คอลัมนิสต์

“ฝายแม่ผ่องพรรณ” แค่ยอดภูเขาน้ำแข็ง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คอลัมน์ "ขยายปมร้อน" โดย อรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

กลายเป็นปรากฏการณ์สะท้านสะเทือนสังคมออนไลน์ เมื่อมีคนโพสต์ภาพฝายแห่งหนึ่งที่จังหวัดเชียงใหม่  แต่ที่น่าสนใจอยู่ที่ว่า ในป้ายที่อยู่ข้างๆฝายนั้น ขึ้นภาพบุคคลหนึ่งใหญ่โต และมีตราของกระทรวงกลาโหม พร้อมทั้งระบุว่า ฝายแห่งนั้นชื่อ “ฝายแม่ผ่องพรรณพัฒนา” รวมถึงในพิธีเปิดฝายก็มีเธอคนนั้นเป็นผู้มาร่วมงานโดยมีข้าราชการและชาวบ้านคอยต้อนรับ
 
หลายคนจึงสงสัยว่า สตรีในภาพเป็นใครกัน ทำไมหาญกล้าถึงเพียงนี้ ในยุคที่ รัฐบาล “ประยุทธ์ จันทร์โอชา” เคยประกาศว่า นักการเมือง หรือหัวหน้าส่วนราชการต้องไม่ขึ้นป้ายโปรโมทตัวเอง หรือขึ้นป้ายตัวเองคู่กับผลงานรัฐ
 
เราเคยก่นด่ากับการที่นักการเมือง เมื่อทำโครงการอะไรสักอย่างที่ใช้งบประมาณของรัฐ แล้วติดป้ายเพื่อประชาสัมพันธ์ตัวเองประหนึ่งว่าใช้งบส่วนตัวทำโครงการนั้น หลายคนมองว่าเรื่องเช่นนี้ เป็นเรื่องทุจริตเชิงนโยบายเสียด้วยซ้ำ เพราะเป็นการแอบอ้างงบประมาณรัฐมาเพื่อคะแนนนิยมส่วนตัว
 
เช่นนี้เองโลกโซเชียลจึงไปตามหาว่าเธอเป็นใครกันหนอถึงได้หาญกล้าเช่นนี้ และหน่วนงานต้นสังกัดยอมได้เช่นไรที่ให้คนมาแอบอ้างคล้ายเป็นผลงานสวนตัวเช่นนี้
 
ที่สุดคนก็หากพบ ทำมให้หลายคนถึงบางอ้อ พอๆกับที่ตกตะลึงว่าเธอคนนี้เป็นใคร เพราะคนดังกล่าวมีชื่อว่า “ผ่องพรรณ จันทร์โอชา” และมีสถานะเป็นภริยาของ “พล.อ.ปรีชา จันทร์โอชา”
 
ที่ถึงบางอ้อเพราะ เข้าใจว่าทำไมหน่วยงานต้นสังกัดถึงยอมให้มีเรื่องเช่นนี้เกิดขึ้น เพราะสามีของเธอนั้นมีสถานะเป็นถึง “ปลัดกระทรวงกลาโหม” ส่วนเธอก็อยู่ในฐานะ นายกสมาคมภริยาข้าราชการสำนักงานปลัดกระทรวงกลาโหม
 
งบประมาณที่ใช้ก็เป็นงบประมาณในส่วนของกระทรวงกลาโหม
 
ส่วนที่ตกตะลึงก็เป็นเพราะอีกสถานะหนึ่งของปลัดกระทรวงกลาโหมคือ น้องชายของ “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” นายกรัฐมนตรี ผู้อาสาเข้ามาปัดกวาดประเทศพร้อมประกาศปฏิรูปบ้านเมืองในทุกๆด้าน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการต่อสู้กับการคอร์รัปชั่นในทุกรูปแบบ รวมไปถึงการแสดงพฤติกรรมรังเกียจการกระทำของนักการเมืองที่มิชอบ
 
หลายคนจึงแปลกใจว่า เป็นไปได้อย่างไรที่น้องสะใภ้ของท่านจะมากระทำการเช่นนี้ที่เปรียบเสมือนกับการดิสเครดิตผู้นำประเทศด้วยตัวเอง

 
ระหว่างที่เรื่องกำลังกระพื่อใหญ่โตเป็นไฟลามทุ่ง ก็มีแหล่งข่าวจากกระทรวงกลาโหมพยายามชี้แจงว่า ป้ายดังกล่าวมิใช่ชื่อฝาย หากแต่เป็นป้ายต้อนรับเท่านั้น ทำเอาหลายคนถึงกับสงสัยว่า ป้านต้อนรับถึงกับต้องเปลี่ยนชื่อฝาย เป็นชื่อผู้ที่จะไปต้อนรับเชียวหรือ
 
ก็ต้องบอกกันตรงๆว่า หากชี้แจงอย่างนี้ก็ไม่ค่อยสมเหตุสมผลเท่าไหร่
 
ต่อมา “แหล่งข่าว” ซึ่งไม่รู้เป็นเจ้าเดิมหรือไม่ จึงออกมาชี้แจงเพิ่มว่า การสร้างฝายแห่งนั้น เป็นแนวคิดของ “ผ่องพรรณ” ที่ได้หารือหน่วยในพื้นที่ และได้รับทราบปัญหาจากชาวบ้านว่าต้องการฝาย จึงร่วมมือกับทหารและชาวบ้านในพื้นที่สร้างขึ้นมา โดยใช้งบประมาณของกรมการพลังงานทหาร กระทรวงกลาโหม

ส่วนเรื่องชื่อ “แม่ผ่องพรรณพัฒนา” นั้น “แหล่งข่าว” พยายามชี้แจงว่า ทางหน่วยรายงานว่าชาวบ้านช่วยกันคิดชื่อขึ้นมาเอง เพื่อเป็นการต้อนรับ ไม่เกี่ยวกับเธิแต่อย่างใด เนื่องจากชาวบ้านมีความคุ้นเคย เคารพนับถืออยู่แล้ว
 
นี่คือคำชี้แจงเพิ่มเติมจากแหล่งข่าว ส่วนใครจะเชื่อหรือไม่ก็ล้วนแล้วแต่เป็นวิจารณญาน
 
แต่สิ่งที่น่าสงสัยและยังไม่สามารถเลือนหายไปคือ ฝายดังกล่าวสร้างด้วยงบประมาณของ กระทรวงกลาโหม  การที่ขึ้นป้ายพร้อมรูปของเธอนั้นหากใช้มาตรฐานเดียวกับนักการเมืองและข้าราชการทั่วไปก็ต้องบอกว่าไม่เหมาะสม 
 
แต่จะว่ากันแบบแฟร์แล้ว ก็น่าเชื่อได้ว่าเธอคงไม่มารับรู้กับเรื่องเล็กๆน้อยๆพรรค์นี้ แต่น่าจะเป็นการจัดให้ของหน่วยราชการ หรือในระดับพื้นที่มากกว่า  แต่สิ่งที่เกิดขึ้นนี้เป็นเพียงยอดของภูเขาน้ำแข็งเท่านั้น  เพราะการ "จัดให้นาย - เอาใจนาย - ดูแลนาย”  ล้วนแล้วแต่เป็นวัฒนธรรมการดูแลผู้มีอำนาจ และมักจะเกิดขึ้นกับผู้มีอำนาจที่มีอำนาจแบบเบ็ดเสร็จ ให้คุณให้โทษได้ 
 
 การสร้างความพึงพอใจย่อมจะหมายถึงอนาคตอันมั่นคง หรืออาจจะหมายถึงผลประโยชน์อื่นๆที่จะตามมา  ดังนั้นการดูแลจึงไม่จำกัดเพียง “นาย” หากแต่อาจจะรวมถึง “คนใกล้ชิดนาย” ด้วย
 
เรื่องเช่นนี้ไม่จำกัดเฉพาะกับ นักการเมือง ข้าราชการ ทหาร หรือพ่อค้า  หากอยากแก้ต้องมองให้เห็นปัญหาเสียก่อน
 
 
------

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ