คอลัมนิสต์

เพิ่มสนช.จัดระเบียบ-กระชับอำนาจ?

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

การแต่งตั้ง สนช.ครั้งนี้ เป็นการแก้ไขปัญหาได้ถึงสามเด้ง ! นายทหารระดับสูงในบูรพาพยัคฆ์ที่พ้นตำแหน่งในปีนี้หลายคน ล้วนถูกจับตา

 

               ไวปานสายฟ้าแลบ จู่ๆ เมื่อวันอังคารที่ 23 สิงหาคม ที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ก็ออกมาเปิดเผยว่า คณะรักษาความสงบแห่งชาติ (คสช.) และคณะรัฐมนตรี (ครม.) ได้ประชุมร่วมกันและเห็นชอบให้แก้รัฐธรรมนูญชั่วคราวเพื่อเพิ่มจำนวนสมาชิกสภานิติบัญญัติแห่งชาติ (สนช.) จาก 220 คน ให้เป็น 250 คน และเมื่อวันศุกร์ที่ 26 สิงหาคม ก็เสนอเข้าสู่การพิจารณาของ สนช. ผ่านฉลุย 3 วาระรวด

               นับเป็นการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวเป็นครั้งที่ 3 ตั้งแต่ประกาศใช้เมื่อ 22 กรกฎาคม 2557

               เหตุผลที่ฝ่ายรัฐบาลชี้แจงออกมาในการเพิ่มสมาชิก สนช.คือ สนช.มีภารกิจมากมาย โดยเฉพาะต้องเร่งรัดการทำกฎหมายประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ กฎหมายสำคัญอีกกว่า 50 ฉบับ และกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับนโยบายของรัฐบาลอีก พร้อมบอกว่า ไม่เกี่ยวกับการสืบทอดอำนาจ หรือการเลือกนายกฯ ที่กำลังเป็นประเด็นฮอตอยู่ในขณะนี้

               แต่เหตุผลหลักของการเพิ่มจำนวนสมาชิก สนช.คือ การทำกฎหมาย ซึ่งถือเป็นหน้าที่หลักของ สนช. 

               จากข้อมูลสารบบร่างพระราชบัญญัติที่เผยแพร่บนเว็บไซต์ สนช. พบว่าสนช.ได้พิจารณาร่างพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบรัฐธรรมนูญ ร่างพ.ร.บ.ฉบับต่างๆ ไปแล้วจำนวน 232 ฉบับ แยกเป็น คสช.เป็นผู้เสนอจำนวน 21 ฉบับ ครม.เป็นผู้เสนอจำนวน 182 ฉบับ และสนช.เป็นผู้เสนอจำนวน 29 ฉบับ โดยประกาศใช้เป็นกฎหมายไปแล้ว 178 ฉบับ

               ที่เหลืออยู่ในระหว่างการพิจารณา โดยมี 2 ฉบับที่คณะกรรมาธิการพิจารณาเสร็จแล้ว รอเข้าสู่การพิจารณาในวาระ 2 และ 3 จำนวน 2 ฉบับคณะกรรมาธิการพิจารณาแล้วเสร็จ(รอบรรจุเข้าระเบียบวาระ) จำนวน 1 ฉบับ อยู่ในระหว่างการพิจารณาในวาระ 2 ขั้นคณะกรรมาธิการ จำนวน 17 ฉบับ รอบรรจุเข้าระเบียบวาระเพื่อพิจารณาในวาระ 1 จำนวน 6 ฉบับ รอการวินิจฉัยของประธานว่าเป็นร่าง พ.ร.บ.เกี่ยวกับการเงินหรือไม่จำนวน 10 ฉบับ ตกไปเนื่องจากเป็นร่าง พ.ร.บ.ที่เกี่ยวกับการเงิน 10 ฉบับ และตกไปเนื่องจากผู้เสนอขอถอนจำนวน 5 ฉบับ

 

เพิ่มสนช.จัดระเบียบ-กระชับอำนาจ?

 

               นอกจากนี้ยังมีการแก้ไขรัฐธรรมนูญชั่วคราวที่ ครม.และคสช.เสนอ รวมครั้งนี้ด้วยก็เป็น 3 ครั้ง และร่างพ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญที่ประธานคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) เสนอมา 2 ฉบับ แต่ขอถอนไป 1 ฉบับ และผ่านความเห็นชอบของ สนช.ประกาศในราชกิจจานุเบกษาแล้ว

               นี่คือข้อมูลล่าสุดเกี่ยวกับการพิจารณากฎหมายของสนช. ซึ่งถ้าเทียบกันในแง่ปริมาณก็ต้องถือว่า สนช.ชุดนี้สามารถออกกฎหมายได้มากกว่าช่วงสภาปกติ ที่แต่ละสมัยจะออกกฎหมายได้อยู่ที่ประมาณ 100 ฉบับ 

               อย่างไรก็ตาม การที่ สนช.พิจารณาได้เร็ว ชัดเจนว่า เพราะส่วนใหญ่เป็นการพิจารณากฎหมายตามนโยบายรัฐบาล แต่ก็มีข้อท้วงติงถึงความรอบคอบในการพิจารณาร่างกฎหมาย ซึ่งที่ผ่านมาก็มีบางฉบับต้องนำกลับมาแก้ไข เนื่องจากบทบัญญัติไปขัดหรือแย้งกับกฎหมายอื่นหรือคำวินิจฉัยของศาลรัฐธรรมนูญ

               นอกเหนือจากหน้าที่ในการกลั่นกรองกฎหมายแล้ว สนช.ก็ยังมีหน้าที่อื่นๆ อีก ทั้งรับฟังปัญหาจากประชาชน ในฐานะหมวกอีก 1 ใบ คือ การเป็น ส.ส. การพิจารณาถอดถอนผู้ดำรงตำแหน่งทางการเมือง การพิจารณาให้ความเห็นชอบบุคคลดำรงตำแหน่งการตั้งกระทู้ถามอีกด้วย

               ทั้งนี้ สนช.แต่ละคนจะเป็นกรรมาธิการสามัญประจำ สนช.ได้คนละ 2 คณะ เป็นคณะกรรมาธิการวิสามัญเพื่อพิจารณาร่างกฎหมายไม่จำกัด ทำให้ไม่มีเวลา แต่ที่เห็นจะมีปัญหามากคือ ในสนช.ชุดนี้มักจะมีการตั้งคณะกรรมการพิจารณาเรื่องต่างๆ มากมาย จึงมักเกิดปัญหาว่า องค์ประชุมไม่ครบ ไม่สามารถทำงานได้ และแต่ละคณะก็มีการเบิกจ่ายงบประมาณในเรื่องค่าเบี้ยประชุมจำนวนมาก ส่งผลให้สำนักงานเลขาธิการวุฒิสภาขาดสภาพคล่องทางการเงิน จึงต้องขอตั้งงบประมาณเพิ่มเพื่อการนี้โดยเฉพาะ

               อย่างไรก็ตาม การทำงานในช่วงหลังมักมีปัญหาและไม่ราบรื่นเหมือนเช่นการตั้ง สนช.ใหม่ๆ โดยช่วงหลังๆ ก็เกิดความขัดแย้งขึ้นภายใน สนช.แตกออกเป็นกลุ่มเป็นก้อน เพราะบางครั้งความต้องการก็เกินไปว่าที่สนช.บางคนจะรับได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่งปมการแต่งตั้งผู้ตรวจการแผ่นดิน “นพ.เรวัต วิศรุตเวช” อดีตอธิบดีกรมการแพทย์ ที่ครั้งแรก สนช.โหวตไม่เลือก แต่กรรมการสรรหากลับเลือก นพ.เรวัตกลับมารอบสองให้ สนช.เลือกอีกครั้ง และมีการผลักดันกันภายใน สนช.ให้เลือก นพ.เรวัตทำให้เกิดแรงต่อต้านจาก สนช.หลายคน จนทำให้ พล.อ.ประยุทธ์ ต้องระงับความขัดแย้งด้วยการใช้ มาตรา 44

 

เพิ่มสนช.จัดระเบียบ-กระชับอำนาจ?

 

               ขณะที่การพิจารณาร่าง พ.ร.บ.ฉบับต่างๆ ในช่วงหลังๆ ก็มีปัญหาเช่นกัน ตั้งแต่เริ่มต้นทั้งล็อบบี้คนเป็นกรรมาธิการ จนกระทั่งการพิจารณาในวาระ 2 และ 3 โดยที่ร่าง พ.ร.บ.บางฉบับถูกแก้ไขเกินหลักการ เนื้อหาบางมาตรารวบอำนาจไปให้หน่วยงานใดหน่วยงานหนึ่ง โดยไร้เหตุผลไม่มีอะไรมารองรับ หากประกาศใช้ออกไปอาจมีปัญหาเรื่องการบังคับใช้กฎหมายหรือแม้แต่การลงคะแนนลับที่ไม่เป็นความลับ รู้กระทั่ง สนช.คนใดลงคะแนนอย่างไร ถึงขนาดมีการขู่กันว่า หากทำแบบนี้ ส.ว.สมัยหน้าอาจไม่ได้รับเลือก เป็นต้น ส่งผลให้ สนช.ที่เป็นทหาร ข้าราชการ นักธุรกิจ บางส่วน เกิดความอึดอัดใจในการทำงาน ส่งผลให้ภาพรวมของ สนช.ไม่เป็นเอกภาพ 

               ปัญหาภายใน สนช.เริ่มออกมาให้เห็นหลายครั้ง ซึ่งทำให้เกิดความไม่พอใจใน สนช.สายทหารหลายคน บางครั้งก็ยังสะท้อนผ่านคนใกล้ชิด "บิ๊กตู่” หรือแม้กระทั่งตบเท้าเข้าไปพูดคุย เพราะยิ่งนานวันเข้าความไม่พอใจยิ่งมีมากขึ้น หากไม่ได้รับการแก้ไขอาจเกิดปัญหาใหญ่ตามมาอย่างคาดไม่ถึง

               ดังนั้นการเพิ่มจำนวน สนช.อีกเป็น 250 คน ส่วนหนึ่งก็ต้องการให้มาทำเรื่องกฎหมาย ที่ยังคั่งค้างอยู่เป็นจำนวนมากที่ต้องเร่งรีบ รวมทั้งการทำ พ.ร.บ.ประกอบรัฐธรรมนูญจำนวน 10 ฉบับ

               แต่อีกส่วนก็คงปฏิเสธไม่ได้ว่า การแต่งตั้งคนใหม่ก็เพื่อมาคานอำนาจกลุ่มต่างๆ ภายใน สนช. ที่นับวันจะมีมากขึ้น ซึ่งที่ผ่านมา พล.อ.ประยุทธ์ ก็รู้อยู่แก่ใจและมีความอึดอัดใจพอสมควร โดยแสดงผ่านบุคคลใกล้ชิดที่เป็น สนช.

               อีกทั้งการเพิ่ม สนช.ในเวลานี้ ยิ่งเป็นเวลาที่ประจวบเหมาะอย่างยิ่งที่จะหาบุคคลมาเป็น สนช.ได้ไม่ยาก เพราะเป็นช่วงเวลาที่ข้าราชการระดับสูง ปลัดกระทรวง ทบวง กรม ต่างๆ ปลดเกษียณพอดี โดยเฉพาะอย่างยิ่งเหล่านายทหารระดับสูงในบูรพาพยัคฆ์ที่พ้นตำแหน่งในปีนี้หลายคน ก็ล้วนถูกจับตา

               การแต่งตั้งครั้งนี้เป็นการแก้ไขปัญหาได้ถึงสามเด้ง!

 

---------------------

(คม วิเคราะห์ การเมืองรอบสัปดาห์ : เพิ่มสนช.จัดระเบียบ-กระชับอำนาจ? : โดย...ประภาศรี โอสถานนท์ สำนักข่าวเนชั่น)
 

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ