คอลัมนิสต์

คสช.ปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือ ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

คสช.ปฏิรูปตำรวจได้จริงหรือ ? : โลกตำตรวจ ผศ.ดร.ปนัดดา ชำนาญสุข คณะสังคมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์

เสน่ห์ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี อยู่ที่เอกลักษณ์ของการใช้ภาษา น้ำเสียงและท่าทางที่แตกต่างจากผู้นำประเทศคนอื่นๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผู้นำในบทบาทของนายกรัฐมนตรีที่เป็นอดีตนายทหาร

จังหวะของถ้อยคำ น้ำสียง และท่าทางในขณะที่พูดเป็นไปในรูปแบบลีลาชาวบ้าน ไม่ใช่ลีลาเจ้าขุนมูลนายหรือผู้นำชนชั้นกลางที่มีอำนาจทั่วไปที่มักนิยมปฏิบัติกัน

ดังนั้น ในระยะเริ่มแรกที่นายกรัฐมนตรีท่านนี้สื่อสารทางสังคมได้ส่งผลกระทบต่อความไม่คุ้นชินของผู้ชมผู้ฟัง โดยก่อให้เกิดความรู้สึกอีหลักอีเหลื่อกับสไตล์แปลกๆ !!

แต่เมื่อคุ้นชินกับท่วงท่า ลีลา อันอาจเป็นผลส่วนหนึ่งมาจากการถูกบังคับให้ฟัง(?)บ่อยครั้ง จนกระทั่งความรู้สึกอีหลักอีเหลื่อกลับกลายเป็นการยอมรับในเอกลักษณ์และมองเห็นแง่งามในมิติของความตรงไปตรงมาในการส่งผ่านความคิด ความรู้สึกออกมาทางคำพูด น้ำเสียง ท่าทาง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในห้วงระยะเวลาที่ผ่านมาจะเห็นได้ว่า นายกรัฐมนตรีสายทหารท่านนี้ มีลีลาเย้าหยอกปะปนกับลีลาของการใช้อำนาจในการตัดสินใจสั่งการผ่านการสื่อสารได้อย่างมีเสน่ห์เหนือกว่านักการเมืองไทยจำนวนไม่น้อยเลย

“วันนี้โซเชียลมีเดียเผยแพร่ภาพตำรวจยืนอยู่ข้างต้นใหญ่ และบอกว่า นี่ไงตั้งด่านลอยจะเรียกเงินอีก นี่แหละตำรวจ ไหนบอกว่าไม่แล้วไงล่ะ ด่านลอย” นายกฯ เล่าด้วยน้ำเสียงจริงจังกลางที่ประชุมสภาอันทรงเกียรติ

“มันจะไปปัสสาวะ คิดแง่ดีกับเขาบ้างสิ” การให้เหตุผลของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อปรากฏการณ์เพ่งโทษตำรวจผ่านสื่อสังคมออนไลน์ สามารถเรียกเสียงหัวเราะในที่ประชุม ภายหลังจากที่ทุกคนในห้องประชุมนั่งเงียบมาตลอดนับตั้งแต่นายกรัฐมนตรีเริ่มพูด

ไม่เคยมีนายกรัฐมนตรีท่านใดพูดถึงตำรวจในมิติของความจำเป็นต้องวิเคราะห์สาเหตุที่มาแห่งพฤติกรรมที่เป็นปัญหา(พฤติกรรมเบี่ยงเบน)ในการปฏิบัติงานของตำรวจในลักษณะชัดถ้อยชัดคำ ให้อารมณ์ความรู้สึกเสมือนหนึ่งเป็นผู้บังคับบัญชาที่เข้าใจผู้ใต้บังคับบัญชาเช่นนี้

โดยเฉพาะอย่างยิ่ง เป็นการสื่อสารในหมู่คนกลุ่มที่ไม่ใช่ข้าราชการตำรวจด้วย!!!!

ด้วยเหตุเช่นนี้ “คลิปนายกฯ ประยุทธ์พูดถึงตำรวจ” จึงถูกส่งต่ออย่างแพร่หลายในโลกของตำรวจและสามารถเรียกขวัญและกำลังใจให้แก่ไพร่พลตำรวจได้จำนวนไม่น้อย (ถึงแม้ว่าจะยังไม่เต็มร้อย เนื่องมาจากความบอบช้ำตลอดห้วงเวลาที่ผ่านมาก็ตาม)

“ทำไมไม่มองว่าอะไรคือเหตุ อะไรคือผล เขาเรียกรับเงินเพราะอะไร” นายกรัฐมนตรีพูดในเชิงตำหนิตอบโต้การเพ่งโทษตำรวจโดยไม่ได้หันกลับมาพิจารณาสาเหตุที่มาของการกระทำมิชอบที่เกิดขึ้นในหมู่ข้าราชการตำรวจไทย

ถ้อยคำมากมายพรั่งพรูจากนายกรัฐมนตรี ดังเช่น

“ตำรวจเขาทำงานเหมือนคนอื่นหรือไม่เล่า?”

“จะเอาอะไรจากเขาก็ต้อง give(ให้) เขาก่อน ท่านต้องดูแลเขา ถึงเวลาค่อยใช้เขา ไม่ใช่จะเอาแต่ take(รับ) จากเขาแต่ไม่เคย give เขาเลย”

“คุณเคยคิดบ้างมั้ยว่าจะดูแลตำรวจอย่างไร? เขามีปืน มีวิทยุใช้มั้ย ไม่มีหรอกครับ ไปดูสิครับ”

“ถ้าบอกว่าไม่ต้องตั้งด่าน เขาชอบสิ สบายเลยไม่ต้องตั้งด่าน ปีใหม่เขาก็ไม่ได้กลับบ้าน วันหยุดเขาก็ไม่ได้กลับบ้าน” นายกฯ พูดด้วยสำเนียง ภาษาแบบคนทั่วๆ ไปในลักษณะระบายอารมณ์ต่อความรู้สึกที่มีต่อความไม่เข้าใจและความคาดหวังที่ไม่ได้มองผ่านการครุ่นคิดอย่างรอบด้านและรอบคอบของนักวิชาการและคนทั่วไปในสังคมที่มีต่อตำรวจไทย

“คุณเคยคิดถึงพวกเขาบ้างมั้ย ?

“จะใส่เครื่องแบบ จะติดยศหรือไม่ติดยศ มันก็อีแค่ตำรวจคนเดิม” (อีแค่ตำรวจคนเดิมที่จำต้องทำงานอยู่ในระบบบริหารจัดการแบบเดิมๆ?) มุมมองของนายกรัฐมนตรีที่มีต่อการปฏิรูปตำรวจที่แตกต่างจากความคิดเห็นของนักวิชาการที่มักอ้างว่ามีความเชี่ยวชาญด้านการบริหารงานตำรวจ

หากมองให้ลึกซึ้งจะเห็นได้ว่า คำพูดนี้มีนัยที่น่าสนใจในเบื้องหลังวิธีคิดของพล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล่าวคือ การปฏิรูปตำรวจไทยเพื่อให้ตำรวจเป็นผู้พิทักษ์สันติราษฎร์ที่ดีนั้น จำเป็นต้องเข้าใจสาเหตุที่มาแห่งพฤติกรรมการทำงานที่เบี่ยงเบนไปจนกลายเป็นวิถีวัฒนธรรมย่อย (Sub Culture) ที่ไม่เหมาะสมในโลกของตำรวจ

นัยที่สำคัญของนายกรัฐมนตรีก็คือ หากคิดจะปฏิรูปตำรวจไทย อย่าเพียงสนใจที่รูปแบบแต่เพียงเท่านั้น จงสนใจเนื้อหาของการบริหารจัดการทั้งองคาพยพเพื่อให้สามารถเปลี่ยนแปลงปฏิรูปตำรวจไทยได้อย่างแท้จริง ชัดเจน ลงหลักปักฐานและยั่งยืน

ตัวอย่างของวิถีวัฒนธรรมย่อยที่ไม่ดี เช่น การตั้งด่านเพื่อเรียกรับผลประโยชน์มากกว่าที่จะอำนวยความสะดวกและความปลอดภัยในการจราจร การรับส่วยต่างๆ จากผู้ประกอบการที่กระทำผิดกฎหมาย การทำสำนวนคดีโดยมิได้คำนึงถึงพยานหลักฐานและการบังคับใช้กฎหมายตามตัวบทกฎหมายที่เป็นธรรม การวิ่งเต้นและใช้พิธีกรรมแลกเปลี่ยนกับผู้มีอำนาจเพื่อให้ได้มาซึ่งตำแหน่ง หน้าที่การงานที่ต้องการ การทำงานในลักษณะฉาบฉวยเอาหน้า เอาดี เอาเด่นผ่านทางสื่อมวลชนโดยมิได้คำนึงถึงผลลัพธ์และกระบวนการในการทำงานที่มีประสิทธิภาพและยั่งยืนตามภารกิจของงานตำรวจ เป็นต้น

วิถีวัฒนธรรมย่อยที่ปรากฏให้เห็นทางสังคม (Socail Phenomena) อย่างชัดเจนนี้ ได้กลายเป็นตราประทับที่ก่อร่างทัศนคติเชิงลบของผู้ชมทั่วไปในสังคมจนเกิดการเหมารวมสร้างความเสียหาย ลดความเชื่อถือ ศรัทธาที่มีต่อองค์กรตำรวจ

ยิ่งปล่อยทิ้งไว้ ยิ่งขยายวง หยั่งรากจนยากแก่การแก้ไขเปลี่ยนแปลง

“เพราะเราสร้างกลไกแบบนี้ มันผิดไปหมด” นายกรัฐมนตรีปิดท้ายได้ด้วยคำพูดที่สะท้อนให้เห็นว่าเป็นนักคิดเชิงระบบโดยแท้

อำนาจที่มีอย่างสูงสุดสามารถเปลี่ยนระบบมากมายที่บกพร่องให้เป็นระบบที่ดีและมีประสิทธิภาพได้ ขอวิงวอนให้นายกรัฐมนตรีพัฒนาตำรวจให้ดีเสียที ในขณะที่หลายรัฐบาลที่ผ่านมาไม่เคยทำได้สำเร็จ !!

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ