิรีธร: คิดว่าไม่ใช่ เพราะปกติแล้วนักบินหญิงที่บินเครื่องบินแอร์ไลน์ ก็มีขนาดใหญ่เหมือน ดังนั้นมองว่าขนาดของเครื่องไม่ใช่ปัญหา จึงไม่มีอะไรต้องกังวล และพร้อมปฏิบัติภารกิจตามที่กองทัพอากาศมอบหมายให้เต็มที่ 100% ตนตั้งใจไว้ว่าถ้าเข้ามาอยู่ตรงนี้แล้ว จะตั้งใจทำให้ดีที่สุด ไม่ว่าอนาคตจะเป็นอย่างไร ก็จะทำให้ดีที่สุด เพราะจะเป็นผลดีกับตัวเราเองและกองทัพอากาศด้วย

เรืออากาศตรี ชลนิสา: ส่วนตัวแล้วมองว่าขนาดเครื่องบินจะเล็กหรือใหญ่ คงไม่ใช่ปัญหา ระบบการควบคุมไม่ได้แตกต่างกันมาก และมั่นใจว่าจะปฏิบัติภารกิจได้เต็ม100% เช่นกัน

 

“ไอ - พิซซ่า” สองเสืออากาศสาว กองทัพอากาศไทย

กว่าจะมาถึงจุดนี้เจออุปสรรค ปัญหาอะไรทำให้ท้อบ้างหรือไม่ ?

เรืออากาศตรี สิรีธร: ตั้งแต่เดินเข้ามาสมัครเป็นนักบินกองทัพอากาศ จนได้มายืนตรงจุดนี้ ยอมรับว่าผ่านสิ่งต่างๆมายมาย ปัญหาย่อมมีบ้าง แต่ตนไม่เคยท้อ ในส่วนของอุปสรรคมีเรื่องหนึ่งได้ยินคำพูดที่บั่นทอนจิตใจเรานิดหนึ่ง คือมีคนพูดว่า เอาผู้หญิงมาเป็นนักบินทหาร คิดว่าจะทำได้ดีเท่านักบินผู้ชายเหรอ ถือเป็นความคิดของคนหัวเก่าที่มองว่านักบินที่ทำภารกิจได้มีประสิทธิภาพจะต้องเป็นนักบินผู้ชายเท่านั้น

ได้ยินประโยคนั้นก็รู้สึกว่าคือคำสบประมาท แต่ไอมั่นใจนะว่าทำได้ ถ้าคิดว่าทำไม่ได้คงไม่มายืนตรงนี้ แต่ไอคงไม่เดินเข้าไปป่าวประกาศหรือโต้แย้งอะไรเขาหรอก เพราะไม่ว่าเราจะพูดหรือยืนยันอย่างไร เขาก็ไม่เชื่ออยู่แล้ว สู้เราพิสูจย์ให้เขาเห็นด้วยตาเขาเองจะดีกว่า เขาจะได้รู้ว่าเราก็ทำได้ เหมือนกับนักบินผู้ชาย ในส่วนของพี่ๆนักบินชาย ทุกคนให้การต้อนรับดีมาก เหมือนโลกปัจจุบันเปลี่ยนไปแล้ว ผู้หญิงและผู้ชายมีความทัดเทียมกันและในต่างประเทศมีนักบินหญิงมากมายแต่ของกองทัพอากาศถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่มีนักบินหญิง

“ไอ - พิซซ่า” สองเสืออากาศสาว กองทัพอากาศไทย

เรืออากาศตรี ชลนิสา: ปัญหาและอุปสรรคส่วนมาก เกิดจากความกังวลของตัวเองมากกว่า กลัวว่าจะทำได้ไม่ดีพอเหมือนนักบินผู้ชาย ซึ่งตรงนี้เราต้องแก้ไขด้วยตัวเราเอง คือต้องตั้งใจและฝึกให้มากขึ้นกว่าเดิม โดยเฉพาะเตรียมความพร้อมของร่างกาย สิ่งสำคัญมา เพราะเราไม่รู้ว่าในอนาคตจะได้รับมอบหมายให้ทำภารกิจใด อาจมีความยากหรือง่าย จึงต้องเตรียมความพร้อมอย่างเต็มที่เพื่อรับมือกับภารกิจนั้นๆและทำให้ดีที่สุดเพื่อให้ภารกิจต่างๆสำเร็จลุล่วง

ปัญหาของพิซซ่า น่าจะเป็นเรื่องของความแข็งแกร่งร่างกาย คือเรามาจากพลเรือน อย่างพี่ๆนักบินผู้ชาย พวกเขาเรียนกันมาหลายปีตั้งแต่โรงเรียนนายเรืออากาศ ยังคงเทียบกันไม่ได้ ยอมรับว่าพิซซ่ายังต้องฝึกฝนอีกมาก เพื่อสร้างความเข้มแข็ง ส่วนเรื่องความสามารถในการบินนั้น ทางกองทัพอากาศได้จัดทำหลักสูตรเทียบเท่ากับนักบินชายอยู่แล้ว ไม่น่ามีปัญหาหรือข้อกังวลใดๆ

“ไอ - พิซซ่า” สองเสืออากาศสาว กองทัพอากาศไทย

เป็นนักบินพลเรือนต้องเข้ามาอยู่ในสังคมทหารอากาศ ชีวิตเปลี่ยนไปอย่างไรและต้องปรับตัวอย่างไหม

เรืออากาศตรี สิรีธร: ช่วงแรกๆก่อนจะเข้ามาต้องปรับตัวมากเหมือนกัน แต่ด้วยความที่ตนเป็นคนมีระเบียบวินัยเป็นทุนเดิมอยู่แล้ว ก็ไม่ใช่เรื่องยาก อยู่ไปนานๆสามารถปรับตัวได้ และเมื่อเข้าไปเรียนโรงเรียนผู้หมวด1เดือน เหมือนหลอมละลายจากพลเรือนเป็นทหารกองทัพอากาศเต็มตัว

เรืออากาศตรี ชลนิสา: ต้องปรับตัวมากเหมือนกัน มายืนตรงนี้ต้องยึดกฎระเบียบ แต่ตอนนี้ชินแล้ว เพราะรู้สึกเราเป็นส่วนหนึ่งของกองทัพอากาศ

เปรียบเทียบความแตกต่างระหว่างนักบินพลเรือนกับนักบินกองทัพอากาศ ?

เรืออากาศตรี สิรีธร: มีความแตกต่างกัน เนื่องจากนักบินกองทัพอากาศทำงานรับใช้ชาติ ศาสนา พระมหกษัตริย์และประชาชน ไม่ได้ทำงานบริการเฉพาะคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง แต่เราทำให้คนทั้งประเทศ ไม่ใช่การให้บริการอีกต่อไป

 

เรืออากาศตรี ชลนิสา: แตกต่างกัน นักบินพลเรือนทำหน้าที่รับ-ส่งผู้โดยสารให้ถึงที่หมายโดยสวัสดิภาพ แต่ในส่วนของนักบินกองทัพอากาศ มีภารกิจมากมาย หลากหลายและทำให้ส่วนรวม เช่น ลงตรวจพื้นที่ที่ได้รับภัยพิบัติธรรมชาติ ภารกิจรับ-ส่งคณะวีไอพี สับเปลี่ยนกำลังพล ลำเลียงผู้เสียชีวิต ฯลฯ

“ไอ - พิซซ่า” สองเสืออากาศสาว กองทัพอากาศไทย

เป็นนักบินหญิงกองทัพอากาศรุ่นแรก กดดันหรือไม่ เพราะเป็นความหวังของกองทัพอากาศ ?

เรืออากาศตรี สิรีธร: ลึกๆรู้สึกกดดัน อย่างที่บอกตนเป็นนักบินหญิงรุ่นแรก มีแต่คนจับตามอง เพื่อนๆพี่ๆทุกคนที่เป็นนักบินหญิงรุ่นนี้ รู้สึกกดดันเหมือนๆกันหมด แต่ต้องพยายามบอกกับตัวเองว่า ทำหน้าที่ของตัวเองให้เต็มที่ เต็มความสามรถ สุดท้ายแล้วทุกอย่างจะออกมาดีเอง

เรืออากาศตรี ชลนิสา:ยอมรับว่ารู้สึกกดดัน แต่จะทำให้เต็มที่ ตนกับไอ ถือเป็นนักบินมาจากพลเรือนเหมือนกัน ปัญหาอุปสรรคบางอย่างที่พบเจอคล้ายๆกัน เราจะพูดคุยกันตลอดว่ายังมีตรงไหนไม่ดี ต้องปรับแก้อย่างไร 0ะได้ทำได้ให้เต็มที่ในส่วนผู้บังคับบัญชาให้กำลังใจตลอดบอกว่า อย่ากดดัน เพราะต้องมาอยู่ท่ามกลางนักบินชาย ขอให้ทำทุกอย่างเต็มที่ เต็มความสามารถของเราก็พอ

 

และนอกเหนือจาก ไอ - พิซซ่า”  ยังมีอีกสามคนคือ 1.ว่าที่เรืออากาศโทหญิง กานต์ชนก จรรยารักษ์ 2.ว่าที่เรืออากาศโทหญิง พีรศรี จักรไพศาล 3.เรืออากาศโทหญิง ชนากานต์ สอนจ้าง ซึ่งพวกเธอเหล่านี้ก็ใกล้จะสำเร็จออกมาเป็นนักบินสาวของกองทัพไทยอย่างเต็มภาคภูมิ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ