คอลัมนิสต์

พ.ร.บ.สามชั่วโคตร ปรับใหม่ “ไม่โหด” ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

ส่อง กฏหมาย พ.ร.บ.สามชั่วโคตร ไม่โหดอย่างที่ดิดจริงหรือ เผยชาร์จแบต-ใช้ซองตราครุฑทำได้

         แม้จะเหลาจากเจ็ดชั่วโคตรเหลือสามชั่วโคตร แต่ก็ทำให้หลายคนหวาดหวั่นไม่น้อยว่า กฎหมายขัดกันแห่งผลประโยชน์ หรือชื่อเต็มว่า “ร่างพระราชบัญญัติว่าด้วยความผิดเกี่ยวกับการขัดกันระหว่างประโยชน์ส่วนบุคคลกับประโยชน์ส่วนรวม” จะมีอิทธิฤทธิ์เพียงใด จะทำให้ผู้ไม่ผิดต้องรับผิดไปด้วยหรือไม่ หรือจะทำให้ใครต่อใครไม่กล้ามารับราชการหรือเป็นนักการเมืองใช่ไหม 

         และที่สำคัญ จากคำให้สัมภาษณ์ของ นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี ที่พูดในทำนองว่า หากตีความกันจริง เรื่องเล็กๆ น้อยๆ อย่างเสียบชาร์จโทรศัพท์ในสถานที่ราชการ หรือการใช้ซองจดหมายตราครุฑ ไปใส่ซองงานศพงานบวชก็อาจจะต้องผิดไปด้วย

          วันนี้เราได้ไปตรวจสอบร่างกฎหมายฉบับดังกล่าว ซึ่งเสนอโดยสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ และล่าสุดผ่านการกลั่นกรองจากคณะกรรมการกฤษฎีกาเรียบร้อยแล้ว กำลังรอจะเข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี ซึ่งหากผ่านความเห็นชอบก็จะเดินสู่กระบวนการออกกฎหมายโดยสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) เพื่อบังคับใช้ต่อไป พ.ร.บ.สามชั่วโคตร ปรับใหม่ “ไม่โหด” ?          เราจะมาสแกนกันว่า ร่างฉบับล่าสุด เป็นอย่างไร ใครที่เข้าข่าย อะไรที่ทำไม่ได้ และโทษมีมากน้อยเพียงใด เป็นอย่างที่กังวลกันหรือไม่

          ผู้ที่เข้าข่ายถูกบังคับใช้ตามกฎหมายตามมาตรา 3 ประกอบด้วย 1.เจ้าหน้าที่รัฐ 2.ผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง อันประกอบด้วย นายกรัฐมนตรี รัฐมนตรี ส.ส. ส.ว. ข้าราชการการเมือง ข้าราชการรัฐสภาฝ่ายการเมือง ผู้บริหารท้องถิ่น รองผู้บริหารท้องถิ่น ผู้ช่วยผู้บริหารท้องถิ่น สมาชิกสภาท้องถิ่นขององค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น เจ้าหน้าที่รัฐซึ่งดำรงตำแหน่งอื่นตามที่ ป.ป.ช.กำหนด

         3.ญาติ ซึ่งนิยามไว้ว่า ประกอบด้วย “บุพการี” หรือ บิดามารดา, “ผู้สืบสันดาน” หรือบุตร, คู่สมรสของบุตร, พี่น้องร่วมบิดามารดา, พี่น้องร่วมบิดา หรือ มารดา, บุตรบุญธรรม หรือ ผู้รับบุตรบุญธรรมของเจ้าหน้าที่รัฐ

 

         หากจะแปลความกันง่ายๆ คือ นอกจากตัวเจ้าหน้าที่รัฐ หรือนักการเมืองและคู่สมรสแล้ว คนอีก 3 ชั้นที่ต้องห้ามและเข้าข่าย คือ 1.พ่อแม่ และพ่อแม่บุญธรรม  2.พี่น้อง ไม่ว่าบิดามารดาเดียวกัน หรือต่างบิดา หรือต่างมารดา  หรือ  3.บุตร รวมถึงบุตรบุญธรรม นี่คือที่มาของคำว่า “สามชั่วโคตร”

          นอกจากนี้ที่ต้องทำความเข้าใจกันคือ กฎหมายฉบับนี้เกี่ยวข้องกับการ “ทุจริต” จริงอยู่ที่ส่วนหนึ่งของการทุจริตตอบแทนเป็นเงิน อย่างไรก็ตาม การทุจริตมิได้มาในรูปการให้เงินหรือสิ่งของเท่านั้น 

          กฎหมายฉบับนี้จึงได้นิยามคำว่า “ประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้” ประกอบด้วย 

1.การปลดหนี้ ลดหนี้ 

2.การให้ยืมโดยไม่คิดดอกเบี้ย 

3.การเข้าค้ำประกันโดยไม่คิดค่าธรรมเนียม 

4.การให้ค่านายหน้าหรือค่าธรรมเนียมการเป็นตัวแทน 

5.การขายหรือให้เช่าซื้อทรัพย์สินต่ำกว่ามูลค่าความเป็นจริงที่ปรากฏในท้องตลาด 

6.การซื้อหรือเช่าซื้อทรัพย์สินต่ำกว่ามูลค่าความเป็นจริงที่ปรากฏในท้องตลาด 

7.การให้ใช้สถานที่หรือยานพาหนะหรือทรัพย์สิน โดยไม่คิดค่าเช่าหรือค่าบริการ หรือคิดน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่นโดยปกติทางการค้า 

8.การให้ใช้บริการ โดยไม่คิดค่าเช่าหรือค่าบริการ หรือคิดน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่นโดยปกติทางการค้า 

9.การให้ส่วนลดในสินค้าหรือทรัพย์สินที่จำหน่าย โดยให้ส่วนลดมากกว่าที่ให้กับบุคคลอื่นทางการค้า 

10.การให้เดินทางหรือขนส่งบุคคลหรือสิ่งของ โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่นโดยปกติทางการค้า 

11.การจัดเลี้ยง การจัดมหรสพหรือการบันเทิงอื่นให้โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่นโดยปกติทางการค้า 

12.การให้บริการวิชาชีพอิสระ เช่น แพทย์ ทันตแพทย์ พยาบาล สถาปนิก วิศวกร กฎหมายหรือบัญชี โดยไม่คิดค่าใช้จ่าย หรือคิดค่าใช้จ่ายน้อยกว่าที่คิดกับบุคคลอื่นโดยปกติทางการค้า 

13.การให้รางวัล 

14.การชำระเงินล่วงหน้าหรือการคืนเงินให้ในภายหลัง 

15.การอื่นอันเป็นการกระทำที่ทำให้ผู้นั้นได้รับประโยชน์อันคาดคำนวณเป็นเงินได้ หรือไม่ต้องออกค่าใช้จ่ายตามที่กรรมการ ป.ป.ช.กำหนด

พ.ร.บ.สามชั่วโคตร ปรับใหม่ “ไม่โหด” ?

         จะเห็นได้ว่าเป็นการขีดเส้นจำกัดค่อนข้างกว้าง หากข้าราชการ หรือนักการเมือง คิดจะรับประโยชน์อะไรเหล่านี้ต้องคิดดีๆ และที่สำคัญ อะไรที่ยังนึกไม่ออกหรือมาในรูปแบบแปลกพิสดาร ก็รอให้ ป.ป.ช.กำหนดเพิ่มได้

         ส่วนข้อห้ามที่ห้ามกระทำตามมาตรา 5 ซึ่งเหมือนหัวใจของกฎหมายฉบับนี้ คือ การห้ามเข้าไปมีส่วนได้ส่วนเสียไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อมเพื่อประโยชน์ของตนเองหรือบุคคลอื่นซึ่งถือเป็นการขัดกันระหว่างผลประโยชน์ส่วนบุคคลกับบุคคลสาธารณะ 

         อย่างไรก็ตามมีการบัญญัติเพิ่มด้วยว่าการกระทำดังต่อไปนี้ให้ถือเป็นเป็นการขัดกันแห่งผลประโยชน์

1.การกระทำตามที่ พ.ร.บ.ป.ป.ช.กำหนดไว้ 

2.การกำหนดนโยบายหรือให้ความเห็นชอบร่างกฎหมาย ซึ่งเอื้อประโยชน์แก่กิจการที่ตน คู่สมรส บุตร หรือบิดามารดา มีส่วนได้ส่วนเสียเกินกว่าส่วนได้เสียตามปกติที่คนทั่วไปมีอยู่ นอกจากนี้กำหนดเลยว่า ถ้าถือหุ้นในนิติบุคคลเกินร้อยละห้า ถือว่าเป็นการมีส่วนได้เสียเกินกว่าปกติ 

3.การใช้ข้อมูลภายในของรัฐซึ่งยังเป็นความลับ ซึ่งได้รับทราบจากการปฏิบัติราชการ โดยทุจริต 

4.การริเริ่ม หรือเสนอจัดทำ หรืออนุมัติโครงการของรัฐหรือของหน่วยงานรัฐโดยทุจริต เพื่อเอื้อประโยชน์ต่อตนเองหรือผู้อื่นไม่ว่าทางตรงหรือทางอ้อม 

5.การใช้ทรัพย์สินของหน่วยงานที่ตนสังกัดหรือที่ตนปฏิบัติหน้าที่อยู่เพื่อประโยชน์ของตนหรือผู้อื่น เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎหรือทรัพย์สินนั้นมีราคาเล็กน้อย (ซึ่งในข้อ 5 นี้เองที่มีการตีความและกังวลว่า เรื่องเล็กน้อยอย่างการชาร์จโทรศัพท์ หรือใช้ซองตราครุฑใส่เงินช่วยงานจะทำได้หรือไม่ แต่เมื่อมีการใส่ข้อความว่า “เว้นแต่ได้รับอนุญาตโดยชอบด้วยกฎหมายหรือกฎหรือทรัพย์สินนั้นมีราคาเล็กน้อย” จึงน่าที่จะทำให้เรื่องดังกล่าวไม่เข้าข่ายตามกฎหมายนี้)

6.การใช้ตำแหน่งหรืออำนาจหน้าที่ที่มีอยู่โดยทุจริต ไปมีอิทธิพลต่อการตัดสินใจโดยอิสระในการใช้อำนาจตามตำแหน่งหน้าที่ของเจ้าหน้าที่รัฐที่ดำรงตำแหน่งอื่นไม่ว่าทางตรงทางอ้อม หรือเพื่อให้เจ้าหน้าที่รัฐนั้นกระทำการหรือไม่กระทำการอย่างหนึ่งอย่างใด (ก.)อนุมัติ อนุญาตให้จดทะเบียนหรือออกคำสั่งทางปกครองให้สิทธิประโยชน์อันอาจคำนวณเป็นเงินได้ (ข.)ให้สัมปทาน ทำสัญญา หรือทำนิติกรรมอันเป็นประโยชน์แก่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง (ค.)บรรจุ แต่งตั้ง เลื่อนเงินเดือน โอน ย้าย ดำเนินการทางวินัย หรือให้ผู้ใต้บังคับบัญชาพ้นจากตำแหน่งหรือการปฏิบัติหน้าที่ (ง.)ไม่แจ้งความร้องทุกข์เพื่อดำเนิคดีอาญา (จ.)ไม่ฟ้องคดี ไม่อุทธรณ์ ไม่ฎีกา ไม่ดำเนินคดี หรือไม่ดำเนินการอื่นใดเกี่ยวกับคดี หรือให้ถอนคำร้องทุกข์ ถอนฟ้อง ถอนอุทธรณ์-ฎีกา ไม่ว่าจะเป็นคดีประเภทใด (ฉ.)ดำเนินกระบวนการพิจารณา หรือทำคำพิพากษาคำสั่งคำวินิจฉัย ชี้ขาด (ช.)ไม่บังคับทางปกครอง หรือไม่บังคับตามคำชี้ขาด

         และในมาตรานี้กำหนดให้ใช้กับคู่สมรสหรือบุตรของเจ้าหน้าที่รัฐด้วย และหากเจ้าหน้าที่รัฐรู้แล้วเพิกเฉยไม่แก้ไขให้เจ้าหน้าที่รัฐคนนั้นรับโทษเช่นเดียวกับบุตรหรือคู่สมรสด้วย

         โดยการกระทำผิดตามมาตรานี้  มีโทษจำคุกไม่เกิน 5 ปี หรือปรับไม่เกิน 1 แสนบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ หากเป็นผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมืองต้องระวางโทษสองเท่า

         นอกจากนีี้ ในมาตรา 7 ยังห้ามเจ้าหน้าที่รัฐรับของขวัญ ของที่ระลึก เงิน ทรัพย์สิน หรือประโยชน์อื่นใดอันอาจคำนวณเป็นเงินได้ แม้จะเป็นการให้เป็นการส่วนตัวเว้นแต่กรณีที่รับได้ตามที่กฎหมายกำหนด หรือตามประเพณีนิยม 

        อย่างไรก็ตามหากรับต้องรายงานและส่งมอบให้ต้นสังกัดภายใน 30 วัน และให้หน่วยงานทำบัญชีและเก็บรักษาเอาไว้

        ซึ่งมาตรานี้เองกำหนดหมายรวมถึง “คู่สมรสและญาติ” ด้วย ซึ่งหากไม่ดำเนินการตามก็ให้ ป.ป.ช.ดำเนินการร้องศาลเพื่อให้ยึดอายัดทรัพย์

        ขณะที่โทษของการฝ่าฝืนมาตรานี้คือจำคุกไม่เกิน 3 ปี ปรับไม่เกิน 6 หมื่นบาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

        นอกจากนี้ในส่วนของเจ้าหน้าที่รัฐที่พ้นจากตำแหน่งไม่ถึงสองปีก็ยังมีการกระทำต้องห้ามตามมาตรา 9 คือ 

1.ห้ามเป็นกรรมการ ที่ปรึกษา ตัวแทน พนักงาน ลูกจ้าง ผู้รับจ้าง หรือดำรงตำแหน่งอื่นในธุรกิจเอกชน ซึ่งเคยอยู่ภายใต้อำนาจหน้าที่ของตนในการกำกับดูแล  (อาทิ ผู้ว่าการธนาคารแห่งประเทศไทย จะไปเป็นบอร์ดธนาคารพาณิชย์มิได้) 

2.รับเงินหรือประโยชน์ตอบแทนอื่นจากธุรกิจที่เคยอยู่ภายใต้กำกับที่ตนดูแล 

หากไม่ปฏิบัติตามมีโทษจำคุกไม่เกิน 1 ปี ปรับไม่เกิน 5 แสนบาท

        ทั้งนี้ โครงการสัญญา สัปทาน หรือกรณีต่างๆ ที่อนุมัติ และพบว่าเป็นการเข้าข่ายการขัดกันแห่งผลประโยชน์ สามารถยื่นคำร้องต่อศาลฎีกาภายในสองปีนับแต่วันเริ่มโครงการเพื่อขอให้สั่งยุติโครงการได้ หรือสั่งให้นำกลับไปทบทวนใหม่เพื่อแก้ไขให้รัฐไม่เสียประโยชน์ 

         ร่างกฎหมายฉบับนี้ จริงๆ แล้วมีประวัติศาสตร์ค่อนข้างยาวนาน และถูกปรับแก้ อุดช่องว่างที่ถูกโจมตีเรื่อยมา จนวันนี้ใกล้ออกมาเป็นรูปเป็นร่าง น่าสนใจว่า กว่าจะออกมาใช้จริงจะถูกปรับแก้อีกเช่นไร จะหนักขึ้นหรือเบาลง อีกไม่นานได้รู้กัน  

     สำนักข่าวเนชั่น โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ