คอลัมนิสต์

เตือนภัยง'แชร์ลูกโซ่'ลามออนไลน์สารพัดวิธีล่อลวง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เตือนภัยง'แชร์ลูกโซ่'ลามออนไลน์ สารพัดวิธีล่อลวง – เสียหายแสนล้าน! : บทความพิเศษ

             ปัญหา “แชร์ลูกโซ่” ได้ยินกันมานาน จริงๆ แล้วเป็นเรื่องใกล้ตัวเราอย่างมาก และทุกคนมีโอกาสตกเป็นเหยื่อได้ แม้จะมีข่าวความเสียหายใหญ่โตมาหลายครั้ง แต่ก็ยังมีแชร์วงใหม่ๆ ที่สร้างความเสียหายยิ่งกว่าเกิดขึ้นเสมอ

             สาเหตุส่วนหนึ่งเป็นเพราะแชร์ลูกโซ่ในปัจจุบันพัฒนารูปแบบไปมากจากที่เราเคยคุ้นชินกันในอดีต เช่น แชร์แม่ชม้อย หรือแชร์แม่นกแก้ว โดยทุกวันนี้แชร์ลูกโซ่มีหลายรูปแบบและวิธีการ ที่สำคัญเมื่อตกเป็นเหยื่อแล้วกระบวนการทวงความยุติธรรมเพื่อให้ได้เงินคืนยากยิ่งกว่า

             รูปแบบของแชร์ลูกโซ่ มีสำคัญๆ 3 รูปแบบ คือ

             แบบที่ 1 การเชิญชวนกันเล่นแชร์ธรรมดาเหมือนที่เรารู้จักกันทั่วไป แต่ระยะเวลาการเปียแชร์จะถี่เป็นพิเศษ มีการหาสมาชิกเพิ่มตลอด แรกๆ จะได้ปันผลตามที่ตกลงกัน แต่เมื่อเล่นไปสักพักเท้าแชร์ก็หายตัวไป ลักษณะแบบนี้เกิดขึ้นมานานแล้ว และปัจจุบันมีการเล่นกันผ่านอินเทอร์เน็ต

             แบบที่ 2 คือ การเชิญชวนให้เข้ามาลงทุนในธุรกิจ โดยมีผลตอบแทนสูงๆ เป็นตัวล่อ และชักชวนให้มีการหาสมาชิกเพิ่ม ตัวอย่างเช่น ธุรกิจทองคำ สกุลเงิน อสังหาริมทรัพย์ กองทุน ที่โดยมากจะอ้างตัวว่าเป็นบริษัทที่เชื่อถือได้ ตรวจสอบได้ อาจจะมีการจดทะเบียนจริง แต่แฝงด้วยเจตนาของแชร์ลูกโซ่ เมื่อได้เงินตามเป้าหมายบริษัทจะปิดตัวหายไป

             แบบที่ 3 คือ การเชิญชวนให้เข้าร่วมเป็นสมาชิกในการขายสินค้า ลักษณะคล้ายขายตรง แต่ไม่เน้นคุณภาพสินค้า เน้นไปที่การหาสมาชิกมาลงทุนเพิ่มแทน สร้างความน่าเชื่อถือด้วยการจดทะเบียนบริษัท หรือปลอมแปลงทะเบียนบริษัท สุดท้ายจะปิดตัวลงต่อเมื่อไม่สามารถขายของได้กำไรพอที่จะเอามาหมุนหลอกให้สมาชิกต่อไป

             จะเห็นได้ว่าแชร์ลูกโซ่แบบที่ 3 คล้ายๆ กับธุรกิจขายตรง ความต่างที่สำคัญที่สุดและเป็นจุดสังเกตเพื่อป้องกันไม่ให้ถูกหลอก คือ ธุรกิจขายตรงเน้นการขายสินค้า มีการสร้างสมาชิกเป็นเครือข่ายเพื่อผลของการจำหน่ายสินค้า แต่แชร์ลูกโซ่จะไม่มีการขายสินค้า แม้บางครั้งจะทำทีเหมือนมีสินค้า แต่ก็ไม่ได้เน้นขาย เป็นเพียงตัวหลอกเท่านั้น และมีกระบวนการไซฟ่อนเงินออกไปสู่ผู้ร่วมขบวนการ

             ปัญหาสำคัญของการจัดการกับวงจรแชร์ลูกโซ่ก็คือ ไม่มีหน่วยงานภาครัฐหน่วยไหนเลยที่เป็นหน่วยกลาง หรือ “เจ้าภาพ” ในการดูแลปัญหานี้ จนประชาชนตาดำๆ ต้องจัดตั้งสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทยขึ้นมาเอง

             “เฉพาะคดีของสมาพันธ์ประมาณ 40 คดี มีมูลค่าสูงถึงแสนล้านบาท ปัญหาที่เกิดขึ้นเป็นเพราะว่าเราไม่มีมาตรการป้องกันและเยียวยาที่มีประสิทธิภาพมากพอ” เป็นคำกล่าวของ สามารถ เจนชัยจิตรวนิช ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย

             ปัญหาของเหยื่อแชร์ลูกโซ่เท่าที่รวบรวมได้

             เรื่องแรกคือ การร้องเรียนเมื่อตกเป็นเหยื่อแชร์ลูกโซ่ ปรากฏว่าไม่รู้จะไปร้องเรียนที่ไหนดี ไปที่ไหนก็ไม่เป็นผล เช่น เริ่มจากแจ้งความโรงพักในท้องที่ แต่เมื่อตำรวจเห็นว่าเป็นคดีใหญ่ มีพยานหลายคน ก็จะแนะนำไปให้ที่กองปราบปราม

             เมื่อไปถึงกองปราบปราม พนักงานสอบสวนก็อาจแค่รับเรื่องไว้ แล้วส่งต่อไปยัง บก.ปอศ. (กองบังคับการปราบปรามการกระทำผิดเกี่ยวกับอาชญากรรมทางเศรษฐกิจ) เพราะมองว่าเป็นคดีเศรษฐกิจ

             แต่พอคดีไปถึง ปอศ.ซึ่งเป็นหน่วยงานที่เล็กกว่ากองปราบฯ เสียอีก กำลังพลก็น้อยกว่า ก็อาจจะไม่รับเรื่องสอบต่อ เพราะมองว่าเป็นคดีใหญ่ ก็จะส่งให้กรมสอบสวนคดีพิเศษ (ดีเอสไอ) เป็นผู้ดำเนินการ

             สุดท้ายดีเอสไอ หากไม่รับไว้เป็นคดีพิเศษ ก็ไม่สามารถทำงานต่อไป...นี่คือชะตากรรมการร้องเรียนหาความเป็นธรรมของเหยื่อแชร์ลูกโซ่

             นอกจากนี้ยังมีปัญหาของความล่าช้าในการดำเนินคดี เพราะแต่ละคดีนั้นมีผู้เสียหายเยอะมาก กระบวนการสอบสวนต้องใช้เวลาหลายปี เมื่อจบคดีแล้วผู้เสียหายก็ไม่ได้รับเงินเยียวยาใดๆ นอกจากรอเฉลี่ยทรัพย์จากที่ตามยึดมาได้ ซึ่งส่วนใหญ่ก็เป็นเงินเพียงน้อยนิด

             ประธานสมาพันธ์ต่อต้านแชร์ลูกโซ่แห่งประเทศไทย บอกด้วยว่า ปัญหานี้จำเป็นต้องมีการบริหารจัดการอย่างเป็นระบบ กระบวนการทั้งหมดต้องเชื่อมโยงกัน เริ่มจากการมีหน่วยงานที่สามารถตรวจสอบข้อมูลความเคลื่อนไหวของเครือข่ายแชร์ลูกโซ่ได้ทั้งประเทศ เหมือนเป็นหน่วยข้อมูลกลางที่จะช่วยตรวจสอบให้แก่เหยื่อหรือผู้ที่กำลังจะถูกหลอกว่า การชักชวนให้เข้าไปลงทุนในธุรกิจบางประเภทนั้น เสี่ยงต่อการเป็นกลุ่มแชร์ลูกโซ่หรือไม่

             นอกจากนั้นก็ต้องมีกระบวนการรับเรื่องร้องทุกข์อย่างเป็นระบบ เพราะผู้เสียหายในคดีมักมีจำนวนมาก การสอบสวนน่าจะดำเนินการด้วยวิธีพิเศษ การรวบรวมพยานหลักฐานส่งศาลพิจารณาอาจไม่จำเป็นต้องสอบพยานหรือผู้เสียหายทั้งหมด เพราะจะทำให้เสียเวลา คืออาจสอบพอให้ทราบพฤติการณ์ของบริษัทกำมะลอ เพื่อให้ศาลชี้ว่ามีพฤติการณ์เป็นแชร์ลูกโซ่ก่อน จากนั้นก็จะได้เข้าสู่กระบวนการพิสูจน์ความเสียหายของเหยื่อแต่ละคนได้ทันที

             ปัญหาสำคัญที่สุดคือ ตอนนี้เราขาดเจ้าภาพที่จะเข้ามาดูแลกระบวนการป้องกันและแก้ไขปัญหาแชร์ลูกโซ่อย่างครบวงจร ซึ่งความเสียหายที่เกิดขึ้นเป็นหลักแสนล้านน่าจะเพียงพอให้รัฐบาลยกระดับความสำคัญของปัญหาแชร์ลูกโซ่ และเร่งดำเนินการแก้ปัญหาโดยด่วน

             เพราะหากปล่อยผ่านไป เมื่อผู้เสียหายรู้สึกว่าตัวเองไม่ได้รับความเป็นธรรมจากกระบวนการยุติธรรม อาจทำให้เหยื่อเหล่านี้ผันตัวเองเป็นมิจฉาชีพเพื่อหลอกลวงผู้อื่น กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ไม่รู้จักจบสิ้น

              

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ