คอลัมนิสต์

เรื่องยากแต่ก็เป็นไปได้

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

เรื่องยากแต่ก็เป็นไปได้ : ขยายปมร้อน โดยศรายุทธ สายคำมี

ถ้าจะพูดถึงการขึ้นเป็นนายกรัฐมนตรีภายหลังการเลือกตั้งที่ว่ากันว่าจะมีขึ้นปลายปี 2560 ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ตามที่ วิรัตน์ กัลยาศิริ หัวหน้าทีมกฎหมายพรรคประชาธิปัตย์ บอกว่า ไม่ใช่เรื่องง่าย

วิรัตน์ บอกว่า เรื่องนี้ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญปี 2559 บัญญัติไว้ เช่น ส.ส.เป็นผู้เลือกและเสนอชื่อบุคคลที่จะเป็นนายกฯ ตามกระบวนการก็ต้องเริ่มจาก ส.ส.ก่อน แต่ละพรรคเสนอชื่อไม่เกิน 3 ชื่อ ถ้าเลือกรอบแรกผ่านก็จบ แต่ถ้าไม่ผ่านก็ต้องเป็นไปตามรัฐธรรมนูญ

ที่ใครต่อใครออกมาเชียร์ พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรีนั้น วิรัตน์ บอกว่า ต่อให้เชียร์อย่างไร เป็นนายแค่ไหน ก็ต้องเดินตามบทบัญญัติในรัฐธรรมนูญ ซึ่งมันไม่ง่ายขนาดนั้น เพราะสถานการณ์การเมืองพลิกได้ตลอดเวลา ถึงแม้ในวันนี้ ผู้บัญชาการทหารบกคนใหม่ จะทำให้อำนาจของ พล.อ.ประยุทธ์ กระชับมากขึ้นก็ตาม

อะไรที่ วิรัตน์ มองว่า ไม่ง่าย?

ถ้าจะพูดถึง “การเมือง” ที่พลิกผันได้ตลอดเวลา ก็ต้องไปดูว่า เมื่อถึงคราวที่จะต้องเลือกตั้ง แต่ละพรรคจะกล้าเสนอชื่อว่าที่นายกรัฐมนตรีกันจนครบ 3 ชื่อกันหรือ

ที่สำคัญบัญชีชื่อนายกรัฐมนตรีที่แต่ละพรรคจะเสนอ มันเต็มไปด้วยความเสี่ยง

เสี่ยงที่จะถูกโจมตี เสี่ยงที่จะถูกขุดคุ้ย และลากคะแนนพรรคให้ดิ่งเหว

โดยเฉพาะพรรคใหญ่ ที่ผ่านเหตุการณ์ทั้งความรุนแรง ทั้งความล้มเหลว

แต่ถึงกระนั้นพรรคประชาธิปัตย์ก็เลี่ยงไม่ได้ที่จะต้องเสนอชื่อ อภิสิทธิ์ เวชชาชีวะ หัวหน้าพรรค เป็นนายกรัฐมนตรี แต่ก็น่าจะเสนอเพียงแค่ชื่อเดียว

เพราะถ้าเสนอตัวเลือกเผื่อมาเมื่อไหร่ คงจะไม่มีใครกล้ารับประกันเอกภาพของพรรค

แต่สำหรับพรรคเพื่อไทย ถึงแม้จะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีของพรรคครบ 3 คน สายตาของคนภายนอกทีี่มองเข้าไป ก็คงไม่ได้ตื่นเต้นกับปรากฏการณ์นั้นเท่าใดนัก

เพียงแต่ผู้คนก็คงอยากเห็นว่า พรรคเพื่อไทย ยังมี “รุ่นไหน” ให้เล่นได้อีกเสียมากกว่า

ที่น่าจับตามอง อยู่ที่พรรคขนาดกลาง ว่าจะเสนอชื่อนายกรัฐมนตรีในดวงใจไปด้วยหรือไม่ เพราะจะว่าไปแล้วจุดขายของผู้นำพรรคขนาดกลางเท่าที่มีอยู่ พวกเขาไม่ได้เปรียบจากการที่รัฐธรรมนูญบัญญัติเรื่องนี้เอาไว้

แต่ถ้าหากพรรคขนาดกลางเหล่านี้ได้ ส.ส.เกิน 5% ของจำนวนที่นั่งในสภา

นั่นก็หมายความว่า พรรคขนาดกลางจะต้องมี ส.ส.มากกว่า 37 คน ซึ่งก็มีความเป็นไปได้ เพราะความนิยมของพรรคใหญ่ในวันนี้ ไม่เหมือนเดิมอีกแล้ว

แล้วก็คงเป็นไปไม่ได้ที่พรรคประชาธิปัตย์จะเทคะแนนให้นายกฯ ที่มาจากพรรคเพื่อไทย เช่นเดียวกับพรรคเพื่อไทยที่คงจะไม่ทำเรื่องที่ผิดธรรมชาติ

หากพรรคขนาดกลาง ที่อาจมีเพียงแค่ 3 พรรค จับมือกัน แถมไปแนบแน่นกับวุฒิสภาอีก 250 เสียง ในขณะที่กึ่งหนึ่งของรัฐสภา อยู่ที่ 375 เสียง คณิตศาสตร์เบื้องต้นว่ากันได้เรื่องแบบนี้

มันก็อาจไม่เป็น “เรื่องยาก” อย่างที่ วิรัตน์ ประเมินเอาไว้

เพราะประชาธิปัตย์เอง ถ้าชื่อหัวหน้าพรรคไม่ผ่านที่ประชุมรัฐสภาตั้งแต่รอบแรก ก็คงไม่เอาคะแนนทิ้งไว้เฉยๆ กระมัง

นับเสียงตอบรับร่างรัฐธรรมนูญและคำถามพ่วง ทั้งจากภาคใต้และกรุงเทพฯ ที่ทะลักทลาย มันน่าจะหมายถึงเจตจำนงของฐานเสียงพรรคประชาธิปัตย์

ถ้าตัวเลขออกมาอย่างนี้ ก็ไม่ใช่เรื่องยากที่ ไพบูลย์ นิติตะวัน แห่งพรรคประชาชนปฏิรูป จะเดินไปถึงจุดหมาย


 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ