คอลัมนิสต์

เดินเครื่องแก้ทุกมิติ-จราจรติดขัดเมืองกรุง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

นอกจากโครงการ “ทำการจราจรวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน" แก้ปัญหาเฉพาะหน้าแล้ว ทุกหน่วยบูรณาการทุกมิติ แก้รถติดสาหัสในกรุงเทพฯ ส่วนปรับ4เท่าเบี้ยวจ่ายใบสั่ง-แค่แนวคิด

    นอกจากการนำโครงการ “ทำการจราจรวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน" แก้ปัญหาเร่งด่วนเฉพาะหน้าแล้ว ทุกหน่วยบูรณาการทำงานร่วมกันทุกมิติ เพื่อแก้ปัญหารถติดสาหัสในกรุงเทพฯ ส่วนเพิ่มค่าปรับ 4 เท่าเบี้ยวจ่ายใบสั่งยังเป็นแค่แนวความคิด
    สำนักงานตำรวจแห่งชาติและหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้เร่งแก้ปัญหาจราจรติดในพื้นที่กรุงเทพฯและปริมณฑล ซึ่งนอกจากโครงการ “ทำการจราจรวันนี้ให้ดีกว่าเมื่อวาน" ที่มีกองบัญชาการตำรวจนครบาลเป็นหัวเรือใหญ่แล้ว ยังมีการนำงานวิจัยจราจรมาประยุกต์ใช้ปรับเปลี่ยนให้เหมาะสมกับสภาพปัญหาของแต่ละพื้นที่ โดยความร่วมมือจากสำนักงานกองทุนสนับสนุนการวิจัย(สกว.) ที่ได้รวมรวบงานวิจัยด้านการจราจรจนนำไปสู่การปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม 
    1.การแก้ไขปัญหาจราจรบริเวณหน้าห้างสรรพสินค้า โรงเรียน และตลาด ด้วยการมีส่วนร่วมระหว่างตำรวจ ประชาชน และผู้มีส่วนเกี่ยวข้อง ซึ่งการแก้ไขสภาพปัญหาจราจรบริเวณหน้าสถานที่เหล่านั้น ซึ่งจำเป็นต้องได้รับความร่วมมือพร้อมกันทุกฝ่าย โดยนำกลไกการมีส่วนร่วมคือการรับรู้ข่าวสาร การปรึกษาหารือ การประชุมรับฟังความคิดเห็น และการร่วมในการตัดสินใจ มีรูปแบบกลไกการมีส่วนร่วมบริเวณห้างสรรพสินค้า ระหว่างผู้ใช้บริการห้างสรรพสินค้า เจ้าหน้าที่หรือเจ้าหน้าที่รักษาความปลอดภัย ผู้บริหารห้างสรรพสินค้า รถสาธารณะ เจ้าหน้าที่ตำรวจ รวมถึงกลไกบริเวณโรงเรียนระหว่างนักเรียน นักศักษา ผู้ปกครอง ครู-ผู้บริหารโรงเรียน และเจ้าหน้าที่ตำรวจ ส่วนกลไกแก้ปัญหาบริเวณตลาดสด ระหว่างผู้ใช้บริการตลาดสด ผู้บริหาร ผู้ประกอบการตลาดสด รถสาธารณะ เจ้าหน้าที่เทศกิจ และเจ้าหน้าที่ตำรวจ
    2.การจัดระบบจราจรร่วมกันระหว่างตำรวจกับกรุงเทพมหานคร (กทม.) ในการจัดระบบหาบเร่แผงลอยริมถนนให้มีจุดผ่อนผันการขายให้น้อยที่สุด การปรับปรุงระบบสัญญาณไฟจราจรให้เป็นเอกภาพเดียวกันระหว่างผู้จัดหาสัญญาณไฟจราจรกับผู้ใช้งาน ซึ่งจะช่วยแก้ไขปัญหาการซ่อมแซมระบบสัญญาณไฟจราจรล่าช้า ระบบสัญญาณไฟข้ามถนนอัจฉริยะที่จะทำให้การจราจรติดขัดมากขึ้น และการจัดหาพื้นที่จอดรถเพื่อรองรับผู้ใช้ระบบขนส่งมวลชนขนาดใหญ่ เนื่องจากปริมาณยานพาหนะที่เพิ่มมากขึ้นและการก่อสร้างรถไฟฟ้า จึงต้องส่งเสริมให้ประชาชนใช้รถสาธารณะแทนการใช้รถส่วนตัว การหาแนวร่วมจัดหาที่จอดรถเพิ่มเติม
    3.การจัดตั้งศาลจราจรในเขตกรุงเทพฯ จากผลการศึกษาวิจัยพบว่าปริมาณใบสั่งมีจำนวนมากและขาดการติดตามดำเนิคดีกับผู้ได้รับใบสั่งอย่างจริงจัง และกฎหมายที่มีอยู่ไม่สามารถสร้างความเกรงกลัวให้ประชาชน ทำให้มีผู้ฝ่าฝืนและละเมิดกฎหมายอยู่เป็นจำนวนมาก และมีการกระทำความผิดซ้ำอยู่ตลอดเวลา จึงควรให้ศาลเป็นผู้ชี้ขาดและบังคับใช้กฎหมายเพื่อให้เห็นผลในทางปฏิบัติ เพื่อแก้ไขไม่ให้เกิดการกระทำความผิดซ้ำ ปรับเปลี่ยนพฤติกรรมผู้ใช้รถใช้ถนนให้มีระเบียบวินัยเคารพกฎหมายอันเป็นการสร้างวินัยจราจรที่ดี ทำให้การบังคับใช้กฎหมายมีประสิทธิภาพเป็นธรรมแก่ประชาชน ส่งผลให้ผู้กระทำผิดเกิดความเกรงกลัวและกระทำผิดลดลงและลดปัญหาคอร์รัปชันของเจ้าหน้าที่รัฐ 
    จึงมีการเสนอให้แก้ไขเพิ่มเติมพ.ร.บ.จราจรทางบก พ.ศ.2522 (ฉบับที่..) พ.ศ..... เพื่อกำหนดช่องทางให้เจ้าพนักงานคดีจราจรจะต้องนำใบสั่งที่ไม่มีชำระค่าปรับตามเงื่อนไขที่กฎหมายกำหนดไปยังพนักงานอัยการ เพื่อให้พนักงานอัยการยื่นต่อศาล เพื่อให้ผู้ที่ได้รับใบสั่งต้องไปแสดงตนและชำระค่าปรับที่ศาล และแก้ไขเพิ่มเติมพระราชบัญญัติจัดตั้งศาลแขวงและวิธีพิจารณาคดีในศาลแขวง พ.ศ.2499 (ฉบับที่...) พ.ศ..... เพื่อกำหนดเพิ่มเติมเกี่ยวกับหมวดว่าด้วยวิธีกาพิจารณาคดีจราจร เพื่อให้คดีจราจรในกลุ่มของการเปรียบเทียบปรับมีความชัดเจน รวดเร็วและเป็นธรรม
    นอกจากนี้ 4.การพัฒนาระบบการบริหารจัดการกำลังพลของเจ้าหน้าที่ตำรวจในพื้นที่บช.น. เพื่อแก้ไขปัญหาการขาดแคลนงบประมาณและกำลังพล 5.การพัฒนาระบบคัดกรองแผ่นป้ายทะเบียนปลอมแบบอัตโนมัติ แม้ปัจจุบันจะนำเทคโนโลยีทางการจราจรอัจฉริยะมาใช้ในการกวดขันวินัยจราจร เพื่อลดกำลังพลลง แต่กลับพบว่ามีผู้ฝ่าฝืนจำนวนร้อยละ 5 ของผู้ขับขี่เกินความเร็วทั้งหมดบนทางพิเศษ ได้ใช้แผ่นป้ายทะเบียนปลอม ซึ่งถือเป็นการปลอมแปลงเอกสารราชการ จึงต้องมีการพัฒนาระบบคัดกรองแผ่นป้ายทะเบียนปลอมขึ้น

เดินเครื่องแก้ทุกมิติ-จราจรติดขัดเมืองกรุง
โอดเพิ่มค่าปรับ-หวั่นทำยอดใบสั่ง
    อย่างไรก็ตาม มีความเห็นจากประชาชนเกี่ยวกับการกวดขันจ่ายค่าปรับเป็น 4 เท่า หากโดนใบสั่ง “ดื้อดึง” ไม่ยอมไปจ่ายค่าปรับภายใน 30 วัน โดยนายประสพ อายุ 47 ปี หัวหน้าวินจักรยานยนต์รับจ้าง ย่านเขตพญาไท แสดงความเห็นกรณี พล.อ.ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกฯและรมว.กลาโหม สั่งให้เปรียบเทียบปรับผู้ขับขี่ที่โดนใบสั่งแล้วไม่เสียค่าปรับจำนวน 4 เท่าและไม่อนุญาตให้ไปต่อทะเบียน 
    นายประสพ เห็นว่า คนทั่วไปบอกว่าดี แต่คนใช้รถใช้ถนนคงไม่เห็นด้วย กฎจราจรต้องมีบังคับใช้ แต่ก็ต้องยืดหยุ่นกันบ้าง เห็นว่าถ้าใครไม่เสียค่าปรับก็ควรให้ไปเสียค่าปรับก่อนที่จะมาต่อทะเบียนได้ แต่ไม่ควรที่จะต้องปรับเงินเพิ่ม ยกตัวอย่างอาชีพขับรถจักรยานยนต์รับจ้างที่ต้องใช้รถใช้ถนนอยู่ตลอดทั้งวัน ก็ต้องมีทำผิดกฎจราจรกันบ้าง หากไม่รีบทำเวลา เช่น มีผู้โดยสารเรียกให้ไปส่งย่านประตูน้ำ ถ้าไป-กลับปกติ ใช้เวลาเกือบ 1 ชั่วโมง แล้วได้เงิน 20 บาท ก็ต้องรีบกลับมาที่วินเพื่อรอรับผู้โดยสารต่อ เงินที่ได้ต่อวันคงไม่พอเลี้ยงครอบครัว ต้องมีขับขวา แซงรถประจำทาง ขับบนทางเท้าบ้าง 
    “ถึงแม้รู้ว่าผิดกฎจราจรก็ต้องทำ มองว่าปัญหาการจราจรแก้อย่างไรก็แก้ไม่ได้ เพราะผู้ขับขี่ยังขาดวินัยจราจร อีกทั้งปริมาณรถในปัจจุบันมีมากกว่าพื้นที่สามารถรองรับได้ เวลามีมาตรการออกมาก็แก้ไขได้ในระยะสั้นแค่ 2-3 เดือน หลังจากนั้นก็กลับมามีปัญหารถติดอีกเหมือนเดิม เป็นเรื่องที่จำเจ ซ้ำซาก” นายประสพ กล่าวย้ำ
    ขณะที่ น.ส.อัญชลิน อายุ 38 ปี ประกอบอาชีพธุรกิจส่วนตัว บอกว่า เห็นด้วยหากจะขึ้นค่าปรับ 4 เท่า สำหรับคนที่ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ เพราะจะทำให้คนไทยมีระเบียบวินัยในการขับขี่รถมากยิ่งขึ้น ก่อให้เกิดความเดือดร้อนบนท้องถนนน้อยลง นอกจากนี้หากเพิ่มว่าถ้าไม่เสียค่าปรับแล้วไม่สามารถต่อทะเบียนหรือใบขับขี่ได้ ในส่วนนี้จะดีมาก เพราะคนที่ได้ใบสั่งก็จะไม่ละเลย 
    "แต่รู้สึกกลัวและเป็นห่วงมาก หากว่าการขึ้นค่าปรับเป็น 4 เท่า อาจจะทำให้ตำรวจเร่งทำยอดใบสั่งตามกล้องและการตั้งด่าน หรือจับบนท้องถนน เพราะการเร่งทำผลงานในตรงนี้อาจจะส่งผลกับผู้ที่ทำความผิดเล็กน้อย ซึ่งอาจแค่ตักเตือนได้ ไม่จำเป็นต้องออกใบสั่ง ซึ่งก็ต้องมาดูกันที่เหตุผล ไม่ใช่เร่งจะทำยอดอย่างเดียว เนื่องจากจรรยาบรรณในการปฏิบัติหน้าที่ของแต่ละคนต่างกัน ควรจะใช้เหตุผลมากกว่า แต่หากจะนำเงินค่าปรับที่ได้มาทั้งหมดเข้าสู่รัฐ โดยที่ไม่มีส่วนแบ่งให้กับตำรวจ ก็เห็นด้วย เพราะจะได้เอาเงินในส่วนนี้ไปพัฒนาประเทศ โดยการส่งเงินค่าปรับให้รัฐทั้งหมดจะได้ไม่มีการยักยอกไปในส่วนไหนได้" น.ส.อัญชลิน กล่าว

เดินเครื่องแก้ทุกมิติ-จราจรติดขัดเมืองกรุง
    ส่วนความเห็นของ นายสมพงศ์ อายุ 39 ปี อาชีพขับรถสามล้อย่านห้วยขวาง ระบุว่า การขึ้นค่าปรับ 4 เท่านั้น เราต้องมาดูก่อนว่า ปรับ 4 เท่าทุกใบเสร็จหรือไม่ หรือปรับเฉพาะคนที่ไม่ยอมจ่ายค่าปรับ หรือกำหนดเวลาชัดเจนเลยว่าหากเกินกว่าวันที่กำหนดจะปรับ 4 เท่า เพราะอย่างตนเองเวลาได้ใบสั่งก็จะไปเสียค่าปรับทุกครั้ง ไม่อยากให้ใบขับขี่ไปอยู่กับเจ้าหน้าที่นาน แต่หากจะต้องเสียค่าปรับทุกใบสั่ง ก็ไม่เห็นด้วย ควรจะปรับเฉพาะคนที่ไม่ยอมไปเสียค่าปรับเท่านั้น 
    "ที่ผ่านมาเห็นมาหลายคนที่ทำผิดซ้ำซ้อน ได้ใบสั่งหลายใบ แต่ก็ยังไม่ยอมไปเสียค่าปรับ ถึงจะเป็นเงินไม่มากแต่ก็ควรไปเสีย หากจะนำกฎหมายมาบังคับใช้ตรงนี้ เห็นด้วย แต่ในส่วนตำรวจอาจจะเร่งทำยอดใบสั่ง ตรงนี้ไม่เห็นด้วย เพราะความผิดเล็กๆ น้อยๆก็อาจจะถูกเรียกจ่ายใบสั่งหมด อาจจะไม่อะลุ่มอล่วยกัน ถ้าหากทำความผิดเยอะ เช่น การจอดกีดขวางเส้นทาง ก็สมควรที่จะออกใบสั่งได้ ส่วนที่จะนำเงินค่าปรับทั้งหมดเข้ารัฐ อันนี้เห็นด้วยอย่างยิ่ง เพราะเจ้าหน้าที่จะได้ไม่เร่งทำยอดใบสั่ง เนื่องจากไม่ได้รับส่วนแบ่งในตรงนี้ ซึ่งอยากให้จับในส่วนที่ทำผิดจริงๆเท่านั้น" นายสมพงศ์ กล่าว
ลงสำรวจพื้นที่ดูสถานการณ์จริง
    สำหรับการแก้ปัญหาจราจรใน 21 ถนนหลักในกรุงเทพฯ "ทีมข่าว คม ชัด ลึก” ได้ลงพื้นที่สำรวจ 1 ใน 21 เส้นทางหลักที่พบว่าจราจรติดขัด ซึ่งมีค่าเฉลี่ยการระบายท้ายแถวของรถได้ล่าช้า โดยสำรวจเริ่มใช้เส้นทางมอเตอร์เวย์เข้าถนนศรีนครินทร์ มุ่งหน้าแยกลำสาลี ก่อนเลี้ยวซ้ายเข้าถนนลาดพร้าว และตรงไปสู่ถนนวิภาวดี ในช่วงเวลา 07.00 น.ของวันที่ 23 กันยายน ที่เป็นช่วงเวลาชั่วโมงเร่งด่วน 
    พบว่ารถสามารถเคลื่อนตัวได้ดีสลับกับการหยุดนิ่ง ในจุดกลับรถเข้าสู่ถนนศรีนครินทร์สามารถเคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ แต่รถที่จะมุ่งหน้าขึ้นทางพิเศษศรีรัชติดขัดยาวไปจนถึงมัสยิดยามิอุ้ลอิซฮาร และช่วงสี่แยกทางเข้าหมู่บ้านนักกีฬามีรถติดขัด เนื่องจากมีแนวการก่อสร้างสะพานข้ามแยก รวมทั้งเกิดน้ำท่วมขังรอการระบายเพราะมีฝนตกลงมา 
    กระทั่งช่วงเวลา 07.35 น. บริเวณหน้าห้างสรรพสินค้าเดอะมอลล์บางกะปิ รถโล่งเคลื่อนตัวได้ดีมาก เมื่อไปถึงบริเวณ รพ.ลาดพร้าว รถเริ่มเคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ จนถึง ซ.ลาดพร้าว 144 รถสามารถเคลื่อนตัวได้ช้าไปจนถึงห้างสรรพสินค้าอิมพีเรียลเวิลด์ลาดพร้าว ก่อนไปติดสะสมช่วงแยกใกล้เคียง ซ.ลาดพร้าว 80 เพราะมีการระบายรถเข้าซอยแยกย่อย ซึ่งสามารถไปประชาอุทิศ ห้วยขวาง และรัชดาภิเษก ได้ เมื่อมาถึงช่วง ซ.ลาดพร้าว 72 ยาวไปจนถึงหน้า สน.โชคชัย พบว่าทั้งสองข้างทางมีการปรับปรุงทางเท้า โดยรถเคลื่อนตัวได้เรื่อยๆ ไปจนถึงถนนวิภาดีรังสิต ใช้เวลาประมาณ 1 ชั่วโมง 30 นาที จากนั้นจราจรติดขัดอีกครั้งช่วงหน้าโรงเรียนสุรศักดิ์มนตรี
    อย่างไรก็ตาม สภาพฝนที่ตกลงมาอย่างต่อเนื่องในพื้นที่กรุงเทพฯ ส่งผลทำให้ถนนในหลายเส้นทางเกิดน้ำท่วมขัง เช่น ย่านแบริ่ง ถนนสีหบุรานุกิจ ถนนจรัญสนิทวงศ์ ถนนรามอินทรา ถนนหลัง ม.รามคำแหง เป็นต้น จึงทำให้รถชะลอตัวและติดขัดต่อเนื่องกัน บางเส้นทางมีก่อสร้างรถไฟฟ้า สะพานข้ามแยก และมีอุบัติเหตุรถเสีย รถชน จึงส่งผลให้การจราจรในช่วงนั้นๆ ติดขัดได้ ทั้งนี้จากการสำรวจยังพบว่ามีประชาชนจะข้ามถนนแทนการข้ามสะพานลอย แม้มีสะพานลอยอยู่ใกล้เคียง อีกทั้งยังพบรถยนต์ส่วนบุคคลจอดรับ-ส่งคนบริเวณรถไฟฟ้าใต้ดิน จึงทำให้รถเกิดการชะลอตัว จนมีผลให้เกิดปัญหาการจราจรติดขัดขึ้นได้

เดินเครื่องแก้ทุกมิติ-จราจรติดขัดเมืองกรุง
ยันแก้21ถนนกรุงจราจรดีขึ้น30%
    สำหรับการแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าในถนน 21 สายหลักเมืองกรุง พล.ต.ต.นิพนธ์ เจริญผล รองผบช.น. ชี้แจงว่า การดูแลการจราจรได้วางกำลังเจ้าหน้าที่ในถนนเส้นทางหลักทั้ง 21 สาย เพื่อ“ล้างท่อ”ไม่ให้มีรถจอดกีดขวางการจราจรเป็นหลัก และได้ประสานกับพื้นที่ปริมณฑลให้ช่วยรับรถและเร่งระบายรถ โดยเฉพาะในพื้นที่ถนนศรีนครินทร์ สำโรงเหนือ จะพบกับปัญหารถติดขัด เนื่องจากพื้นที่รอยต่อมีเจ้าหน้าที่ตำรวจจราจรไม่เพียงพอ ส่วนช่วงแบริ่งมีน้ำท่วมขัง ก็จะส่งผลให้การจราจรช่วงสี่แยกบางนาได้รับผลกระทบ 
    ส่วนทางด้านรอยต่อแจ้งวัฒนะ ปากเกร็ด งามวงศ์วาน ปัญหาการจราจรดีขึ้น เพราะมีการประสานงานรับช่วงต่อกันดีอยู่แล้ว ในช่วงเย็นบริเวณแยกบ้านม้า ลำสาลี จะเร่งระบายรถ หากระบายรถได้ดีขึ้นก็จะส่งผลให้บริเวณประตูน้ำ แยกราชประสงค์ติดขัดน้อยลง ส่วนในเส้นทางพระราม 2 จะกวดขันไม่ให้มีรถจอดกีดขวางการจราจรทั้งสองฝั่ง ซึ่งผลการดำเนินงานในภาพรวมการจราจรดีขึ้นกว่า 30 เปอร์เซ็นต์แล้ว
แค่แนวคิดปรับ4เท่าเบี้ยวจ่ายใบสั่ง
    พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ปิงเมือง รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวถึงกรณีที่ประชุมคณะอนุกรรมการบูรณาการขับเคลื่อนการแก้ไขปัญหาจราจรในเขตกรุงเทพฯและปริมณฑล เสนอให้เจ้าหน้าที่บังคับใช้กฎหมาย กวดขันในเรื่องการออกใบสั่งให้เป็นวาระพิจารณาเร่งด่วน หากใครได้รับใบสั่งแล้วไม่ไปชำระเงินภายใน 30 วัน จะต้องจ่ายค่าปรับเพิ่มเป็น 4 เท่า ว่า เรื่องดังกล่าวเป็นแนวคิดในที่ประชุมเมื่อวานนี้ (22ก.ย.) ซึ่งอาจจะเป็นมาตรการในระยะยาว ตอนนี้อยู่ระหว่างการศึกษาว่ามีความเป็นไปได้มากน้อยเพียงใด เพื่อแก้ปัญหาที่ประชาชนถูกใบสั่งแล้วไม่มาชำระเงิน 
    "ก่อนหน้านั้น เป็นการแก้ปัญหาจราจรแบบแยกส่วน แต่วันนี้มีการทำงานแบบบูรณาการร่วมกัน ให้ผู้ที่เกี่ยวข้องเข้ามาแก้ปัญหาร่วมกันอย่างจริงจัง เชื่อว่าปัญหานี้แก้ไม่ยาก ถ้าทุกคนร่วมมือกัน ส่วนจะใช้ มาตรา 44 มาแก้ปัญหาด้วยหรือไม่ ตอนนี้ยังไม่ถึงเวลา" พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ ระบุ
    ส่วนการเพิ่มค่าปรับ 4 เท่า จะเป็นการเปิดช่องทางให้ตำรวจจราจรแข่งกันทำยอดใบสั่งหรือไม่ เนื่องจากได้ถ้าทำได้มากก็ได้ส่วนแบ่งมากตามไปด้วยนั้น พล.ต.ต.ปิยะพันธ์ กล่าวว่า ตำรวจมีหน้าที่บังคับใช้กฎหมายกับผู้ที่ฝ่าฝืน ไม่เกี่ยวกับการทำยอดใบสั่ง ยืนยันว่าการเพิ่มค่าปรับไม่ใช่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ แต่เป็นหนึ่งในมาตรการดำเนินการเท่านั้น

เดินเครื่องแก้ทุกมิติ-จราจรติดขัดเมืองกรุง
    พล.ต.ต.ทรงพล วัธนะชัย รองโฆษกสำนักงานตำรวจแห่งชาติ กล่าวว่า ปัจจุบันประชาชนฝ่าฝืนกฎจราจรจำนวนมาก โดย 1 เดือนมีผู้กระทำผิดเกือบ 1 แสนราย การบังคับใช้กฎหมายที่ผ่านมาไม่เป็นผลเท่าที่ควร สังเกตสถิติการออกใบสั่งจราจร 100 เปอร์เซ็นต์ มีผู้มาชำระค่าปรับแค่ 30 เปอร์เซ็น และอีก 70 เปอร์เซ็นต์ ก็ลอยนวล จึงเป็นที่มาว่าควรเพิ่มกฎลงโทษ พร้อมวางมาตรการต่างๆไว้ เช่น อายัดรถไว้ก่อน เพื่อให้คนที่ทำผิดได้ชำระค่าปรับ ทั้งนี้มองว่าถ้าไม่ได้ฝ่าฝืนกฎหมายก็ไม่ต้องกลัว
    “ผลการดำเนินการแก้ไขปัญหาจราจรในช่วงที่ผ่านมา เป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก ซึ่งภาพรวมทั้ง 21 สายหลักในกรุงเทพฯ สามารถลดระยะเวลาเดินทางได้ในระดับหนึ่ง แต่ก็มีบางเส้นทางที่ยังมีความล่าช้าอยู่ โดยเฉพาะถนนลาดพร้าว ช้าลงประมาณ 35 นาที เนื่องจากเส้นทางดังกล่าวมีประชาชนอาศัยจำนวนมาก จึงทำให้มีรถยนต์ค่อนข้างหนาแน่น ประกอบกับมีอุบัติเหตุเกิดขึ้น จึงทำให้การจราจรค่อนข้างจะติดขัด" พล.ต.ต.ทรงพล กล่าว 
    และว่า ขณะเดียวกันสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ได้หารือกับการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ขอเพิ่มเส้นทางบริเวณแยกคลองเตย แยกผ่านพิภพ ช่วงสะพานพระปิ่นเกล้า จะมีการทุบเกาะกลางให้เล็กลง และถนนรามอินทรา ช่วงสะพานข้ามวิภาวดี จะมีการลดช่องทางกลับรถที่มีมากเกินไป เพื่อให้การจราจรเกิดความคล่องตัวมากขึ้น
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ