คอลัมนิสต์

7ปีเก้าอี้'สุขุมพันธุ์'บนปากเหวชะตาผู้ว่าฯกทม.

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

7ปีเก้าอี้'สุขุมพันธุ์'บนปากเหวชะตาผู้ว่าฯกทม.  : ธนัชพงศ์ คงสาย สำนักข่าวเนชั่น @tanatpong_nna

พลันที่เว็บไซต์ราชกิจจานุเบกษา เผยแพร่คำสั่งหัวหน้าคณะรักษาความสงบแห่งชาติ ที่ 50/2559 เรื่อง ประกาศรายชื่อเจ้าหน้าที่ของรัฐที่อยู่ระหว่างการถูกตรวจสอบเพิ่มเติม ครั้งที่ 6 โดยในคำสั่งหนึ่งในนั้นมีชื่อ “ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ บริพัตร” ผู้ว่าราชการกรุงเทพมหานคร (กทม.) ให้ระงับการปฏิบัติราชการหรือหน้าที่ในกทม.เป็นการชั่วคราวโดยยังไม่พ้นจากตําแหน่ง

เป็นฟ้าผ่าครั้งใหญ่ที่สะเทือนไปถึงเก้าอี้ “สุขุมพันธุ์” อีกครั้ง เป็นอีก “แรงเสียดทาน” ทางการเมืองที่พุ่งตรงใส่ผู้ว่าฯ กทม.ลูกใหญ่ ขณะบินไปราชการที่กรุงโซล สาธารณรัฐเกาหลีใต้ ระหว่างวันที่ 25-28 สิงหาคม 2559 เพื่อร่วมงานฉลองครบรอบ 10 ปี ความสัมพันธ์เมืองพี่เมืองน้องระหว่างกรุงเทพมหานคร-กรุงโซล

เมื่อย้อนเส้นทางการเมืองท้องถิ่นของ “สุขุมพันธุ์” มีที่มาจากการชี้มูลความผิดคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) ในคดีทุจริตรถและเรือดับเพลิงของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย กทม. มูลค่า 6,600 ล้านบาททำให้ “อภิรักษ์ โกษะโยธิน” ผู้ว่าฯ กทม.ในขณะนั้น ตัดสินใจลาออกจากตำแหน่ง 19 พฤศจิกายน 2551 เปิดช่องให้มีการเลือกตั้งผู้ว่าฯ กทม.คนใหม่ ซึ่งชื่อ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้รับชัยชนะในนามพรรคประชาธิปัตย์ จากการเทคะแนนของคนกรุงเทพฯ 934,602 เสียง กลายเป็นจุดเริ่มต้นเก้าอี้ผู้ว่าฯ กทม.คนที่ 15 ตั้งแต่นั้นมา

ทว่าสถานการณ์การเมืองที่ปะทุรุนแรงตั้งแต่ปี 2550 และวิกฤติการณ์น้ำท่วมครั้งใหญ่ในปี 2554 เมื่อรวมกับปัญหาในกรุงเทพฯ ที่กำลังสะสมอย่างไร้ขีดจำกัด สังคมคนเมืองหลวงได้ตั้ง “ความหวัง” จากประสบการณ์ที่มีของ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ถึงแม้ท้ายที่สุดพื้นที่ส่วนใหญ่ของกรุงเทพฯ จะรอดพ้นน้ำท่วม แต่ปฏิเสธไม่ได้ว่าปมร้อน “กล้องดัมมี” ได้เป็น “จุดเริ่มต้น” ข้อสงสัยต่อการบริหารงาน กทม.ตั้งแต่นั้นมา

ต่อมาในปี 2556 ภายหลังสุขุมพันธุ์หมดวาระสมัยแรก เมื่อเวทีเลือกตั้งกทม.ถูกช่วงชิงจาก “เพื่อไทย” กับ “ประชาธิปัตย์” ในปีนั้น ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ได้ชิงประกาศตัวจะลงสมัครป้องกันแชมป์ ก่อนที่พรรคประชาธิปัตย์จะประกาศตัวผู้สมัครอย่างเป็นทางการ เพื่อสู้กับ “พล.ต.อ.พงศพัศ พงษ์เจริญ” จากฝั่งเพื่อไทย ท่ามกลาง “เดิมพัน” สำคัญของทั้งสองพรรค แต่แล้วผลเลือกตั้ง 3 มีนาคม 2556 คนกรุงเทพฯ ส่วนใหญ่ ยังไว้ใจให้ “สุขุมพันธุ์” ทำหน้าที่ผู้ว่าฯ กทม.อีกสมัย ด้วยคะแนนเสียงมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ 1,256,349 เสียง เฉือนพล.ต.อ.พงศพัศที่ 1,077,899 คะแนน

แต่แล้ว 27 มีนาคม 2557 ศาลอุทธรณ์ภาค 1 มีมติรับคำร้องคณะกรรมการการเลือกตั้ง กรณีมีผู้สนับสนุนสุขุมพันธุ์ปราศรัยโจมตี พล.ต.อ.พงศพัศ ในระหว่างการหาเสียง ทำให้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ ต้อง “หยุดปฏิบัติหน้าที่” ผู้ว่าฯ กทม.ไปนานกว่า 6 เดือน ก่อนที่ 5 กันยายน 2557 ศาลอุทธรณ์จะมีคำพิพากษา “ยกฟ้อง” จากนั้นในเดือนมีนาคม 2558 พื้นที่กรุงเทพฯ หลายจุดได้เกิด “น้ำท่วมฉับพลัน” จากฝนที่ตกลงมาอย่างหนัก จนเกิดวาทะแห่งปีจากสุขุมพันธุ์ที่ว่า “เราเป็นเมืองน้ำ เป็นเมืองฝน ไม่มีจุดเสี่ยงเลยไม่ได้ ถ้าไม่มีน้ำท่วมต้องไปอยู่บนดอย...”

จากวาทกรรม “บนดอย” ได้ส่งเป็นรอยร้าวในพรรคประชาธิปัตย์กับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ถ่างขึ้นทุกนาที ท้ายที่สุด 21 มกราคม 2559 สายสัมพันธ์กับพรรคได้แตกหักจบสิ้น เมื่อประชาธิปัตย์ประกาศตัดขาดความรับผิดชอบผู้ว่าฯ กทม.ทุกกรณี ตามมาด้วย “สึนามิ” รายวันที่เข้าถล่มกทม.ไม่ยั้ง จาก “วิลาศ จันทร์พิทักษ์” อดีต ส.ส.กทม. ค่ายประชาธิปัตย์คนกันเอง ยิ่งเร้าอารมณ์ให้คนกรุงเทพฯ ออกมาตั้งคำถามในตัวสุขุมพันธุ์ยิ่งขึ้น

โดยเฉพาะการแก้ปัญหาน้ำท่วม เป็นสิ่งที่คนกรุงเทพฯ คาดหวังสูงสุด แทบทุกครั้งที่ฝนตกลงมาขนาดใหญ่ ทุกคนเชื่อว่าปัญหาจะถูกแก้ด้วยระบบระบายน้ำ-อุโมงค์ยักษ์ที่มี แต่เมื่อต้องเจอสภาพปัญหาที่ “แก้ไม่ตก” ในหลายจุดในกรุงเทพฯ ได้ส่งเป็นแรงฉุดความนิยมที่มีต่อ “สุขุมพันธุ์” เพิ่มขึ้นเรื่อยๆ ยิ่งมาเจอวาทกรรมเลี่ยงความรับผิดชอบ “ให้ไปอยู่บนดอย” ถึง “น้ำท่วมรอการระบาย” กลายเป็นตอกย้ำความเจ็บปวดของคนกรุงเทพฯ ซึ่งส่วนใหญ่ลงคะแนนให้ “สุขุมพันธุ์” มากับมือ

จึงเป็นกระแสที่โหมโรงบีบให้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี กล้าใช้มาตรา 44 กับม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ หยุดปฏิบัติหน้าที่ ซึ่งเป็นช่วงใกล้เคียงที่กระทรวงมหาดไทยทำหนังสือถึงกทม.ให้ดำเนินคดีอาญาผู้ว่าฯ กทม. ข้าราชการ เอกชนที่เกี่ยวข้องกับโครงการไฟฉาว 39.5 ล้านบาท ให้ดำเนินการสอบวินัยข้าราชการกทม.ที่เกี่ยวข้อง ซึ่งขณะนี้ กทม.ได้ส่งเรื่องไปให้ ป.ป.ช. และกระทรวงมหาดไทย เพื่อดำเนินการตามอำนาจหน้าที่แล้ว

ระหว่างนี้ “ผุสดี ตามไท” ในฐานรองผู้ว่าฯ กทม.อันดับ 1 จะรักษาการไปจนกว่าจะมีคำสั่งจาก คสช.ออกเปลี่ยนแปลง หรือจนกว่าวิบากกรรมจากสำนวนไฟฉาว 39.5 ล้านบาท ที่ยังอยู่ในมือคณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ จะออกหัวหรือก้อยต่อการ “ชี้มูลความผิด” ได้ทุกเมื่อ อีกทั้งก่อนหน้านี้ ม.ร.ว.สุขุมพันธุ์ เคยประกาศจะขอพักงานกลับไปเลี้ยงหลาน หากวาระผู้ว่าฯ กทม.ในสมัยที่สองหมดลง

จากนี้จะเป็น 6 เดือนสุดท้ายของ “สุขุมพันธุ์” ที่ยืนขาเดียวบนปากเหวทั้งสิ้น!
 
ปมร้อนกทม.ในยุค“สุขุมพันธุ์”

-สนามบางกอก อารีน่า เขตหนองจอก วงเงิน 1,300 ล้านบาท สร้างไม่เสร็จทันตามมาตรฐานความปลอดภัยที่ฟีฟ่ากำหนด ในครั้งที่ไทยเป็นเจ้าภาพฟุตซอลชิงแชมป์โลกครั้งที่ 7 เมื่อปี 2555

-“กล้องดัมมี” ที่เคยติดตั้งหลายพื้นที่ในกรุงเทพฯ ก่อนหน้านี้ สังคมได้ตั้งครหาความไม่โปร่งใส

-โครงการไฟประดับลานคนเมือง 39.5 ล้านบาท ป.ป.ช.กำลังสอบสวน ซึ่งขณะนี้กทม.ยังไม่เซ็นตรวจรับงาน และยังไม่ได้จ่ายเงินค่าจ้าง 39.5 ล้านบาท ให้แก่บบริษัทเอกชนที่ชนะการประมูล

-โครงการปรับปรุงห้องทำงานผู้บริหาร กทม. 16.5 ล้านบาท เป็นโครงการที่พบข้อพิรุธชัดเจน จากห้วงเวลาเปิดประมูล เกิดขึ้นภายหลังให้บริษัทเอกชนเข้ามาปรับปรุงแล้วเสร็จไปหลายเดือน

-โครงการจัดซื้อรถกู้ภัยขนาดเล็ก ของสำนักป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย ลอตแรกจำนวน 20 คัน งบประมาณ 160 ล้านบาท ถูกวิจารณ์ถึงราคาจัดซื้อและประสิทธิภาพการใช้งาน

-โครงการจัดซื้อเปียโน 400 หลังให้โรงเรียนในสังกัด กทม. 197 แห่ง มูลค่า 585 ล้านบาท มีโรงเรียน 69 แห่งที่มีนักเรียนต่ำกว่า 200 คน และมีหลายโรงเรียนที่เด็กเล่นเครื่องดนตรีชิ้นใหญ่ได้ไม่ถึง 10 คน จึงเป็นคำถามความคุ้มค่างบประมาณ

-โครงการจัดซื้อเรือตรวจการณ์อเนกประสงค์ของสำนักเทศกิจจำนวน 1 ลำ งบประมาณ 26.5 ล้านบาท แต่ระหว่างนำเรือออกจากวิทยาลัยเทคโนโลยีและอุตสาหกรรมการต่อเรือพระนครศรีอยุธยา เพื่อมาส่งมอบที่กรุงเทพฯ ได้เกิดปัญหาไฟไหม้ที่ห้องเครื่องยนต์ ทำให้ไม่สามารถนำเรือมาส่งมอบได้

-ประสิทธิภาพในการแก้ปัญหาน้ำท่วมในกรุงเทพฯ

 

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ