คอลัมนิสต์

การเมืองเข้าโหมดฝุ่นตลบ

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การเมืองเข้าโหมดฝุ่นตลบ  : บทบรรณาธิการประจำวันที่ 30  สิงหาคม 2559

ยังคงมีความพยายามของสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) ส่วนหนึ่ง ที่จะผลักดันให้สมาชิกวุฒิสภามีสิทธิเสนอชื่อนายกรัฐมนตรี ในการโหวตเลือกนายกรัฐมนตรีหลังการเลือกตั้งทั่วไปในช่วงเวลา 5 ปี ของการปฏิรูปประเทศ ซึ่งจะกำหนดเอาไว้ในบทเฉพาะกาลของรัฐธรรมนูญ โดยต่อยอดจากคำถามพ่วงที่ว่า “ให้ที่ประชุมร่วมกันของรัฐสภาเป็นผู้พิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลซึ่งสมควรแต่งตั้งเป็นนายกรัฐมนตรี” โดย สนช.กลุ่มนี้ เห็นว่าคำถามพ่วงมีความมุ่งหมายที่ต้องการให้ ส.ว.ทำหน้าที่ 2 ด้าน คือ การพิจารณา และให้ความเห็นชอบ กล่าวคือ การพิจารณาย่อมหมายถึงการมีส่วนร่วมในการเสนอชื่อบุคคล ส่วนการให้ความเห็นชอบ หมายถึงการลงมติว่าจะให้ความเห็นชอบบุคคลนั้นเป็นนายกฯ หรือไม่

สำหรับวิธีการ สนช.กลุ่มนี้ โดยนายสุรชัย เลี้ยงบุญเลิศชัย รองประธานสนช. ในฐานะประธานคณะกรรมาธิการ (กมธ.) สามัญพิจารณาศึกษา เสนอแนะ และรวบรวมความเห็นเพื่อการจัดทำร่างรัฐธรรมนูญ ได้สั่งการให้เจ้าหน้าที่ของคณะกรรมาธิการรวบรวมเอกสารเกี่ยวกับบันทึกการประชุมของ สนช.เมื่อวันที่ 7 เมษายน ซึ่งเป็นวันที่ สนช.มีมติตั้งคำถามพ่วง รวมไปถึงคำชี้แจงของสมาชิก สนช.ที่ไปลงพื้นที่ตามต่างจังหวัดระหว่างการรณรงค์ออกเสียงประชามติ เพื่อเป็นข้อมูลที่จะส่งให้ศาลรัฐธรรมนูญพิจารณาต่อไป ความเห็นหรือการตีความของ สนช.โดยการนำของนายสุรชัยถือว่าเป็นกรณี "มองต่างมุม” แบบสุดขั้วกับอีกฝ่ายหนึ่ง ที่เห็นว่า ความพยายามผลักดันให้ ส.ว.ร่วมเสนอชื่อนายกฯ อาจจะขัดต่อเจตนารมณ์ของผู้ออกเสียงประชามติ อย่างไรก็ตาม กรณีนี้ก็ขึ้นกับการพิจารณาของศาลรัฐธรรมนูญ

ขณะนี้ดูเหมือนว่า วาระ "นายกฯ คนนอก” ได้ถูกขยายความออกไปอย่างกว้างขวาง เช่นเดียวกับแรงสนับสนุนให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) รับตำแหน่งนายกฯ อีกครั้งหลังเลือกตั้ง โดยอาศัยช่องทางบทเฉพาะกาลในรัฐธรรมนูญ กระทั่ง พล.อ.ประยุทธ์บอกว่าจะเป็นนายกรัฐมนตรีต่อด้วยเงื่อนไขที่สง่างามตามระบอบประชาธิปไตย ก็เป็นประเด็นใหญ่ทางการเมืองไปในทันที บางคนอาจบอกว่า เป็นการ "แบไต๋–ทิ้งไพ่หมดหน้าตัก” บางคนพูดถึง "เปรมโมเดล” และล่าสุด นายสมพงษ์ สระกวี สมาชิกสภาขับเคลื่อนการปฏิรูปประเทศ (สปท.) ออกมาให้ข่าวว่า กลุ่มทหารเพื่อน พล.อ.ประยุทธ์กำลังเตรียมการที่จะตั้งพรรคการเมืองเพื่อสนับสนุนพล.อ.ประยุทธ์ ฯลฯ

ในห้วงเวลาของการเขียนบทเฉพาะกาลรัฐธรรมนูญขณะนี้ จึงตลบอบอวลไปด้วยบรรยากาศของการเมือง ที่มองไปถึงการเข้าสู่อำนาจ เหนือกว่า การปฏิรูปประเทศ ทั้งๆ ที่เป็นเหตุผลหนึ่งที่ประชาชนให้ความเห็นชอบในคำถามพ่วงด้วยเหมือนกัน ความพยายามดึงเอา พล.อ.ประยุทธ์มาเป็นตัวชูโรง ก็เหมือนกับการเมืองในรูปแบบเดิมๆ เช่นเดียวกับแรงขับเคลื่อนที่จะตั้งพรรคการเมืองขึ้นมาเพื่อสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ ซึ่งถ้าเป็นจริงก็หนีไม่พ้นเรื่องกลุ่มทุนและผลประโยชน์ ขณะที่กลุ่มผู้สนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ก็ยากจะปฏิเสธว่าไม่มีวาระซ่อนเร้น ในสถานการณ์ฝุ่นตลบเช่นนี้ ถ้าหากทุกฝ่ายเคารพต่อเสียงส่วนใหญ่ที่ต้องการเห็นการปฏิรูปประเทศก็ควรจะตั้งสติ ละวางผลประโยชน์ทางการเมือง แล้วหันมาถกเถียงกันถึงเส้นทางปฏิรูปกันอย่างเอาจริงเอาจังมากกว่าเส้นทางการเข้าสู่อำนาจ

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ