คอลัมนิสต์

แผ่นดินไหวพม่า'บูรณะเจดีย์'โจทย์ยาก!

เกาะติดข่าวสาร >> คมชัดลึก ออนไลน์
logoline

แผ่นดินไหวพม่า'บูรณะเจดีย์'โจทย์ยาก! : ทีมข่าวรายงานพิเศษ 

            “เศร้ากันมากครับ ถึงคนจะตายไม่เยอะ แต่เจดีย์โบราณของพวกเราพังร้าวเสียหายเป็นร้อยแห่ง”

            “วิน” ชาวพม่าแสดงความรู้สึกขณะกำลังติดตามเฟซบุ๊กเพื่อสำรวจว่ามีความเสียหายที่ใดบ้าง โดยเฉพาะบริเวณตะวันตกของพม่าและบริเวณใกล้เคียงที่ตั้ง “พระราชวังมัณฑะเลย์” เมืองหลวงเก่าช่วงปี ค.ศ.1857

            สำหรับชาวพม่าแล้วการได้ไปสวดมนต์ขอพรหน้าเจดีย์ศักดิ์สิทธิ์ในวัดนั้น ถือเป็นสิ่งสำคัญในการแสดงความศรัทธาต่อพระพุทธศาสนา ตั้งแต่อดีตหลายร้อยปีที่ผ่านมา ภายในวัดจึงมีการสร้างเจดีย์ พระธาตุเจดีย์ และพระมหาเจดีย์ ขนาดเล็กและใหญ่ตามเมืองต่างๆ ทั่วประเทศพม่า

            “จุดศูนย์กลางแผ่นดินไหวครั้งนี้อยู่แถวเมืองชอค (Chauk) จ.มะเกว และมีเมืองเยนันช่องอยู่ในพื้นที่ติดกัน แถวนี้หลายสิบปีที่ผ่านมาไม่เคยได้ยินว่ามีแผ่นดินไหว ทำให้ทุกคนตกใจมาก โดยเฉพาะเจดีย์สินปินจอไล เมืองนัดม็อก บ้านเกิดของพ่อออง ซาน ซูจี พระและชาวบ้านรีบไปช่วยกันเก็บยอดเจดีย์ที่ตกลงมา เพราะกลัวสูญหาย และบริเวณนี้เป็นแหล่งที่มีบ่อน้ำมันใหญ่สุดของพม่าด้วย ที่เมืองพุกามก็มีเจดีย์กว่าร้อยแห่งเสียหายเหมือนกัน ส่วน มหาเจดีย์ชเวดา ในเมืองย่างกุ้ง ปลอดภัยไม่ได้รับความเสียหาย ตอนนี้กระทรวงกลาโหมพม่าส่งทหารเข้าไปช่วยดูแลขนย้ายสิ่งก่อสร้างที่หักพังลงมาแล้ว” วินเล่าความคืบหน้าให้ฟัง

            เว็บไซต์หนังสือพิมพ์เอเลฟเวนนิวส์ สรุปความเสียหายแผ่นดินไหวพม่าระดับ 6.8 วันที่ 24 สิงหาคม 2559 พบรายงานผู้เสียชีวิตเบื้องต้น 4 คน สถูปเจดีย์ในแหล่งมรดกโลกพุกามเสียหาย 185 องค์ แรงสั่นสะเทือนรับรู้ได้ถึงเมืองพะโค เมืองอิระวดี ย่างกุ้ง มัณฑะเลย์ และเมืองหลวงเนปิดอว์ รวมถึงประเทศใกล้เคียงทั้งไทยและอินเดีย

            “สุวิทย์ โคสุวรรณ” ผอ.ส่วนวิจัยรอยเลื่อนมีพลัง กรมทรัพยากรธรณี อธิบายว่า แผ่นดินไหวครั้งนี้ไม่สะเทือนถึงประเทศไทย สาเหตุเกิดจากการมุดตัวของแผ่นเปลือกโลกอินเดีย ลงใต้แผ่นเปลือกโลกยูเรเซียที่ยาวนานมาหลายร้อยล้านปี เมื่อมุดตัวอยู่นานก็สะสมแรงเสียดทานไว้จำนวนมาก และเกิดการขยับตัวปล่อยพลังออกมากลายเป็นแผ่นดินไหว โดยชาวพม่าส่วนใหญ่รู้อยู่แล้วว่าพื้นที่ด้านตะวันตกมีส่วนของรอยเลื่อนแผ่นดินไหวที่ยังมีพลังอยู่ จากการตรวจสอบทางธรณีวิทยา ครั้งนี้เกิดจากรอยเลื่อน “อรากัน” (Arakan Fault) ที่เชื่อมมาเทือกเขาอรากันจากฝั่งอินเดีย

            “รอยเลื่อนแถวนี้มีอัตราการขยับตัวประมาณ 40-50 มม.ต่อปี เมื่อ 40 ปีที่แล้วก็เกิดแผ่นดินไหวขนาดใหญ่ที่เมืองพุกามของพม่า ตอนนั้นยอดเจดีย์หลายแห่งหักโค่นลงมาเหมือนกัน แต่ของไทยไม่น่าจะเกิดผลกระทบอะไร เพราะรอยเลื่อนนี้อยู่ห่างไปประมาณ 4-500 กิโลเมตร การวิเคราะห์ความเสียหายแผ่นดินไหวต้องพิจารณา 2 เงื่อนไข คือ 1 มีจุดศูนย์กลางอยู่ลึกหรือไม่ ถ้าตื้นจะเสียหายมาก ครั้งนี้ในพม่าลึก 90 กม. เปรียบเทียบกับแผ่นดินไหวขนาด 6.3 ของไทยที่ภาคเหนือของไทยที่ อ.พาน จ.เชียงราย ปี 2557 ตอนนั้นเป็นการปลดปล่อยพลังงานรอยเลื่อนพะเยา มีจุดศูนย์กลางลึกลงไปใต้ดินเพียง 6 กม. เงื่อนไขที่ 2 ต้องดูว่าอยู่ใกล้ชุมชนหรือมีสิ่งก่อสร้างสำคัญในบริเวณใกล้เคียงหรือไม่” ผอ.สุวิทย์ กล่าว

            สอดคล้องกับ ดร.ไพบูลย์ นวลนิล นักแผ่นดินไหววิทยา ภาควิชาฟิสิกส์ คณะวิทยาศาสตร์ ม.สงขลานครินทร์ ยืนยันว่า แผ่นดินไหวที่พม่าขนาด 6.8 ไม่ได้เป็นเรื่องผิดปกติหรือน่าแปลกใจแต่อย่างใด เพราะมีรอยเลื่อนที่มีพลังอยู่ แผ่นเปลือกโลกที่มุดตัวอยู่นั้น เป็นจุดเดียวกับที่ทำให้เกิดสึนามิครั้งใหญ่ในไทยเมื่อปี 2547 แต่ครั้งนี้จุดศูนย์กลางอยู่บนบกไม่ใช่ในทะเล เลยไม่ทำให้เกิดสึนามิ

            “แผ่นดินไหวทั่วโลกระดับ 6 จะเกิดขึ้นประมาณ 10 ครั้งต่อเดือน ส่วนระดับ 7 จะเกิดขึ้นประมาณเดือนละ 1 ครั้ง สำหรับที่เคยเกิดในภาคเหนือของไทยไปในระดับ 6.3 คาดว่าอีกหลายสิบปีกว่าจะสะสมพลังขึ้นมาได้ใหม่ ไม่มีอะไรน่าเป็นห่วง ส่วนเรื่องอาฟเตอร์ช็อกครั้งนี้ มีขนาด 3.8 เพียง 1 ครั้ง ถ้าเกิน 24 ชั่วโมงแล้วไม่น่าห่วงเท่าไร แต่ข้อมูลแผ่นดินไหวจากพม่าค่อนข้างน้อย เพราะมีสถานีตรวจวัดเพียง 10 แห่ง ส่วนของไทยมี 40 แห่ง” ดร.ไพบูลย์ กล่าว

            ทั้งนี้ โลกสังคมออนไลน์กำลังแชร์ภาพเจดีย์และโบราณสถานที่เสียหายจากแผ่นดินไหว จึงเกิดการตั้งคำถามว่า การบูรณะจะทำได้ยากง่ายรวดเร็วเพียงไร ?

            “ดร.สุทัศน์ ลีลาทวีวัฒน์” หัวหน้าภาควิชาวิศวกรรมโยธา คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ผู้เชี่ยวชาญด้านการก่อสร้างเพื่อป้องกันแผ่นดินไหว วิเคราะห์ให้ฟังว่า ลักษณะสิ่งก่อสร้างประเภทเจดีย์ที่พังโค่งลงมาง่ายนั้น เนื่องจากในอดีตการก่อสร้างใช้วัสดุประเภทอิฐก่อสูงซ้อนขึ้นไปทำให้เกิดความคงทนแข็งแรงหรือการรับแรงได้เพียงอย่างเดียวคือ “แรงอัด” แต่ถ้าเกิด “แรงดึง” หมายถึงการโยกตัวไปมาด้านข้าง ยอดเจดีย์มักจะพังลงมา โดยเฉพาะที่มีขนาดสูงหลายสิบเมตรขึ้นไป

            “ปัญหานี้เป็นโจทย์ยาก เพราะเทคโนโลยีในอดีตไม่มีตัวยึดโครงสร้างเสริมด้านใน หรือแม้แต่ตอนนี้ถ้าจะบูรณะซ่อมแซมก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะจากการถอดบทเรียนแผ่นดินไหวที่เนปาลหรือทางภาคเหนือของไทย ทำให้รู้ว่าการซ่อมแซมโบราณสถานที่มีคุณค่าทางศิลปะดั้งเดิม พร้อมทั้งคุณค่าทางจิตใจนั้นมีเงื่อนไขหลายอย่าง เช่น ข้อ 1 โบราณสถานอยู่ภายใต้การอนุรักษ์ของหน่วยงานหลายแห่ง เพราะมีคุณค่าด้านโบราณคดีด้วย หากไปก่อสร้างดัดแปลงเสริมอะไรอาจทำให้คุณค่าส่วนนี้หายไป และข้อ 2 วัสดุที่ใช้ในอดีตก็ไม่เหมือนปัจจุบัน การสร้างแรงเสริมเพื่อไม่ให้แผ่นดินไหวโดยไม่ดัดแปลงเปลี่ยนแปลงวัสดุเป็นไปได้ยาก อาจทำให้แย่ลงกว่าเดิมด้วย” ดร.สุทัศน์ กล่าวอธิบาย

            แผ่นดินไหวที่พม่าครั้งนี้ เกิดขึ้นเพียง 15 -20 วินาทีเท่านั้น

             แต่ความเสียหายที่เกิดขึ้นกับเจดีย์หลายร้อยปีรวมทั้งโบราณสถาน แหล่งมรดกสำหรับเรียนรู้อารยธรรมของโลกนั้น ถือเป็นเรื่องสะเทือนใจเกินกว่าจะบรรยายเป็นคำพูดออกมา

            จากนี้ไปคงต้องเฝ้าติดตามว่า รัฐบาลใหม่ของพม่าจะจัดการรับมือแก้ปัญหาท้าทายนี้ได้อย่างไร...

logoline

ข่าวที่น่าสนใจ