คอลัมนิสต์

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย:ทำไมต้องรีบปรับ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การสอบเข้ามหาวิทยาลัย:ทำไมต้องรีบปรับ? : โดยวิธีของเราเอง ไพฑูรย์ ธัญญา

เริ่มมีกระแสข่าวออกมาอีกแล้วว่า กระทรวงศึกษาธิการจะปรับเปลี่ยนระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 6 ข่าวนี้ระบุว่า กระทรวงศึกษาธิการ ร่วมกับสำนักงานคณะกรรมการการอุดมศึกษา (สกอ.) และตัวแทนที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.)  ได้มีมติเห็นชอบร่วมกันว่า จะยกเลิกระบบสอบเข้ามหาวิทยาลัยที่ใช้อยู่ในปัจจุบัน  เพื่อลดปัญหาการวิ่งรอกสอบ ค่าใช้จ่าย และให้เด็กได้อยู่ในชั้นเรียนจบจน ม.6  ถ้าข่าวนี้เป็นจริง รับรองได้ว่าจะต้องมีปฏิกิริยาจากหลายฝ่าย ทั้งที่เห็นด้วยและไม่เห็นด้วย

ตอนที่การสอบเข้ามหาวิทยาลัยของนักเรียนมัธยมปลายยังเป็นระบบเอนทรานซ์  หรือระบบการสอบรวมอยู่นั้น  ก็มีข้อวิจารณ์ว่ามีปัญหาหลายอย่าง เช่น  เกิดการเรียนกวดวิชามากกว่าการตั้งใจเรียนในชั้นเรียน  นักเรียนไม่สนใจเรียนวิชาที่ไม่อยู่ในรายวิชาที่จะต้องสอบเข้ามหาวิทยาลัย การสอบแบบนี้ทำให้เด็กเครียด และมีการทุจริตในการสอบในรูปแบบต่างๆ   นักเรียนที่เรียนดีบางคนก็ไปสอบเทียบเพื่อให้ได้เข้ามหาวิทยาลัยไวๆ การสอบเอนทรานซ์ถือเป็นมหกรรมการสอบระดับชาติ ใช้กันมาหลายปี ต่อมาก็มีการปลับเปลี่ยนครั้งใหญ่ในปี พ.ศ.2542  ซึ่งเรียกกันว่า ระบบแอดมิชชั่นส์   ซึ่งเป็นระบบการสอบคัดเลือกที่ให้น้ำหนักกับผลการเรียนตลอดช่วงชั้นที่ 4 (ระดับมัธยมศึกษาตอนปลาย) มาพิจารณาเพิ่มขึ้น และไม่เน้นการใช้ผลคะแนนสอบเป็นหลักเหมือนกับระบบเอนทรานซ์  ตอนที่มีการประกาศใช้ สกอ.ก็มั่นใจมากว่าจะแก้ปัญหาที่เกิดขึ้นจากระบบการสอบเอนทรานซ์ได้แน่นอน

แต่ตอนนี้ กระทรวงศึกษาธิการ กับ สกอ.กำลังจะกลับไปใช้ระบบเอนทรานซ์เดิม ด้วยข้ออ้างที่ไม่ต่างจากกันนัก  นั่นแสดงให้เห็นว่า  การเปลี่ยนแปลงระบบการสอบที่ผ่านมาไม่ช่วยให้ปัญหาเดิมๆ  ที่เคยมีอยู่หายไป  แต่กลับไปสู่วังวนเดิมอีกครั้งหนึ่ง  นั่นคือ เด็กก็ยังคงเครียดกับการสอบเหมือนเดิม  การกวดวิชาก็เข้มข้นขึ้น  ไม่เห็นจะเลิกได้สักที  นักเรียน ม.6 ก็ไม่ได้เรียนตลอดหลักสูตรอย่างที่ควรเป็น  แถมเพิ่มปัญหาใหม่คือ การ “วิ่งรอก” สอบ  ทำให้ต้องเสียค่าใช้จ่ายเพิ่มมากขึ้น  สุดท้ายก็มีการประเมินกันว่า เป็นระบบการสอบที่ล้มเหลว  จึงต้องกลับไปใช้ระบบเอนทรานซ์อีกครั้งหนึ่ง ทั้งที่ตอนจะมีการเปลี่ยนนั้น ก็มีการโจมตีว่า ระบบเอนทรานซ์ไม่เวิร์ก

เอาไปเอามาก็ทำท่าจะถอยหลังเข้าคลอง  วนเวียนไปมาอยู่ในวังวนของนโยบาย  แนวคิดของนักการศึกษาและผู้บริการการศึกษาที่ไม่เคยสะเด็ดน้ำ  พูดก็พูดเถอะ  กระทรวงศึกษาธิการของเราช่างเต็มไปด้วยนักบริการการศึกษาที่ชอบคิดค้นอะไรใหม่ๆ  มาปรับเปลี่ยนอยู่ตลอดเวลา  ผมคิดว่า แนวทางการปฏิรูปการศึกษาที่เร่งด่วนที่สุดในขณะนี้ คือ ทำอย่างไรจะให้พวกนักการศึกษาและนักบริการการศึกษา เลิกคิด เลิกทำโครงการใหม่ๆ  ไอเดียใหม่ๆ สักระยะ  แล้วหันมาศึกษาทบทวนสิ่งที่กำลังใช้อยู่อย่างจริงจังว่า มันดีไม่ดีอย่างไร จะแก้ไข ปรับปรุงอย่างไร  ไม่ใช่คนนั้นมาทีก็เสนอโครงการนี้ที  นโยบายหรือแผนงานของเราไม่เคยเสถียร  บางนโยบายยังทำไปไม่ถึงไหนก็ถูกยกเลิกไปเสียแล้ว  ไอ้พวกนักคิดฝันเฟื่องนี้  ไม่ควรปล่อยให้มีชีวิตอยู่อีกต่อไป    เพราะมัวแต่เปลี่ยนไปเปลี่ยนมานี่แหละ  การศึกษาของเราเลยล้าหลังชาวบ้านอย่างที่รู้ๆ กัน  สิ่งที่ควรทำกลับไม่ทำ

ยิ่งมาในยุครัฐบาล คสช. เราจะเห็นได้ว่า กระทรวงศึกษาธิการมีความเคลื่อนไหวมากเหลือเกิน  มีการยกเลิกโครงการหรือนโยบายไปหลายอย่างแล้ว  และเห็นแนวโน้มว่า  กระทรวงศึกษาธิการในยุคทหารมีแนวคิดส่อไปในทางอนุรักษนิยม หรือ “การหวนกลับไปหาของเก่า”   ทั้งที่บางอย่างที่ย้อนกลับไปนั้น  มันไม่เหมาะและสอดคล้องต่อบริบทของสังคมและวัฒนธรรม ที่เปลี่ยนไปมากเหลือเกินแล้ว  การศึกษาในศตวรรษที่ 21 ของเรา  ทำท่าจะถูกขับเคลื่อนโดยนโยบายการศึกษาแบบ “ย้อนยุค” และ “โหยหาอดีต”  เข้าทำนองตลาดน้ำอัมพวา หรือ ตลาดสามชุก อะไรไปโน่น  

เรื่องการหวนกลับไปใช้ระบบสอบรวมแบบเอนทรานซ์  ผมคิดว่าไม่ใช่เรื่องที่กระทรวงศึกษาและ สกอ.จะต้องนำมาทำกันในตอนนี้  แต่ปัญหาของการศึกษาระดับอุดมศึกษาของเราก็คือ ทำอย่างไรจะทำให้มีคุณภาพเพิ่มขึ้นจนถึงขั้นแข่งขันในระดับนานาชาติได้  ทำอย่างไรให้นิสิต นักศึกษาระดับปริญญาตรี สามารถใช้ภาษาอังกฤษในฐานะภาษาที่สองได้อย่างสง่างามและเอาไปทำมาหากินได้    รวมทั้งเรื่องที่ว่า  ในอนาคตเราจะทำอย่างไรให้มีนักศึกษาเข้าเรียนในมหาวิทยาลัยได้ครบตามจำนวน เพราะตอนนี้เริ่มมีแนวโน้มว่า เด็กเข้าเรียนมหาวิทยาลัยน้อยลงทุกปี

ถ้ามหาวิทยาลัยมีมากเหมือนในตอนนี้ และยอดนักเรียนน้อยลงไม่ได้สัดส่วน  ถึงตอนนั้นเราอาจไม่จำเป็นต้องสอบคัดเลือกอีกต่อไป ไม่ว่าจะเป็นระบบใดๆ ก็ตาม.          
 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ