คอลัมนิสต์

'เปรมโมเดล'กับอนาคตการเมือง

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

'เปรมโมเดล'กับอนาคตการเมือง : ขยายปมร้อน โดยอรรถยุทธ บุตรศรีภูมิ

             ในบรรดาผู้ที่เกาะเกี่ยวอยู่กับอำนาจหลังการรัฐประหารที่ผมชอบที่สุดมีอยู่สองคน คือ “ไพบูลย์ นิติตะวัน” และ “วันชัย สอนศิริ” ซึ่งสองคนนี้อยู่ในกลุ่ม 40 ส.ว. เช่นเดียวกัน และต่างมีที่มีทางหลังการรัฐประหาร เขาทั้งสองเลือกที่จะพูดหรือนำเสนอความคิดที่ทุกคนเหนียมอาย หากแต่ตรงใจกับผู้ที่ให้คุณกับพวกเขาได้

             “ไพบูลย์” เป็นคนแรกนับแต่รัฐธรรมนูญผ่านประชามติ ที่ออกมาบอกว่าเขาจะตั้งพรรคการเมือง และพูดเต็มปากเต็มคำว่าเพื่อสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี

             ใช่ว่าจะไม่มีใครรู้ว่าการเปิดช่องเปิดทางตามรัฐธรรมนูญนี้สุดท้ายแล้วเอื้อหรือแผ้วถางทางเผื่อใคร เพียงแต่เมื่อยังไม่ถึงเวลา หรือยังไม่ถึงวันก็ยังไม่มีใครที่อยากพูดถึงมากนัก เพราะเอาเข้าจริงแล้วการเข้าสู่ตำแหน่งเช่นนี้ของ พล.อ.ประยุทธ์ ก็ดูจะไม่ค่อยสง่างามนัก พร้อมกับข้อครหาที่ว่า “สืบทอดอำนาจ”

             แต่ “ไพบูลย์” ก็มีวิธีที่เลือกจะอธิบายแบบเหมารวมว่า 15 ล้านเสียงที่ลงคะแนนให้ผ่านร่างรัฐธรรมนูญ เป็น 15 ล้านเสียงที่สนับสนุนให้ “พล.อ.ประยุทธ์” เป็นนายกรัฐมนตรีต่อไป

             เช่นเดียวกับ “วันชัย สอนศิริ” ที่ออกมาพูดสนับสนุน “พล.อ.ประยุทธ์” ให้เป็นนายกรัฐมนตรี และที่สำคัญออกมาเสนอทางออก ยามที่มีคนเรียกร้องว่าหากต้องการนั่งเก้าอี้ผู้นำประเทศต่อไปก็ควรตั้งพรรคการเมืองแข่งขัน และลงสู่ระบบเลือกตั้ง เขากลับนำเสนอในวิธีคิดที่หลายคนนึกไม่ถึงว่าเขาจะชัดเจนขนาดนี้

             “พล.อ.ประยุทธ์ไม่จำเป็นต้องตั้งพรรค...ดูตัวอย่างสมัย พล.อ.เปรม ที่ไม่จำเป็นต้องลงเลือกตั้ง แต่ก็อยู่เป็นนายกฯ ถึง 8 ปี” คำพูดเช่นนี้เองเป็นที่มาของคำว่า “เปรมโมเดล” และคล้ายเป็นการบอกว่า พล.อ.ประยุทธ์ ไม่ต้องลงสนามเลือกตั้งเพราะพวกเขาพร้อมจะสนับสนุนทุกทางหากทำได้ และเป็นการชี้ช่อง

             แต่ต้องไม่ลืมว่า “เปรมโมเดล” ไม่ได้มีแต่ด้านบวกและด้านที่ถูกชมเชยเท่านั้น หากแต่มีด้านที่ถูกจารึกไว้ในมุมที่ไม่สวยงามนักด้วยเช่นกัน

             รัฐธรรมนูญในขณะนั้นไม่ได้กำหนดที่มาว่า นายกรัฐมนตรีต้องเป็นใคร มาจากไหน หรือต้องเป็น ส.ส. ผ่านการเลือกตั้งหรือไม่ อีกทั้งสภาพการเมืองในขณะนั้นก็ไม่เอื้อต่อการตั้งรัฐบาลพรรคเดียว ขณะที่ทหารก็กุมอำนาจอย่างเบ็ดเสร็จ การรัฐประหารกลายเป็นสิ่งที่นักการเมืองทุกคนหวาดระแวง สภาพการเมืองคล้ายแขวนบนเส้นด้าย จึงไม่แปลกที่ไม่ว่าพรรคใดที่ชนะการเลือกตั้ง หากอยากรู้สึกถึงความมั่นคงก็ย่อมต้องหาสิ่งที่การันตีในสถานะของพวกเขา

             ซึ่งแน่นอนคำตอบก็ออกมาอยู่ที่ผู้มากอำนาจบารมีทั้งวงการเมืองและวงการทหารอย่าง “พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์” ซึ่งแน่นอนว่าเมื่อเขาเข้าสู่อำนาจ อำนาจก็ยิ่งต่ออำนาจ แต่ขณะเดียวกันข้อครหาก็ยิ่งมากขึ้นตามลำดับ โดยเฉพาะข้อกล่าวหาเรื่องที่ไม่เป็นประชาธิปไตย และความมากบารมีที่มีขึ้นเรื่อยๆ  ในขณะที่ฝ่ายการเมืองเองก็เริ่มรู้สึกว่าเหตุใดเมื่อผ่านการเลือกตั้งจึงไม่สามารถเข้ามาบริหารประเทศได้ รวมถึงการขับเคลื่อนนโยบายของตัวเอง

             สุดท้ายจึงถึงยุคเปลี่ยนผ่าน และยกให้ พล.อ.เปรม เป็นรัฐบุรุษ พร้อมทั้งเปลี่ยนผ่านเข้าสู่ยุค “พล.อ.ชาติชาย ชุณหะวัณ” แต่แม้ลงจากตำแหน่งนายกฯ แต่อำนาจบารมีของ พล.อ.เปรมที่สั่งสมมายังทำให้ท่านถูกมองว่าอยู่เบื้องหลังการเมืองการทหารในหลายๆ ครั้ง 

             จากนี้ไปก็เช่นกัน มีการมองว่า เมื่อ “ว่าที่รัฐธรรมนูญ” ออกแบบให้พรรคการเมืองอ่อนแอ และออกแบบระบบเลือกตั้งที่ยากจะมีใครได้เสียงข้างมาก จึงมีความเป็นไปได้สูงว่าจะตกลงเพื่อหานายกฯ ของพรรคการเมืองที่ผ่านการเลือกตั้งไม่ได้

             ยิ่งประกอบกับการออกแบบให้ ส.ว. 250 คนมาจากการคัดเลือกของ คสช. และผลประชามติให้พวกเขาเหล่านี้นี่เองมีส่วนร่วมในการเลือกนายกรัฐมนตรี จึงทำให้เห็นว่า ทางที่มีนั้นไม่เป็นการยากที่ใครบางคนจะก้าวเข้าสู่ตำแหน่งผู้นำประเทศ  ผ่านความมีอำนาจบารมี 

             ซึ่งนาทีนี้ หากมองไปถึงการจะมีนายกฯ คนนอก ก็คงไม่มีใครนึกถึงชื่ออื่นเช่นกัน

             อย่างไรก็ตาม การเข้าสู่อำนาจในแบบที่วางเอาไว้และเป็นระยะเวลายาวนั้นนั้นก็เหมือนดาบสองคมเช่นกัน เพราะในอดีตกับสมัยนี้มีความต่างกันพอสมควรเรื่องการรับรู้ของบุคคลทั่วไป  “เปรมโมเดล”  อาจจะใช้ได้ เส้นทางที่ถูกแผ้วถางผ่านรัฐธรรมนูญอาจจะใช้ได้  แต่ใครจะรู้ว่าจะใช้ได้ระยะยาวตลอดรอดฝั่งหรือไม่

             แต่ที่แน่ๆ ใครบางคนไม่เหนียมอายที่จะเกาะกุมยึดติดกับขั้วอำนาจ แม้จะถูกมองด้วยสายตาอย่างไรก็ตาม

              

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ