คอลัมนิสต์

จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เลขาธิการพระราชวังคนใหม่

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ตำแหน่ง เลขาธิการพระราชวัง นับว่ามีความสำคัญเป็นอันมาก ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ดร.จิรายุ ที่เลื่อนขึ้นมาจากรองเลขาธิการพระราชวัง


               เมื่อวันที่ 25 กันยายน ที่ผ่านมา ข่าวโปรดเกล้าฯ แต่งตั้งบุคคลเพื่อดำรงตำแหน่งสำคัญเป็นข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สังกัดสำนักพระราชวัง เป็นที่สนใจของประชาชนคนไทยอย่างมาก

               ทั้งนี้ เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เปิดเผย ประกาศสํานักนายกรัฐมนตรี เรื่อง แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ ใจความว่า มีพระบรมราชโองการ โปรดเกล้าฯ แต่งตั้งข้าราชการพลเรือนในพระองค์ สังกัดสํานักพระราชวัง ให้ดํารงตําแหน่งเป็นพิเศษเฉพาะราย จํานวน 9 ราย คือ

               1. จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา ดํารงตําแหน่ง เลขาธิการพระราชวัง 2. พล.อ.อ.สถิตย์พงษ์ สุขวิมล ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายบริหารนโยบายและปฏิบัติการ 3. พ.ท.สมชาย กาญจนมณี ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายที่ประทับ 4. พล.ต.อ.จุมพล มั่นหมาย ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายความมั่นคงและกิจกรรมพิเศษ

               5. ขวัญแก้ว วัชโรทัย ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง 6. ณรงค์ฤทธิ์ สนิทวงศ์ ณ อยุธยา ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง 7. จินตนา ชื่นศิริ ดํารงตําแหน่ง รองเลขาธิการพระราชวัง ฝ่ายการเงิน 8. สงคราม ทรัพย์เจริญ ดํารงตําแหน่ง แพทย์ประจําพระองค์ 9. พล.ต.อ.พงษ์ศักดิ์ โรหิโตปการ ดํารงตําแหน่ง กรมวังผู้ใหญ่

               โดยเฉพาะตำแหน่ง เลขาธิการพระราชวังแล้ว นับว่ามีความสำคัญเป็นอันมาก ซึ่งก็ไม่ใช่ใครที่ไหน แต่เป็น ดร.จิรายุ ที่เลื่อนขึ้นมาจากรองเลขาธิการพระราชวัง

               ทั้งนี้ ไม่เพียงเพื่อมาแทนในส่วนที่ว่างลงเนื่องจาก แก้วขวัญ วัชโรทัย ได้ถึงแก่อสัญกรรม แต่ด้วยความที่ ดร.จิรายุ เป็นรองอาวุโสฯ และเป็นผู้มีความพร้อมและความเหมาะสม ทั้งวัยวุฒิ คุณวุฒิ และความรู้ความสามารถทุกประการ ดังปูมหลังและประสบการณ์ ต่อไปนี้

               รองศาสตราจารย์ ดร.จิรายุ อิศรางกูร ณ อยุธยา เกิดเมื่อวันที่ 12 พฤศจิกายน 2485 เป็นบุตรของ จรูญพันธ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา อดีตองคมนตรี กับ ท่านผู้หญิงอรอวร อิศรางกูร ณ อยุธยา

               ดร.จิรายุ จบระดับมัธยมศึกษาจากโรงเรียนเซนต์คาเบรียล, ปริญญาตรีเศรษฐศาสตร์จากวิทยาลัยเศรษฐศาสตร์และรัฐศาสตร์แห่งลอนดอน ประเทศอังกฤษ และปริญญาเอกจาก Australian National University ประเทศออสเตรเลีย

               ดร.จิรายุ สมรสกับ ท่านผู้หญิงอรนุช อิศรางกูร ณ อยุธยา นางสนองพระโอษฐ์และผู้อำนวยการฝ่ายจัดจำหน่าย มูลนิธิส่งเสริมศิลปาชีพ ในสมเด็จพระนางเจ้าสิริกิติ์ พระบรมราชินีนาถ โดยมีบุตร 2 คน คือ จิรุตม์ และ จิรัตถ์ อิศรางกูร ณ อยุธยา

               สำหรับในประสบการณ์การทำงานก่อนที่จะมารับตำแหน่งเลขาธิการสำนักพระราชวังนั้น ดร.จิรายุ ถือว่าผ่านมาแล้วทุกสนาม ดังที่เริ่มต้นทำงานครั้งแรกในฐานะนักเศรษฐศาสตร์ โดยในปี 2507 เป็นเศรษฐกรโท กรมวิเทศสหการ

               แต่หลังจากนั้นก็เป็นนักวิชาการสายเศรษฐศาสตร์ โดยในปี 2510 เป็นอาจารย์คณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ จากนั้น ปี 2517 เป็นรองคณบดีคณะพัฒนาการเศรษฐกิจ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ปี 2519 เป็นคณบดี และปี 2524 รักษาการรองอธิการบดี สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์

               ขณะที่ในส่วนของงานการเมือง ดร.จิรายุ ดำรงตำแหน่งครั้งแรกเป็น รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงอุตสาหกรรม ในรัฐบาล พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ปี 2524 ต่อมาขึ้นนั่งเก้าอี้รัฐมนตรีว่าการแทน อบ วสุรัตน์ ซึ่งลาออกในปี 2528

               อย่างไรก็ดี ปี 2529 ช่วงที่ยังอยู่กระทรวงอุตสาหกรรม ดร.จิรายุ ได้เดินทางไปจังหวัดภูเก็ต เพื่อรับฟังความคิดเห็นของประชาชน เกี่ยวกับการสร้างโรงงานแทนทาลัม ปรากฏว่าประชาชนที่คัดค้านการสร้าง ได้พากันลุกฮือ ประท้วงเผาโรงงาน เนื่องจากมีข่าวลือว่า ดร.จิรายุ เป็นตัวแทนรัฐบาลที่สนับสนุนโรงงานแทนทาลัม

               กระทั่งในรัฐบาลถัดมา ช่วงปี 2530 ดร.จิรายุ ดำรงตำแหน่งรัฐมนตรีประจำสำนักนายกรัฐมนตรี แต่ต้องมาเจอศึกอภิปรายไม่ไว้วางใจ โดยมีการกล่าวหาอ้างสำเนาสเตตเมนต์แสดงการโอนเงินจำนวนมาก เข้าบัญชีธนาคารเฟิสต์ อินเตอร์สเตตในสหรัฐอเมริกาของ จิรายุ ซึ่งภายหลังมีการตรวจสอบว่า สเตตเมนต์ที่มีผู้นำมาแสดงนั้นเป็นของปลอม และ จิรายุ ไม่เคยมีบัญชีเงินฝากในธนาคารนั้น

               หลังการอภิปรายไม่ไว้วางใจ ดร.จิรายุ ลาออกจากงานการเมือง และได้รับโปรดเกล้าฯ ให้ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ และรองเลขาธิการสำนักพระราชวัง ตั้งแต่วันที่ 28 กรกฎาคม 2530

               อย่างไรก็ดี ยังมีตำแหน่งอื่นๆ ที่น่าสนใจ ซึ่งสะท้อนความรู้ความสามารถของเขาได้เป็นอย่างดี เช่น กรรมการมูลนิธิมหามกุฎราชวิทยาลัย นายกสภาสถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียง กรรมการ และอดีตนายกกรรมการธนาคารไทยพาณิชย์ และประธานกรรมการบริษัทปูนซีเมนต์ไทย อีกด้วย

               แต่หากจะโฟกัสที่ตำแหน่งสำคัญลำดับต้นๆ เวลานี้จะพบว่า ดร.จิรายุนั้น ควบทั้งตำแหน่ง เลขาธิการพระราชวัง และ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์ ซึ่งประเด็นนี้มีคำอธิบายว่า ทั้งสองตำแหน่งสามารถดำรงโดยบุคคลเดียวกันได้ เพราะมีการควบตำแหน่งเช่นนี้มาหลายยุคสมัย นับแต่เปลี่ยนแปลงการปกครองมาแล้ว

               ไม่ว่าจะตั้งแต่ พล.ต.หม่อมทวีวงศ์ ถวัลย์ศักดิ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คนแรก ก็ควบตำแหน่งเลขาธิการพระราชวัง หรือ พูนเพิ่ม ไกรฤกษ์ ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินส่วนพระมหากษัตริย์คนที่สอง ก็ควบตำแหน่ง เลขาธิการพระราชวังเช่นเดียวกัน เนื่องจากเป็นเรื่องที่ทรงวินิจฉัยตามความเหมาะสม และความไว้วางพระราชหฤทัย ให้รับใช้ใต้เบื้องพระยุคลบาท และรับผิดชอบในหน้าที่ซึ่งต้องมีความเอาใจใส่ต่อพสกนิกรแทนพระองค์

               แต่ที่ปฏิเสธไม่ได้คือ เราทราบกันดีว่า ดร.จิรายุ นั้น ก่อนหน้านี้ก็ดำรงตำแหน่งทั้ง ‘รอง’ เลขาธิการสำนักพระราชวัง ควบกับตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ อยู่แล้วเกือบสามสิบปี จึงถือว่าไม่ใช่เรื่องเกินเลยสำหรับงานในตำแหน่งล่าสุดนี้

               ช่วงปีที่แล้ว ในฐานะผู้อำนวยการสำนักงานทรัพย์สินฯ ดร.จิรายุ ใช้วิสัยทัศน์ในการปรับโครงสร้างใหม่เพื่อความคล่องตัวด้านการบริหาร โดยมีการแต่งตั้ง รองผู้อำนวยการถึง 4 คน แยกบริหารงานกันชัดเจน มี Business unit อสังหาริมทรัพย์ด้วย และตั้ง ผู้ช่วยผู้อำนวยการ อีก 5 คน กระจายงานกันไปรับผิดชอบ

               “ปี 2558 เราพบว่ามีงานด้านการพัฒนาที่ต้องทำมากมาย ยากที่รัฐบาลหรือองค์กรใดจะสามารถทำได้โดยลำพัง ฉะนั้น การรวมตัวกันเป็นเครือข่าย เป็นการสร้างพลัง ทั้งกายภาพและจิตใจ เป็นการเพิ่มโอกาสให้กับสังคมไทยไปต่อได้อย่างสมดุลและยั่งยืน” (ประชาชาติธุรกิจ 3-6 มีนาคม 2559)

               ขณะที่งานในหน้าที่ของเลขาธิการสำนักพระราชวัง ยิ่งมีความสำคัญใหญ่หลวง เพราะเป็นหน่วยงานราชการที่มีอยู่อย่างยาวนาน ตั้งแต่ พ.ศ. 1893 หรือครั้งสถาปนากรุงศรีอยุธยาเป็นราชธานี

               หน้าที่หลักๆ ตามพระราชกฤษฎีกาแบ่งส่วนราชการสำนักพระราชวัง พ.ศ. 2537 คือ การจัดการพระราชวัง ถวายความสะดวก ความปลอดภัยแด่พระมหากษัตริย์ และพระบรมวงศานุวงศ์ ปฏิบัติงานในพระองค์พระมหากษัตริย์ตามพระราชประสงค์ ปฏิบัติงานในพระองค์พระบรมวงศานุวงศ์ ฯลฯ

 

 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ